7 หนุ่ม BTS ผู้มาพร้อมความรัก และปรากฏการณ์ K-Pop บุกโลกตะวันตก


ให้คะแนน


แชร์

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อปีก่อน BTS ออกอัลบั้มใหม่ถึง 3 ชุด และทำยอดขายอย่างถล่มทลายไม่แพ้กัน โดยอัลบั้ม Map of the Soul: 7 ที่วางแผงในเดือนกุมภาพันธ์ ครองอันดับ 1 อัลบั้มที่ ‘ทำยอดขายสูงที่สุดในโลก’ ประจำปี 2020 จากการจัดอันดับของ IFPI (International Federation of the Phonographic Industry) ตามมาด้วยอัลบั้ม BE (Deluxe Edition) ในอันดับ 2 ที่เอาชนะศิลปินดังทั้ง เทย์เลอร์ สวิฟต์ และ จัสติน บีเบอร์ ไปได้ ส่วนอัลบั้ม Map of the Soul: 7 ~ The Journey ก็ขายดีอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งรวมแล้วทั้ง 3 อัลบั้มทำยอดขายทั่วโลกรวมกันไป 8.7 ล้านก๊อบปี้ (นับรวมทั้งยอดซีดีอัลบั้มและดิจิทัลดาวน์โหลด) จนขึ้นแท่นเป็นเจ้าของสถิติ 3 อัลบั้มบนชาร์ตสิ้นปีของ IFPI ร่วมกับราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็คสัน (ที่ครองสถิติมา 12 ปี) ได้อย่างเรียบร้อยโรงเรียนเกาหลี

และแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ BTS ต้องยกเลิก World Tour แต่พวกเขาก็ยังจัดคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ และก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่จัดถึง 2 ครั้ง (Bang Bang Con the Live ในเดือนมิถุนายน และ Map of the Soul ON:E ในเดือนตุลาคม) โดยทำยอดขายบัตรรวมกันได้เกือบ 1.75 ล้านใบ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,000 กว่าล้านบาท

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของ BTS สร้างรายได้ให้บริษัทต้นสังกัด Big Hit Entertainment อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้บริษัทที่เกือบล้มละลายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2018 จนในปี 2020 ก็สามารถเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ KOSPI แถมยังทำสถิติราคาขายหุ้น (IPO) เป็นประวัติการณ์หลังปิดตลาดวันแรก มูลค่าตลาดของ Big Hit พุ่งสูงราว 8.7 ล้านล้านวอน ทำให้ บังชีฮยอก CEO ของค่าย กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 6 ในเกาหลีใต้ และทำให้ BTS กลายมาเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทนี้ด้วย กล่าวคือเป็นทั้งศิลปินและเจ้าของบริษัทไปในตัว – ซึ่งทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในปี 2020 เพียงปีเดียว!

จึงอาจกล่าวได้ว่า BTS ไม่เพียงยืนหนึ่งในฐานะศิลปิน K-Pop จากเกาหลีใต้ที่เก่งกาจด้านงานเพลง แต่พวกเขายังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แก่ประเทศบ้านเกิดไปด้วยได้อย่างน่าอัศจรรย์

BTS คือใคร? ทำไมจึงสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดนี้? …ลองมาทำความรู้จักพวกเขากัน

We Are Bulletproof : เด็กหนุ่มทั้ง 7 ที่เป็นเสมือน ‘เกราะกันกระสุน’

