จะปังหรือพัง รัฐบาลไทย-จีน ร่วมกันทำบันเทิง


ให้คะแนน


แชร์

น่าสนใจมากๆ ยังเม้าท์กันไม่หยุด เมื่อทางรัฐบาลไทยเห็นโอกาสดี มีมติเห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ที่จะมีการลงนามในช่วงประมาณ ต้นปี 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ด้านภาพยนตร์ของทั้ง 2 ประเทศ ภายในเวลานานถึง 5 ปี

หลายคนเชียร์ๆ อยากให้ประสบความสำเร็จตามเป้าที่ได้วางเอาไว้ แต่หลายฝ่ายหลายคน ก็ยังจับตาต่อไปว่า จะทำได้จริงจังต่อเนื่องนานแค่ไหน จะมีระบบวิธีบริหารจัดการบันเทิงไทย-จีน จะมีคอนเทนต์ใหม่ เนื้อหาน่าสนใจได้จริงจังแค่ไหน จะกระตุ้นให้บันเทิงไทย-จีน ได้ตื่นตัวคักคึกหรือไม่ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ สเปเชียลคอนเทนต์ Special Content จะพาไปหาคำตอบกัน

จีนจับไทยลุยบันเทิงจริง มีอะไรที่เราต้องรู้

ไปคุยกันเลยกับ ผศ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์กรพนัช ยอมรับว่าเป็นติ่งบันเทิงจีนมานานแล้ว ให้สัมภาษณ์ชัดๆ ดังนี้
ข่าวจากฝั่งไทย ที่ว่าจะมีความร่วมมือกับทางรัฐบาลจีน ผลิตงานบันเทิงต่างๆ นั้นต้องไปดูที่ฝ่ายจีนด้วยว่า ให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า ฝั่งจีนมีแถลงการณ์แบบเดียวกับไทยมั้ย ฝั่งจีนอาจจะไม่ได้พูดถึงเหมือนฝั่งไทยก็ได้ ควรดูว่ามีอะไรที่เหมือน หรือที่แตกต่างกันไปบ้าง

ต้องไปดูให้ชัดๆ ด้วยว่า ซอฟต์พาวเวอร์ Soft Power ที่รัฐใช้คืออะไร และจะขายอะไร what to sell มันไปด้วยกันหรือสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นๆ มั้ย เวลาพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ เราอาจจะเข้าใจว่า หมายถึงวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่วัฒนธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ของแหล่งกำเนิดซอฟต์พาวเวอร์ สิ่งที่ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ได้ ยังมีอย่างอื่นอีก เช่น นโยบายต่างประเทศ และคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือ ทั้งหมดนี้มันจะส่งเสริมสนับสนุนได้ไปด้วยกันหรือไม่

อย่างฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ผ่านหนัง เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าที่ควบคู่ไปกับนโยบายต่างประเทศด้วย เช่น เจมส์ บอนด์ James Bond 007 ที่ทำซ้ำๆ กันมาหลายยุคสมัย ในช่วงสงครามเย็น หนังก็เป็นตัวแทนการเมืองโลกสองขั้วระหว่างฝั่งคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายพระเอกคือ เจมส์ บอนด์ เป็นตัวแทนของฝั่งเสรีประชาธิปไตย ต่อสู้กับผู้ร้าย ซึ่งเป็นตัวแทนฝั่งคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจีนเป็นลักษณะบังคับคนเพื่อให้ทำตาม ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลส่งเสริมบันเทิงจริงจัง ให้เป็นหนึ่งในนโยบายของชาติ ในการผลักดันธุรกิจบันเทิง รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เซนเซอร์ ส่วนรัฐบาลจีนก็เข้ามาคุมเกือบทุกอย่าง หันมาดูฝั่งไทย เรายังมีระบบเซนเซอร์กันอยู่ ยกตัวอย่าง เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) หรือผู้กำกับหนังหลายท่าน ก็เคยโดนรัฐบาลไทย เซนเซอร์หนังมาแล้ว

