ค้นความพอดี Tie-in เนียนขายของในรายการ-ละครไทย ให้ปังหรือพัง


ให้คะแนน


แชร์

น่าคิดมากๆ เราจะหาความพอดีได้ตรงไหน Tie-in กับการเนียนขายของในรายการ-ซีรีส์ละครไทย บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ สเปเชียลคอนเทนต์ Special Content เคยนำเสนอไปแล้วจากตอนแรก เนียนขายของในละครไทย ยัดเยียดมากแค่ไหน กลยุทธ์ Tie-in เนียนขายของในละครไทย (คลิกอ่าน) วันนี้เราจะไปค้นหาคำตอบลึกๆ เคลียร์ๆ ของการไทอิน Tie-in ให้รอบด้านกัน 

ยุคเปลี่ยนไป ละครต้องอยู่รอดให้ได้

ดารารุ่นใหญ่เล่นละครมาหลายเรื่องมากๆ เป็นที่รักเคารพนับถือของดาราหลายคน อ้วน รีเทิร์น อนันต์ เสมาทอง ตอบชัดๆ เรื่องไทอิน Tie-in สินค้าต่างๆ ในละคร ดังนี้ เป็นเรื่องปกติของยุคนี้ มีความจำเป็น การถ่ายละครเรื่องหนึ่ง ใช้เงินหลายสิบล้าน เมื่อก่อนจะมีเงิน จากช่วงตัดคั่นโฆษณามาซัพพอร์ต แต่ ณ ตอนนี้สินค้าต่างๆ เยอะขึ้น ยุคมันเปลี่ยน มีหลายช่องด้วย ละครตัดโฆษณาที! คนดูหยิบรีโมตเปลี่ยนช่องเลย

โปรดักชันละครเรื่องหนึ่งๆ ต้องจ่ายไปเท่าไร ค่าทีมงาน ค่าดารา ถ้าไม่มีการไทอิน Tie-in ก็แย่สิ! ดังนั้น จึงต้องไทอินให้คนเห็น เป็นความอยู่รอดของสินค้าให้อยู่ได้ ละครก็อยู่ให้ได้ ถ้าไม่มีไทอินก็อยู่ยาก แต่ผู้กำกับทีมงาน จะทำอะไรไทอิน ต้องทำให้เนียน อย่าทำให้เสียอรรถรสในการดูละคร

รูปแบบการทำโฆษณา ของสินค้าแต่ละยี่ห้อมันต่างกัน ต้องใช้วิธีต่างกันไป ต้องดิ้นรนหาทางรอด สินค้าต้องรอด บางคนยิงแอดโฆษณาไปที่แฟนเพจ ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผล ฟีดแบ็กไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป หรือบางสินค้าจ้างพรีเซนเตอร์ จ่ายแพงๆ ก็ไม่ได้ผลก็มี มันก็เลยหาช่องทางออกสินค้า ให้คนได้เห็นมากขึ้นด้วย

ต้องจ่ายแค่ไหน จึงจะได้ไทอิน Tie-in

อ้วน รีเทิร์น บอกดังๆ ต่อไปว่า การเข้ามาไทอิน แล้วแต่สินค้าจะจ่ายเท่าไร คุยกับทีมงานกันไป มันหลักแสนขึ้นไปอยู่แล้ว แล้วแต่สินค้าด้วย ยิ่งถ้าละครเรื่องไหน มีพระเอกนางเอกตัวเด่นๆ ก็จะยิ่งแพงขึ้นไป

ในชีวิตจริง คนเราก็ใช้สินค้าอยู่แล้ว ใช้ครีมทาหน้า น้ำหอม ฯลฯ ก็ตั้งอยู่บนโต๊ะอยู่แล้ว ซึ่งในละครในห้องนอนก็ต้องมีจริงๆ พอพระเอกนางเอกเข้าห้องนอน ทาครีมบำรุงผิว ก็ตั้งสินค้าไทอิน Tie-in ไว้ได้ แต่ต้องดูแล้วไม่สะดุด บางทีสินค้าที่เข้ามาไทอิน ไม่ต้องการเน้นยอดขาย แต่เขาอยากจะได้อิมเมจ image เพื่อตอกย้ำแบรนด์ ให้สินค้าของเขายังมีตัวตนเป็นที่รับรู้อยู่ต่อไป 

อย่างเราเล่นละคร บทหิวก็หยิบขนมหยิบน้ำมาดื่ม คนดูแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกขนาดที่ว่า จะต้องไปซื้อขนมซื้อน้ำ ที่เราดื่มมากินตามหรอก มันก็แค่การไทอิน ที่จะทำให้เนียนหรือไม่เนียน ได้แค่ไหนก็เท่านั้นเอง! 

