เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์


ให้คะแนน


แชร์

คนทำทาง : ไม่เคยเอ่ยนาม

อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราว 60 ปีที่แล้วได้รับการขอร้องจากเพื่อนซึ่งมีพ่อเป็นคนสร้างทางของกรมทางหลวง ให้ช่วยแต่งเพลงในแนวคนสร้างทางให้ที จะเอาไปส่งประกวดแข่งขันในงานปีใหม่ของกรมทางหลวง

เพื่อตอบสนองเพื่อนจึงแต่งเพลง คนทำทาง ให้อย่างตั้งใจ แต่งเนื้อโดยใช้ทำนองเพลงไทย เดิมคือ ขอมทรงเครื่อง 2 ชั้น

“ประวัติศาสตร์                 อาจมีในหลายอย่าง

แต่คนที่ทำทาง                 ไม่เคยจะเอ่ยออกนาม…….

คนที่แบกหาม                   ลุยน้ำลุยโคลน คนที่สรรค์สร้าง…….”

แต่งไปจนจบเพลง  เพื่อนก็เอาไปเข้าประกวด แล้วมาบอกว่าตกรอบ ไม่ได้รับรางวัล ปรากฏว่าเพลงที่ได้รับรางวัลกลับเป็นเพลงของคนขี้เมา ซึ่งมีเนื้อหาว่า

 “กินเหล้าเมากับ                  เราไม่นับเป็นพวกกรมทาง 

กินเหล้าเมาสว่าง                  เป็นพวกกรมทางร้อยเปอร์เซ็นต์” 

เลยเอามาเล่าสู่กันฟังอย่างครึกครื้น

ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบรรยากาศประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง ทำให้กรรมกรชาวนามีพื้นที่ประชาธิปไตยเพื่อต่อรองทางการเมือง มีกฎหมายแรงงานออกมาค้ำประกันสิทธิคนงาน กฎหมายอนุญาตให้มีสหภาพแรงงานได้ เนื้อหาเพลงที่แต่งไว้แล้วไปด้วยกันได้กับบรรยากาศของการเคลื่อนไหวแรงงานในยุคนั้น จึงเอาเนื้อเพลงเดิมมาปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย ให้เป็นเพลงใช้กับผู้ใช้แรงทั่วไป ไม่ใช่เพลงที่แต่งให้กรมทางหลวงตามเนื้อเดิม

ของเดิมว่า

“ประวัติศาสตร์                        อาจมีในหลายอย่าง

แต่คนที่ทำทาง                       ไม่เคยจะเอ่ยออกนาม……”

ก็เปลี่ยนเป็นว่า

“ประวัติศาสตร์                       อาจมีในหลายด้าน

แต่คนที่ทำงาน                       ไม่เคยจะเอ่ยออกนาม……”

เนื้อเพลงส่วนต่อขยายนอกนั้น คงเดิมไว้ทั้งหมด

ท่วงทำนองเพลงที่เนิบช้า สื่อถึงคุณค่าของคนบุกเบิก คนถางทางที่เหน็ดเหนื่อยมาก่อน คนหักร้างถางพง คนเปลี่ยนที่รกที่ดงดอนให้เป็นเส้นทางเพื่อคนมาทีหลังจะได้มีความสะดวกในการเดินทาง

ไม่แต่เพียงเป็นแค่เพลงเท่านั้น อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังเขียนลำนำคุณค่าของคนสร้างทางไว้สำหรับอ่านเกริ่นนำหรือ่านปิดจบเพลงอย่างไพเราะอีกด้วย

             คนทำทาง

(เกริ่นนำ)

ประวัติศาสตร์นั้นอาจมี     ในทุกที่และทุกสถาน

แต่คนที่ทำงาน                มักไม่เคยจะเอ่ยนาม

ฝ่าฟันและดั้นด้น              คนลุยโคลนคนแบกหาม

เอาเหงื่อแลกงานงาม        และคือคนผู้สร้างสรรค์

จากป่าจนเป็นเมือง            อันรุ่งเรืองอยู่ลาวัลย์

ด้วยแรงแห่งคนนั้น            แหละคือคน ผู้ทำทาง

ชีพเขา คือบทเพลง           อันครืนเครง กระหึ่มคราง

ให้จำบ่ห่อนจาง                ณ กลางใจ กลางแผ่นดิน

ชีพเขาคือใบไม้                อันคว้างไหว กลางลมริน

ให้เนื้อ แก่ธรณินทร์           และให้นม แก่ลูกน้อย

คนแล้ว และคนเล่า            อันร่วงแล้ว ใช่ลับลอย

ถักถัก ทยอย ทอย            คือสายเลือด ที่สืบแทน

คือธาตุ อันเป็นทิพย์           ที่ตายสิบ จักเกิดแสน

คือแก่นและคือแกน           จักแกร่งอยู่ กู้ยุคสมัย

นี้คือ ประวัติศาสตร์            ประชาชาติ ประชาธิปไตย

คนไทย ที่เป็นไท               ผู้ทำทาง ให้เราเดิน 

(เนื้อเพลง)

ประวัติศาสตร์ อาจมีในหลายด้าน

แต่คนที่ทางาน ไม่เคย จะเอ่ยออกนาม 

คนที่แบกหามลุยน้ำลุยโคลน คนที่สรรค์สร้าง

จากป่าเป็นเมืองรุ่งเรืองงามเพียงเวียงวัง

ด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ของคนทำทาง 

ถางทาง ตั้งต้น ให้คนต่อไป

จากป่าเปลี่ยว เที่ยวไป ในทุกถิ่น

ดังโบกโบยบิน พื้นดิน เป็นถิ่นอาศัย

หนาวเหน็บเจ็บใจ ภัยร้ายนานา ชีวาว้าเหว่

เช้าค่าจำเจ เร่ไป ให้คนเดินตาม

ทุกย่างเท้าเขา เหมือนเงา เรืองราม

ฝังนาม ฝังร่าง อยูกลาง แผ่นดิน ฯ

เนื้อร้อง/ขับร้องโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

บรรเลงโดย ต้นกล้า / คีตาญชลี

นับเป็นบทเพลงประวัติศาสตร์อีกเพลงหนึ่งของวงดนตรีไทยต้นกล้า ที่รู้จักและนำไปร้องกันอย่างแพร่หลายในแวดวงดนตรีเพื่อชีวิต เช่น วงคีตาญชลี วงสวนพลูคอรัส ยิงในยุคเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 วงต้นกล้าไปแสดงในการเคลื่อนไหวกรรมกรตามโรงงาน และสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

เป็นเพลงให้คุณค่าต่อบุคคลนิรนามที่พลีเหงื่อแรงเพื่อถมทางเดินทางสัญจรให้กับผู้คนทุกชนชั้น ทุกเพศวัย ทุกผู้คน ให้ได้ใช้เส้นทางนั้น คิดให้ไกลและกว้างออกไปได้ว่าชิ้นงานทุกอย่างทั้งรูปธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง ศิลปกรรม หรือนามธรรม เช่น ศาสนา ความเชื่อ คุณธรรม วัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของ “คนทำทาง” ทั้งนั้น ที่ได้ถางทางจัดวางไว้/

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / pmarukpitak@yahoo.com

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.posttoday.com/ent/movie-music/667854
ขอขอบคุณ : https://www.posttoday.com/ent/movie-music/667854