ที่ผ่านมาในด้านบันเทิง การทำงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ไม่ค่อยมีที่ประสบความสำเร็จ มีแต่ภาคเอกชนที่ทำกันเอง มาตั้งนานแล้ว เช่น ละครเรื่องสงครามนางฟ้า ป้อง ณวัฒน์ ก็ดังมากที่จีน หรือหนังไทยเรื่องรักแห่งสยาม (Love of Siam ดารานำ โอ้ มาริโอ้ เมาเรอ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) ก็ไปเปิดตลาดหนังไทยที่จีน ได้ดีมากๆ มีฐานแฟนคลับอยู่เยอะ ซึ่งไม่ได้อาศัยช่องทางของรัฐไทยเลย ในการสนับสนุน รัฐบาลไทยไม่มีอยู่ในสมการ ของความสำเร็จของบันเทิงไทยที่จีนเลย

พวกติ่งจีนทำเองทุกอย่างเลย ทั้งแปลซับไตเติล (Sub Titlte) หาช่องทางดูกันเอง ฯลฯ เรียกว่าอะไรๆ ที่บันเทิงไทยไปประสำคัญความสำเร็จที่จีนมาแล้ว ไม่มีรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพมาก่อนเลย

รัฐบาลไทยจะจัดวางบทบาทอย่างไร กับการทำคอนเทนต์ส่งออก คุณจะใส่อะไรไปอย่างไร มีข้อจำกัดมั้ย ไปจำกัดความคิดเสรีภาพหรือไม่ ถ้าคอนเทนต์ที่บาร์ต่ำ มันก็จะไม่ได้ทำอะไรมีคุณภาพที่แปลกแตกต่างออกไปเดิมๆ 

ซีรีส์วายไทย ยังดังต่อที่จีน

บันเทิงไทยบุกจีน ในหมวดของซีรีส์วาย แนวชายรักชาย ได้รับความนิยมต่อเนื่องที่จีนมาพักใหญ่แล้ว และยังมีแนวโน้มที่ดีต่อไปได้อยู่ หลังรัฐบาลไทยคลายมาตรการโควิด ให้กองถ่ายลุยทำงานต่อได้ ก็มีซีรีส์วายหลายเรื่อง เริ่มทยอยถ่ายทำกันไป เช่น La Cuisine เมนูลับฉบับแก้มยุ้ย ที่สร้างจากนิยายขายดีอยู่แล้ว

อาจารย์กรพนัช วิเคราะห์ให้ฟังถึงความเด่นดังซีรีส์ไทยที่จีน ความหลากหลายทางเพศ
ในซีรีส์วายจากไทยยังดังๆ กันอยู่ ที่มีแม่จีนพร้อมเปย์หนักมากๆ มันไปต่อสู้หรือต่อรองกับรัฐบาลจีนอย่างไร ที่มีความกังวลเรื่องซีรีส์วาย ซึ่งรัฐบาลจีนเซนเซอร์ ห้ามฉาย ห้ามผลิตด้วย แต่ตราบใดที่ยังมีคนดู คนเสพ ก็ยังมีพยายามหาช่องทางดูในที่ต่างๆ ยังมีคนผลิตออกมาเรื่อยๆ แต่ต้องเอาไปลงทางช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลจีน

วงการซีรีส์วายเข้าแล้วออกยาก ตอบสนองแฟนตาซี ปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ความรักระหว่างชาย-ชาย เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขของการมีลูกไว้สืบสกุล ที่ไม่ต้องมีจารีตประเพณีเก่าๆ มากดทับไว้

ส่วนใหญ่คนจีนที่เสพซีรีส์วาย เป็นผู้หญิงนะ สังคมจีนตอนนี้ก็เป็นทุนนิยมแล้วแหละ ทำงานหนักใช้เงินซื้อความสุข กรี๊ดดารากันไป มีอิสระในการใช้เงิน ไม่ได้พึ่งพาผู้ชายเหมือนแต่ก่อนแล้ว ผู้หญิงจีนเลือกได้มากขึ้น ที่สำคัญดาราไทยสวยหล่อมีความเป็นมิตร ที่เข้าถึงง่าย เฟรนด์ลี่ แทคแคร์แฟนคลับดี