เจาะๆ รูปแบบไทอิน Tie-in

ณ๊อบ ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง ผู้กำกับหนังและซีรีส์ เช่น La Cuisine เมนูลับฉบับแก้มยุ้ย, Gen Y วัยรุ่นวุ่นวายรัก ซีซั่น 2, อัยย์หลงไน๋ ฯลฯ

ณ๊อบ บอกเคลียร์ๆ ดังนี้ ตั้งแต่มีทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิทัล มีการสร้างคอนเทนต์เยอะขึ้น มีช่องทางการขายโฆษณามากขึ้น งบประมาณเอเจนซี่ Agency กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าให้เห็นเด่นชัดเป็นที่รับรู้ เริ่มมีการไทอิน Tie-in สื่อสารตรงกับลูกค้า

ฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง Marketing เออี AE Account Executive จะเป็นทีมที่ไปหาสินค้ามาไทอิน Tie-in พอได้มาแล้ว คนเขียนบท-ผู้กำกับต้องมาคุยกันว่าจะนำเสนออย่างไรให้ดูดีที่สุด ต้องให้เข้ากับเรื่องราวด้วย บางทีเขียนบทเสร็จก่อนแล้ว ค่อยไปหาสินค้ามาไทอิน Tie-in ก็ได้ หรือถ้าทำจบแล้ว ออนแอร์ไปแล้ว กระแสดี ดาราดัง และลูกค้าต้องการด้วย เราก็หาคิวถ่ายเพิ่ม เพื่อนำสินค้ามา Tie-in หรือสร้างเรื่องให้สินค้าเป็นพิเศษก็ได้อีก เราเรียกว่าไซด์สตอรี่ Side Story

การจะไปไทอิน Tie-in แบบยัดเยียดตอนนี้ ทำไม่ได้แล้วนะ เพราะคนดูฉลาด ถ้าทำแบบยัดเยียดเกินไป คนดูจะอี๋! เฮ้ย! อะไรวะ! แต่บางทีก็เป็นกลยุทธ์ให้คนพูดถึง แล้วจะทำยังไงให้สินค้านั้นคนดูแล้ว อยากจะไปซื้อตามใช้ตาม ขึ้นอยู่กับคนเขียนบท ผู้กำกับ จะเล่าเรื่องยังไงที่ไปกับเรื่องได้ และลูกค้าตกลง

ซีรีส์ละครทีวีช่องหนึ่ง เราจะเห็นการไทอิน Tie-in ชัดมากๆ ไทอินต้องให้คนรู้นะ ถ้าคนไม่รับรู้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีประโยชน์ เช่น ผมถ่ายทำซีรีส์วายไปแล้ว มีฉากที่พระเอกนายเอกกุ๊กกิ๊กกัน แล้วกินสาหร่ายยี่ห้อหนึ่ง เราก็ต้องดีไซน์ฉากนี้ ให้ดูฟินอินโรแมนติกให้ได้

ขั้นตอนไทอิน Tie-in ในแต่ละแบบ

ณ๊อบ ศฐาณพงศ์ อธิบายอย่างละเอียดต่อ ดังนี้ การไทอิน Tie in สินค้าในละครซีรีส์ ที่เราเห็นบ่อยๆ มีดังนี้

– ถ่ายผ่าน Placement

– ถ่ายเจาะ Close up / Focus

– นักแสดงจับบ้าง Movement

– นักแสดงใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวถึง Experience

ยกตัวอย่าง พระเอกอยู่ในฉาก มีขวดน้ำยี่ห้อหนึ่งตั้งอยู่ เราเรียกว่าโปรดักต์เพลสเมนต์ Product Placement แต่พอพระเอกจับดื่มน้ำ เราเรียกว่ามูฟเมนต์ movement และถ้าพระเอกพูดขึ้นมา อู้ว!!! ว้าว!!! น้ำนี้ดีจัง ดื่มแล้วสดชื่นเว่อร์ๆ เรียกว่า สร้างประสบการณ์ experience แต่ถ้าเราเห็นว่า ถ่ายแล้วไม่มียี่ห้ออะไรเลย ต้องแกะฉลากออก นั่นหมายความว่าน้ำยี่ห้อนั้นๆ ไม่ได้จ่ายเงิน ไม่ได้เข้ามาไทอิน Tie-in

