สมคบคิด? รุมถล่มมือเขียนบท Joseon Exorcist กับความจริงอันขื่นขม


ให้คะแนน


แชร์

ปรากฏการณ์หายนะของซีรีส์ฟอร์มยักษ์ทุนสร้างมหึมา “Joseon Exorcist” หลังออนแอร์ไปได้เพียง 2 ตอน ซึ่งดับสูญไปพร้อมกับความหวังว่า มันจะโด่งดังเป็นพลุแตกตามรอยทางที่ซีรีส์ซอมบี้ย้อนยุค อย่าง Kingdom แผ้วทางไว้ก่อนหน้า คือ “คำตอบ” ของ “คำถาม” ที่ว่านั้น!

อะไร คือ ความเคลือบแคลงที่น่าสงสัย จนนำไปสู่ข้อกล่าวหาหนักหน่วงที่ว่า จงใจล้อเลียน บิดเบือนประวัติศาสตร์ของราชวงศ์และวัฒนธรรมของชาวเกาหลี?

ซีรีส์ Mr. Queen ซีรีส์ Mr. Queen

ซีรีส์ที่รีเมคมาจาก Go Princess Go ซีรีส์สัญชาติจีน ซึ่ง “พัค กเยอก” ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เขียนบทก่อนหน้านี้ เคยถูกเกาหลีชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ส่งกลิ่น” ที่ส่อไปในทิศทางที่ชักจะไม่ชอบมาพากลมาแล้วในความรู้สึกของเกาหลีชน

บทบาทของนักแสดงที่รับบท “พระพันปีซุนวอน” (Queen Sunwon) และ “พระราชินีซินจอง” (Queen Shinjeong) ในซีรีส์ Mr.Queen ถูกชาวเกาหลีมองด้วยสายตาเคลือบแคลงว่า เหตุใดจึงถูกเขียนบทให้มี “บุคลิกที่ชวนหัวจนเกินพอดี” ทั้งๆ ที่ทั้งสองพระองค์มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของเกาหลี

นอกจากนี้ ในซีรีส์รีเมคนี้ ยังมีบทสนทนาชวนทะแม่งๆ ที่พาดพิงถึงจดหมายเหตุของราชวงศ์โชซอน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” (Unesco) ว่าเป็นเพียงเรื่องซุบซิบนินทา (Tabloid) เข้าไปอีก

ซีรีส์ Mr. Queen ซีรีส์ Mr. Queen

ในขณะที่ ซีรีส์ “Joseon Exorcist” ที่ “พัค กเยอก” เป็นผู้เขียนบทเช่นกัน ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องที่ว่า เหตุใดจึงพยายามนำ “วัฒนธรรมของเกาหลี” ให้ค้อมคารวะกับ “วัฒนธรรมจีน” มากมายจนเกินไป ทั้งๆ ที่มันเป็นซีรีส์ที่ถูกปกคลุมด้วยราชวงศ์โชซอนอย่างหนาแน่นที่สุดซีรีส์หนึ่ง

สิ่งปลูกสร้าง เครื่องแต่งกาย อาหาร เหล้า ขนม ดาบ หรือแม้กระทั่งโต๊ะ เก้าอี้ ประกอบฉากในซีรีส์ผีดิบย้อนยุคนี้ เหตุใดมันจึง “ไชนิสสไตล์” มากกว่าที่จะเป็น “โคเรียสไตล์”

และถึงแม้ว่าทางทีมงานจะพยายามออกมาอธิบายว่า เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นใน 2 ตอนของซีรีส์ที่ออกอากาศไปนั้น เป็นพื้นที่ชายแดนที่อยู่ใกล้กับอิทธิพลของราชวงศ์หมิงของจีน อุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมดจึงถูกเซตขึ้นภายใต้โจทย์ที่ว่า “เป็นเส้นทางสัญจรที่มีชาวจีนเดินทางผ่าน”

แต่แล้วทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่รู้ๆ กัน ความพยายามทั้งขอโทษและขอโอกาสเพื่อแก้ไข มันไม่สามารถดับไฟแห่งความโกรธกริ้วของชาวเกาหลีใต้ไปได้ จนกระทั่งเกิดหายนะกับซีรีส์ทุนหนาที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์

และในเมื่อเกิดประเด็นที่คล้ายคลึงกันจากฝีมือผู้เขียนบทคนเดียวกัน ชาวเน็ตเกาหลีส่วนหนึ่งจึงตั้งทฤษฎีสมคบคิดเลยเถิดถึงขั้นที่ว่า หรือ…แท้จริงแล้ว “พัค กเยอก” อาจจะเป็นชาวเกาหลีที่มีเชื้อสายจีนเข้าไปเลยโน่น!

