CLASH กับเส้นทางดนตรี 19 ปีที่ไม่ง่าย ผ่านอุปสรรคจน “ไม่มีอะไรต้องกลัว”


ให้คะแนน


แชร์

เราก็คิดว่ามันต้องใช้เวลาฝึก ก็ค่อยๆ เล่นไป จริงๆ เริ่มเล่นได้ตอนที่มาเล่นกับพี่แฮ็ค แต่ถ้าได้กลับไปฟังช่วงนั้นก็คงรู้ว่าไม่มีน้ำหนัก เล่นแบบแห้งมาก แค่กดถูกคอร์ดเฉยๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เล่นคือถ้าเล่นดนตรีมีวงแล้วมันเท่ ผมว่าวัยรุ่นยุคนั้นเหมือนกันหมด คืออยากมีกลุ่มก้อน มีอะไรสักอย่างที่เป็นที่ยอมรับครับ”

จากนักเต้นเบรกแดนซ์วัยเด็ก สู่นักร้องเพลงร็อกชื่อดัง

เมื่อถามแบงค์ว่าสมัยเด็กๆ ชอบเพลงร็อก อัลเทอร์เนทีฟเหมือนพี่ๆ ในวงรึเปล่า คำตอบที่ได้ทำเอาเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะใครจะคิดว่าแบงค์ แคลช จะชื่นชอบการเต้นแร็ป เต้นเบรกแดนซ์มาก่อน

“เทปม้วนแรกที่ซื้อคือไมเคิล แจ็คสัน เทปม้วนสองคือสไปซ์ เกิร์ล เทปที่ 3 คือมาดอนน่า” ถึงตรงนี้เสียงหัวเราะจากสมาชิกในวงดังลั่น แบงค์พูดต่อว่า “หลายคนคงไม่รู้คือเมื่อก่อนจะชอบเต้นเบรกแดนซ์ เต้นแร็ปตอนประถมปลาย ตอนนั้นไมเคิล แจ็คสัน ดังมาก

ตอนนั้นก็ฟัง MC Hammer อัลบั้มที่ชอบที่สุดในช่วงนั้นเป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง Space Jam คือเพลง I Believe I Can Fly อันนั้นรู้สึกเป็นเพลงแรกที่ตราตรึง ส่วนไมเคิล แจ็คสัน เป็นที่สุดในดวงใจ

แล้วพอเริ่มรู้ว่าอยากเป็นนักร้อง เราเริ่มรู้ว่าสามารถเลียนแบบเทคนิคพวกนั้นได้ ทั้งๆ ที่เด็กในรุ่นเดียวกันทำไม่ได้เหมือนเรา เพื่อนเคยขอให้ร้องเพลง Heal The World ให้ฟังหน่อย

เราก็งงว่าทำไมต้องร้องให้ฟัง เขาก็ร้องได้ไม่ใช่เหรอ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเรามีการใช้เสียงไม่เหมือนคนอื่น ก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ย เราร้องเพลงได้เหรอ แต่เรารู้แค่ว่าเราร้องเพลงแล้วมีความสุข ห้องน้ำนี่คือสวรรค์ของการฝึกฝนเลย ก้องกังวานเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ต

จน ม.1-ม.2 ก็เป็นนักฟุตบอล มันเริ่มฟังเพลงหน่อมแน้มไม่ได้แล้ว ถึงเราจะชอบ N’Sync กับ Backstreet Boy หรือ Take That ตอนนั้นก็เริ่มฟัง Savage Garden สังคมยุคอัลเทอร์เนทีฟเริ่มมา โมเดิร์นด็อกเริ่มดัง

เราเปิดรับจนเริ่มมาเป็นร็อก ฟังหนักขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงเพลงแนวฮาร์ดคอร์ นูเมทัลนี่มาถึงยุคสุดท้ายที่ผมฟังแล้ว เรารู้สึกว่านูเมทัลมันมี 2 สิ่งที่ประกอบร่างแล้วชอบคือแร็ปกับร็อก

