โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องตลก เอิน กัลยกร เปิดใจต้นเหตุมาจากครอบครัว


ให้คะแนน


แชร์

เราก็รู้สึกว่าทำไมเราถึงโดนแบบนี้ มีโกรธเป็นแว๊บๆ แต่ส่วนใหญ่ผิดหวังมากกว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสียใจที่มีสำนักข่าวเขียนแบบนี้ถึงเรา แต่ไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่เขาเขียน เพราะรู้สึกว่าเขาก็คงนิสัยไม่ค่อยดี เขาถึงเขียนแบบนี้ เอินขออนุญาตก่อนเอินไม่ใช่ดาราแล้ว เพราะฉะนั้นเอินพูดจาแบบดาราไม่ค่อยเป็นแล้ว

ตอนนั้นเราก็เขียนระบายความรู้สึกของเราลงในเฟซบุ๊ก แล้วเราก็รู้สึกว่าเนื้อหาข้างในก็ไม่ได้แย่นิ แต่ทำไมพาดหัวแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของจรรยาบรรณ เห็นได้ชัดว่าเขาต้องการเรียกคนเข้ามาอ่าน ประเด็นที่สอง คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเป็นโรคซึมเศร้าก็สะอึก แล้วยิ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้า วันที่เอินเจอ สมมุติว่าวันที่เอินเจอเป็นวันที่เอินดาวน์หนักมาก วันที่เอินอยู่ในภาวะเกลียดตัวเองขึ้นมา

สิ่งที่เขาพาดหัวมันทำให้เอินทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้เลยนะ เอินถึงได้บอกว่านี่มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันรุนแรงมาก ถ้าสมมุติว่าวันนี้เอินรักษาอยู่ เอินแข็งแรงประมาณนึงแล้ว แต่เมื่อวานก็แอบร้องไห้อยู่นะ เอินแข็งแรงประมาณนึงแล้ว สมมุติว่าคนที่เจอไม่ใช่เอินเป็นคนที่ยังไม่แข็งแรงแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยถามหาจรรยาบรรณ รอให้ใครสักคนเสียชีวิตไปก่อนหรอถึงจะทำอะไรสักอย่าง มันก็ไม่ใช่”

เห็นว่าเขาโทร.มาหา?
“เอินรู้ข่าวประมาณ 6 โมง มีเพื่อนแคปมาให้ดู เสร็จแล้วประมาณเที่ยงหรือบ่ายจำไม่ได้ จำได้แค่ว่าประชุมงานอยู่ แล้วก็นักข่าวคนที่สัมภาษณ์โทร.มา เขาบอกว่าเขาขอโทษเป็นการส่วนตัว เขาเป็นคนเขียน แต่เขาไม่ได้เขียนพาดหัวแบบนั้นเขาส่งต่อให้รีไรท์เตอร์ เราก็โอเค เรารับการขอโทษเป็นการส่วนตัว

แต่ที่เขาจะขอโทษแทนพี่ๆ เราว่ามันไม่ใช่ เราก็รู้อยู่ว่าข่าวๆ นึงกว่าจะออกมามันต้องผ่านคนเขียน ผ่านคนรีไรท์ ผ่านกอง บก. ผ่านการบรู๊ฟแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนหนึ่งคน แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการออกข่าวครั้งนั้น ทีนี้ตอนค่ำก็มีอีกคนโทร.มาบอกว่าเป็นหัวหน้ากองข่าว ไม่มีคำว่าขอโทษเลยตลอดบทสนทนา