เหตุใดจึงเกิดทฤษฎีสมคบคิดที่ว่านี้?

ที่ผ่านมา ผลงานการเขียนบทของ “พัค กเยอก” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง มักถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ ว่า เหตุใดจึงมักมีความพยายามผสมผสานประวัติศาสตร์และตัวละครของจีนและเกาหลีอยู่เนืองๆ จนกระทั่งบางครั้งทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความพยายามที่จะบิดเบือนประวัติศาสตร์

แต่อะไรคงไม่เท่ากับที่ปัจจุบัน “พัค กเยอก” ได้เซ็นสัญญากับ “หางโจว เจฟฟิง พิคเจอร์ส” (Hangzhou Jaffing Pictures Co., Ltd,) บริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดมหึมาสัญชาติจีนแล้ว มันจึงยิ่งทำให้ทฤษฎีสมคบคิดนี้ดูมีความเป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก

อย่างไรก็ดี สำหรับปรากฏการณ์ “ความเคลือบแคลง” ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น “เกาหลีชน” ส่วนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุใดกระแสความไม่พึงพอใจการบุกรุกจากวัฒนธรรมแดนมังกรในครั้งนี้มันจึงดูรุนแรงกว่าที่เคยเป็นๆ มามากมายนัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ อย่าง “ฮา แจกึน” (Ha Jae-geun) ได้วิเคราะห์ประเด็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า กระแสต่อต้านวัฒนธรรมจากประเทศจีนในหมู่ชาวเกาหลีใต้ ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นจากประเด็นวิวาทะเรื่องกิมจิและชุดฮันบก ที่ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายจุดพลุขึ้นมาก่อนเองว่า “น่าจะมีต้นทางมาจากวัฒนธรรมแดนมังกร” เมื่อไม่นานมานี้

โดยกรณีพิพาทเรื่องกิมจินั้น เริ่มมาจากสำนักข่าวโกลบอลไทม์ (Global Times) สื่อของทางการจีน ได้รายงานว่า “เผ้าไช้” (Paocai) ผักดองชื่อดังของจีน ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO (Intenational Organization For Standardization) แล้ว และจะมีการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้สำหรับการทำตลาด “เผ้าไช้” ในเวทีนานาชาติ นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังอ้างอีกด้วยว่า คำว่า “กิมจิ” ในภาษาจีนหมายถึง “เผ้าไช้” ด้วย

เป็นเหตุให้กระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้อดรนทนไม่ได้ ต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่า “เผ้าไช้” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ “กิมจิ” อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ คำว่า “กิมจิ” ยังได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในปี 2001 แล้วด้วย ขณะที่โลกออนไลน์ของเกาหลีใต้ ก็ร้อนระอุไม่แพ้กัน เนื่องจากมีการประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “ประเทศจีนไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับจิตวิญญาณแห่งกิมจิ”

นอกจากนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชาวจีนและเกาหลีใต้ได้เปิดศึกทางวัฒนธรรมขึ้นอีก เมื่อนักแสดงในซีรีส์อิงประวัติศาสตร์สัญชาติจีน เรื่อง “Royal Feast” ได้เซลฟี่แชร์ภาพใน “Weibo” โซเชียลมีเดียชื่อดังของจีน พร้อมสวมชุดที่ใช้ในการแสดงที่คล้ายกับ “ชุดฮันบก” (Hanbok) ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงราชวงศ์หมิง และนักแสดงส่วนใหญ่ปรากฏตัวในชุดจีนโบราณ แถมเมื่อถูกชาวเกาหลีใต้ทักท้วงว่า ชุดดังกล่าวเหมือนกับ “ชุดฮันบก” มากเกินไป

บริษัทผู้ผลิตซีรีส์ดังกล่าวกลับออกมาอ้างหน้าตาเฉยว่า ชุดดังกล่าวไม่ใช่ชุดฮันบก แต่คือ “ชุดฮันฟู” (Hanfu) ซึ่งเป็นชุดจีนโบราณของ “ชาวฮั่น” ในช่วงราชวงศ์หมิง พร้อมกับยังพยายามผูกโยงอีกด้วยว่า ชุดฮันบกได้รับอิทธิพลมาจากชุดฮันฟู เนื่องจากอาณาจักรโครยอ (Goryeo) 1 ใน 3 อาณาจักรโบราณที่ประกอบด้วย 1. โครยอ, 2. แพ็กแจ, 3. ชิลลา ก่อนรวมกันกลายเป็นประเทศเกาหลีในปัจจุบันนั้น เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หมิงมาก่อน ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศมาโดยตลอดก็ตาม จากนั้นก็อย่างทราบๆ กัน ชาวเน็ตของทั้งสองประเทศต่างเปิดศึกงัดหลักฐานมาฟาดฟันกันจนสะเทือนเลือนลั่นปฐพี ไม่แพ้กรณีกิมจิเลยแม้แต่น้อย