ตอนที่เราเป็นนักฟุตบอลโรงเรียน เวลาเราเห็นพวกเล่นกีตาร์ก็รู้สึกว่ามันเท่ดีนะ แต่เราไม่มีตังค์ซื้อ เราเป็นนักฟุตบอล มันค่อนข้างห่างไกลกับสังคมนักดนตรี แล้ว 4 คนนี่ก็อยู่วงโยธวาทิตประจำโรงเรียน แล้วเขาคุยกันเป็นหลักการภาษาดนตรี เราไม่รู้เรื่องเลย” ถึงตรงนี้เสียงหัวเราะจาก 4 หนุ่มรุ่นพี่ก็ดังขึ้นมาอีกรอบ

ก่อนที่แบงค์จะพูดต่อไปว่า “ตอนนั้นเราก็ยังรู้สึกว่าการเป็นมือกีตาร์ในมุมผู้ชายมันเท่กว่านักร้อง แต่เราทำได้แค่ร้องเพลงต่อไป ก็ดีเหมือนกันนะ ถ้าเล่นกีตาร์เป็นอาจจะไม่อยากร้องเพลงก็ได้ ทุกวันนี้ก็เล่นไม่ได้”

แบงค์ ปรีติ บารมีอนันต์ แบงค์ ปรีติ บารมีอนันต์

และเมื่อถามว่าทุกคนเห็นอะไรในตัวแบงค์ถึงให้มาร้องเพลงร็อก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชื่นชอบการเต้น ร้องเพลงไมเคิล แจ็คสัน ด้วยซ้ำ พลเฉลยที่มาให้ฟังว่า

“ตอนนั้นแบงค์ไปร้องกับวงรุ่นพี่ แต่ผมไม่รู้ว่ารุ่นพี่ไปรู้ว่าแบงค์ร้องเพลงเสียงสูงได้ยังไง แล้วยักษ์กับสุ่มเป็นคนคาบข่าวมาบอกว่ามีนักร้องชื่อแบงค์ ร้องเสียงสูงมาก” แฮ็ครีบแทรกทันที “พอดีนักร้องผมออกด้วย ถ้าเขาไม่ออก ไอ้นี่ก็ไม่เกิดหรอก” หลังแฮ็คพูดจบ เสียงหัวเราะดังลั่นทั้งห้องอีกครั้ง

พลพูดต่อว่า “ตอนนั้นก็เลยทาบทามมาเพื่อแข่งขันด้วย ฟอร์มวงไปประกวดฮอตเวฟ ก็เลยขอยืมตัวจากรุ่นพี่มาก่อน แต่ตอนนี้ยืมมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว (หัวเราะ)” ยักษ์เผยอีก “ตอนนั้นมีค่ายเพลงติดต่อเยอะด้วยไง” แฮ็คเล่าต่อ “ตอนนั้นเราก็บอกแบงค์ว่าลองไปคุยกันดูว่าจะทำกันต่อมั้ยหรือจะกลับวงเก่า แบงค์ก็ตัดสินใจเอาแล้วกันนะ ซึ่งแบงค์ก็มีความเกรงใจครับ (หัวเราะ)”

แบงค์เผยถึงวันที่มาร่วมทีมแคลชแบบถาวรว่า “ตอนนั้นตั้งใจจะประกวดแค่ปีนึงแล้วเดี๋ยวกลับไป หลังจากนั้นปีนึงก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย (ยิ้ม) ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เจอกันเลย แต่เขาก็ยังเล่นดนตรีอยู่ แต่ก็ได้พูดคุยแหละว่าเออ มันมาขนาดนี้แล้วเนอะ แต่ตอนนั้นคือทุกคนทำด้วยความสุขน่ะ มันเหมือนฟอร์มวงมาเล่นดนตรีมากกว่า ไม่ได้ฟอร์มวงจะออกเทป”

ถึงตรงนี้สุ่มเสริมว่า “จริงๆ มันไม่ได้มีจุดหมายปลายทางชัดเจนเท่าไหร่ ตอนนั้นตั้งวงกันมันเป็นความสนุก ไม่ได้ตั้งใจจะต้องทำงาน เราแค่ตั้งวง คัฟเวอร์ แกะเพลงไปเรื่อยๆ แต่พอตอนที่ลูซิเฟอร์ได้รางวัล มันเหมือนเป็นหน้าที่ เป็นงานขึ้นมานิดนึง ก็เลยต้องไปทางนี้แหละ มันดูเห็นทางมากกว่า อีกอย่างตอนนั้นเราไม่คิดหรอกว่าจากจุดตรงนั้นมาเราจะเติบโตมาจนถึง ณ วันนี้”

