เมื่อ COVID-19 กระชากด้านมืดวงการบันเทิงญี่ปุ่น "สัญญาทาส" ที่มีอยู่จริง


ให้คะแนน


แชร์

ยูโกะจัง วัยเพียง 40 ปี เคยรับบทนำทั้งในซีรีส์และภาพยนตร์แห่งความทรงจำมากมาย โดยเฉพาะผลงานในช่วงยุค 90 และต้นยุค 2000 ซึ่งผลงานที่ส่งให้เธอกลายเป็นหนึ่งในภาพประทับใจที่ไม่เคยลบเลือน ก็อย่างเช่น ซีรีส์ครอบครัวที่เต็มตื้นและมวลแน่นไปด้วยความอบอุ่นในแบบชนิดที่เรียกว่า ไม่ว่า “คุณ” จะดูมันสักกี่รอบก็ต้องปล่อยให้น้ำตาไหลอาบแก้มโดยไม่รู้ตัว อย่าง My Husband หรือชื่อภาษาไทย “ซุปเปอร์สตาร์ถามหารัก” ในปี 2001 หรือหากเป็นภาพยนตร์ก็อย่างเช่น หนังโรแมนติกแฟนตาซีที่มาพร้อมกับสายฝนแต่สุดอบอุ่น และแน่นอนเรียกหาน้ำตาผู้ชมให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ “คุณ” ไม่ควรเพิกเฉย อย่าง Be with you ในปี 2004

โดยฝีมือในการแสดงของยูโกะจังนั้น ได้รับการยอมรับจากทั้งสื่อมวลชนและเพื่อนร่วมงานในวงการบันเทิงของญี่ปุ่นมาโดยตลอด เนื่องจากเธอมักจะมาถึงกองถ่ายและสามารถจบซีนการถ่ายทำในแบบฉบับ “เทกเดียวผ่าน” อยู่เสมอๆ นอกจากนี้ ความ Kawaii ขั้นสุด จนทำให้เธอมักกลายเป็นที่รักของเหล่าสตาฟฟ์ในกองถ่าย ก็คือ ยูโกะจังมักจะมีน้ำใจหยิบยื่นทั้งอาหารและขนมชื่อดังจากทั่วประเทศมาฝากทุกคนอยู่เสมอๆ แถมมักจะชอบกัดจิกให้ทุกคนต้องยอม “กินมันให้หมด” จนกระทั่งถูกขนานนามว่า “Queen of snacks” หรือ “ราชินีแห่งขนม”

ด้านชีวิตส่วนตัว แม้ชีวิตรักจะอับปางกับสามีคนแรก แต่เธอเพิ่งเข้าพิธีสมรสครั้งที่ 2 กับ “ไทกิ นาคาบายาชิ” (Taiki Nakabayashi) นักแสดงหนุ่มชื่อดังวัย 35 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 รวมถึงเพิ่งให้กำเนิดบุตรชายคนที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 ที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ ยูโกะจังยังเพิ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสตรีรายเดือนชื่อดังของญี่ปุ่น โดยกล่าวถึงการใช้ชีวิต ณ ปี 2020 ว่า…

“ฉันไม่เคยเสียใจถึงเรื่องอดีตที่ผ่านพ้นมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องอาชีพการงานหรือชีวิตส่วนตัว ตอนนี้ฉันรู้สึกโล่งใจมากๆ ที่อายุครบ 40 ปีแล้ว มันรู้สึกราวกับว่า น้ำหนักที่เคยแบกเอาไว้ได้หลุดลงจากบ่าสักที ตอนนี้ฉันรู้สึกเบาและสบายตัวขึ้นมากๆ”

ทุกอย่างมันดูราวกับชีวิตที่ขับเคลื่อนไปตามวิถีปุถุชนทั่วๆ ไป แต่แล้ว…27 กันยายน 2020 ก็เกิดเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดอย่างชนิดเหนือความคาดหมาย…

