“ไพลิน วีเด็ล” ภูมิใจนำเสนอ Hope Frozen : A Quest To Live Twice โดนใจ Netflix นำเผยแพร่ 109 ประเทศ แปลแล้วกว่า 31 ภาษา


ให้คะแนน


แชร์


อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่สารคดีสักเรื่องจะถูกนำเสนอผ่านช่องทางบริการสื่อระดับโลกอย่าง Netflix เพราะในแต่ละปีนั้นมีคนนำเสนอสารคดีต่อสื่อนี้เป็นพัน เป็นหมื่นผลงาน แต่สำหรับผลงานสารคดีเรื่อง Hope Frozen : A Quest To Live Twice ความหวังแช่แข็ง : ขอเกิดอีกครั้ง ของ “ไพลิน วีเด็ล” อดีตนักข่าวสาว และตอนนี้เป็นผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติไทย-อเมริกัน และผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์สารคดีภายใต้ชื่อ 2050 Productions ทาง Netflix กลับเป็นฝ่ายเข้าไปขอซื้อลิขสิทธิ์จากเธอ และให้ทุนในการทำสารคดีเรื่องนี้ให้สมบูรณ์เลยทีเดียว

ซึ่งเรื่องราวของสารคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับ เด็กหญิงวัยสองขวบจากกรุงเทพฯ หรือน้อง “ไอนส์” ที่กลายเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกที่เข้าสู่กระบวนการเก็บรักษาไครออนิกส์ หลังจากที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสมอง และทางครอบครัว นำโดยคุณพ่อ “ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์” ที่ได้ตัดสินใจรักษาร่างของลูกสาวตัวน้อยไว้ด้วยวิธีที่ต่างออกไป ความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความรักของพ่อและแม่ ยังส่งต่อแรงปรารถนาไปถึง “แมทริกซ์” ลูกชายคนโตวัย 15 ปี ผู้ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงในการค้นหาวิธี เพื่อมอบโอกาสการใช้ชีวิตอีกครั้งให้กับน้องสาวผู้เป็นที่รัก

โดยทาง Netflix ได้มีการจัดเปิดให้สัมภาษณ์ “ไพลิน วีเด็ล” ในฐานะผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ พร้อมกับสัมภาษณ์พิเศษผ่านวิดีโอคอลกับ “อดัม เดล เดโอ” รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ ห้อง Yulania 6 โดยทางไพลินได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจทำสารคดีเรื่องนี้ว่า

“ด้วยความที่เราเป็นนักข่าวนะคะ แล้วก็มาได้เห็นเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ จากในรายการทีวีของไทยนี่แหละค่ะ ก็เลยชวนสามีซึ่งเป็นนักข่าวเหมือนกันไปทำข่าวนี้ เราก็กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไปทำข่าวครอบครัวนี้นะคะ ตอนแรกเราก็คิดว่าจะไปสัมภาษณ์สัก 15 นาที ไปทำข่าวสั้นๆ แต่ปรากฎว่าพอได้คุยแล้วมันมีคำถามมากมายที่เราต้องการอยากจะถาม และพอได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่น้องไอนส์ก็เห็นถึงความรักที่มีต่อลูกเขา เห็นถึงปรัชญา ความเป็นความตาย ความศรัทธา ก็เลยตัดสินใจเกาะติดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะหมดคำถามค่ะ

ที่ตัดสินใจทำเรื่องเกี่ยวกับความรักและความหวัง ก็เพราะคิดว่าความรักและความหวังมันเป็นทุกอย่างในชีวิต เพราะถ้าเรามีชีวิตอยู่แล้วไม่มีความรัก ไม่มีความหวังแล้วจะเหลืออะไร ดังนั้นจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจไปพร้อมๆ กับที่เรากระตุ้นให้คิดไปพร้อมๆ กัน ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเข้าถึงทุกๆ คนได้ค่ะ

สำหรับเราเริ่มถ่ายทำกันจริงๆ ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะกว่าจะได้ทุนก็ใช้เวลานานมาก และเราก็เป็นนักข่าวกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าไปสัมผัสเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่น้องไอนส์เพิ่งเสียไปไม่กี่เดือน เราก็ต้องขอบคุณครอบครัวนี้มาก เพราะเขาก็มีสิทธิที่จะไม่ให้ข้อมูลกับเราก็ได้ ซึ่งทางคุณพ่อคุณแม่ของน้องก็จบดร.จากสาขาวิทยาศาสตร์ด้วย เขาก็เลยมีความเป็นนักวิชาการ เขาพร้อมที่จะเปิดรับกับการวิพากษ์วิจารณ์ เราก็เลยสบายใจในการทำงานมากขึ้นว่าเราไม่ได้ไปกดดันให้เขาพูด แต่เขายินยอมที่จะให้เราไปถ่ายค่ะ”

ประทับใจทั้งตัวพ่อและแม่ โดยเฉพาะ “แมทริกซ์” ในฐานะพี่ชายที่ปรารถนาจะนำน้องสาวกลับมาให้ได้
“เราเองก็ยังไม่มีลูกนะคะ แต่เราก็ซึ้งกับคนที่เป็นพ่อแม่ของครอบครัวนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัส ทำไมถึงรักลูกได้ขนาดนี้ และซึ้งกับน้องแมทริกซ์ที่เป็นพี่ชายของน้องไอนส์มากๆ เลย คือถ้าได้ดูหนังคนนำเรื่องช่วงแรกๆ คือ ดร.สหธรณ์ ผู้เป็นพ่อนะคะ แต่ช่วงหลังๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นน้องแมทริกซ์ ซึ่งก็เหมือนเป็นเด็กอัจฉริยะนะคะ คือจะมีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เยอะแยะมากมาย และเขาเป็นคนที่มีความหวังสูงมากว่าสักวันจะได้เห็นน้องสาวอีกครั้ง และอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จะได้คิดค้นวิธีการที่จะพาน้องเขากลับมาให้ได้ เราก็ซึ้งและอินกับน้องแมทริกซ์มากๆ เลยค่ะ