19 ปีบนเส้นทางดนตรี

จากวันแรกของการรวมตัวเพื่อฟอร์มวงเล่นดนตรีเพื่อประกวด แต่ชีวิตเดินทางมาไกลถึงขั้นออกอัลบั้มเพลงภายใต้ค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไปแล้ว 7 ชุด และกำลังจะออกอัลบั้มชุดที่ 8 ในปีที่ 19 ของการเดินทางบนถนนสายดนตรี แน่นอนว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย

แฮ็คเล่าให้ฟังถึงวันที่ท้อใจ เพราะยังไม่มีวี่แววจะได้ออกเทปอัลบั้มแรกให้ฟังว่า “ตอนนั้นจะเลิกแล้ว ทุกคนก็แยกย้าย มันรอนาน 3 ปีแล้ว ทุกคนก็ไปแล้ว 4 คน

เหลือแบงค์คนเดียวที่ยังเข้าออกแกรมมี่เรื่อยๆ แต่ผมถอดใจแล้ว ผมกับยักษ์เตรียมตัวเล่นกลางคืนแล้ว พลก็เตรียมไปเรียนและทำธุรกิจที่บ้านแล้ว สุ่มเรียนที่มหิดล ทำวงกับเพื่อนเล่นกลางคืนเหมือนกัน หลังจากนั้นถึงได้มาอัปเดตกันว่าจะได้ทำเพลงแล้วนะ”

พลพูดถึงการเดินทางบนถนนสายดนตรีว่า “ต้องใช้คำว่าโคตรนาน เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ เห็นพี่เบิร์ดครบรอบ 15 ปี 20 ปี ไมโคร 35 ปี เราก็โอ้โห แล้วตอนนี้มันถึงคิวเราอะ”

พล คชภัค ผลธนโชติ พล คชภัค ผลธนโชติ

กับคำถามที่ว่ามองยังไงบ้างในวันที่แคลชมีอายุ 19 ปี พลตอบทันทีว่า “ผมว่ามันแก่นะ เหมือนหมาอะ” ก่อนที่ทุกคนในวงจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาดังลั่น “ผมรู้สึกว่าเราออกเทปตั้งแต่วันที่เป็นคาสเซ็ท ซีดีขายน้อยมาก น้อยกว่าเทป พวกผมโตมาตอนที่ซีดียังแพงอยู่ จนวันนึงซีดีราคา 130 กว่าบาท คาสเซ็ทเริ่มเฟด หลังจากซีดีก็มาเจอ MP3 ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของวงการเพลง จน MP3 มันตายไปแล้ว

หลังจากนั้นเป็นเสียงเรียกเข้าต่างๆ แล้วก็มีเว็บพวกดาวน์โหลดเพลง จนเริ่มเข้าสู่มิวสิกสตรีมมิ่งเต็มรูปแบบในวันนี้ แล้วทุกวันนี้ใครซื้อซีดี ไม่มีแล้วอะ

แม้แต่วัยรุ่นที่ชอบเพลงก็ซื้อเฉพาะศิลปินที่ชอบจริงๆ และซื้อเป็นบางอัลบั้ม ถ้าเป็นเมื่อก่อน ธรรมชาติในการฟังเพลงคือใครออกอัลบั้มมาก็ซื้อมาฟังหมด จนทุกวันนี้ไวนิลเริ่มกลับมา

ผมเลยรู้สึกว่าเราอยู่มานานพอสมควร เราเห็นวิวัฒนาการของวงการเพลง แม้แต่เซอร์เคิลของแนวเพลงต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 2000 ที่เพลงมันหลากหลายมาก เฟื่องฟูมาก ส่วนเพลงร็อกก็อยู่ได้ของมัน เหมือนส่งต่อรุ่นกันมา จนวันนี้ในวงการเพลง สายร็อกจะรู้สึกว่าเพลงร็อกเงียบเนอะ คือมันไม่หาย มันอยู่ได้ แต่อาจจะไม่เหมือนยุคที่เฟื่องฟูที่สามารถทำ Little Rock Project ได้”