หรือนางเอกเดินผ่านธนาคารเฉยๆ กล้องแพนโฟกัสไปที่ป้ายธนาคารเรียกว่า โปรดักส์เพลสเมนต์ Product Placement ถ้านางเอกเดินเข้าไปใช้บริการด้วย เรียกว่ามูฟเมนต์ movement และถ้านางเอกพูดขึ้นมา ธนาคารนี้บริการดีมากๆ เรียกว่า ประสบการณ์ Experience

สินค้าต้องจ่ายเยอะสุดช่วงไหน

ณ๊อบ ศฐาณพงศ์ บอกตรงๆ อีกว่า ขั้นตอนการถ่ายผ่าน, ถ่ายเจาะ , นักแสดงจับ movement, นักแสดงพูดถึง experiene ราคาสินค้าที่จะจ่ายก็แตกต่างกัน โดยขั้นที่ให้ดาราพูดถึงในแง่ดีๆ จะแพงสุด! แต่บางครั้งดารา ก็จับสินค้านั้นไม่ได้ เพราะติดพรีเซนเตอร์สินค้าอื่นอยู่ หรือบางทีถ้าจะให้จับ ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก เรื่องแบบนี้ผู้จัดการจะรู้ดี และเข้ามาบอกกับผู้จัดและทีมงานเองเลย

ซีรีส์วาย Gen Y The Series วัยรุ่นวุ่น Y รัก Season 1 ที่ผมเคยกำกับ มีสินค้าเป็นเจลลี่ ที่เข้ามาไทอิน Tie-in ดารากินกันบ่อยมากๆ ในซีรีส์นี้ เพราะเขาจ่ายหนัก!!! (หัวเราะ) อีกอย่างเขาทุ่มการตลาดหนักมาก ทั้งจัดอีเวนต์ ขึ้นป้ายบิลบอร์ดตามจุดต่างๆ มีการจัดท็อปสเปนเดอร์ (Top Spender ให้แฟนคลับซื้อของเยอะๆ จะได้ใกล้ชิด หรือมีกิจกรรมพิเศษสุดๆ กับดารา) จ้างพระเอกไปเป็นพรีเซนเตอร์ด้วย เรียกว่าทำครบวงจรมากๆ ทุกส่วนเลย

ล่าสุดซีรีส์ La Cuisine เมนูลับฉบับแก้มยุ้ย เราต้องการขายอาหารและขนมไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ Soft Power ก็จะง่ายหน่อย จะมีเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ให้นักแสดงได้ใช้ประกอบอาหารต่างๆ ไทอิน Tie-in เข้ามา ซึ่งเข้าไปกับเรื่องได้ง่าย คนดูเห็นและรับรู้สินค้าชัดเจนครับ

เจ้าของแบรนด์ดัง โดนชวนให้ไทอิน Tie-in บ่อยๆ 

ผู้บริหารหมื่นล้านจาก สตาร์เวลล์ StarWell ดร.บุญมา อิ่มวิเศษ เปิดใจว่า เราเป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง ก็มีหลายค่ายละคร หลายคนมาชวนให้นำสินค้าเรา ไปลงไทอิน Tie-in ในละครด้วยมั้ย บางเรื่องก็น่าสนใจนะ บางเรื่องเราก็ปฏิเสธไป สู้เราเอาเงินไปทุ่มในออนไลน์ น่าจะเวิร์กกว่า เพราะคนอยู่ในออนไลน์เยอะขึ้นทุกวัน

อย่างซีรีย์วาย ที่เราผลิตเอง เพิ่งถ่ายทำจบไปเรื่อง La Cuisine เมนูลับฉบับแก้มยุ้ย เราก็เอาธุรกิจเราเองไปไทอิน Tie-in ประหยัดดี ส่งเสริมการขายเนียนๆ ไปได้อยู่ ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ผับ ห้องประชุมต่างๆ น้ำปลาร้า เครื่องครัว ฯลฯ ที่เป็นของเราอยู่แล้ว อย่างเครื่องครัวที่เรานำไปไทอิน Tie-in ได้เลย เพราะมันเป็นฉากทำอาหาร ก็ลงตัวดี

