‘อนินทรีย์แดง’ และหนังรางวัลสัญชาติไทยในไตรมาสแรก …ที่คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้จัก


ให้คะแนน


แชร์

31 มี.ค. 2564 17:00 น.

  • ‘อนินทรีย์แดง’ คือหนังสั้นไทยเรื่องล่าสุดของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ที่เพิ่งชนะรางวัล ‘ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม’ จากเวที Glasgow Short Film Festival ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่สุดของเทศกาลดังกล่าว
  • นี่เป็นเพียงหนึ่งในหนังไทยที่ได้รับรางวัลใหญ่จากเวทีต่างประเทศของปี 2021 เพราะในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังมีหนังไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในลักษณะเดียวกันนี้ แต่กลับแทบไม่มีคนไทยรับรู้หรือให้ความสนใจมากเท่าที่ควร
  • สิ่งที่ นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล โปรดิวเซอร์ของ ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ -ที่เพิ่งคว้ารางวัล ‘ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม’ ของ คมชัดลึกอวอร์ด มาได้- กล่าวบนเวทีนั้น อาจสะท้อนถึงอุปสรรคที่ทำให้หนังไทยเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากพออยู่กลายๆ

ขณะที่ ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ หนังสารคดีชีวิตแร็ปเปอร์เด็กสลัมที่วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เพิ่งคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีกระแสหลักอย่าง ‘ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม’ ของ คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 17 ไปเมื่อคืนวันอังคารที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา …เราเชื่อว่าคงมีน้อยคนนักที่จะทราบถึงการมีอยู่ของ ‘อนินทรีย์แดง’ (Red Aninsri; Or, Tiptoeing on the Still Trembling Berlin Wall) หนังสั้นเรื่องล่าสุดของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ที่ก็เพิ่งชนะรางวัล ‘ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม’ จากเวทีต่างประเทศมาก่อนหน้านั้นเพียงแค่ไม่กี่วัน!

ข่าวแนะนำ

อนินทรีย์แดง อนินทรีย์แดง

‘อนินทรีย์แดง’ คือหนังเจ้าของรางวัล Bill Douglas Award หรือ ‘ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม’ จาก Glasgow Short Film Festival ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่สุดของเทศกาลดังกล่าว โดยคณะกรรมการให้เหตุผลในการตัดสินว่า เนื่องด้วย ‘ภาพยนตร์’ ต้องเป็นสื่อศิลปะที่สามารถพาผู้ชมไปสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ‘อนินทรีย์แดง’ จึงเป็นผลงานที่ควรค่าแก่รางวัลนี้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะนอกจากมันจะนำเอาสไตล์การเล่าเรื่องของ ‘หนังไทยในอดีต’ มายั่วล้อได้อย่างน่ารักน่าชังแล้ว (โดยเฉพาะการใช้เสียงพากย์ทับเสียงนักแสดง และการล้อเลียน ‘อินทรีย์แดง’ รวมถึงขนบของหนังสายลับไทยเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน) หนังก็ยังมีทัศนคติของตัวละครและสไตล์ด้านภาพที่ทั้งหลุดโลก ขบขัน น่าประหลาดใจ และเปี่ยมมนตร์เสน่ห์รวมอยู่ด้วย โดยเล่าผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ชวนเหวอระหว่าง จิตร นักศึกษาหนุ่ม/นักเคลื่อนไหวผู้ถูกรัฐบาลเพ่งเล็ง กับ อังศ์ กะเทยสาวที่รับบท ‘สายลับ’ ผู้ปลอมตัวเป็นชายหนุ่มเพื่อพยายามล้วงความลับทางการเมืองจากเขา

พญาโศกพิโยคค่ำ พญาโศกพิโยคค่ำ เบื้องหลัง One for the Road เบื้องหลัง One for the Road