แฮ็คเสริมว่า “ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าวงดนตรีอยู่ได้เต็มที่ประมาณ 5 ปี แต่ตอนนี้เราอยู่มาได้ 19 ปีแล้ว เมื่อก่อนเราก็เคยคิดว่าเราจะอยู่รอดถึงวันนั้นมั้ย” พลเสริม “แต่วันนี้มันก็มาถึงแล้ว ไม่เคยคิดหรอกว่าจะมาไกลถึงขนาดนี้ คนเราจะทำอะไรแบบเดิมๆ อยู่กับเรื่องเดิม 20 ปีมันยากนะ ตอนแรกเราเข้ามาเราไหว้ทุกคน แต่ตอนนี้ทุกคนไหว้เรา แม้แต่ รปภ.ก็ไหว้ (หัวเราะ)”

ส่วนความพิเศษครบรอบ 20 ปีวงแคลชในปีหน้า แบงค์ตอบสั้นๆ ว่า “ก็มีแหละครับ แต่ว่าเดี๋ยวรอให้ชัดเจนก่อนแล้วจะแจ้ง มันก็ต้องให้สมกับ 20 ปีครับ”

ผ่านทุกอุปสรรค จน “ไม่มีอะไรต้องกลัว”

เมื่อถามว่าจะให้เพลงอะไรที่สื่อความเป็นวงแคลช 19 ปี พลตอบทันทีว่าอัลบั้มล่าสุด “Loudness” คือคำตอบ “อัลบั้มนี้เลยครับ คือมันก็ไม่ถึงกับ 19 ปี ผมว่าทุกอัลบั้มมันคือแต่ละช่วงชีวิตนะ ส่วนอัลบั้มนี้มันเล่าปีที่ 19 ของเรา ไม่ได้เล่าทั้งหมดหรอก แต่เป็นการเล่าว่าเราเป็นยังไงในทุกวันนี้ คือไม่กลัวกับอะไรแล้ว ถ้ากลัวก็ไม่ลงมือทำ”

สุ่มขยายความถึงที่มาของอัลบั้ม “Loudness” ให้ฟังว่า “คือด้วยความที่คำว่า Loudness มันเหมือนเป็นเสียงต่างๆ รอบตัวเรา อาจจะเป็นเสียงรบกวน เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกดี มีความสุข ความสนุกสนาน ความมันส์ หรือความเศร้า ก็เลยรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นเสียงรบกวนหรือเสียงที่เรารู้สึกฟังแล้วมันมีความสุขได้ มันก็เลยเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มนี้ ซึ่งมันจะตรงกับเพลงต่างๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่เราเคยเจอมาหรือเกิดขึ้นตอนนี้”

พร้อมทั้งเล่าถึงเพลง “ไม่มีอะไรต้องกลัว” เพลงเปิดตัวที่บ่งบอกความเป็นแคลชที่สุด “จริงๆ เพลงนี้เป็นซาวนด์แบบวงแคลช ซึ่งมีแฟนเพลงที่รอเพลงแบบนี้ ซาวนด์ดนตรีแบบนี้ เดือดๆ แบบมีความมันส์ ปลุกเร้าอะไรบางอย่าง เนื้อหามันสะท้อนอะไรได้ดี อย่างในเนื้อร้องที่แบงค์แต่งไว้คือประสบการณ์มันจะสอนว่าเราไม่ต้องกลัวอะไร”

สุ่ม สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ สุ่ม สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ

ด้านแบงค์เสริมว่า “ถ้าเป็นแฟนเพลงได้ฟังจะรู้เลยว่าแคลชกลับมาแล้ว นี่แหละคือวงแคลชที่เขาอยากได้ยิน เพราะพวกเราทดลองทำ 4 ซิงเกิลแล้ว ซึ่งมันไม่มีความแคลชอย่างที่เขาอยากได้ แต่เพลงนี้มีเนื้อหา ดนตรี มีแร็ป มีเมโลดี้ มีความเป็นแคลช”