ชำแหละหมดเปลือกไทอิน Tie-in ในรายการดัง

ไปคุยยาวๆ กับ ต่อ นลินรัตน์ กุลเมธีกวีวุฒิ ประสบการณ์ทำงานเยอะมาก เช่น ทำงานให้เจเอสแอล JSL เป็นโปรดิวเซอร์นาน 5 ปีให้รายการ เจาะใจ ปัจจุบันยังคงผลิตสื่อต่างๆ อยู่ 

ต่อ นลินรัตน์ บอกดังๆ ไปว่า ดาราจะจับสินค้าในรายการ ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าดาราคนนั้นเรื่องเยอะมากน้อยแค่ไหน หรือถ้ามีพ่วงสกู๊ป 1-2 นาที แบบนี้ทางรายการ จัดให้ขายได้เต็มๆ แต่ก็จะมีกฎอยู่ว่า ห้ามพูดสรรพสินค้าเว่อร์วังอลังการ

ราคาที่สินค้าต่างๆ จะมาไทอิน Tie-in ในรายการแล้วแต่เลย บางรายก็ซื้อยาวๆ เป็นแพ็ก ก็จะได้ถูก เช่น 3 หรือ 6 เดือน ซื้อเป็นปีไปเลย หรือจะซื้อเป็นครั้งๆ ก็ได้ ช่อง 3 5 7 9 แพงจริง! 3 7 แพงกว่าช่องดิจิทัล เมื่อก่อนแต่ละรายการต้องทำให้เนียนๆ แต่ตอนนี้ไม่ต้องเนียนกันแล้ว ทำๆ บอกให้รู้ไปเลย คนดูก็รู้คือคนดูฉลาดเลือกมากขึ้น

เรื่องไทอิน Tie-in สินค้าในรายการต่างๆ เอ็กแซ็กท์ Exact เป็นคนเริ่มทำจากซิตคอม (sitcom : Situation Comedy) ในฉากร้านค้าจะมีสินค้าต่างๆ คุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ได้ไอเดียไปเอาของต่างๆ มาวางไว้โน่น นี่ นั่น ก็เลยไปหาสปอนเซอร์สินค้าต่างๆ เข้ามาสนับสนุน คนซื้อใช้ตาม เพราะเห็นดาราหยิบจับบ่อยๆ

ยังมีคนที่ประเทศไทยนี้ ยอมซื้อสินค้าเพราะเห็นบ่อย ซื้อเพราะดาราหยิบ ก็ใช่! แต่เราต้องใช้วิจารญาณของเราเองด้วย ว่ามันดีจริงมั้ย พระเอกดังๆ เป็นพรีเซนเตอร์น้ำอัดลม หยิบขึ้นมากิน หรือไปไทอิน Tie-in ในรายการต่างๆ คนก็อยากจะกินตาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่จะกินจะใช้ตามๆ ดาราที่ชอบ แต่สำหรับคนที่โตแล้ว มีวุฒิภาวะคิดได้ มองออกรู้เท่าทัน รู้ว่าน้ำอัดลมไม่ดี จะไม่ตกเป็นเหยื่อของโฆษณา นึกออกมั้ย

สินค้ามีหลายประเภท บางรายต้องการให้เห็นสินค้าบ่อยๆ เพราะเขาคิดว่าจะช่วยกระตุ้นการซื้อ บางตัวจ่ายหลายล้านซื้อทั้งปี พิธีกรยิ่งกว่าพูดๆ ป้ายสปอนเซอร์ด้านหลัง ตากล้องต้องแพนๆ ซ้ายไปขวาแพนไปให้ครบนะ ขาดไม่ได้ โลโก้ต้องขึ้นที่มุมกี่ครั้งๆ กี่ชอตๆ กี่วินาทีก็ว่ากันไป ท้ายรายการ End Credit ก็ต้องมี โอ๊ย!!! ยัดเยียดกันไป เพื่อให้คนดูได้เห็นคุ้นตา ก็เท่านั้น 

