“เอิน กัลยกร” กินยาซึมเศร้าจนอ้วนเป็นอึ่งอ่าง ไม่แคร์น้ำหนักเดินหน้าให้ความรู้ผู้ป่วย


ให้คะแนน


แชร์


อึ่งอ่างแล้วไง! “เอิน กัลยกร” เชิดใส่ พวกปากเสียวิจารณ์ว่าอ้วน ทำใจน้ำหนักพุ่งเพราะเอฟเฟ็คของยาซึมเศร้า เดินหน้าให้ความรู้ผู้ป่วยซึมเศร้าแม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วย

หลังจากที่ “เอิน กัลยกร นาคสมภพ” อดีตนักร้องชื่อดัง ออกมาเปิดเผยเรื่องอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมายทำให้หลายๆ คนได้รู้ว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร และควรจะต้องรักษาอย่างไร ทุกวันนี้เอินก็เลยเดินสายไปบรรยายเรื่องโรคซึมเศร้าตามสถานที่ต่างๆ แต่ด้วยรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากสาวสวยหุ่นดีกลายเป็นสาวอ้วน ทำให้บางครั้งก็ถูกวิจารณ์ แต่เรื่องนี้เอินทำใจเพราะเป็นผลจากการกินยาซึมเศร้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องกินไปจนถึงเมื่อไหร่ถึงจะได้หยุดยา

“ชีวิตตอนนี้โอเคค่ะ เอินทำบริษัทที่รับปรึกษาเกี่ยวกับพวกมาร์เก็ตติ้ง ธุรกิจก็กำลังไปได้ดี ชีวิตครอบครัวสามีก็ดีเพราะว่าเราก็เป็นภรรยาที่ดี (หัวเราะ) คบกันมาจะ 14 ปีแล้ว แต่งงานก็น่าจะ 7 ปีแล้วมั้งคะ แฮปปี้ดีค่ะ ดีแล้วค่ะ ขอให้ชีวิตมีความสุขบ้าง (หัวเราะ)”

“ตั้งแต่ออกมเปิดเผยเรื่องการเป็นโรคซึมเศร้า คนก็เริ่มเชิญออกไปพูดเรื่องนี้เยอะขึ้นค่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงการบันเทิงเอินก็ไม่ค่อยได้รับ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหรือเกี่ยวกับงานของเอิน เอินก็จะไปค่ะ ก็แอบเคยมีพวกงานร้องเพลงอะไรต่างๆ บ้าง แต่เราก็ไม่ได้รับเลยค่ะ เลือกทำงานพวกวิทยากรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากกว่า เพราะเรามีความตั้งใจอยู่แล้วว่าเราอยากจะเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้ แล้วก็อยากจะสื่อสารกับคนในสังคมผู้ป่วยและคนข้างๆ ผู้ป่วย จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้อยู่ในวงการเลยนะ ก็ทำธุรกิจของเราไปไม่ได้ไปออกงานไม่ได้สนใจใครเลย แต่พอเรามาเริ่มพูดเรื่องโรคซึมเศร้า เราก็ไปเพราะเป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้ว”

“อาการตอนนี้ดีขึ้นค่ะ แต่ยังต้องทานยาอยู่ทุกวัน เอินรักษามา 3 ปีกว่าแล้วก็ทานยาทุกวันหยุดทานยายังไม่ได้ เคยลดโด๊ซแล้วก็เป็นอีก แต่ตอนนี้โด๊ซยาก็ลดลงมากว่าปีแรกที่กินนะคะ แต่มันยังหยุดไม่ได้ เพราะเราลองลดโด๊ซลงแล้วมันยังไม่ได้ ก็ต้องกินยาต่อไป”

“คุณหมอไม่ได้บอกว่าต้องกินอีกกี่ปีเพราะว่าโรคซึมเศร้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอินมีเพื่อนที่ทานยาแค่ 6 เดือนแล้วหมอให้หยุดยา มีคนรู้จักในวงการโรคซึมเศร้าที่ทานมาเป็น 10 ปีกว่าจะได้หยุดยา เอาจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้เอินจะได้หยุดยาไหม แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะ ณ ปัจจุบันนี้ที่เรารักษาอยู่ชีวิตดีกว่าตอนไม่รักษาเยอะมาก ชีวิตเปลี่ยนเลยอารมณ์เราเสถียรขึ้น เรามีความสุขได้ง่ายขึ้นเพราะอารมณ์เราเสถียร เราไม่ตกหลุมแบบที่เคยตก มันยังมีบ้างนะนานๆ ที แต่ว่าเวลาที่ตกทีมันก็ไม่ได้ไปอยู่ก้นเหวอย่างที่เราเคยอยู่ ความรู้สึกอยากตายที่เราเคยเป็น 2-3 วันครั้ง ตอนนี้เอินแทบจำความรู้สึกนั้นไม่ได้แล้ว ครั้งล่าสุดก็น่าจะนานแล้วค่ะ”

