เปิดเรตติ้ง “ร้อยเล่ห์มารยา” ปรากฏการณ์ "เมียน้อย" สะท้อนอะไรในละครไทย


ให้คะแนน


แชร์

เร่งเครื่อง 3 วีค 6 ตอน ทวงบัลลังก์เรตติ้งคืน

ร้อยเล่ห์มารยา ค่อยๆ ไต่เรตติ้งขึ้นมาเรื่อยๆ และในที่สุดก็กวาดเรตติ้งชนะละครช่อง 7 อย่าง “ฟ้ามีตะวัน” ได้สำเร็จ หลังจากที่ละครช่อง 3 ซบเซาไปนาน โดนช่อง 7 ทิ้งไปไม่เห็นฝุ่น

หากย้อนดูตอนที่ ร้อยเล่ห์มารยา ยังไม่ลงจอ ฟ้ามีตะวัน ของช่อง 7 ชนะ ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋ ของช่อง 3 ที่ออนแอร์ชนกันไปแบบสบายๆ 3 ตอนสุดท้ายของ “ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋” ได้เรตติ้งทั่วไทยอยู่ที่ 22 ต.ค. ได้ 2.0, 28 ต.ค. 2.0 และตอนจบ 29 ต.ค. ได้ไปเพียง 2.5 ขณะที่ ฟ้ามีตะวัน 22 ต.ค. ได้ 4.6, 28 ต.ค. ได้ 3.8 และ 29 ต.ค. ได้ 4.2

เท่ากับว่าเรตติ้ง ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋ ช่อง 3 ไม่สามารถสู้กับช่อง 7 ได้เลย ต้องตกลงไปเบียดแข่งกับ “เพลงรักเจ้าพระยา” ช่องวัน ที่เรตติ้งสูสีกันแทนด้วยซ้ำ

แต่พอมาถึง ร้อยเล่ห์มารยา ช่อง 3 ใช้เวลาเพียง 3 วีค 6 ตอน เร่งเครื่องจนแซงได้สำเร็จ สตาร์ตตอนแรก ร้อยเล่ห์มารยา ได้ไป 3.1 ฟ้ามีตะวันอยู่ที่ 3.8

ตอนที่ 2 โป๊ป-เบลล่า อยู่แค่ 3.3 ขณะที่ ฟ้ามีตะวัน ได้ไป 4.5 แต่ฉายไปฉายมา ร้อยเล่ห์มารยา เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง EP ล่าสุดที่น้องเมียตำแหน่งเมียน้อยอย่าง “นิ่ม” เปิดวอร์ไฝว้พี่สาวเต็มตัว เรตติ้งก็กระฉูดไปอยู่ที่ 4.5 ขณะที่ ฟ้ามีตะวันก็ไม่ใช่น้อยได้ไป 4.4 แต่ไม่อาจต้านความแรงของศึกหลวง-น้อย

รอดูได้เลยว่าหลังจากนี้การฟาดฟันของ “พี่สาว” เมียหลวงกับน้องสาว “เมียน้อย” จะพาเรตต้ิง ร้อยเล่ห์มารยา ทะยานขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะอย่างที่บอกเสมอเรื่องหลวงเรื่องน้อย ของชอบคนดูละครไทยอยู่แล้ว

ปรากฏการณ์ “เมียน้อย” สะท้อนละครไทย

ไทยรัฐออนไลน์ นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับละคร “เมียน้อย” ในเมืองไทย พบการวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ไทย” ของ “ณัฐพร อาจหาญ” คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการแสดงออกของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ ที่ช่างตรงเป๊ะกับความเป็น “นิ่ม” เมียน้อยที่ “ร้อยเล่ห์มารยา” สะท้อนออกมาเป็นปรากฏการณ์เมียน้อยในละครไทย เพราะพบว่าในละครโทรทัศน์ “เมียน้อย” มักถูกทำให้มีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้ความหมายเป็นภาพตัวแทนเมียน้อยในสังคมไทยคือ 

1. การตั้งท้องของเมียน้อย พบว่าการตั้งท้องของเมียน้อยในละครไม่ใช่ภาวะการมีลูกทั่วไป แต่เป็นการสร้างพื้นที่แห่งการต่อรองอำนาจ “นิ่ม” ใช้การตั้งท้องในการต่อรองกับสามีและพี่สาวที่เป็นเมียหลวง ซึ่งในละครไทยหลายๆ เรื่องมักนำเสนอให้เห็นว่าเมื่อไหร่ที่ “เมียน้อย” ท้อง พวกเธอจะรู้สึกไปเองว่านี่คือการ “ประกาศชัยชนะ”