BTS ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 7 คน คือ อาร์เอ็ม (RM – ชื่อเกาหลีคือ คิมนัมจุน) หัวหน้าวง, จิน (Jin – คิมซอกจิน) พี่ใหญ่ของวง, ชูก้า (Suga – มินยุนกิ), เจโฮป (J-Hope – จองโฮซอก), จีมิน (Jimin – พัคจีมิน), วี (V – คิมแทฮยอง) และ จองกุก (Jungkook – จอนจองกุก) น้องเล็กของวง โดยชื่อวงย่อมาจาก Bangtan Sonyeondan (‘บังทันซอยอนดัน’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘บังทัน’) ที่ในภาษาเกาหลีแปลว่า ลูกเสือที่ใส่เกราะกันกระสุน และ Beyond The Scene ที่ในภาษาอังกฤษ มีความหมายโดยรวมคือ ผู้ที่คอยปกป้องวัยรุ่นจากอคติและความกดดัน พร้อมกับพัฒนาตนเองต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด ส่วนกลุ่มแฟนคลับของพวกเขามีชื่อเรียกว่า ‘อาร์มี่’ (ARMY : Adorable Representative M.C. for Youth) แปลได้สองความหมายคือ ทหาร เพราะบังทันคือเสื้อเกราะกันกระสุน เสื้อเกราะกับทหารจะอยู่ด้วยกันเสมอ เหมือนกับแฟนๆ ที่จะอยู่กับบังทันเสมอไป และอีกความหมายหนึ่งคือ ตัวแทนผู้ประกาศที่น่ารักสำหรับวัยรุ่น

เดิมที BTS จะเป็นวงฮิปฮอปล้วน โดยมีนัมจุน, ยุนกิ และโฮซอกเป็นสมาชิกดั้งเดิม แต่ทางค่ายก็ตัดสินใจเปลี่ยนคอนเซปต์ของวงให้มีความเป็น ‘วงไอดอล’ มากขึ้นเพื่อให้เข้ากับตลาดเพลงกระแสหลัก จึงได้มีการเพิ่มสมาชิกที่ทำหน้าที่ร้องเพลงเข้ามาด้วย จนกลายเป็นสมาชิก 7 คนเช่นในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่สมาชิกแต่ละคนมีระดับความสามารถที่แตกต่างกันมาก บางคนแร็ปได้แต่เต้นไม่เป็น บางคนทั้งร้องเพลงไม่เป็นแถมเต้นไม่ได้ ทำให้สมาชิกแต่ละคนต้องใช้ความพยายามอย่างหนักมากในการฝึกฝนทักษะทั้งการร้องเพลง การแร็ป และการเต้น จนในที่สุด ก็ได้เดบิวต์ (Debut – เปิดตัวศิลปินใหม่) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ด้วยเพลง No More Dream

ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นวัยรุ่นที่มีเสน่ห์ เป็นธรรมชาติ เปี่ยมอารมณ์ขัน และเต็มไปด้วยพลัง, เนื้อหาเพลงที่พูดถึงการตามความฝันซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากวงไอดอลในรุ่นเดียวกันที่มักพูดถึงความรักเป็นส่วนใหญ่ บวกกับท่าเต้นที่แสดงถึงความแข็งแรงของร่างกาย และความ ‘ยาก’ ในระดับที่สมาชิกต้องร้องขอชีวิต ก็ทำให้ BTS ได้รับผลตอบรับที่ดีในการเดบิวต์

Blood Sweat & Tears : จุดเริ่มต้นและหนทางที่ต้องฟันฝ่า

แต่เส้นทางของไอดอลน้องใหม่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยความที่เป็นกลุ่มศิลปินจากค่ายเล็ก (ในขณะนั้น) จึงมักไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมากเท่ากับศิลปินจากค่ายใหญ่ BTS จึงมักถูกเลือกปฏิบัติในแบบที่ ‘ไม่ยุติธรรม’ บ่อยครั้ง เช่น เคยโดนตัดเวลาออกอากาศขณะแสดงในรายการเพลง, เคยโดนดูถูกว่าไม่มีความเป็นฮิปฮอปและเป็นแค่ไอดอลหน้าตาดี หรือแม้แต่เคยโดนกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงาน เป็นต้น

แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคขวากหนามคอยเกี่ยวดึงให้เสียหยดเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตาไปบ้าง แต่ด้วยผลงานที่โดดเด่น, การสนับสนุนของอาร์มี่ บวกกับความทุ่มเทและสามัคคีกันของสมาชิก ก็ทำให้บังทันฝ่าดงกระสุนในปีแรกมาได้ พร้อมกับรางวัล ‘ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ ในงานประกาศรางวัล Melon Music Awards 2013 ซึ่งอาร์เอ็มเคยกล่าวถึงความสามัคคีของ BTS ไว้ว่า “มันเหมือนกับพวกเราเจ็ดคนลงเรือลำเดียวกันน่ะครับ แม้เราจะมองกันไปคนละทิศ แต่เราก็ยังมุ่งหน้าไปในเส้นทางเดียวกัน”