‘อนินทรีย์แดง’ เป็นเพียงหนึ่งในหนังไทยที่ได้รับรางวัลใหญ่จากเวทีต่างประเทศของปี 2021 เพราะในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังมีหนังไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในลักษณะเดียวกันนี้ แต่กลับแทบไม่มีคนไทยรับรู้หรือให้ความสนใจมากเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ (The Edge of Daybreak) หนังขาว-ดำแนวทดลองว่าด้วยครอบครัวหนึ่งที่พัวพันกับเหตุการณ์ทางการเมือง (หนึ่งในนักแสดงนำคือ โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล) ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่ชนะรางวัลขวัญใจนักวิจารณ์หรือ FIPRESCI Prize จาก International Film Festival Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ One for the Road หนังดราม่าที่เล่าถึงมิตรภาพและการเดินทางครั้งสุดท้ายของสองหนุ่ม (รับบทโดย ต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร และ ไอซ์ซึ – ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (ผู้กำกับ ‘ฉลาดเกมส์โกง’) ที่ได้รับการการันตีในแง่ความคิดสร้างสรรค์ด้วยรางวัลชื่อยาว World Cinema Dramatic Special Jury Award: Creative Vision จาก Sundance Film Festival สหรัฐอเมริกา

ใจจำลอง ใจจำลอง พลอย พลอย

ยังไม่รวมถึงหนังไทยอีกบางส่วนที่ถูกคัดเลือกให้ไปฉาย-หรือกระทั่งเข้าร่วมประกวด-ในเทศกาลหนังยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Berlin International Film Festival ที่ประเทศเยอรมนีปีนี้ ทั้ง ‘ใจจำลอง’ (Come Here) หนังขาว-ดำที่ตามติดทริป ‘ทางรถไฟสายมรณะ’ ใน จ.กาญจนบุรีของเพื่อนทั้งสี่คน (นำแสดงโดย สายป่าน – อภิญญา สกุลเจริญสุข) ของผู้กำกับหญิง อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ ‘พลอย’ หนังสารคดีแนวทดลองของ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ที่เล่าชีวิตแรงงานทางเพศในต่างแดน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ ‘คนไกลบ้าน : คำให้การของคนไทยในสิงคโปร์’

School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล โปรดิวเซอร์ของ School Town King กล่าวบนเวทีรางวัลคมชัดลึกฯ เมื่อคืนก่อน อาจสามารถสะท้อนถึงอุปสรรคที่ทำให้หนังไทยเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากพออยู่กลายๆ เนื่องจากหนังหลายเรื่องต่างพยายามพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับสังคมไทย จนอาจถูก ‘ตั้งแง่’ ว่าดูยากหรือสุ่มเสี่ยงเกินไป ทั้งจากมุมมองของภาครัฐ, สื่อมวลชนกระแสหลัก หรือแม้แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้ชื่อและความสำเร็จของหนังถูกเผยแพร่ส่งต่อออกไปได้ไม่ไกลอย่างที่ควรจะเป็น โดยเขาย้ำว่า ภาพยนตร์ยังควรต้องเป็นศิลปะที่ใช้ในการสื่อสารประเด็นและเรื่องราว ยิ่งเป็นหนังที่ได้รับรางวัล มันก็เหมือนกับประเด็นในหนังได้ถูกมองเห็นไปด้วย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือภาวะเศรษฐกิจที่ล้วนเป็นความจริงของสังคม พร้อมเน้นย้ำว่า “หากพวกเราเองเห็นด้วยกับการกดเพดานของเสรีภาพในการสร้างสรรค์ศิลปะ เฉกเช่นภาพยนตร์และศิลปะแขนงอื่นๆ ทุกปัญหาจะถูกซุกใต้พรมและเป็นเหมือนปัญหาการศึกษาที่ไม่ว่าจะรุ่นผม หรือรุ่นของคุณทุกคน รวมไปถึงรุ่นน้องๆ ที่กำลังประสบอยู่”

“อย่าให้รางวัลนี้เป็นเพียงรางวัลของเครื่องมืออย่างภาพยนตร์ เราอยากให้มันเป็นรางวัลที่ช่วยขยายประเด็นนี้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้จริงๆ ครับ”

ที่มา : Glasgowshort.org, เพจ Film Club, คนมองหนัง, IMDB

อ่านเพิ่มเติม…

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2060820
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2060820