ลูกชาย “เสี่ยแหบ วิทยา” แถลงติดใจสาเหตุเสียชีวิต ค่ารักษา 2 ล้าน รอผลชันสูตร


ให้คะแนน


แชร์

ลูกชาย “วิทยา ศุภพรโอภาส” พร้อมทนาย แถลงติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของพ่อ ตั้งปมสงสัย หมดค่ารักษา 2 ล้าน รอผลชันสูตร-รอรพ.ชี้แจง

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 65 ที่ศาลาเมรุ วัดราชวรินทร์ (วัดสำเหร่) เขตธนบุรี กรุงเทพฯ นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส หรือ เป้ (ลูกชาย) พร้อมด้วยศิลปินตลกอาวุโส ธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือ เป็ด เชิญยิ้ม, นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และนายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกับสื่อมวลชน กรณีการเสียชีวิตของ “เสี่ยแหบ” วิทยา ศุภพรโอภาส นักจัดรายการชื่อดัง ผู้บุกเบิกวิทยุลูกทุ่ง เอฟเอ็ม หลังเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งปอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี แต่หลังจากนั้น วันที่ 4 เม.ย. นายวิทยามีอาการวิกฤต เกิดภาวะสมองตาย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่ สอง และเสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 65 ในวัย 72 ปี

โดย นายศุภวิทย์ ลูกชาย กล่าวว่า “วันนี้มาแถลงข้อเท็จจริง เพราะตอนแรกเกิดเหตุการณ์เข้าใจผิดกันเยอะว่าคุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จริงๆ แล้วคุณพ่อไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งแต่อย่างใดนะครับ

“เริ่มจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณพ่อได้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ขั้นที่ 1 และได้เข้ารักษาตัวผ่าตัดให้คีโมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง การรักษาผ่านไปได้ด้วยดีจนหายและมีการตรวจเช็กอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจเลือดทุกปี ตรวจค่ามะเร็งส่องกล้องก็ไม่พบว่ามีมะเร็งแต่อย่างใด จนกระทั่งตรวจครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่พบว่ามีค่าเลือดโรคมะเร็งแต่อย่างใด”

“จนกระทั่งเดือนกันยายน 2564 คุณพ่อมีอาการไอ และมีเลือดติดออกมากับเสมหะ ก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ปกติคุณพ่อมีอาการไออยู่แล้วเพราะใช้เสียงเป็นพิธีกรและเป็นคนเสียงดัง หมอวินิจฉัยว่าเป็นกล่องเสียงอักเสบเท่านั้น ที่มีเลือดออกมาเพราะไอเยอะเกินไปทำให้กล่องเสียงเป็นแผล แต่เพื่อความชัวร์คุณหมอแนะนำให้ลองเช็กปอดไปด้วย”

“สรุปไปเอ็กซเรย์ปอด ผลออกมาว่าเจอจุดก้อนมะเร็งที่ปอดทั้ง 2 ข้าง ได้รับคำแนะนำจากแพทย์วางแผนการรักษาในครั้งนี้ เพราะมะเร็งเพิ่งมา คุณพ่อไม่เคยเจ็บป่วยใดใดกับมะเร็งทั้งสิ้น เพราะว่ามันยังไม่ได้ออกฤทธิ์ เจอโดยความบังเอิญ”

“มาวางแผนกับทางทีมแพทย์โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่ต้น วิธีการรักษาของคุณพ่อ คือให้คีโมมา 8 ครั้งในตลอด 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 64 ที่ตรวจพบ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 65 ที่ผ่านมานี้ เฉลี่ยคือให้คีโมเดือนละครั้ง ให้คีโมครบ 8 ครั้งเสร็จสิ้นแล้ว คุณหมอแนะนำว่ามะเร็งฝ่อลงไปแล้วหลังจากการให้คีโมไป 8 ครั้ง ถ้าจะให้หายขาดเลยต้องผ่าตัดเฉือนก้อนเนื้อที่เหลือเล็กน้อยในปอดทั้ง 2 ข้างออก เพื่อให้อยู่ได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ให้ผ่าปอดออกทั้ง 2 ข้าง คุณพ่อตกลงตามนั้นทำตามแผนที่คุณหมอแนะนำ”

“จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คุณหมอวางแผนทั้งหมดแล้วว่าต้องเข้ารับการผ่าตัด เตรียมตัวตรวจสุขภาพ เข้าโรงพยาบาลทั้งสัปดาห์ก่อนผ่าตัด ตรวจความพร้อมของร่างกาย ผลออกมาสามารถเข้าผ่าตัดได้”

“การผ่าตัดเกิดขึ้นเช้าวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 65 เวลา 8 โมงเช้า คุณพ่อรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง แล้วช่วงบ่ายสามโมง ได้รับโทรศัพท์จากญาติที่เป็นคุณหมอเหมือนกัน เพราะในห้องไอซียู ผมไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้เพราะช่วงโควิดเขาไม่ให้เข้า ผ่าตัดเสร็จคุณพ่อจะพักฟื้นในไอซียูก่อน 24 ชั่วโมง ผมถึงจะไปเยี่ยมได้”

“ตีสามของคืนเดียวกัน ก็คือเช้าวันที่ 4 เมษายน ทางโรงพยาบาลโทรมาหาผมกลางดึก บอกคุณพ่ออาการไม่ดีแล้ว รีบมาด่วน ผมไปถึงโรงพยาบาลตีสี่ ภาพที่ผมเห็นมีทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตคุณพ่อ คือผมได้เข้าไปในไอซียูแล้วเพราะเป็นเหตุวิกฤตแล้ว”

“จนกระทั่งมีแพทย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาบอกผม แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์มาจากโรงพยาบาลจุฬา ตอนนี้คุณพ่อเป็นอาการวิกฤต มีเลือดออกจากปอด หายใจเองไม่ได้ จะต้องขอยืมอุปกรณ์คือเครื่องพยุงปอดและหัวใจ ทางการแพทย์เรียกว่า ECMO มาจากโรงพยาบาลจุฬา หลังจากนั้นจะต้องพาคุณพ่อไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลจุฬา หมอบอกเดี๋ยวเครื่องมาแล้วจะโทรเรียกผม ให้ไปรอข้างนอกก่อน”

“เวลา 7 โมงเช้า มีโทรศัพท์เรียกผมลงมาที่ห้องไอซียู เครื่อง ECMO มาถึงแล้ว กำลังใส่เครื่องนี้ให้คุณพ่อเพื่อจะเคลื่อนย้ายคุณพ่อไปรักษาต่อที่จุฬา จนเวลา 10 โมงเช้า ทีมแพทย์จากจุฬามาทรานเฟอร์คุณพ่อไป”

“คุณพ่อไปถึงโรงพยาบาลจุฬาตอนเที่ยง จนกระทั่งเวลาประมาณบ่ายสอง คุณหมอที่ไปรับตัวคุณพ่อเดินออกมาบอกผมว่า อาการคุณพ่อคงที่แล้ว อาการปอดและหัวใจคงที่แล้ว และเล่าเหตุการณ์ให้ผมฟัง สรุปสั้นๆ ว่าจริงๆ แล้วเมื่อคืนกลางดึกคุณพ่อมีอาการหายใจลำบาก ทางไอซียูของโรงพยาบาลแห่งแรก ได้สอดเครื่องช่วยหายใจเข้าไปให้คุณพ่อ แต่เนื่องจากปอดได้รับการผ่าตัดมาทั้ง 2 ข้าง เครื่องช่วยหายใจมันอัดลมเข้าไปช่วยหายใจ ทำให้ปอดคุณพ่อแตก และมีเลือดออกมา ปอดทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองคุณพ่อไม่เพียงพอ แต่ส่วนเรื่องปอดกับหัวใจพอใส่เครื่อง ECMO ที่มาถึงจากจุฬาแล้ว อาการก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่คุณหมอบอกว่ามีข้อที่น่าเป็นห่วง ตอนนี้อาการคุณพ่อคงที่แล้ว แต่หมอเป็นห่วงอยู่ 2 ข้อ ข้อที่ 1 คุณหมอเป็นห่วงว่าพ่อจะไม่ฟื้นอีกเนื่องจากขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเป็นเวลานานในระหว่างการช่วยชีวิต ข้อที่ 2 อาจจะต้องตัดแขนซ้ายพ่อทิ้ง เนื่องจากระหว่างการช่วยเหลือมีการสอดใส่เครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้เลือดไปไหลเวียนที่มือไม่ได้ ทำให้มือตาย ถ้าคุณพ่อรอดมาได้ยังไงก็ต้องตัดแขนทิ้งเพราะแขนตายไปแล้ว นี่คือสองส่วนที่คุณหมอรายงานผม ณ ตอนนี้นั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ผมรอ 48 ชั่วโมงก่อน ว่าอาการจะเป็นยังไง”