“ถึงแม้ว่ายามันจะมีเอฟเฟ็คบ้าง มันทำให้เราทานเยอะขึ้น แต่เมื่อเทียบในด้านของสภาพชีวิตความสุขในชีวิตตอนนี้มันดีกว่าเมื่อก่อนมาก แต่นอกจากการทานยาเอินก็รักษาด้วยการทำจิตบำบัดคู่ไปด้วยนะคะ จิตบำบัดก็คือเหมือนเวลาเราไปดูหนังแล้วเขานอนบนโซฟาคุยกับอาจารย์ที่เป็นนักจิตบำบัด แต่จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ (หัวเราะ) ของจริงมันไม่อึมครึมอะไรขนาดนั้น เราก็แค่ไปนั่งคุย แล้วเขาก็จะมีทฤษฎีต่างๆ ในการมาบำบัดเรา แต่ละคนจะมีวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกัน”

“นักจิตบำบัดก่อนหน้านี้นัดพบเดือนละ 2 ครั้ง แต่ว่าตอนนี้พอมันดีขึ้นก็เริ่มนานๆ ไปพบทีแอบเกเรนิดนึง (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นคุณหมอที่เป็นจิตแพทย์เมื่อก่อนต้องพบเดือนละครั้ง แต่ตอนนี้ 3 เดือนครั้ง ด้วยความที่มันเสถียรแล้วหมอก็คอยดูอย่างเดียว แต่เรายังต้องกลับไปพบคุณหมอเรื่อยๆ อยู่”

ปัจจุบันใช้ชีวิตตามปกติ เพราะเข้าใจแล้วว่า ความคิดที่ทำให้ดิ่งเหล่านั้นมันคืออาการของโรค
“ไม่ต้องนะ เราก็ใช้ชีวิตของเราปกติค่ะ คือตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้นเราเรียนรู้แล้วว่าสิ่งไหนที่มันเป็นโรค สิ่งไหนที่มันเป็นเรา เราสามารถแยกแยะมันออกจากกันได้ เราก็จะรู้แล้วว่าเวลาที่เราตกหลุมแล้วมีความคิดแบบนี้มันไม่ใช่เรา มันเป็นเรื่องของโรค เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าเราจะดูแลมันยังไง”

ยอมที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องของตนเอง แม้ว่าจะต้องกระทบกับครอบครัว
“เราเตรียมใจไว้แล้วว่าการที่เราจะออกไปพูด การจะเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เราเป็นในตอนนี้มันเป็นเรื่องที่คนเขาไม่คาดคิดอยู่แล้วและตั้งรับไว้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้ตกใจ แต่จะแปลกใจนิดนึงในเรื่องของบทสนทนา คือเรื่องที่คนทักเรื่องอ้วน เราก็รู้แหละว่ามันจะต้องเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราแปลกใจคือบทสนทนาหลายๆ บทมันเป็นสิ่งที่ดีที่เราตั้งใจจะให้มันเกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราแปลกใจว่ามันมีเยอะกว่าที่เราคิด”

“มันมีคนที่เข้าใจโรคซึมเศร้า และพอมีคนที่ไม่เข้าใจออกมาพูด คนที่เข้าใจก็ออกมาแก้ไข คือมันเป็นการเปิดบทสนทนาในสังคมที่เราอยากจะให้มันเกิด เราก็เลยค่อนข้างจะโอเคกับฟีดแบ็ค ส่วนฟีดแบ็คที่ไม่ดีเราไม่ได้เอามาคิดอะไรเยอะค่ะ เพราะในวันที่เราเลือกที่จะออกมาพูดเรื่องนี้เรารู้อยู่แล้วว่าเราแข็งแรงพอ มันก็เลยไม่ค่อยกระทบเราเท่าไหร่ และก่อนที่เราจะออกมาเปิดเผยเรื่องนี้เราก็ได้รับกระแสต้านจากครอบครัวพอสมควร เพราะเรื่องที่เราพูดก็ยอมรับว่ามันก็มีผลกระทบบ้าง แต่ในตอนนั้นเรารู้ว่าสิ่งที่เราจะพูดมันน่าจะช่วยคนอื่นได้ เราก็เลยตัดสินใจด้วยตัวเอง คือแลกกับอะไรก็ได้แต่จำเป็นต้องพูด ซึ่งพอเทปนั้นออกมามันมีฟีดแบ็คกลับมาเยอะ มีเพื่อนเราที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายและได้รับรู้เรื่องของเรา เขาก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้ต่อสู้กับมันเพียงลำพัง เขารู้สึกว่ายังมีคนอื่นที่กำลังเผชิญสิ่งเดียวกับเขา แล้วมันทำให้เขาอยู่ต่อได้ เอินว่าโคตรคุ้มให้แลกกับอะไรเอินก็ทำ”