แต่เมื่อหลายคนได้ฟังแล้วกลับโยงไปถึงเรื่องการเมือง ถึงตรงนี้พลรีบเคลียร์ให้ฟังชัดๆ ว่า “ต้องบอกว่าเราไม่ได้อินกับอะไรนะครับ คือสำหรับผม ทุกเพลงที่ให้กำลังใจหรือปลุกใจให้สู้กับสิ่งที่เราอยากชนะ เราไม่ได้มีเจตนาเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เราเขียนในมุมที่พวกเราเคยทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จด้วย มีทั้งเพลงประสบความสำเร็จ เพลงที่แป้กมันก็มี 

และการที่กลับมาทำอัลบั้มครั้งนี้ในรอบ 10 ปีก็ไม่ได้กลัวอะไร ไม่ได้กลัวว่าจะทำแล้วจะไม่สำเร็จ เรารู้สึกว่าเราอยากทำในสิ่งที่อยากทำ แคลชทำ 7 อัลบั้ม ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ หรือแม้แต่เรากลับมาทำอัลบั้มชุดนี้ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรต้องกลัวแล้ว นี่คือที่มาของเพลงครับ แต่บางคนอาจจะเอาไปโยงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่เกี่ยว”

ยักษ์ อนันต์ ดาบเพ็ชรธิกรณ์ ยักษ์ อนันต์ ดาบเพ็ชรธิกรณ์

ในพาร์ทดนตรีเรียกว่ามีความพิเศษไม่น้อย เพราะผสมผสานความเป็นไทยในซาวนด์ดนตรีด้วย พลเล่าว่า “อัลบั้มนี้เราประชุมกันระหว่างตัววงกับทีมที่ดูแลแคลช แล้วเราแชร์ไอเดียกับพี่ต๋อม สิ่งที่เราคุย เรามองเห็นตรงกันว่าอยากนำความเป็นไทยเข้ามาผสมในอัลบั้มนี้ แต่วิธีการนำมาผสมก็ต้องตามความเหมาะสม หรืออะไรบางอย่างที่เราสามารถทดลองกับมันได้

อย่างเพลงไม่มีอะไรต้องกลัว ช่วงท่อนฮุกมันก็จะเป็นบีทจังหวะจะโคนแบบสามช่า แต่แค่เราไม่มีโป๊งๆ ชึ่งแค่นั้นเอง พอถึงท่อนฮุกเราก็ตัดสแนร์ออก เหลือแค่ตัว Rhythm หนักๆ ของความเป็นสามช่า แต่ซาวนด์ดีไซน์เราก็พัฒนา เราแค่เอาจังหวะมันมา แต่มันอยู่บนกลองที่เป็น Acoustic Drum ของฝรั่ง เหมือนเล่นดนตรีไทยบนเครื่องดนตรีฝรั่งครับ”

ความแตกต่างที่ลงตัว

อย่างที่รู้กันว่า แคลชเคยประกาศแยกวงเมื่อปี 2553 เพราะมีมุมมองและทิศทางการทำดนตรีที่ต่างกัน และมีคอนเสิร์ตอำลาแฟนคลับในปี 2554 จากนั้นแยกย้ายไปทำงานตามที่ทุกคนใฝ่ฝันนาน 7 ปี จึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2561 เพื่อทำคอนเสิร์ตใหญ่ และออกอัลบั้มชุดที่ 8 ในปี 2563 ซึ่งเป็นการทำอัลบั้มเพลงอีกครั้งในรอบ 10 ปี

แน่นอน…ทุกคนย่อมสงสัยว่าการกลับมาครั้งนี้ เรื่องมุมมอง ความชื่นชอบในด้านดนตรีที่ต่างกัน จะเป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำอัลบั้มชุดใหม่หรือไม่ แบงค์ตอบว่า “เราก็รู้ว่าการทำเพลงร่วมกันมันจะออกมาเป็นยังไงอยู่แล้ว จริงๆ มันก็ไม่ต่างกับการทำเพลงในตอน 10 ปีที่แล้ว แต่วันนี้โลกมันหมุนไปยังไงเท่านั้นเอง