การตั้งท้องในละครโทรทัศน์เท่ากับการขัดเกลาให้ผู้ชมสตรีส่วนใหญ่ตระหนักว่า การมีลูกเป็นการเติมเต็มชีวิต แต่ต้องเป็นการท้องที่มีพ่อ ซึ่งทำให้เห็นว่าการตั้งท้องของเมียน้อยที่จริงเป็นอำนาจของสามีต่างหากว่าจะยอมรับหรือไม่

2. การแสดงความรักต่อสามีของเมียน้อย การแสดงความรักของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ แสดงออกถึงความรักที่มีต่อสามีอย่างมากราวกับ คนบ้าคลั่งรัก ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นเมียของเขาประหนึ่งเขาคือเดียวในโลก นิ่ม, ปานแก้ว และเมียน้อยในละครไทยเรื่องอื่น เราก็มักจะพบเมียน้อยที่ต้องการได้มาซึ่งผัวชาวบ้านอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจของชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยที่ผู้หญิงต้องมาแย่งกัน

3. การแก้แค้นของเมียน้อย จากการศึกษาพบว่า เมียน้อยในละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่ถูกสร้างให้ต้องไปแก้แค้นผู้หญิงที่สามีให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเมียหลวงหรือเมียน้อยอีกคน พวกเธอจะกล่าวโทษความผิดที่ทำให้สามีไม่รักไม่สนใจตัวเองเพราะเมียหลวงหรือเมียน้อยคนอื่น ละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่มักทำให้เมียหลวงเป็นคู่ขัดแย้งของเมียน้อย ในร้อยเล่ห์มารยา นิ่ม ปานแก้ว แม้แต่เมียหลวงอย่าง “เอม” เองก็ไม่ต่างอะไร ผู้ชมได้เห็นพวกเธอแก้แค้นกันไปมาอย่างเมามัน

ละครโทรทัศน์ไทยทำให้เห็นว่าการที่ผู้ชายมีเมียหลายคน กลับสร้างความเคียดแค้นให้กับผู้หญิงด้วยกัน ในขณะที่ผู้ชายซึ่งเป็นต้นเหตุของความสัมพันธ์ ผู้ชายที่เห็นแก่ความสุขตัวเองเป็นใหญ่ กลับถูกวางให้อยู่ในวงนอกของปัญหา

4. จุดจบของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ เมียน้อยในละครโทรทัศน์ถูกทำให้มีทั้งคนดีและไม่ดี เมียน้อยคนดีจะเป็นคนที่ไม่เต็มใจแต่ต่อต้านขัดขืนไม่ได้ จึงต้องเป็นเมียน้อย ส่วนเมียน้อยที่เป็นคนไม่ดีก็คือคนที่ถูกสร้างให้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเต็มใจ เป็นฝ่ายเข้าหาผู้ชายก่อน และพยายามทำให้สามีเลิกกับเมียหลวง

แต่จะเมียน้อยคนดีหรือคนไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษหรือมีจุดจบของตัวเอง จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเมียน้อยเอง และไม่ว่าอย่างไร “เมียน้อย” ก็ไม่สามารถแย่งชิงอำนาจจากสามี หรือทำให้ผู้ชายมาหาตนได้

ซึ่ง ณ ตอนนี้ใน “ร้อยเล่ห์มารยา” เราได้เห็นจุดจบของ ปานแก้ว เมียน้อยคนแรกของแม็กซ์แล้ว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องมารอดูกันว่าจุดจบของ นิ่ม เองจะต่างจากบรรทัดฐานที่ละครไทยยัดเยียดให้ “เมียน้อย” หรือเปล่า

ดูละครแล้วย้อนดูตัวบางทีอาจจะไม่เสมอไป เพราะในภาพกว้างกว่านั้น บางครั้ง “ละคร” ก็กลับสะท้อนภาพของสังคมที่ถูกละครกำหนดให้เป็นไปได้เหมือนกัน.

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า

เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจาก : วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ไทย” ของ “ณัฐพร อาจหาญ” คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1960990
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/1960990