การตัดสินใจของยูโกะจัง กลายเป็นสปอตไลต์ที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่น นั่นเป็นเพราะหากนับรวมยูโกะจังแล้ว ในรอบเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งชาวลูกพระอาทิตย์กำลังเผชิญความกดดันจากสารพัดปัญหาอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีสตาร์ดังระดับหัวแถวของประเทศ อย่าง “ฮารุมะ มิอุระ” (Haruma Miura), “ฮานะ คิมูระ” (Hana Kimura) และ “เซอิ อาชินะ” (Sei Ashina) ต่างตัดสินใจแบบเดียวกันมาแล้ว

มันจึงกลายเป็นคำถามที่ตามมาดังๆ ในสังคมญี่ปุ่นที่ปกติก็มักจะอัดแน่นไปด้วยจารีตแห่งความจริงจังและกดดันไปในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว แต่ในวงการมายาของญี่ปุ่นที่ควรเต็มไปด้วยความบันเทิงเพื่อปลดเปลื้องความเครียดให้กับคนในสังคมนั้น มันยังไม่เหลือช่องว่างให้คนในวงการนี้ได้หายใจกันบ้างเลยกระนั้นหรือ?

รวมไปจนกระทั่ง…อุตสาหกรรมความบันเทิงญี่ปุ่นกำลังกดดันและตึงเครียดมากเกินไปจากภาววะการแพร่ระบาด COVID-19 จนส่งผลกระทบถึงตัวนักแสดงหรือไม่?

อุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่น = ที่สุดแห่งความโหดเหี้ยมอย่างไร้ที่ติ

คุณคาโอริ โชจิ (Kaori Shoji) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น ให้ความเห็นในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…

“นักแสดงญี่ปุ่นจำนวนมากมักจะอยู่ในจุดที่ล่อแหลม แม้ว่าในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งอาจได้ชื่อว่าเป็น Pop Stars ชื่อดังแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้มาจากการที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็น ‘สมาคมนักแสดง’ เพื่อให้การสนับสนุนและปกป้องกันเองในหมู่นักแสดงทั้งหญิงหรือชาย เหมือนเช่นที่คนในฮอลลีวูดทำให้เห็นมาแล้ว และนั่นเอง คือ สิ่งที่สร้างให้อุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่นกลายเป็นที่สุดแห่งความโหดเหี้ยมอย่างไร้ที่ติ

อะไรคือ…ที่สุดของความโหดเหี้ยมอย่างไร้ที่ติที่ว่านั้น?

คุณคาโอริ บรรยายความให้เห็นถึงภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า…

“นักแสดงญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักทำงานอยู่ภายใต้อำนาจของเอเจนซี่ ทำให้ตกเป็นเบี้ยล่างนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกงาน หรือเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว และที่หนักข้อมากไปกว่านั้นคือ พวกเขามักได้รับผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เหนืออื่นใด ความน่าหวาดหวั่นที่สุดภายใต้เงื้อมมือของเอเจนซี่เหล่านั้นก็คือ หากนักแสดงคนใดกล้าหือ หรือแม้แต่เพียงทำให้เอเจนซี่เหล่านั้นเกิดความไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็เท่ากับนักแสดงคนนั้นเตรียมหมดอนาคตในวงการบันเทิงต่อไปได้เลย

ด้านมืดวงการบันเทิงญี่ปุ่น “สัญญาทาส” ที่มีแก๊งยากูซ่าอยู่เบื้องหลัง

หากถามว่า…เหตุใดบริษัทเอเจนซี่จึงมีอิทธิพลต่อนักแสดงได้มากมายขนาดนั้นน่ะหรือ คำตอบคือ บริษัทเอเจนซี่หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ มีความเชื่อมโยงกับแก๊งยากูซ่า Dark Side ที่ครอบงำประเทศนี้เอาไว้ครึ่งหนึ่งนั่นเอง