“พอเราฟังเรื่องราวทั้งหมด ผมถามคุณหมอถ้าเหตุการณ์วิกฤตแบบนี้เกิดขึ้นในไอซียูของโรงพยาบาลจุฬา จะเป็นแบบนี้ไหม คุณหมอตอบผมว่าคงไม่เป็นแบบนี้ เพราะมีอุปกรณ์ครบ คุณพ่อคงไม่ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง”

“ผมก็รอว่าน่าจะมีปาฏิหาริย์ทำให้พ่อตื่นขึ้นมาได้ตัดแขนก็ไม่เป็นไร หลังจากผ่านไป 48 ชั่วโมง ได้รับการคอนเฟิร์มจากแพทย์ที่จุฬาทั้งหมดที่ช่วยชีวิตคุณพ่อสมองตายแล้ว เพราะเสียหายจากการช่วยชีวิตไม่ทัน ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่ได้ จาก 48 ชั่วโมงเราก็ยังรอยังมีหวังว่าปาฏิหาริย์จะมี ก็รอคุณพ่อนอนอยู่อย่างนั้น 2 สัปดาห์ จนเช้าวันที่ 18 เมษายน คุณพ่อก็หมดลมไปเอง”

ผมมาทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่าการเสียชีวิตมันไม่ปกติแล้ว คุณพ่อไม่ได้เสียชีวิตเพราะการผ่าตัด คุณพ่อฟื้นแล้วหลังจากนั้น มันมีอยู่ 3-4 ประเด็นที่ผมกับทางครอบครัวสงสัย

“1.การประเมินของทีมแพทย์ผ่าตัด ว่าผ่าตัดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างถูกต้องไหม คุณพ่อดูแข็งแรงจากที่ทุกคนเห็นอยู่ แต่จริงๆ คุณพ่อก็อายุ 72 แล้ว คุณประเมินถูกต้องหรือเปล่า ตัดทีละข้างไหม ทำไมต้องตัดพร้อมกัน 2 ข้าง แล้วเตรียมความพร้อมหลังการผ่าตัดไว้แค่ไหนสำหรับรองรับผู้ป่วยในการตัดปอดทั้ง 2 ข้าง มีความพร้อมอย่างไรบ้าง”

“2.เมื่อคุณพ่อผ่าตัดเสร็จฟื้นแล้ว เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทำไมพ่อถึงวิกฤตขึ้นมาได้ คนไข้ฟื้นแล้วตั้งแต่บ่ายสาม แต่เกิดวิกฤตขึ้นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่คุณพ่ออยู่ในไอซียู ไอซียูต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดพร้อมอุปกรณ์ครบ แต่ทำไมเกิดเหตุบกพร่องอย่างไรในการช่วยชีวิต”

“ประเด็นที่สาม การช่วยชีวิตคุณพ่อในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลแห่งนี้ การใช้เครื่องช่วยหายใจจนแผลพ่อที่ผ่าตัดมา ปอดฉีกออกมา มีเลือดออก ทำถูกต้องหรือเปล่า น่าจะต้องรู้ว่าปอดได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดมาแล้ว แล้วทำแบบนี้ขั้นตอนถูกต้องไหม จนทำให้สมองขาดออกซิเจน เพราะว่าปอดเสียหายผลิตออกซิเจนไม่ได้ จนถึงขั้นวิกฤตที่เกิดขึ้น”