ทะเลาะกันบ่อย เพื่อหาจุดลงตัว

ต่อ นลินรัตน์ บอกตรงๆ เออี AE (Account Executive) กับครีเอทีฟ (Creative) รายการ จะทะเลาะกันตลอด เราเป็นครีเอทีฟ ไม่อยากให้สินค้ามารกในรายการมากมาย เรามีคอนเทนต์ของเรา แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องทำให้ฝ่ายเออีไปด้วย เพราะบางครั้งเขาไปตกลงไว้เยอะกับลูกค้า อยากขายอะไรๆๆๆๆ ก็ได้ๆๆๆๆ โดยที่ไม่บอกเรา เช่น ดาราพิธีกรหยิบจับได้ ซึ่งบางดาราพิธีกร จะไปหยิบจับสินค้าให้ไม่ได้ เพราะติดสัญญาสินค้าอื่นอยู่ และเขามีมูลค่าของเขาอยู่ นึกออกมั้ย ยุคนั้นจำได้เลย แอน สิเรียม จะไม่จับสินค้าไหนๆ เลยในรายการ

สินค้าบางตัวเจ้าของก็น่ารัก ไม่เรื่องเยอะ เราแนะนำไปอย่างนี้ๆ นะ เขาก็เชื่อเรา แต่บางรายก็เรื่องเยอะ ไม่ได้! ไม่ยอม! ต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงด้วย 

ยกตัวอย่าง รายการครบเครื่องเรื่องผู้หญิง ที่อยู่มายาวนานกว่า 15 ปี รายการไทอิน Tie-in ได้เต็มที่เลย แต่อย่างรายการเจาะใจ ที่เราเคยทำ ยุคนั้นเราเลือกสินค้าได้ ปฏิเสธสินค้าได้ ว่าสินค้านี้มันไม่เหมาะกับรายการเรา เพราะรายการขายคอนเทนต์ จะให้พี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) มาพูดๆ ในรายการมันไม่เหมาะ นึกออกมั้ย 

รายการหนึ่งที่มีพิธีกรดัง สินค้าอะไรๆ มาก็รับๆ ไปหมด คนดูก็รู้แหละ ลูกค้าก็อยากจะพูดๆ อยากจะเข้ามาขายของไทอิน Tie-in บางทีกลายเป็นการยัดเยียดมันไม่เนียน คนดูฉลาดขึ้นแล้วนะ เขาเลือกได้ว่า จะสนับสนุนรายการแบบไหน จะซื้อสินค้าแบบไหนที่ดีที่เหมาะกับเขาจริงๆ

มีหลายวิธีที่จะทำให้คนเห็นสินค้ามากขึ้น เช่น ทำสกู๊ป เปิดกระเป๋าดารา จะเจออะไรบ้าง ก็เจอสินค้าต่างๆ ที่มาจ้างไง (หัวเราะ) บางทีดาราก็ไม่ได้ใช้จริงหรอก นึกออกมั้ย เมื่อก่อนคนไทยหลอกง่าย ก็จะเชื่อว่าดาราใช้จริง แล้วไปซื้อตามมาใช้ด้วย 

รายการดี ไม่ต้องเน้นขายของก็รอดได้

เมื่อก่อนเป็นระบบช่อง เป็นคนจ่ายค่ารายการให้ ช่องไปหาสปอนเซอร์เอง หาโฆษณาระหว่างเบรกด้วย ไม่ได้มารบกวนรายการเรา รายการที่ดีๆ เจ๋งๆ สมัยก่อน เช่นรายการ คนค้นฅน (พิธีกร เช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) สินค้าที่มาสนับสนุน พิธีกรไม่ต้องพูดยัดเยียดเลย ว่าดีแบบไหนอย่างไร ไม่ต้องบอกสักคำ!!! ซึ่งเราชอบสินค้าแบบนี้มากๆ ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำยังให้เนียน เพราะรายการขายคอนเทนต์ด้วยตัวของมันเอง มันดีกับรายการ และดีกับภาพลักษณ์ของสินค้าด้วย 

