"#แบนดาราปรสิต" ปรากฏการณ์วัดใจ "ดารา" สะท้อนภาพ Elite-Privilege


ให้คะแนน


แชร์

แม้จุดประสงค์ของเจ้าหน้าที่คือ “ยุติ” แต่ทันทีที่ปล่อยน้ำออกจีโน่รถฉีดน้ำแรงดันสูง ทุกอย่างแทนที่จะยุติ แต่มันกลับกลายเป็น “จุดเริ่มต้น”….

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ จะไม่ก้าวล่วงว่า “จุดเริ่มต้น” ที่ว่าได้ลงไปกระเพื่อมภาคส่วนไหนในสังคมบ้าง แต่จะขอแตะลงไปที่วงการบันเทิง “ดาราไทย” ที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนัก

เพราะในค่ำคืน 16 ต.ค.2563 ทันทีที่แฮชแท็ก #แบนดาราปรสิต ขึ้นติดเทรนด์ในโลกโซเชียล มันก็เหมือนฉายภาพสะท้อนความเป็นจริงบางอย่างที่สังคมตั้งคำถามกับ “ดาราไทย”

“ดารา” ถูกมองว่า=Elite=Privilege

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกสังคมจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชน เป็นทั้งผู้นำทางความคิด หรืออาจเป็นผู้สร้างกระแสที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ชนชั้นนำ หรือ Elite Group ในอดีตมักเป็นเจ้าขุนมูลนายที่มีศักดินา หน้าที่การงาน ชาติตระกูลที่สูงกว่า

แต่ว่ากันว่าในสังคมรุ่นใหม่ อีลิทไม่ได้จำเป็นต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงาน วงศ์ตระกูลที่สูงส่งอีกต่อไป “ความโด่งดัง” สามารถทำให้คุณพาร์ทชั้นขึ้นมาเป็นชนชั้น อีลิท ที่มีความ privilege ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคมได้เช่นกัน

และคงไม่เกินความจริงหากจะบอกว่า ดาราระดับ “ซุปเปอร์สตาร์” ของไทยในทุกวันนี้มีสถานะเป็นชนชั้นระดับอีลิทของสังคมไทย ชื่อเสียงความเป็นที่นิยมนำมาสู่สถานะทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนอีกหลายกลุ่มในสังคมไทย

และกว่าจะมีวันนี้ที่รอคอยของดาราซุป’ตาร์หลายๆ คน ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ความนิยมจากประชาชนคือฐานรากสำคัญที่อุ้มชูทำให้ดาราคนใดคนหนึ่งก้าวขึ้นแท่น “ซุปเปอร์สตาร์” ความนิยมยิ่งมีมากยิ่งจะตามมาด้วยงาน เงิน พรีเซ็นเตอร์ที่ผู้จัดฯ และลูกค้ามอบให้

#แบนดาราปรสิต

ณ วันนี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรที่ “ดารา” จะถูกกระแสสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่มเยาวชนและผู้ชุมนุมคาดหวังและกดดัน เรียกร้องให้ “ดารา” ออกมาส่งเสียงดังๆ เป็นกระบอกเสียงที่ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในฐานะผู้นำทางความคิด ให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน

ที่ผ่านมามีดาราหลายคนแอ็กชั่นเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หวังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปสู่จุดที่พวกเขามองว่าดีกว่า แต่ก็ต้องบอกว่าดาราเองก็คือ “มนุษย์” มีชอบ มีไม่ชอบได้ ไม่ต่างกับทุกคน เราจึงเห็น “ดารา” หลายคนเลือกที่จะชัดเจนในมุมมองความคิดและความเชื่ออีกฝั่งของตัวเองเช่นกัน

แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคงจะเป็นดาราหลายคนเลือกที่จะเงียบ นิ่งสยบความเคลื่อนไหว จนถูกสังคมบางส่วนมองว่า ที่คุณไม่เคลื่อนไหว เลือกที่จะอิกนอร์ประเด็นนี้เพราะไม่อยากเจ็บตัว

บ้างก็ว่า “ดารา” คือกลุ่มคนที่มีชีวิตดีอยู่แล้ว การเลือกนิ่งเฉย ใช้ชีวิตอยู่บนความ privilege ของตัวเองต่อไป ก็ไม่มีอะไรต้องเดือดร้อน แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ “ดารา” ไปสู่จุดมีชีวิต privilege ได้ก็เพราะความโด่งดังที่มาจากความนิยมของประชาชน 

บางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมดาราไทยเวลาเกิดสถานการณ์ประเทศอื่นทำไมจึงแห่ซัพพอร์ตกันจัง ตามกระแสเหรอ อยากเก๋หรือเปล่า? แต่ทำไมเวลาเรื่องเกิดในสังคมไทย กระทบประชาชนคนกันเอง จึงเลือกนิ่งเฉย ฯลฯ

แม้หลังกระแส #แบนดาราปรสิต จะมีดาราหลายคนออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นกับสถานการณ์ของบ้านเมือง แต่ก็ยังมิวายถูกมองว่าการโพสต์ประมาณ “ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ขอให้ทุกคนปลอดภัย” คือการเลือกเพลย์เซฟ แกล้งเป็นกลาง ถูกตีความไปในลักษณะ จะเลือกข้างก็กลัวเสียงาน จะเลือกเงียบก็กลัวหมดคะแนนความนิยม

ถึงเวลาแล้วหรือยัง?