ปัจจุบันแม้หลายๆ บริษัทเอกชนในญี่ปุ่นจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นโมเดิร์น รวมถึงมีปรับปรุงการทำงานให้ก้าวหน้าแล้ว แต่กับอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นมันต่างออกไป เพราะมันทั้งห่างไกลและล้าหลังกว่าธุรกิจอื่นใดในประเทศนี้อย่างสิ้นเชิง และหากยิ่งพูดถึงในแง่มุมของกฎหมายในประเด็นเงื่อนไขผลประโยชน์ระหว่างเอเจนซี่และนักแสดงแล้ว พูดได้เลยว่า มันโบราณราวกับการค้าทาสในโลกเมื่อ 100 ปีก่อนเลยก็ว่าได้!

และแม้เพียงระบบสัญญาทาสที่ว่านั้น ก็ทำให้ ‘แอก’ ที่อยู่บนหลังนักแสดงญี่ปุ่นต้องหนักอึ้งและเต็มไปด้วยความเครียดที่หนักหนาแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะความเครียดและกดดันในเหล่าสตาร์อาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะฝ่ายหญิงต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าทวี นั่นเป็นเพราะช่องทางในการหารายได้ลดน้อยลงจากปัญหาการแพร่ระบาด

เหตุใด…จึงเป็นเช่นนั้นน่ะหรือ?

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่นเสริมให้ประเด็นนี้ให้หนักแน่นขึ้นไปอีกว่า…

ต้องยอมรับก่อนว่า ภาวะในปัจจุบันทำให้นักแสดงโดยเฉพาะนักแสดงหญิง ที่มักมีระยะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยกว่านักแสดงชายมากๆ สำหรับการหารายได้ในวงการบันเทิงแดนปลาดิบนั้น นอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับช่องทางการหารายได้ที่ลดน้อยลงแล้ว ยังอยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูงมากด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้น ในจำนวนนั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะได้รับผลตอบแทนเฉพาะต่อเมื่อมีงานแสดงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงแทบไม่มีรายได้เลย และนี่คือ ความเป็นจริงที่แสนโหดร้าย ซึ่งดำรงอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นในเวลานี้

ความแตกต่างระหว่าง “นักแสดงชาย” และ “นักแสดงหญิง” ในอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่น

ฮารุมิ มิอุระ (Harume Miura) นักแสดงระดับท็อปของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในวัย 30 ปี เมื่อเขาตัดสินที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดของแฟนคลับ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ในอดีตเขาสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลจากภาพลักษณ์หนุ่มหน้าใสขวัญใจวัยรุ่นมาตลอดหลายสิบปีที่อยู่ในวงการ แต่แล้ว…เมื่อคราบไคลความสุด POP จากลุคหนุ่มน้อยเริ่มจางหายไป ‘ฮารุมิ มิอุระ’ กลับถดถอยลงจากจุดเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งมันแตกต่างไปจากกรณีนักแสดงหญิงญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะ…พวกเธอจะหางานแสดงได้ยากเย็นเอามากๆ หลังจากอายุเลยวัย 30 ปีไปแล้ว ซึ่งในกรณีของ ‘ยูโกะ ทาเคอุจิ’ ที่ในอดีตถือเป็นนักแสดงที่โด่งดังเอามากๆ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น มันจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เธออาจจะอยู่ภายใต้ความกดดันจากสถานการณ์ที่ว่านั้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เหตุใดอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นจึงยังคงไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลง บางทีอาจเป็นเพราะรัฐบาลกำลังมีปัญหามากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถหันหน้ามาแก้ปัญหาให้กับผู้คนในวงการบันเทิงได้ในเวลานี้ แต่นั่นเท่ากับบางทีความสูญเสียอาจจะยังไม่หยุดลงเพียงแค่นี้ เพราะหลายๆ คนในวงการต่างพูดตรงกันว่า ความสูญเสียระลอกใหม่อาจกำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้แล้ว”