จนในปี 2014 BTS ได้เดินทางไปลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อถ่ายทำรายการ BTS American Hustle Life เพื่อบอกเล่าถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกันฮิปฮอป และขึ้นเวทีแสดงสดเป็นครั้งแรกที่นั่น แต่เนื่องจากในขณะนั้น พวกเขายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงมีผู้ชมเพียง 200 คน และถึงขั้นต้องแจกใบปลิวโปรโมตคอนเสิร์ตกันเอง แต่ก็ถือเป็นการแนะนำตัวเองในอเมริกาได้อย่างน่าประทับใจ และเป็นการเริ่มสร้างฐานแฟนคลับในโลกตะวันตกของบังทัน

กระทั่งพวกเขามีโอกาสชนะรางวัลที่ 1 ในรายการเพลงของบ้านเกิดเป็นครั้งแรก ด้วยเพลง I Need U และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่ออัลบั้ม The Most Beautiful Moment in Life: Young Forever ได้รับรางวัล ‘อัลบั้มยอดเยี่ยม’ ในงาน Melon Music Awards 2016 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาชนะรางวัลใหญ่ในวงการเพลง (ในภาษาเกาหลีเรียกว่า รางวัล ‘แดซัง’) ทำให้ BTS ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

The Truth Untold : เผยความจริงของกลยุทธ์ ‘ศิลปินคือศูนย์กลาง’

บังชีฮยอก CEO ของ Big Hit Entertainment สนับสนุนให้สมาชิก BTS แสดงความรู้สึกของตนเองออกมาผ่านบทเพลงเพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการพูดความรู้สึกแทนคนรุ่นเดียวกัน บังทันจึงได้มีส่วนร่วมในการทำเพลงมากขึ้น นับตั้งแต่อัลบั้ม The Most Beautiful Moment Pt.1 (2015) ที่สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตและการรับมือปัญหาต่างๆ ในช่วงวัยรุ่นคึกคะนอง, อัลบั้ม Wings (2016) ที่พูดถึงการก้าวพ้นจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งสมาชิกได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือ Demian (1919) ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ที่มีธีมว่าด้วยความเจ็บปวดของเด็กหนุ่มผู้กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่, อัลบั้ม Map of the Soul: 7 ที่ตั้งคำถามกับตัวตนทั้งด้านสว่างในฐานะไอดอลและด้านมืดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากทฤษฎีจิตวิทยาของ คาร์ล จุง ในหนังสือ Jung’s Map of the Soul (1998) มาจนถึงอัลบั้มล่าสุด BE (2020) เป็นอัลบั้มที่บังทันมีส่วนร่วมในการทำงานมากที่สุด โดยมีธีมคือการรับมือกับความหดหู่ของโลกยุคปัจจุบัน (โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19) และการส่งพลังด้านบวกให้แก่แฟนเพลง

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากการมีส่วนร่วมในการทำงานของ BTS จะเป็นการสะท้อนตัวตนและความคิดของคนรุ่นเดียวกับพวกเขาแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอีกด้วย

Go Go Go : เมื่อบังทัน ‘โก อินเตอร์’ เต็มตัว

ในปี 2017 BTS ออกอัลบั้ม Love Yourself: Her ที่เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์อัลบั้ม Love Yourself ซึ่งมีธีมหลักเกี่ยวกับการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองและการรักในสิ่งที่ตนเองเป็นให้ได้ ก่อนที่จะไปรักคนอื่น ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น ‘วัยรุ่นวัยที่กำลังค้นหาตัวตน’ ได้ บังทันจึงมีโอกาสร่วมงานกับ UNICEF ในโครงการ Love Myself เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความรักและเชื่อมั่นในตัวเอง ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น บังทันยังได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีศิลปิน K-Pop กลุ่มใดทำได้มาก่อน นั่นคือการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นเวทีประชุมสำหรับผู้นำระดับโลกเท่านั้น จากผลงานอันโดดเด่นในการเป็นตัวแทนของวัยรุ่น ทำให้บังทันได้รับการขนานนามว่า ‘ผู้นำของคนรุ่นใหม่’ และได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร Time อีกด้วย จนกระทั่งในปี 2018 รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมอบรางวัลสดุดีให้แก่ BTS ในฐานะที่เป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก

เมื่องานหลวงมีไม่ขาด งานราษฎร์ก็ต้องไม่บกพร่อง เพราะในส่วนของงานเพลง บังทันมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอ็ด เชียร์แรน, นิคกิ มินาจ, ฮาลซีย์, สตีฟ อาโอกิ, The Chainsmoker, ลิล แนส เอ็กซ์, เลิฟ หรือ เซีย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการที่ BTS ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินมากขึ้นด้วย

Win No Matter What! : ชนะรางวัลใหญ่ ไม่สำคัญเท่าชนะใจแฟนเพลงทั่วโลก

ก่อนหน้าที่จะได้เข้าชิงรางวัล Grammy Awards บังทันเคยชิงและชนะรางวัลระดับโลกมาแล้ว แถมเป็นศิลปินที่ได้ชื่อว่า ‘สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปิน K-Pop กลุ่มแรก’ ในหลายเวที เช่น การได้รับรางวัล Top Social Artist เป็นเวลา 4 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2017 (ซึ่งเป็นรางวัลที่ จัสติน บีเบอร์ เคยชนะถึง 6 ปีซ้อน!) ในงาน Billboard Music Awards หรือการได้รับรางวัล Favorite Social Artist (ปี 2018, 2019 กับ 2020) และ Favorite Duo or Group – Pop/Rock (ปี 2019 กับ 2020) ในงาน American Music Awards มาแล้วหลายปีติดต่อกัน

ส่วนอัลบั้มของบังทันก็สร้างสถิติเช่นกัน เพราะในปี 2018 อัลบั้ม Love Yourself: Tear ทำให้ BTS กลายเป็นศิลปิน K-Pop กลุ่มแรกที่มีอัลบั้มเปิดตัวอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Hot 200 ซึ่งเป็นการจัดอันดับความนิยมของอัลบั้มเพลงในอเมริกา ก่อนที่ทุกอัลบั้มถัดจากนั้นของ BTS อย่าง Love Yourself: Answer, Map of the Soul: Persona, Map of the Soul: 7 และ BE ต่างเปิดตัวอันดับ 1 ทั้งสิ้น ทำให้ BTS สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการมีอัลบั้มเปิดตัวที่ 1 ติดต่อกัน 5 อัลบั้ม เทียบเท่าสถิติของศิลปินระดับตำนานอย่าง The Beatles ที่เคยทำสถิติไว้ที่ 4 อัลบั้มเมื่อปี 1968 ซึ่งจากปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้สื่อต่างชาติตั้งฉายาให้ BTS ว่าเป็น ‘The Beatles แห่งศตวรรษที่ 21’ กันเลยทีเดียว

ทั้ง 7 หนุ่มไม่เพียงโด่งดังแค่ในฝั่งอเมริกา แต่ในฝั่งยุโรป-โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร-ที่ว่ากันว่าศิลปินจากเอเชีย ‘ตีตลาด’ ได้ยากนั้น BTS ก็ไปปักธงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2019 บังทันกลายเป็น K-Pop กลุ่มแรกที่ได้เปิดการแสดงใน Wembley Stadium ที่นักดนตรีระดับตำนานอย่าง The Beatles, Queen หรือไมเคิล แจ็คสัน เคยเปิดการแสดงมาแล้ว นอกจากนี้ BTS ยังมีอัลบั้มที่ได้รับการรับรองยอดขายในระดับ Gold (ยอดขายเกิน 100,000 ชุดในสหราชอาณาจักร) จาก British Phonographic Industry (BPI) ถึง 3 อัลบั้ม คือ Love Yourself: Answer, Map of the Soul: Persona และ Map of the Soul: 7

เหล่านี้ไม่ใช่วีรกรรม ‘ทั้งหมด’ ของบังทัน แต่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความพยายามอันไม่มีที่สิ้นสุดของพวกเขา แต่แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง BTS ก็ไม่ได้หลงอยู่กับชื่อเสียง พวกเขายังคงถ่อมตัวและไม่หยุดพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดให้แฟนๆ ต่อไป