หนังเรื่องนี้เราไม่ต้องการตัดสินในมุมมองเรื่องอะไรเลยนะคะ แต่อยากให้คนดูได้มีโอกาสคิดด้วยตัวเอง ตัดสินด้วยตัวเองว่าตกลงแล้วเรื่องนี้มันคืออะไรของแต่ละคน เราต้องการให้ทุกคนมีบทสนทนาต่อว่าอะไรคือความรัก ความตาย ชีวิต ความเชื่อ ไม่ว่าจะเชื่อในวิทยาศาสตร์หรือความเชื่อทางศาสนา และหน้าที่ของพ่อแม่คืออะไร อยากให้ทุกคนได้กลับไปคิดเป็นของตัวเอง สิ่งที่ดิฉันต้องการคืออยากให้หนังเรื่องนี้ได้อยู่ในใจคนไปนานๆ ได้เป็นปรัญชาชีวิต การดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลค่ะ

ซึ่งสำหรับเมืองไทยเองอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาพุทธ การไม่ปล่อยวาง ก็เป็นประเด็นนึงที่เรายกขึ้นมาให้ทุกคนคิด ก็ได้สัมภาษณ์ดร.สหธรณ์ไป เขาก็ยอมรับว่าเขาไม่ปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ตัวเองนะคะ เขาก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำตามหลักศาสนาพุทธโดย 100% แต่ว่าใครล่ะที่จะทำตามได้ 100% (หัวเราะ) เราก็เป็นมนุษย์ คงไม่มีใครหรอกที่ทำได้เป๊ะ 100% ทุกวัน ทุกวินาที จนกระทั่งที่เรามีใครที่เรารักมากๆ และได้สูญเสียไป มันก็เป็นอีกประเด็นที่มันคงจะยากที่จะทำตามหลักศาสนาได้ตลอดค่ะ”

ทางด้าน อดัม เดล เดโอ รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix ก็เผยว่า มีความภาคภูมิใจกับสารคดีชิ้นนี้มาก และดีใจที่ได้รับลายเส้นของเรื่องนี้นำมาฉายไปทั่วโลก
“จริงๆ แล้วเรากับทางคุณไพลินรู้จักกันมาหลายปีแล้ว แต่ได้ไปสัมผัสกันจริงๆ เมื่อปี 2019 ซึ่งเราก็ได้เห็นว่าผลงานของคุณไพลินเข้ากับงานของเราที่อยากจะนำเสนอผลงานที่ยอดเยี่ยม ก็เป็นเรื่องที่ดีมากที่เราสามารถขอลายเส้นของคุณไพลินมาได้จนสำเร็จ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของเรา และเราก็ทำให้เหมาะกับทุกประเทศที่สามารถจะเข้าถึงเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุดในโลกนี้เลย เราก็เลยทำการแปลออกมาทั้งหมด 31 ภาษา และมีการพากย์เสียงถึง 10 ภาษา ผมคิดว่าเรื่องนี้ Netflix มีความภาคภูมิใจในการนำเสนอมาก และพร้อมที่จะนำเสนอถึง 190 ประเทศ เพื่อที่ทุกคนในโลกจะได้มีโอกาสสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของเรื่องนี้ครับ”

“วัตถุประสงค์ของ Netflix คือเราต้องการเรื่องราวที่โดดเด่นและแตกต่างจากทุกๆ เรื่อง ปีๆ นึงเราก็มีผลงานอยู่เป็นพันๆ เรื่องเลย และมีทีมงานผู้บริหารทั้งจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เป็นทีมงานหลายๆ ทีมเลยที่เราจะคอยดูและคัดเลือกกัน ซึ่งเราต้องการเรื่องที่มีความเข้าถึงผู้ชมของเรา ที่มันสามารถเข้าถึงจิตใจของเขา อย่างเช่นเรื่อง Tiger king ก็ได้รับความสำเร็จมากในปีนี้ และเรื่อง The last dance ที่เป็นเรื่องของ ไมเคิล จอร์แดน แต่อย่างที่ทราบว่าบางเรื่องก็มีความเฉพาะของกลุ่มตลาด ในขณะที่บางเรื่องก็เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ผมก็คิดว่าไม่ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ ตลาดเฉพาะ ก็มีความสำคัญเท่าๆ กัน และเรื่องของคุณไพลินผมก็คิดว่ามีความสำคัญมากๆ และน่าสนใจมากๆ เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดีของ Netflix มากกว่าที่ได้ร่วมงานกับคุณไพลิน ที่สำคัญคือ Netflix ต้องการให้คนดูและมีการสนทนากันต่อ มันเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนคิดและอยากคุยกันต่อหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญครับ”

ไพลิน วีเด็ล

แมทริกซ์

อดัม เดล เดโอ

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://mgronline.com/entertainment/detail/9630000093340
ขอขอบคุณ : https://mgronline.com/entertainment/detail/9630000093340