“ข้อที่สี่ เมื่อคุณพ่อเข้าสู่อาการโคม่าวิกฤตแล้วจะต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ คือเครื่อง ECMO โรงพยาบาลแห่งนี้ต้องขอยืมจากโรงพยาบาลจุฬามา กว่าจะมาถึง ผมไปถึงตีสี่ เครื่อง ECMO มาถึง 7 โมงเช้าใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า เหตุใดถึงไม่มีการเตรียมการเครื่องนี้ไว้ที่โรงพยาบาลตั้งแต่แรก แล้วการยืมเครื่องมาเดินทางมาช้าเกินไปหรือเปล่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบ เหตุการณ์สมองตายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อปอดวิกฤต เครื่อง ECMO ก็ทำงานแทนปอดจะช่วยให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย สมองตายก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะอะไรถึงต้องรอเครื่อง ECMO นานขนาดนี้ แล้วถ้าโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีเครื่องนี้ รู้อยู่แล้วว่าไม่มีเครื่องนี้ คนไข้ผ่าตัดปอดประเมินว่าต้องใช้มีเพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด ถ้าไม่มีโรงพยาบาลนี้ควรผ่าตัดพ่อที่นั่นหรือเปล่า ควรจะให้ไปผ่าที่อื่นไหม”

“หลังจากคุณพ่อเสียชีวิตลง ทางโรงพยาบาลแห่งนี้ก็ได้เรียกผมและครอบครัวเข้าไปพูดคุยแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธการรับผิดชอบทั้งหมด โดยอ้างว่าได้ทำตามขั้นตอนมาตรฐานเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว แต่ฟังแค่นั้นพวกเราก็ยังสงสัยอยู่ในข้อต่างๆ ผมและญาติก็ติดใจเรื่องนี้แหละว่าเป็นยังไง เรื่องราวเหตุการณ์มันเกิดขึ้นมันมีจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง”

“ซึ่งผมได้ให้มีการชันสูตรพลิกศพเพื่อต้องการหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และจะพิจารณาดำเนินเรื่องทางกฎหมายต่อไป และสิ่งที่ผมสงสัยในข้อประเด็นต่างๆ ที่กล่าวไปกับทางโรงพยาบาล แต่เขาไม่ตอบครับ ก็ตอบมาว่าครบถ้วนแล้ว สำหรับผลชันสูตร ผมยังไม่ขอกล่าวตรงนี้ เอาข้อสงสัยของทางเราและเป็นการเล่าเหตุการณ์ที่ผมประสบให้ทุกท่านทราบ”

“ตอนแรกคุณพ่อไว้วางใจโรงพยาบาลแห่งนี้ เพราะเคยเป็นมะเร็งลำไส้ก็รักษาจนหายดี คุณพ่อมั่นใจและเชื่อถือ ก่อนผ่าตัดไม่มีความเสี่ยงเลย คุณหมอพูดกับผมก่อนผ่าตัดว่า ลังเลอยู่ว่าจะผ่า 2 ข้างหรือข้างหนึ่ง แล้วก็บอกว่าผ่า 2 ข้างไปเลยหายขาดชัวร์ ก่อนจะเข้าผ่าตัด คุณพ่อเดินเข้าไป 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นยังไปตีกอล์ฟกับพี่เป็ด เชิญยิ้ม ไม่ได้มีอาการเกี่ยวกับมะเร็งใดใดทั้งสิ้น เหมือนเราปกติเพราะมันยังไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะมันเพิ่งมาระยะแรกเลย ไม่มีการเจ็บป่วยใดใดทั้งสิ้น เดินเข้าไปปกติเลย”

ด้าน ศิลปินตลกอาวุโส เป็ด เชิญยิ้ม กล่าวว่า “ผมมีความสนิทสนมผูกพันกันกับพี่วิทยามาก เพราะพี่วิทยาเป็นผู้ร่วมสร้าง เชิญยิ้ม มาตั้งแต่ ปี 2523 วันสุดท้ายที่เจอพี่วิทยา วันที่ 25-26 มีนาคม ไปตีกอล์ฟด้วยกัน ร่างกายปกติ ทำได้ทุกอย่าง หลังจากวันนั้นไม่ได้เจอกัน พอทราบข่าวว่าพี่วิทยาเสียแล้ว ผมตกใจมาก มันเกิดขึ้นได้ยังไง ผมไม่เชื่อ เพราะเรายังเล่นกีฬาด้วยกัน ร่างกายแกเฟิร์มมาก แกเหมือนไม่ใช่คนอายุ 72 ยังเหมือน 60 กว่า ยังออกกำลังกายตีกอล์ฟได้สบาย คนที่แข็งแรงสะพายเป้เดินเข้าโรงพยาบาลไปผ่าตัด ไม่ใช่คนที่นั่งแอมบูแลนซ์หรือนั่งรถเข็นไป ผมถึงไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย พอรู้แบบนี้ใจสลายเลยครับ”