ช่วงแรกๆ วนไปบอกว่าคนที่ควรจะโทร.มา ไม่ควรจะเป็นน้องคนนั้นควรจะเป็นเขา ก็มีหลุดคำว่าเสียใจออกมา แต่ว่านานมากกว่าจะหลุดคำนี้ออกมา แต่ว่าน้ำเสียงตลอดการสนทนาเราไม่รู้สึก แล้วเขาพยายามพูดปัดๆ ให้มันจบ ทีนี้เอินอธิบายให้เขาฟังว่ามันรุนแรงแค่ไหน เอินไม่ใช่คนแรก ไม่ใช่คนสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ก็เขียนถึงคนนู้น คนนี้ แบบนี้ เอินรู้สึกว่ามันไม่โอเค เขาก็ถามเอินด้วยน้ำเสียงโมโหว่า แล้วเอินจะเอาอะไร เราก็บอกเขาไป 3 สิ่ง คือ 1.ให้เขาเขียนขอโทษอย่างเป็นทางการ 2.ต้องการมาตรการจัดการกับคนที่มีส่วนในการรับผิดชอบในครั้งนี้ทุกคน 3.คือมาตรการที่เขาต้องวางเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนอื่นด้วยในอนาคต เพราะว่าเอินไม่เชื่อว่าเอินคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่มันต้องเริ่มที่ใครสักคน”

ถ้าเป็นเมื่อก่อนเอินบอกว่าถ้าเห็นข่าวแบบนี้เอินอาจจะทำร้ายตัวเอง?
“ใช่ค่ะ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีชุดความคิดใกล้ๆ กัน ของเอินจะเป็นรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ตัวเองไม่ดีพอทีนี้พอมันเป็น2 อย่างนี้ควบคู่กันอะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ดีพอ เราไม่มีคุณค่า มันค่อนข้างรุนแรงแล้วกระตุ้นให้รุนแรงมาก”

สาเหตุที่เราน้ำหนักขึ้นเพราะเรากินยารักษาโรคซึมเศร้า?
“ใช่ค่ะ แต่ตอนนี้เปลี่ยนยาแล้ว เอินเป็นโรคซึมเศร้ามา 20 กว่าปี ก็คือปีแรกที่รักษา ยาที่ทานทำให้น้ำหนักขึ้นมา 40 กิโล ที่นี้เรากับหมอรู้สึกตัวกันช้าไป ถ้าเรารู้ตัวเร็วกว่านี้เราจะเปลี่ยนยาตั้งแต่มันขึ้นมาไม่กี่กิโล แต่พอเรารู้ตัวกันช้ากว่าจะเปลี่ยนน้ำหนักมันก็ขึ้นมาเยอะ แต่พอเปลี่ยนยามันก็หยุดขึ้นแล้ว”

จุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า มันเกิดอะไรขึ้น?
“หลายๆ คนจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ของเอิน เอินจะโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างรุนแรงมาก พ่อแม่ทะเลาะกัน เรียกลูกไปนั่งดู แล้วก็ถามลูกว่าจะอยู่กับใคร ตั้งแต่เอินจำความได้พ่อแม่ก็ทะเลาะกันให้เห็น

เอินมีพี่น้อง 3 คนก็รักษากันทั้ง 3 คน คือเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร เอินเพิ่งรู้ว่านั่นน่าจะเป็นสาเหตุตอนที่เอินมารักษากับนักจิตบำบัด เขานั่งย้อนเหตุการณ์ไป เราถึงได้ อ่อ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราเป็น”

ตอนเด็กๆ ที่เราเห็นภาพแบบนั้น มันส่งผลให้เราเป็นคนนิสัยยังไง?
“เอินเป็นคนเซนซิทีฟจัด เวลาเราร้องไห้ เราหยุดร้องไห้ไม่ได้ แต่ว่ามันมาหนักจริงๆ ตอนที่เอินอยู่มหาวิทยาลัย แล้วตอนนั้นมีปัญหาหนักหนาหลายอย่าง แล้วก็มีปัญหากับครอบครัวครั้งใหญ่ แล้วทำให้อยากฆ่าตัวตายเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านั้นวันดี คืนดีเราก็ร้องไห้ เราไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ไปเพื่ออะไร