เจาะตลาดบันเทิงจีนได้จริง ก็รวยเละ

อาจารย์กรพนัช ให้คำตอบเคลียร์ ว่าทำไมใครๆ ก็ต้องการบุกตลาดบันเทิงจีน ตลาดบันเทิงที่จีน เป็นตลาดใหญ่มาก ไทย-เกาหลี-ฮอลลีวูด ฯลฯ ไม่ว่าใครก็อยากจะมาหาประโยชน์ มาตักตวงโกยเงินตรงนี้ ด้วยศักยภาพพลังของการบริโภคที่สูงมาก พลังการซื้อของคนจีนเยอะจริงๆ แค่วันเดียวทางโซเซียล เช่น เถาเปา (Taobao เว็บซื้อขายสินค้าออนไลน์) แค่ยอดซื้อวันเดียวนะ 11 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ก็เกือบ 20% ของจีดีพี GDP (Gross Domestic Products ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ของไทยทั้งปีแล้ว

ตลาดจีนใหญ่มาก บันเทิงไทยไปที่จีน เราเป็นฝ่ายได้ประโยชน์อยู่แล้ว ต่อให้บันเทิงไทยไปแล้ว ได้แฟนคลับจีนมาแค่ 0.0001 เราก็ยังได้เงินมหาศาล ตลาดบันเทิงไทยกับบันเทิงจีนมันต่างกันมาก เล็กของจีน แต่ใหญ่มากๆ สำหรับบันเทิงไทย เอาแค่มณฑลหนึ่งๆ ก็ใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า ตอนนี้บันเทิงจีนก็คล้ายๆ ที่เกาหลีแล้วนะ แต่ไม่ได้เฟื่องฟูมากนัก ยังไม่ได้สุกงอม ไม่ได้ครบวงจรเหมือนบันเทิงเกาหลี

บันเทิงไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ถ้ามาป๊อป POP ได้รับความนิยมที่จีนแล้ว ตลาดมันโอ้โห!!! ได้เงินมหาศาลมาก อย่างหนังฮอลลีวูดก็พยายามที่จะขยายโควตาหนังให้เพิ่มขึ้นๆ หรือนำดาราจีนไปร่วมเล่นด้วย หรือร่วมทุนกับทางบริษัทสตูดิโอทางจีน แต่ทางจีนก็ปกป้องตลาดหนังจีนของเขา ได้ดีในระดับหนึ่งอยู่คนจีนรุ่นใหม่ มีความสามารถมากขึ้น สังคมจีนมีการแข่งขันสูงกันอยู่แล้ว

บทบาทของรัฐบาลจีนกลายเป็นควบคุม มากกว่าที่จะสนับสนุนส่งเสริม เรื่องโควตาหนังจากต่างชาติ ที่รัฐบาลจีนจำกัดไม่ให้เข้ามามากเกินไป มองในแง่ดีคือการช่วยปกป้องหนังจีนเอง แต่อีกแง่หนึ่งคือปกป้องมากไป จนทำให้หนังจีนไม่พัฒนาไปด้วยหรือไม่ เพราะไม่เกิดการแข่งขัน ประเด็นนี้คนจีนก็วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะอยู่ หรือหนังดังๆ หลายเรื่องชาวโลกได้ดูกันหมดแล้ว แต่เพิ่งเข้ามาฉายที่จีน

จากโควิดทำให้เทรนด์การดูหนังที่โรงลดน้อยลงไปด้วย คนไปดูหนังดูความบันเทิงที่ช่องทางอื่นๆ ตามแพลตฟอร์ม platform เช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์ ฯลฯ ดังนั้นหนังที่ไปฉายในโรง ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จได้เสมอไป