ด้าน ทนายนรินท์พงศ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้มีข้อเท็จจริงองค์รวมแล้ว ยังเชื่อว่าการเสียชีวิตของพี่วิทยา ศุภพรโอภาส มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เราแยกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งการตาย เหตุเกิดในระหว่างผ่าตัดของแพทย์หรือเปล่า ปัญหาที่ 1 ตอนนี้รอแพทย์ชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการ ปัญหาที่ 2 ข้อเท็จจริงเกิดแล้ว ผ่าตัดแล้วทักทายได้แล้ว ขอเวลาไปพักฟื้นใน ICU 7 วัน แต่มีอาการช็อก มีอาการต่อเนื่องไปสู่การเสียชีวิต ถึงขนาดที่ต้องโยกโรงพยาบาลไปก็ดี หรือไม่มีเครื่องมือที่พยุงหัวอะไรก็ดี ในขั้นตอนที่สอง ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของโรงพยาบาลผู้รับผ่าตัดหรือไม่อย่างไร”

ในเมื่อทราบดีอยู่แล้ว ว่าการผ่าตัดปอดทั้งสองข้าง กับคนอายุ 70 เศษๆ ปอดต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรที่อยู่ต่อเนื่อง แพทย์ที่ดูแลการผ่าตัด ICU เสียเงินเยอะๆ แต่กลับขาดการดูแลแบบนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่บกพร่องหรือเปล่า สองมีการช่วยปั๊มหัวใจเข้าไป ฟังรายงานจากแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็เห็นว่าการช่วยครั้งนี้ จะไปทำให้ปอดที่ได้รับการผ่าตัด มีรอบแผลและฉีดขาดไป อันนี้ประเมินความเห็นจากแพทย์ ไม่ได้สรุปด้วยตัวเอง ตรงนี้หากโรงพยาบาลนี้ มีเครื่องพยุงหัวใจ ทำให้หายใจไม่ผ่านปอด คือ ECMO คุณวิทยาจะตายหรือไม่”

กลับมาคำถามสุดท้าย คือวันนี้โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง ที่ต้องใช้เงินไม่น้อย ใบเสร็จของคุณวิทยาอยู่กับผม 2 ล้านเศษๆ ไม่มีใครจะเสียเงินไปตายนะครับ โรงพยาบาลที่กำลังจะผ่าตัดปอดสองข้าง แต่กลับไม่มีเครื่องมือตรงนี้ แล้วต้องไปขอยืมที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่อย่างไร ถ้าหากจำเป็นต้องมีเครื่องมือจากจุฬาฯ ทำไมต้องรอถึง 3 ชั่วโมง ทำไมต้องพยุงอาการให้คนเจ็บป่วยถึง 3 ชั่วโมง

“ข้อสงสัยต่อไปคือเมื่อมีการพยุงเรียบร้อยแล้ว แต่คุณหมอที่จุฬาฯ บอกว่าไม่น่าจะรอด เพราะสมองขาดอากาศ 3 ชั่วโมง มันก็ยังคาใจอยู่ว่า เอาเครื่องมือจากจุฬาฯ มา พอพยุงหัวใจเสร็จ กลับพาคนไข้ที่อยู่ในสภาพปางตาย กลับไปโรงพยาบาลจุฬาฯ อีก ใบเสร็จอันนี้ เป็นใบเสร็จที่เสียที่โรงพยาบาลแห่งนี้อันนี้คือข้อสงสัยของทีมทนายความ และสิ่งที่ผมรวบรวมมา”