ทุกวันนี้ก็ยังเห็นโลโก้โฆษณาขึ้นอยู่นะ ขึ้นเยอะแยะเลย มันต้องดำเนินไปด้วยตังค์รึเปล่าวะ มันก็เวิร์กสำหรับบางช่องบางกลุ่มไง มีโลโก้สินค้าต่างๆ บนจอ มันไม่ได้น่าเกลียดไง สิ่งที่น่าเกลียดคือ ทำชัดเจนเกินไปเต็มเฟรม แบบนี้มันยัดเยียดเกินไป ต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ การขายของไม่จำเป็นต้องยัดเยียดขนาดนั้นก็ได้ 

ทีวีช่องหนึ่งที่เรารู้ๆ กันอยู่ เราเคยไปให้ ไม่ต้องกังวลเรื่องสปอนเซอร์ เพราะเขาได้เงินจากสินค้าเทาๆ มาสนับสนุนช่องอยู่แล้ว อย่างนี้เราก็จะคิดคอนเทนต์ดีๆ ได้เลยเต็มที่ ไม่ต้องไปอิงไปง้อสินค้าต่างๆ

สินค้าห่วยหรือไม่ห่วย เราไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่เรา ครีมจะดีไม่ดี เราไม่ได้ทดลองใช้ทุกตัว ที่เข้ามาในรายการ นึกออกปะ เราในฐานะโปรดิวเซอร์รายการ ก็ต้องทำให้สินค้าออกมาดูดีในรายการ ในฐานะที่เขาจ้างเราทำ จำได้มั้ย เคยมีดาราดังหลายคนโป๊ะแตก เพราะไปรีวิวครีมที่ไม่มีคุณภาพ เพราะดารากลุ่มนั้นก็ไม่ได้ใช้จริง แค่โดนจ้างจ่ายเงิน ก็โพสต์ๆ รีวิวลงไอจีให้เลย

ครีเอทีฟต้องคิดๆ ให้ได้

ต่อ นลินรัตน์ บอกต่อตรงๆ อีกว่า จะพูดยังไงให้ฟังแล้ว ดูแนบเนียนที่สุด เขาถึงเรียกว่าครีเอทีฟไง เช่น สินค้าเป็นหมอน จะเอาเข้ามาไทอิน Tie-in ในรายการยังไงให้ดูสวยงามที่สุด เราก็คิดคอนเทนต์นอนขึ้นมา เอาหมอนมาเข้ารายการก็ดูเนียนดี กล้องแพนไปที่โลโก้ด้วยนะ อะๆ ให้พิธีกรลองๆ หนุนหมอนนอนไปเลย ก็ต้องขึ้นอยู่กับโปรดิวเซอร์ครีเอทีฟแล้วละ จะคิดจะทำยังไง ถึงแม้ว่าสินค้าบางตัว จะไม่เข้ากับรายการเลยก็ตาม เราก็ต้องทำให้ได้ ให้เนียนที่สุด

F4 THAILAND : BOYS OVER FLOWERS ซีรีส์นี้สินค้าแห่มาไทอิน Tie-in เยอะมากๆ คนทำจะไทอินสินค้าต้องไม่โง่ เพราะคนดูตอนนี้ก็ไม่โง่แล้ว ต้องทำยังไงให้เนียนให้ได้ บางรายการถึงแม้สินค้าจะได้เงินเยอะ แต่ต้องตัดออก เพราะตกลงกับลูกค้าไม่ได้ ตอนนี้ต้องปรับเพื่อความอยู่รอด ช่องต้องอยู่รอด รายการต้องรอดด้วย

สินค้าจะไปออนแอร์ทางทีวีแต่ละช่อง ถ้าพวกของกินต้องปลอดภัย ต้องขออนุญาตถูกต้อง ระบบเซนเซอร์ช่องต้องตรวจอีกที ถ้าพิธีกรพูดเกินจริง ถ้าสินค้าไม่โอเค ไม่มีใบอนุญาตถูกต้อง อาจจะเบลอหรือตัดออก

จ่ายจ้างไทอินเป็นคนๆ ไปเลย

หมอสอง นพ.นพรัตน์ รัตนวราห ศัลยแพทย์เจ้าของคลินิกศัลยกรรมดัง เปิดใจตรงๆ ดังนี้ เคยมีละครมาเช่าสถานที่ เช่าคลินิกของผม เพื่อถ่ายทำละครซีรีส์ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนไข้บอกต่อๆ กัน ว่าคลินิกสวย สถานที่กว้างขวาง มีที่จอดรถเยอะ และมีห้องผ่าตัดที่มาตรฐานเหมือนโรงพยาบาล