วี วิโอเลต เคยแสดงความคิดเห็นผ่านรายการ ถกถาม ตอน “ปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน นักเรียนเลว นักเรียนดี คืออะไร?” ช่อง SpokeDark TV ว่า “ต้องยอมรับว่าด้วยจุดที่เราอยู่มีเรื่องของการงาน ว่าเราพูดอะไรได้ขนาดไหน จนได้ไปดูหนังเรื่องหนึ่งเขาบอกว่า การที่ไม่พูดบางเรื่องเพียงเพราะคุณรู้สึกว่ามันอาจจะทำให้คุณไม่สะดวกสบาย นั่นแหละคือ privilege เราก็เออ ฉันคือคน privilege จริงๆ ด้วย เพราะฉะนั้นฉันต้องกล้าที่จะพูด เพราะการที่ฉันสบายไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะสบายด้วย

ตอนแรกไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคน privilege อะไรทั้งสิ้น เราก็มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีเงิน แต่เราก็เห็นแล้วว่าการที่เราเป็นแบบนี้เพราะเรากลัวจะเสียสิ่งที่เราสร้างมา มันเป็นเรื่องของอำนาจนิยมหรือทุนนิยมอะไรไม่รู้ แต่มันคือสิ่งนี้แหละที่มันเป็น เกิดขึ้น และไม่แฟร์กับคนอื่น เราจึงรู้สึกว่าเราต้องกล้าและต้องพูดในส่ิงที่เป็นปัญหา”

ขณะที่ แนท อนิพรณ์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ว่า “#ฝากให้คิด บางทีต้องแยกให้ออกนะ ดาราหรือคนในวงการ ยกตัวอย่างเรารับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรง ทุกฝ่ายคือมนุษย์เหมือนกัน การที่เราไม่ได้เห็นด้วยกับการชุมนุมทุกข้อในบางเรื่อง เราต้องออกมาแสดงจุดยืนทั้งๆ ที่เราไม่ได้เห็นด้วยทุกข้อหรือบางเรื่องเปล่า? เราจำเป็นต้องตามกระแสเหรอ

ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ในเมื่อคุณเรียกร้องประชาธิปไตย คุณเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยดีหรือยัง การยอมจ่ายค่าต้นทุนที่คุณบอกว่าสูง คนทุกคนก็ต่างสู้มาถึงจุดนี้กันทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ไม่งั้นทุกคนก็เป็นคนในวงการได้ เคารพให้เกียรติทุกอาชีพด้วย”

อัด อวัช ดาราวัยรุ่นสังกัดนาดาว ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองในไลฟ์สดอินสตาแกรมว่า “วันนี้เราเห็นแล้วว่าเหตุการณ์มันเลวร้ายขนาดนี้ ถ้าเรายังเฉยกับมันก็เท่ากับเรายินยอมให้มันเกิดขึ้นต่อ ผมรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วว่าทุกคนควรออกมาพูดและใช้เสียงของตัวเอง สุดท้ายแล้วสิ่งที่พวกเราทำอยู่มันคือการปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเราเอง หวังว่าเราจะได้สิ่งที่พวกเราทุกคนอยากจะได้มันกลับมาจริงๆ”

และ ไข่มุก BNK48 ก็ได้ไลฟ์สดถึงเรื่องดังกล่าวเมื่อเธอถูกกดดันให้ออกมา Call Out กับเรื่องนี้ โดยมีประโยคหนึ่งว่า “เขามาเรียกร้องสิทธิ์ เพื่อสิทธิ์ของตัวเอง แต่มารุกล้ำสิทธิ์ของไข่มุกที่จะเลือกเป็นกลาง”

เวลานี้ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ “ดาราไทย” ต้องถามตัวเองว่า “กล้า” พอที่จะแสดงจุดยืนของตัวเองหรือยัง หรือเพียงอยู่ตรงนี้เพราะอยากตักตวงแต่ภาพมายา ชื่อเสียง และเงินทอง เรื่องอื่นช่างมัน อย่างที่กำลังถูกตั้งคำถาม?

แต่ก็เช่นกันเรื่องนี้ก็สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทยได้เหมือนกัน ว่าสังคมเราพร้อมเปิดใจกับการแสดงความคิดเห็นอันหลากหลายของปัจเจกบุคคลได้มากแค่ไหน “เปิดใจ” กับอะไรที่ไม่ตรงใจ เพื่อให้ทุกคนกล้าที่จะ “เปิดกว้าง” ทางความคิด

ในโลกทวิตเตอร์มีความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจบอกไว้ว่า ดาราและเซเลปในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถเปิดตัวได้อย่างชัดเจนว่าเชียร์พรรคการเมืองไหน เลือกยืนอยู่ข้างใด ไม่ต้องกลัวเสียงาน ไม่ต้องกลัวเสียลูกค้า เพราะทุกฝ่ายมีฐานว่า “คนเราเท่ากัน”.

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า
กราฟิก : Supassara Taiyansuwan

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1956414
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1956414