“วันนี้เราไม่ได้พูดทั้งหมด จะไม่พูดอะไรเกินกว่าสิ่งที่รู้ แต่ความคาใจของคุณเป้ กำลังจะบอกว่าท่านต้องตอบคำถามที่เราถามไปให้ได้ครบถ้วน ท่านต้องมีการแสดงให้เห็น ว่าการตายของคุณวิทยา เป็นการตายโดยท่านได้ทำเต็มความสามารถของท่านแล้วครับ เพื่อให้เรารู้สึกว่าคุณพ่อตายแบบมีเกียรติ ไม่ได้ตายฟรี อย่างน้อยที่สุดโรงพยาบาลก็พยายามดำเนินการให้ทุกเรื่องแล้ว

“แต่ถ้าตอบไม่ได้ ผมในฐานะทนายความก็ต้องได้รับมอบอำนาจจากคุณเป้ก่อน ว่าจะไปต่อไหม ถ้าไปต่อขั้นตอนผมวันนี้ คือหนึ่งผมจะไปทำหนังสือถึงแพทย์สภา สองข้อบังคับแพทย์สภา ด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม 2549 ข้อ 15 และข้อ 22 สบายใจได้ว่าเราไม่ดื้อดันไปแบบไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าวันนี้ท่านตอบได้ว่ามีเหตุมีผล ผมเชื่อมั่นว่าคุณเป้ต้องยอมรับสิ่งที่โรงพยาบาลได้ทำหน้าที่ดีที่สุดครับ”

“เพียงแต่ผมรอว่าหลังจากการแถลงข่าวตรงนี้ มันจะมีผลกระทบอะไร ทำให้โรงพยาบาลนั้นๆ ได้เข้ามาชี้แจงในสิ่งที่ทายาทได้ตั้งข้อสังเกตไว้แต่ละข้อๆ รวมทั้งตัวผมด้วย ในฐานะทนายความ เรียนถึงโรงพยาบาลด้วย ว่าพวกเราไม่ได้มีเจตนามาทำร้าย มาทำให้เสียชื่อเสียง หรือเอาความเท็จมากล่าว คุณวิทยามีความศรัทธาในโรงพยาบาลนี้มาก เพราะได้รักษามะเร็งลำไส้หายไป ในช่วง 5 ปีที่แล้ว ถึงขนาดว่าพักฟื้นแล้ว เชื่อมั่นว่าจะต้องอยู่อีก 12 ปี”

หลังจากนี้รอโรงพยาบาลออกมาชี้แจงใช่ไหม? ทนายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า “ใช่ครับ รอผลชันสูตรพลิกศพก่อน ผลจะแสดงให้เห็นชัดเจน ว่าเหตุมันน่าจะมาจากอะไร แล้วหลังจากนั้นก็รอดูทางโรงพยาบาลก่อน ว่าจะมีการชี้แจงหรือเชิญผู้เกี่ยวข้องของเราไปคุยด้วยยังไง ถ้าเขายืนยันว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว ผมก็คงต้องถามคุณเป้ ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ถ้ายังเชื่อมั่นว่าคุณพ่อเสียชีวิตจากการกระทำโดนบกพร่อง ก็ไปดำเนินกระบวนการในศาล โดยนำพยานหลักฐานที่ต้องรวบรวมอีกมากมาย ไปให้ศาลเห็น เราชื่อว่าเราถูกกระทำโดนประมาทเลินเล่อ ซึ่งมันจะเป็นขั้นตอนที่สอง หลังจากไม่มีอะไรคืบหน้าจากการแถลงข่าววันนี้ครับ

คิดว่าโรงพยาบาลจะฟ้องกลับได้ไหม? ทนายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า “คงไม่หรอกครับ ผมบอกแล้วว่าวันนี้ไม่ได้กล่าวหาโรงพยาบาลนะครับ ต้องเรียนก่อน ผมไม่ได้กล่าวหาโรงพยาบาล ว่าทำให้เขาตาย เพียงแต่ว่าเหตุต่างๆ มันเกิดจากโรงพยาบาลนี้ แล้วผมก็เอาข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาลนี้ทั้งหมดมา บอกแล้วผมก็ยังบอกว่า ถ้าท่านได้ตอบแล้วถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายนี้จะยอมรับหรือไม่อย่างไร ถึงท่านตอบว่าพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางคุณเป้อาจจะบอกว่าไม่ใช่ครับ เขาอาจจะนำเรื่องนี้ไปพิพาทในศาลต่อไปก็ได้”

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_7023121
ขอขอบคุณ : https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_7023121