ใครเป็นใครใน 7 ศิลปินรางวัล ‘ศิลปาธร’ 2564


ให้คะแนน


แชร์

ตามที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศรายชื่อศิลปินจำนวน 7 คนที่เข้ารับรางวัล ‘ศิลปาธร’ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อให้กำลังใจศิลปินร่วมสมัยของไทยในสาขาต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2547 โดยศิลปินที่เคยได้รับรางวัลก็เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (สาขาทัศนศิลป์), อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (สาขาภาพยนตร์), ปราบดา หยุ่น (สาขาวรรณศิลป์) และ สินีนาฏ เกษประไพ (สาขาศิลปะการแสดง)


สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว : นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

คงไม่ต้องแนะนำกันมากความ สำหรับคนทำหนังขวัญใจผู้ชมรุ่นใหม่อย่างนวพล เจ้าของรางวัลหนังทั้งในและนอกบ้านอย่าง ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ (2558), BNK48 : Girls Don’t Cry (2561) และ ‘ฮาวทูทิ้ง.. ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ (2562) ที่เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารกับวัยรุ่นด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องอันสดใหม่ และเครื่องมือทางการตลาดที่เหนือความคาดหมาย จนกลายเป็นที่ฮือฮาในวงกว้างได้เสมอ

สาขาทัศนศิลป์ : ปรัชญา พิณทอง

ศิลปินชาวอุบลราชธานี ผู้ช่ำชองด้านงานประติมากรรม/ภาพพิมพ์จากศิลปากรและ Städelschule Frankfurt ประเทศเยอรมนี ที่เคยจัดแสดงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาแล้วในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส, อังกฤษ ฯลฯ โดยผลงานของเขามักส่องสะท้อนถึงความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลน้อยใหญ่ต่อผู้คน จนทำให้พวกเขากลายเป็น ‘คนชายขอบ’ อยู่เสมอ

สาขาสถาปัตยกรรม : รศ.ดร. ต้นข้าว ปาณินท์

สถาปนิกหญิงเจ้าของปริญญาหลายใบจากสหรัฐอเมริกาและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นลูกสาวของสองผู้อาวุโสแห่งแวดวงศิลปะอย่าง อนันต์ ปาณินท์ และ อรศิริ ปาณินท์ ซึ่ง รศ.ดร. ต้นข้าว เคยมีหนังสือและบทความวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่มากมาย รวมถึงการออกแบบอาคารหลายแห่งในนาม Research Studio Panin ที่เน้นความเรียบง่ายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตบ้านเรา


สาขาวรรณศิลป์ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนแนวสารคดีจาก จ.กระบี่ ที่เริ่มต้นจากการเป็นกวีนาม ‘เคียวจันทร์ คมแสงไท’ ในปี 2539 เขาจึงมีความโดดเด่นในแง่ของการนำเสนอเนื้อหาผ่านลีลาการใช้ภาษาที่ลุ่มลึก และยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับความสนใจในปัญหาสิทธิมนุษยชนและการได้คลุกคลีอยู่กับนิตยสาร ‘สารคดี’ ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร ก็ยิ่งทำให้งานเขียนของเขาสามารถเป็น ‘กระบอกเสียง’ แทนผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศได้อย่างทรงพลัง

สาขาดนตรี : ผศ.ดร. อโณทัย นิติพน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ประจำสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่สนใจในการผสมผสานศาสตร์ของดนตรีร่วมสมัยให้เข้ากับองค์ประกอบของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งยังริเริ่มจัดโครงการดนตรีสัมพันธ์ในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย โดยมุ่งหวังให้นักดนตรีร่วมสมัยและนักดนตรีพื้นถิ่นของไทย รวมถึงนักดนตรีในแถบอาเซียน ได้มีโอกาสและพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และสุนทรียะระหว่างกัน

สาขาศิลปะการแสดง : สุมณฑา สวนผลรัตน์

นักแสดงมากประสบการณ์ที่เคยผ่านทั้งงานละครเวที (‘สู่ฝันอันยิ่งใหญ่’), ภาพยนตร์ (‘ทวารยังหวานอยู่’) และโฆษณามาอย่างโชกโชนกว่า 3 ทศวรรษ โดยเธอยังเป็นเจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีชมรมศิลปะการแสดงในปี 2555 จากเรื่อง The Chairs และยังตัดสินใจนำเอาความรู้ด้านการแสดงออกไปช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและวิธีคิดแง่บวกให้แก่ผู้คน-โดยเฉพาะผู้ต้องขัง-ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

สาขาศิลปะการออกแบบ : กฤษณ์ เย็นสุดใจ

ดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่นอกจากจะเน้นเรื่องความสวยงามและใช้ได้จริงของงานออกแบบแล้ว เขายังนิยมชมชอบการออกวิจัย ‘ผ้าไทย’ อันเป็นผลงานพื้นถิ่นของชาวบ้านตามภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย เพื่อหาวิธีการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทั้งรายได้ไปจนถึงความรู้สึกภาคภูมิใจในงานฝีมือของตัวเอง

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2061720
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2061720