We Connect To 7G : เชื่อมต่อโลกโซเชียล มีเดียอย่างทรงพลังแบบบังทัน

BTS เป็นหนึ่งในศิลปินที่เชี่ยวชาญการใช้สื่อออนไลน์ โดยทางวงมี account ทวิตเตอร์ในการสื่อสารกับอาร์มี่ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2012 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินฝั่งตะวันออกยังไม่นิยมใช้กันมากนัก) เพื่อลดช่องว่างระหว่างศิลปินกับแฟนคลับให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมี account ออนไลน์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานต่างๆ (เช่น สื่อโปรโมต, วิดีโอบันทึกการแสดงสด, เบื้องหลังกิจกรรมต่างๆ, วิดีโอซ้อมเต้น ฯลฯ) ทั้งทาง YouTube (BangtanTV), Facebook, Instagram, V Live, TikTok, Weibo, Youku รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Weverse ที่พัฒนาโดยบริษัทในเครือ Big Hit ในการสื่อสารกับแฟนๆ และ Weverse Shop สำหรับช่องทางการขายสินค้าที่ระลึก

ดังนั้น แม้โลกจะยังตกอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 วง BTS ก็ยังใช้ Twitter, V Live และ Weverse ในการสื่อสารกับอาร์มี่ผ่านสื่อโปรโมตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้กำลังใจแฟนคลับกลุ่มเดิมแล้ว บังทันก็ยังได้แฟนคลับกลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลด้วย โดยในปี 2020 BTS เป็นศิลปิน K-Pop ที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดถึงเกือบ 34 ล้าน followers ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยืนยันความนิยมของพวกเขาได้อย่างดี

แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังช่วยให้อาร์มี่สามารถสร้างเครือข่ายในการสนับสนุน BTS ได้อย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางปี 2020 ที่ BTS ทวีตให้การสนับสนุน Black Lives Matter เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คนผิวดำ และบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับแคมเปญนี้ ทางอาร์มี่ก็ช่วยกันสร้างแฮชแท็ก #MatchAMillion เพื่อระดมทุนให้ได้ 1 ล้านเหรียญฯ เท่ากับ BTS แล้วบริจาคให้ Black Lives Matter เช่นกัน ซึ่งนี่คือพลังของการใช้โซเชียล มีเดียในการส่งต่อพลังบวกให้กันและกันอย่างแท้จริง

BTS ระหว่างการแสดงสดที่งานแกรมมี่ครั้งล่าสุด BTS ระหว่างการแสดงสดที่งานแกรมมี่ครั้งล่าสุด

#LightItUpBTS : ก้าวสู่อนาคตที่สดใส

หลังจากนี้ BTS มีแผนการที่จะออกอัลบั้มใหม่ภายในปี 2021 รวมถึงงานเดี่ยวของสมาชิกแต่ละคนที่รอการเปิดเผยในอนาคต ทั้งยังมีแผนจัดคอนเสิร์ตแบบมีผู้ชมหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ฉะนั้น การพลาดรางวัลแกรมมี่จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ BTS พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของศิลปิน K-Pop ที่สามารถสร้างผลงานให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในต่างแดน ทลายกำแพงทางภาษาและอคติด้านเชื้อชาติ ให้สมกับชื่อ Bulletproof Boy Scout ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก โดยไม่หยุดการฝึกฝนพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ดังที่ชูก้าเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2018 ว่า…

“ความน่ากลัวของ BTS คือพวกเราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และผมก็เชื่อว่าเรายังมีหนทางอีกยาวไกลให้ไปต่อครับ”

สมชื่อ Beyond The Scene อย่างแท้จริง

อ้างอิง: Kenya BTS Army, MusicWeek, IFPI, New York Times, IBTimes, Touring Data, Forbes (1, 2), Nikkei Asia, Reuters, Korea Herald, Bora, BBC, Wikipedia, Big Hit (1, 2), Hollywire, Time (1, 2), Billboard, CultureSonar, Soompi (1, 2), Grammy, VarietySocialBakers, ARMY’s

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2055617
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2055617