เงื่อนไขการให้ทุน คือข้อจำกัดสร้างสรรค์

ยังมีเรื่องน่ารู้อยู่อีก ไปคุยกันต่อกับ อาจารย์กรพนัช บันเทิงไทยโปรดักชั่นของเราดีอยู่แล้ว คนจีนชอบใช้งานคนเบื้องหลังไทยด้วย เพราะราคาไม่แพง คุยงานกันง่าย และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว

ถ้ารัฐบาลไทยสนับสนุนให้ทุนไปทำ แต่ต้องมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ให้แสดงถึงความรักชาติ ไม่ให้มีโน่น นี่ นั่น ถ้าจะได้ทุน แล้วต้องทำๆ ตามแบบที่รัฐต้องการ ก็จะได้คอนเทนต์ โปรดักชั่นสะเหล่อๆ ออกมา นึกออกมั้ย แต่ถ้ารัฐบาลไทยใจกว้างจริง สนับสนุนจริงจัง ให้เงินแบบสอดคล้องกับคอนเทนต์นั้นๆ ไม่ต้องมีข้อจำกัด กับการทำงานศิลปะที่เยอะเกินไป ให้มีเสรีภาพพอตัว เราก็จะได้งานที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ได้ด้วย

การร่วมมือทำบันเทิง ระหว่างเอกชนไทย-จีน มีมานานแล้ว โดยที่ไม่มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวด้วย แต่ถ้าเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ต้องคิดในแง่โครงสร้างระบบให้จบ ให้เกิดความเป็นเอกภาพ แต่ที่ผ่านมา วิธีการไปถึงเป้าหมายเราจะไม่เห็น ไม่มีลงรายละอียด ว่าจะสนับสนุนอย่างไร ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันอย่างไร

บันเทิงไทยน่าจะปัง มากกว่าพังที่จีน

บันเทิงไทยไปได้ไกลแน่นอนในตลาดจีน เพราะมีกลุ่มแฟนคลับชาวจีนเยอะมากๆ ที่ชื่นชอบบันเทิงไทยอยู่นานแล้ว และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นๆ ตั้งแต่หนังชายรักชายสุดละมุนยุคบุกเบิกจีนเรื่อง รักแห่งสยาม Love of Siam นำโดยสองหล่อดารานำ โอ้ มาริโอ้ เมาเรอ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ที่ไปเปิดตลาดหนังไทยได้อย่างงดงามน่าปลื้มปริ่ม

หันไปส่องหนุ่มหล่อ ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ก็โดดเด่นสร้างชื่อเสียงได้ดังจริงที่จีน จนได้พุ่งไกลต่อที่ตลาดหนังฮอลลีวูด หรือนางเอกหน้าเก๋ ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ที่ดังเปรี้ยงปร้างจากหนังพันล้านเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง Bad Genius ก็มีผลงานหลายเรื่องต่อเนื่องที่จีนด้วย

ละครไทยจัดจ้านหลายเรื่อง ก็ทิ่มแทงใจแฟนคลับชาวจีนเยอะมากๆ พลอยทำให้พระเอกนางเอกจากไทย ได้รับความนิยมอย่างสูงตามไปด้วย ช่วงก่อนโควิดดาราไทยหลายคน ก็บินไปโกยเงินหยวนรวยเละมาแล้ว ในหมวดของนักร้องฮอต ก็ต้องยกให้ ลิซ่า แบล็กพิงก์ BlackPink ลลิษา มโนบาล หลังจากไปเป็นเมนเทอร์ Mentor ให้กับหลายรายการดัง ระเบิดความสามารถอีกด้านให้เห็น จนต่อยอดมีแฟนคลับจีนเพิ่มขึ้นเพียบ

เรียกว่ากองทัพดาราไทย บันเทิงไทยจากไทย ยังครองความนิยมที่ตลาดจีนได้ดีอยู่ ยิ่งมีผลงานดีมีคุณภาพใหม่ๆ ปังๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง บอกเลยว่าอนาคตของดาราไทย บันเทิงไทยที่จีน น่าจะยังเปิดกว้างสดใส ไปได้อีกนานหลายปี. 

นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง

กราฟิก : Sathit Chuephanngam

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2224001
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2224001