ลิซ่า ขึ้นที่ 1 ของโลก โชว์เด็ดแล้ว ให้รายการดังของอเมริกา


ให้คะแนน


แชร์

ล่าสุดวันนี้ ลิซ่า ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับวงการเพลงระดับโลก ด้วยการทำลายสถิติโลกไปแล้ว พุ่งขึ้นเป็นที่ 1 ของโลก ย้ำๆ ที่ 1 ของโลก ที่เป็นนักร้องหญิงเดี่ยว มียอดคนคลิกฟังทางยูทูบ Youtube ภายใน 24 ชั่วโมง 1 วันมากที่สุดทะลุ 70 ล้านวิวไวที่สุด จากเพลง ลาลิซ่า LaLisa โดยแชมป์เดิมที่ทำไว้คือ นักร้องดัง เทย์เลอร์ สวิฟต์ กับเพลง ME! ที่มียอดคนฟังใน 1 วัน 65.2 ล้าน

ส่วนประเด็นดราม่าข้ามวัน สร้างความฮือฮาให้แฟนคลับชาวไทยคือ ลิซ่าได้ใส่เครื่องประดับบนหัว สรุปจะเรียกชฎา หรือ รัดเกล้ายอด กันแน่? ทำเอาแฟนคลับสับสนคาใจ จะเรียกคำแบบไหนให้ถูกต้อง?

เราจะพาไปหาคำตอบชัดๆ จากปากของ รศ.ดร.ดนัย เรียบสกุล หรือ อ.กอล์ฟ ที่ทำงานด้านไทยออกแบบ สิ่งทอ เครื่องประดับไทย มานานมากกว่า 14 ปี ล่าสุดเพิ่งทำงานวิจัย เรื่องศิราภรณ์จากกระดูกไก่

ชฎา เป็นคำเรียกสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงใส่เรียกว่า มงกุฎ ส่วนรัดเกล้า ที่น้องลิซ่าใส่นั้น เป็นรัดเกล้ายอดประยุกต์ ที่มาของรัดเกล้ายอด คือเป็นศิราภรณ์ประดับศีรษะ ที่ได้รูปแบบมาจาก “เกี้ยว” ตามรูปศัพท์คือผูกรัด หมายถึงการผูกรัดมวยผมให้เรียบร้อยด้วยพวงดอกไม้ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ แล้วตกแต่งประดับให้งดงามด้วยอัญมณีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยว่า “รัดเกล้าก็คือมาลานั่นเอง”

โดยปกติการสวมเกี้ยวทั่วไป จะมีปิ่นปักเป็นเครื่องยึดขวางไว้ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบของ “เกี้ยวยอด” คือเกี้ยวปักปิ่นด้านบนก็เป็นได้ รัดเกล้าที่เป็นศิราภรณ์ในการแสดงนาฏศิลป์โขน-ละคร ในปัจจุบันมีพัฒนาการมาจากเกี้ยวดังกล่าว

ปัจจุบันปรากฏอยู่ 2 รูปแบบ คือรัดเกล้าเปลว เป็นศิราภรณ์สำหรับตัวนาง ระดับรองลงมา เช่น หลานหลวง นางแปลง พระพี่เลี้ยง เช่น เบญกายหลานทศกัณฑ์ หรือสำมนักขาแปลง (เป็นชื่อของตัวละคร) ในการแสดงโขนในเรื่องรามเกียรติ์ นางผีเสื้อแปลง ในเรื่องพระอภัยมณี ตามรูปแบบการแสดงของกรมมหรสพ และนางพี่เลี้ยงของบุษบาในเรื่องอิเหนา เป็นต้น รัดเกล้ายอด เป็นศิราภรณ์สำหรับตัวนางระดับมเหสี และเจ้าฟ้าลูกหลวง เช่น ในละครเรื่องอิเหนา ตัวประไหมสุหรี มะเดหวี บุษบา ฯลฯ

ที่มา : หนังสือวิวัฒนาการ เครื่องแต่งกายโขนละคร สมัยรัตนโกสินทร์ 2552 ที่มา : หนังสือวิวัฒนาการ เครื่องแต่งกายโขนละคร สมัยรัตนโกสินทร์ 2552

รัดเกล้ายอด เป็นเครื่องประดับ หรือเรียกว่าศิราภรณ์ ใช้มานานมากๆ มีหลักฐานน่าจะเริ่มมาตั้งแต่ช่วงสุโขทัยตอนปลาย คาบเกี่ยวช่วงเวลาที่ชัดเจนขึ้น ในช่วงอยุธยาตอนต้น ใช้ในงานการแสดง นาฏศิลป์ไทยฟ้อนรำ มีการประยุกต์แตกต่างกันไป มียอดเป็นเกลียวติดทอง รัดเกล้ามีสองประเภท คือรัดเกล้ายอดเป็นยอดสูงๆ กับรัดเกล้าเปลว จะเป็นเปลวไหลไปด้านหลังจริงๆ เครื่องประดับมีตั้งแต่หัวจรดเท้า ขึ้นอยู่กับงานเล็กงานใหญ่

ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ เครื่องประดับจะเต็มรูปแบบ มีการพิถีพิถันในการตกแต่ง มีการใช้วัสดุที่แตกต่างกันไป ตามแต่ความพิเศษของงานนั้น ผมมองว่าจริงๆ รัดเกล้ายอด ในปัจจุบันเป็นงานร่วมสมัย ใครถนัดด้านไหน มีศักยภาพแบบไหนก็ใช้ได้ น่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง

เป็นการนำเสนออีกด้านหนึ่ง ที่น้องมีความสามารถ คนได้เห็นแล้ว ได้ไปหาความรู้ หาข้อมูลเพิ่มเติมว่าคืออะไร เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านนี้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นรัดเกล้ายอดแบบดั้งเดิม หรือรัดเกล้ายอดแบบประยุกต์

รัดเกล้ายอดที่น้องลิซ่าใส่ มีความสวยงาม สีทองอร่ามส่งเสริมกัน ดีไซน์มันน่าสนใจหมดเลย ที่ข้างแก้มทั้งสองข้าง เป็นองค์ประกอบของศิราภรณ์ มีกรรเจียกหรือเรียกว่าจอนหู มีความเป็นไทย อย่างเห็นได้ชัด.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2190910
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2190910