อีกทั้งเคยมีสื่อมาสัมภาษณ์ประเด็นทางสังคม ที่เกี่ยวกับศัลยกรรมบ่อยๆ เลยทำให้ภาพคลินิกผมถูกเผยแพร่ออกไปมาก ทีมงานเรื่องสถานที่ของกองละครเห็นภาพ จึงสนใจที่จะมาถ่ายทำละคร

เมื่อติดต่อมา ก็มีทั้งที่ได้ถ่ายจริงและมีที่ปฏิเสธไปบ้าง เพราะเรามีคนไข้เข้ามาตลอด คลินิกไม่ค่อยว่าง จะใช้สถานที่ได้ ก็ต่อเมื่อผมไปต่างประเทศและไม่มีแพทย์ท่านอื่นนัดคิวเข้ามาผ่าตัด เราจึงสามารถให้คิวได้ ซึ่งทีมงานจะเข้ามาสำรวจ และแจ้งว่าใช้พื้นที่ตรงไหนบ้าง ราคาเริ่มตั้งแต่ 3-50,000 ต่อชั่วโมง

มีบางกองละครก็เข้ามาติดต่อ และเสนอเข้ามา ในลักษณะการได้ Tie-in ชื่อคลินิกเข้าไป ดังเช่นที่เราเห็นมากมายในละคร ที่จู่ๆ ก็มีป้ายโรงพยาบาลเข้ามาในฉาก หรือมีชื่อโรงพยาบาล ตามหัวเตียงคนไข้ในละคร ซึ่งถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบหนึ่ง

กำหนดเงื่อนไขไทอิน Tie-in เป็นวินาที

กอหญ้า สุฐพิศกร อุณหพิพัฒน์ โปรดิวเซอร์หลายรายการ เช่น ดิเอ็กซ์คลูซีฟ The Xclusive ฯลฯ และยังเป็นผู้จัดละครซีรีส์ด้วย ให้สัมภาษณ์ดังนี้ ซีรีส์วายที่เคยทำไป เราได้โฟมล้างหน้ามาไทอิน Tie-in ก็ได้มาหลายแสนอยู่ เงื่อนไขที่เราให้ไปคือ ถ่ายให้เห็น 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 10 วินาที

เป็นเรื่องปกติ ที่จะมีสินค้ามาขายในละครซีรีส์ เพราะไม่งั้นจะเอาเงินที่ไหนมาผลิต หรือมาจ้างดารา แต่ต้องดูด้วยว่าสินค้า โปรดักต์เข้ากับเนื้อหามากน้อยแค่ไหน สินค้ามีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ ได้รับอนุญาตถูกต้องแล้ว

เราในฐานะคนผลิต มีหน้าที่สกรีนเบื้องต้นในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนมาไทอิน Tie-in รูปแบบไหน เพื่อให้ดูสมูท smooth ที่สุดในรายการ ไม่ดูขายฮาร์ดเซลล์เกินไป

ธุรกิจบันเทิงหมุนได้ด้วยเงินและความสามารถ 

ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว การไทอิน Tie-in เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเข้าไปไทอินที่ละคร ซีรีส์ หนัง หรือรายการต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของทุกฝ่าย การมีเงินมีสินค้ามาช่วยสนับสนุน ก็เป็นอีกหนทางหาเงินให้รอดต่อไปได้

หลายคนที่ให้สัมภาษณ์มา ย้ำว่าสินค้าไทอิน Tie-in ที่ยัดเยียดไป ไม่ครีเอต ไม่สร้างสรรค์พอ ก็จะทำให้สินค้าพลอยพังไปด้วย คนไม่อินไม่ชอบ พานเกลียดไม่ซื้อใช้ซื้อกินไปเลยก็มี แต่ตรงกันข้าม ถ้าทีมงานมีความสามารถมากพอ ช่วยกันระเบิดความคิดสร้างสรรค์ ขยี้คอนเทนต์เนื้อหาให้โดดเด่นโดนใจไปก่อน โดยมีสินค้ามารองรับส่งเสริมให้แน่นขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สินค้านั้นๆ ได้ใจ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปด้วย.  

นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง

กราฟิก : Sathit Chuephanngam 

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2324026
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2324026