เอินเป็นตั้งแต่ก่อนเข้าวงการ แล้วตอนที่เข้าวงการก็ยังเป็นอยู่ แล้วเป็นโรคอื่นมาควบคู่ด้วย คือเป็นโรคภาวะการทานอาหารผิดปกติ คนในวงการจะต้องถูกจัดในเรื่องรูปร่างหน้าตาตลอด เสร็จแล้วก็ถึงจุดหนึ่งที่เรากินแล้วเรารู้สึกผิด ล้วงคออ้วก แล้วมันก็เป็นคู่กับอีกอาการหนึ่งคือทานแล้วหยุดไม่ได้ อิ่มแล้วไม่อร่อย อยากหยุดก็หยุดไม่ได้ อันนี้เป็นคู่กัน”

จุดไหนที่ทำให้ไปหมอ?
“เมื่อ 3 ปีกว่าที่แล้ว คนเป็นโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะที่เอินเป็น ไม่มีใครพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้า เอินไม่รู้ว่ามันมีโรคนี้อยู่ในโลกใบนี้ แล้วอยู่มาวันหนึ่งเราเพิ่งไปได้ยินข่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคเฝ้าระวังนะ มีอาการดังนี้ 1-2-3-4-5-6-7-8-9 แล้วเราก็ฟังเราก็เห้ยมันตรงกับเราค่อนข้างเยอะ

เราก็เลยสงสัย แต่ถึงวันนั้นจนไปหาหมอ ใช้เวลา 10 กว่าปี ซึ่งเป็นระยะทางปกติของผู้ป่วยทั่วไป คือเอินไม่กล้ากินยานอนหลับ แต่บางวันก็นอนไม่ได้ บางวันก็อยากนอนไม่อยากตื่น แล้วก็วันดีคืนดีจะรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ก็จะอยากกระโดดตึก อยากไปให้รถชน แต่ว่าการทำร้ายตัวเอง เช่น การเอาหัวโขกข้างฝา การตบหน้าตัวเองมีเป็นประจำอยู่แล้ว”

ก่อนที่เจอหมอตอนนั้นเขาดูแลเรายังไง?
“เขาก็รักเรา เขาไม่ใช่คนดูแลเก่ง แต่สิ่งที่เขาทำให้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับเลยมันคือความมั่นคงในความรักเขาทำให้เรารู้ว่าเรามีค่า เขาทำให้เรารู้จักคำว่ารักแบบไร้เงื่อนไข ตอนที่คบกันใหม่ๆ เขาเข้ามาในห้อง เขาเห็นเอินเอาหัวโขกข้างฝา เขาก็ตกใจรีบวิ่งเอามือมารองหัวเรา แล้วกอดเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้เจอ ไม่เคยมีใครทำให้เรามาก่อน”

จะหายไหม?
“หมอกับเอินมีเป้าหมายว่าจะหาย แต่ว่าวันนี้มันลดโดสไม่ได้ เราก็ทานยาอยู่”

มีอยู่ครั้งหนึ่งนั่งรถไปกับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ทะเลาะกัน ผู้หญิงคนนี้เกือบกระโดดลงจากรถ?
“จริงๆ คุณพ่อไม่ได้อยู่แค่แม่กับเรา เรามีปัญหาเรื่องอื่นกันมา แล้วมันถึงจุดที่เรารู้สึกว่าไม่ไหว เราไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย เราไม่ได้ต้องการอะไรเลย เราต้องการให้ทุกอย่างมันหยุด แล้วมันมีทางเดียวที่หยุดไดเคือเราต้องออกจากรถคันนี้ แล้วรถมันก็วิ่งอยู่บนถนน

เราก็เปิดประตูจะออกไป ตอนนั้นอยู่ในวงการด้วย จำได้เลยเพิ่งไปออกงานที่เซนทรัลชิดลม เสร็จแล้วแม่ก็ยื่นมือมาปิด แล้วบอกว่าจะตายใช่ไหม ตายด้วยกันเลยไหม อันนั้นเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่ผ่านมายากสุด ต้องทำงานกับนักจิตบำบัดหนักมากเพื่อจะผ่านมันไป”.

ที่มา : ข่าวไทยรัฐออนไลน์ – ข่าวบันเทิง
ขอขอบคุณ : ข่าวไทยรัฐออนไลน์ – ข่าวบันเทิง