ซึ่งในพาร์ทดนตรีส่วนใหญ่ผมจะแล้วแต่เพื่อนๆ เพราะผมชัดเจนว่าเรื่องเพลงร็อกจ๋าๆ เราไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนแต่ก่อน เราเป็นสายอาร์แอนด์บีไปแล้ว ฟังเพลงแนวเดียวไปแล้ว ดังนั้น พี่สุ่ม พี่ยักษ์ พี่พล พี่แฮ็ค น่าจะเชี่ยวชาญมากกว่า ฉะนั้นก็ตามสมควรแล้วกัน”

ถึงตรงนี้สุ่มที่เพิ่งดื่มน้ำเสร็จก็พูดเสริมขึ้นมาว่า “จริงๆ ผมว่ามันก็ดีนะ มันชอบไม่เหมือนกัน ทำให้มันมีอะไรที่แตกต่างกันออกไป จริงๆ อย่างสำเนียงเมโลดี้แบงค์ พอมันมีความอาร์แอนด์บีเข้ามา พอมาอยู่กับเพลงมันก็อาจเป็นอีกแบบนึง

สมมติถ้านึกเล่นๆ ว่าถ้าเราชอบวงดนตรีวงเดียวกัน มันก็จะกลายเป็นว่าอาจจะเหมือนวงที่เราชอบวงเดียวกัน อาจจะไม่แตกต่าง มันก็จะไม่มีคนที่แบบ…สมมติวันนี้ไปเจอวงนี้มา ซึ่งเป็นวงที่เพื่อนเราไม่ฟังหรอก แต่เราเอาตรงนี้มาบอกว่ามันน่าสนใจตรงนี้ แต่ถ้าชอบเหมือนกัน ฟังตู้มเดียวก็รู้แล้วว่าวงนี้เป็นแบบนี้ รู้ทางอยู่แล้ว มันก็จะไม่มีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาครับ”

Clash Clash

การทำเพลงในยุคปัจจุบันที่มีศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย จะต้องรับมือกับการแข่งขันอย่างไรบ้าง แบงค์บอกว่า “ผมว่าจริงๆ หนึ่งในแกนหลักที่วงแคลชกลับมาก็คืออยากมาเจอแฟนคลับนี่แหละ ได้มีซิงเกิล ได้มีอัลบั้ม แค่นี้เราก็รู้สึกดีแล้ว แฟนคลับยิ่งรู้สึกดีไปอีกก็โอเค นี่คืออัลบั้มแรกในรอบ 10 ปี นี่คือเป้าหมาย

ผมว่าน่าจะเป็นหลักกว่าการที่จะต้องมานั่งคิดว่าเราจะต้องแข่งกับใคร เราต้องดังถึงไหน เราต้องได้รับความนิยมเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมรึเปล่า ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่สนุก แค่คิดก็กดดันแล้ว ฉะนั้นเพลงดีๆ ก็จะไม่ออกมา เพลงที่เป็นธรรมชาติปัจจุบันก็จะไม่ดี”

ยักษ์เสริม “มันคงไม่ใช่การสู้รบปรบมือหรอก ผมคิดว่าแค่เราพัฒนาให้เราไปยืนกับเขาแล้วเราไม่แก่ เรายังเป็นวัยรุ่นอยู่” แบงค์พูดต่ออีกว่า “คือแคลชเป็นวงที่หายไป 7 ปี ดังนั้นระหว่าง 7 ปี ถ้าเรายังรันอยู่ก็อาจจะเป็นอีกแบบนึงก็ได้ มันอาจจะอยู่ในสื่อตลอดเวลา แต่เราหายไป 7 ปี โซเชียลมีเดียเราก็น้อยกว่าวงรุ่นใหม่ๆ ตั้งเยอะ เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นมาต่อเนื่อง แต่วันนี้เรามีคอนเสิร์ต เจอแฟนเพลง ได้ทำเพลงที่ฟังแล้วแบบ…เราไม่ใช่วงเก่า แต่เราเป็นวงวันนี้”

ทิ้งท้าย เมื่อถามว่าถ้าอัลบั้มนี้มันไม่ประสบความสำเร็จจะเสียใจไหม พลตอบด้วยสีหน้าจริงจัง “ไม่เสียใจครับ” แฮ็คตอบปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม “ไม่ทำจะเสียใจกว่าครับ”.

ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1913147
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1913147