COVID-19 กับความเครียดของชาวญี่ปุ่น

“วิกกี้ สกอร์จี” (Vickie Skorji) ผู้อำนวยการศูนย์ TELL Lifeline ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว กล่าวถึงภาวะความเครียดของชาวญี่ปุ่นในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ว่า

“โดยทั่วไปแล้ว อัตราการคิดทำร้ายตัวเองจะลดลงในระยะเริ่มต้นของวิกฤติ เนื่องจากผู้คนมักจะมารวมตัวเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงหาวิธีในการบริหารจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีของ COVID-19 ก็ไม่มีความแตกต่างออกไป อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการเป็นโรคซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองในลำดับถัดไปนั้น มักจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เมื่อผู้คนเริ่มพยายามดิ้นรนที่จะหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติภายใต้สถานการณ์ที่เริ่มทอดยาวออกไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องตกงาน รายได้ลดลง ยอดหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่แน่นอนที่กำลังก่อตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้”

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงเวลาที่น่าจะเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความเครียดของผู้คนมากที่สุดในปีนี้ (ปี 2020) เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่นักเรียน นักศึกษา เริ่มกลับไปเรียนที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอีกครั้ง หลังต้องอึดอัดอยู่ภายในบ้านและอาศัยการเรียนออนไลน์มายาวนาน ในขณะที่ บรรดามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่ทำงานกันมาอย่างหนักต่างก็ไม่สามารถไปพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางอันเกิดจากภาวะของการแพร่ระบาด

เมื่อเสียงร้องจากคนบันเทิงญี่ปุ่น ยังไม่ดังพอให้รัฐบาลหันมาสนใจ

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับคนในวงการบันเทิงทำให้สมาคมเพื่อสิทธินักแสดงชาวญี่ปุ่น (The Japanese Entertainers’ Rights Association หรือ ERA) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำระบบดูแลสุขภาพจิตมาดูแลบรรดาผู้คนในอุตสาหกรรมเพื่อความบันเทิงของญี่ปุ่น เนื่องจากมันกำลังอบอวลไปด้วยสภาะแวดล้อมในระดับที่กดดันและตึงเครียดมากเกินไป จนนำไปสู่การสูญเสียบุคลากรในรูปแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้น

แต่ผลที่ได้รับจากเสียงวอนขอให้มีการปฏิรูป คือ ความนิ่งเงียบและเย็นชาจากรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่มีคำตอบใดๆ ให้กับข้อเรียกร้องดังกล่าวแม้แต่เพียงน้อยนิด…

หนำซ้ำ การแสดงท่าทีต่อความสูญเสียของบุคลากรในวงการบันเทิงช่วงนี้ กลับมีเพียงคำพูดของ “คัตสึโนบุ คาโตะ” (Katsunobu Kato) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ว่า…

“ตัวเลขผู้ทำร้ายตัวเองเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา”

ความเย็นชาที่น่าหวาดหวั่นนี้ คือ ทั้งหมดที่รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงออกถึงความสูญเสียและเสียงร้องขอจากผู้คนในวงการบันเทิง ซึ่งควรบันทึกไว้ ณ ปี 2020

ทั้งๆ ที่…จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ปัจจุบันตัวเลขการทำร้ายตัวเองในประเทศญี่ปุ่นมีความสูญเสียเกิดแล้วทั้งสิ้น 1,900 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สวนทางกับแนวโน้มล่าสุดในประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราการทำร้ายตัวเองลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เช่นนั้นแล้ว หากรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงพยายามทำตัวไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาวกับปัญหาอันเกิดจาก COVID-19 ที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ในวงการที่ควรเป็นด้านสว่างไสวให้กับประเทศ บางทีด้านมืดของประเทศนี้อาจหลุดออกมาให้เห็นอีกเรื่อยๆ ก็เป็นได้…

ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: Pradit Phulsarikij

ข่าวน่าสนใจ:

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/1949514
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/1949514