“ก่อนจะออกมาพูดเอินใช้เวลาทบทวนกับตัวเองและตัดสินใจออกมาพูด ก็มีแรงกระแทกกลับมาพอสมควร แต่เราก็ตัดสินใจแล้วว่าเรายอมเสียสละอะไรก็ได้ เพราะในตอนที่เราเผชิญกับมันไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้วมันยากมากเลย คือสังคมมันดูสวยงาม มันมีอุดมคติของมันอยู่ และทุกคนก็ไปตามอุดมคติของสังคม แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเป็นน่ะมันมีคนอื่นเป็นเหมือนเราไหม แล้วถ้ามีคนอื่นที่เป็นเหมือนเราเขาผ่านมันไปยังไงวะ มันไม่มีเครื่องมือ ไม่มีคู่มือ ไม่มีข้อมูลอะไรเลย เพราะฉะนั้นวันที่เราออกมาพูดเราเลยรู้สึกว่า อย่างน้อยวันที่เขากำลังเผชิญแบบที่เราเผชิญอยู่เขาจะได้รู้ว่าคุณไม่ได้เดินอยู่คนเดียว เราผ่านมันมาแล้วและเราบอกคุณได้ว่าถ้าคุณผ่านมันไปได้ คุณอดทนกับมันได้ และคุณรับมือกับมันอย่างถูกต้อง คุณจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เราแค่อยากจะพูดข้อความนี้ออกไป”

การออกมาเปิดเผยเรื่องราวโรคซึมเศร้าเพื่อให้ความรู้กับคนอื่น แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างว่า อ้วนเป็นอึ่งอ่าง
“อย่าเรียกว่าวิจารณ์เลยค่ะ มาด่าเราว่าอึ่งอ่างก็มี(หัวเราะ) แล้วก็มีว่า อีอ้วน อีหมู คือเขาก็ป่วยแหละ เราไม่คิดเยอะหรอก พราะเราก็ไม่ได้ผอม มันก็แค่เป็นความจริงที่เป็น และเราก็รู้ว่าที่น้ำหนักขึ้นเพราะเรารักษาโรคซึมเศร้านี่แหละ มันเป็นเอฟเฟ็คของยาที่ทาน แต่ถึงแม้ว่าเอินจะอ้วนเพราะเหตุอื่น มันก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรหรือเปล่าวะ(หัวเราะ) คือเราอ้วนของเราเนอะ แต่ทำไมน้ำหนักมันไปอยู่ที่เขาล่ะ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีปัญหา แต่ถ้าเขาจะมีปัญหามันเป็นปัญหาของเขาแล้วล่ะ มันไม่ใช่ปัญหาของเรา ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตามอย่างที่บอกว่าเราค่อนข้างแข็งแรงค่ะ เพราะฉะนั้นเขาจะพูดอะไรมันไม่กระทบเราหรอก”

“พวกเกรียนคีบอร์ดเขาจะพูดหยาบคายและรุนแรงมากเลย สิ่งที่เรารับรู้ได้ไม่ใช่ความเจ็บปวดนะ แต่เอินกลับรู้สึกว่าเขามีปัญหาชีวิตอะไรบางอย่าง และนี่คือวิธีการปลดปล่อยของเขา กลายเป็นบางครั้งเราสงสารเขานะ บางทีเรารู้สึกว่าการที่จะออกมาพูดอะไรอย่างนี้มันต้องมีปัญหานะ เพียงแต่เขาอาจจะยังหาไม่เจอว่าปัญหาของเขาคืออะไร เขาก็เลยมาระบายแบบนี้ พวกนี้ไม่กระทบเราหรอกค่ะ แต่ถ้าแฟนบอกอ้วนนี่สิกระทบ เรื่องใหญ่เลยนะ (หัวเราะ)”

แนะนำสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและผู้ใกล้ชิด
“จริงๆ คนจะพูดว่าเดี๋ยวนี้คนเป็นโรคนี้กันเยอะ แต่เอินไม่มั่นใจว่ามันเป็นเฉพาะเดี๋ยวนี้ หรือว่ามันมีโรคซึมเศร้ามานานแล้ว คนเป็นกันมาเยอะแล้วเพียงแต่ไม่ยอมรับ แต่ยุคนี้คนยอมรับและมองตัวเองมากขึ้น สงสัยตัวเองมากขึ้น สถิติมันเลยเหมือนเยอะขึ้นหรือเปล่า อันนี้เอินก็ไม่รู้นะเอินแค่สงสัย แต่เอินจะบอกว่าการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และทุกสิ่งอย่างที่คุณกำลังรู้สึก ทุกสิ่งที่คุณกำลังเป็น คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับมันเพียงลำพัง ประเทศไทยมีที่ที่พร้อมจะช่วยเหลือคนเป็นแบบเราอีกเยอะมาก มีสมาคมมีชมรมที่พร้อมจะช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เรามีสายด่วน เรามีโรงพยาบาลรองรับ ถ้าคุณมีตังค์หน่อยมันมีโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทาง แต่ถ้าคุณไม่มี มันก็มีโรงพยาบาลรัฐ เอินมีเพื่อนที่ใช้บัตรทองก็รักษาได้เหมือนกัน คือมันมีทรัพยากรที่พร้อมจะช่วยเหลือเรา ขอแค่เราเปิดใจและยอมก้าวออกมา ยอมไว้ใจคนอื่น ยอมเปิดใจให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าพอเปิดใจปุ๊บแล้วมันจะดีขึ้นเลยนะ แต่มันจะทำให้เราเริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้”

“สำหรับคนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อันนี้จะยากเพราะบางครั้งตัวกระตุ้นมาจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราเป็นคนใกล้ชิดที่รักคนที่เป็นผู้ป่วย สิ่งแรกเลยคือถ้าผู้ป่วยเขาสงสัยว่าเขาป่วย อย่าเพิ่งไปตัดสินบอกว่าไม่เป็นหรอก คือเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณ เรื่องนี้มันคือตัวเขาเพราะหลายๆ คนชอบดึงเข้ามาที่ตัวเอง จริงๆ มันไม่มีใครตั้งใจให้ใครป่วยค่ะ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อน สิ่งที่สองคือเมื่อไหร่ที่เขาพูดกับเราว่าเขาอาจจะป่วย แสดงว่าเขาเริ่มยอมรับและเขาเริ่มต้องการความช่วยเหลือ อย่างน้อยๆ เขาอาจจะต้องการคนที่เขาพูดด้วยได้ สิ่งที่เราต้องทำคือไม่ใช่ไปตัดสินเขา ให้ใจเย็นๆ และรับฟัง อย่าแก้ปัญหา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เอินพูดตลอดเลย มันอาจจะฟังดูประหลาดมากเลยนะ เพราะคนเราชอบแก้ปัญหาให้คนอื่น แต่จริงๆ การไม่แก้ปัญหาดีที่สุด รับฟังอย่างเดียว ถ้าเขาร้องขอให้เราช่วยเหลือให้เราช่วยแก้ปัญหาให้ ก็ค่อยช่วยแก้”

“แต่ ณ วันที่เขายังไม่ได้ร้องขอให้เราช่วยแก้ปัญหา ก็ปล่อยให้เขาได้เดินในจังหวะเวลาของเขาดีที่สุด และถ้ารู้สึกว่าหนักแล้วว่ะ ทำยังไงดีพูดตรงๆ ก็ไม่ได้ มันก็มีวิธีนะ เราก็แอบเอาเอกสารเอาหนังสือที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไปวางให้เขาเห็น เอินเคยทำสารคดีโรคซึมเศร้าในยูทูปนะคะ ก็แอบๆ เปิดดูในช่วงที่เขากำลังเดินผ่านก็ได้ แอบเปิดอะไรที่เกี่ยวกับโรคนี้ให้เขาเห็นนั่นแหละ แล้วถ้าเขาได้ยินและเขารู้สึกว่ามันตรงกับเขาเดี๋ยวเขาก็สนใจเอง และถ้าเขาพร้อมเมื่อไหร่เขาจะก้าวเข้าสู่กระบวนการเอง แต่ถ้าเขาไม่พร้อมก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ มันจะยิ่งไปกดดันเขาด้วย ก็ต้องค่อยๆ ดูไปทีละสเต็ปค่ะ”

ที่มา : ดารา
ขอขอบคุณ : ดารา