และยังไม่ทันที่ความคุกรุ่นจะจางหายไป แรงปะทุระหว่างสองประเทศค่อยๆเพิ่มระดับความร้อนแรงขึ้นอีก เมื่อชาวเกาหลีใต้เริ่มพบเห็น บรรดาสารพัดสินค้าแบรนด์จีนค่อยๆ แทรกตัวอยู่ในซีรีส์ชื่อดังต่างๆ ของเกาหลีใต้มากขึ้นและมากขึ้นทุกที

“ตกลงนี่มันคือประเทศจีนใช่ไหม?”

คำถามสุดเสียดสีจากชาวเน็ตเกาหลี หลังเห็นภาพ “ซง จุงกิ” (Song Joong-ki) นักแสดงชั้นนำของเกาหลีใต้ นั่งกินข้าวยำเกาหลี อย่าง “พีบิมบับ” (Bibimbap) แต่มันดันเป็นแบรนด์สัญชาติจีน ในซีรีส์ “วินเซนโซ ทนายมาเฟีย” (Vinsenzo) หรืออีกซีรีส์ Goddess Advent ที่มีภาพป้ายแบรนด์ JD.com อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน สอดแทรกอยู่ด้านหลังนักแสดงในซีนต่างๆ อย่างไร้เหตุผลหลายต่อหลายครั้ง นี่ยังไม่นับรวมโคมไฟสีแดงแนวไชนิสที่ไปปรากฏตามท้องถนนในซีรีส์เรื่องนี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ท้องถนนในเกาหลีใต้แทบไม่มีโคมไฟแบบนี้อยู่เลยก็ตาม

ภาพ: ข้าวยำเกาหลีในซีรีส์ Vinsenzo ภาพ: ข้าวยำเกาหลีในซีรีส์ Vinsenzo

อ่อ…เกือบลืมไป ในซีรีส์ Goddess Advent ยังถูกชาวเกาหลีใต้ค่อนขอดถึงเรื่องความพยายามจงใจสอดแทรกหม้อไฟสำเร็จรูปแบรนด์จีน เข้าไปร่วมซีนกับนักแสดงอีกหลายต่อหลายครั้ง (อีกแล้ว)

อย่างไรก็ดี หลังถูกชาวเกาหลีใต้กระหน่ำวิจารณ์อย่างหนัก “ความจริง” อันสุดขมขื่น ก็ร่วงหล่นออกมาจากปากของผู้ผลิตซีรีส์เรื่องนี้เข้าจนได้ว่า…

“ความจริง” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ วงการบันเทิงของเกาหลีใต้ในปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นและมากขึ้นทุกที อีกทั้งต้นทุนในการผลิตซีรีส์แต่ละเรื่องที่สูงขึ้นๆ มันจึงเป็นเรื่องยากมากเหลือเกิน ที่จะกล้าปฏิเสธข้อเรียกร้องของสปอนเซอร์รายใหญ่ทั้งหลายที่บางครั้งมันอาจจะเกินพอดีไปบ้างก็ตาม

ภาพ: ภาพป้ายแบรนด์ JD.com ในซีรีส์ Goddess Advent ภาพ: ภาพป้ายแบรนด์ JD.com ในซีรีส์ Goddess Advent

นอกจากนี้ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นกับซีรีส์ฮิตถล่มทลายอย่าง Dr.Romantic ซีซั่น 2 ของสถานีโทรทัศน์ SBS ที่สามารถโกยเรตติ้งพุ่งทะลุเกิน 20% กลับสร้างผลกำไรให้กับ SBS “ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย”

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายในตลาดต่างประเทศ คือ อีกหนึ่งทางเลือกที่ต้องมีการหยิบมาพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิต รวมถึงความพยายามเฟ้นหาบรรดาผู้สนับสนุน เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนในบั้นปลาย

“ความรู้สึกว่าถูกรุกรานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ผ่านวิธีการสนับสนุนด้านเงินทุนและการผลักดันสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในระยะหลังๆ มานี้ ค่อยๆ สะสมความไม่พอใจให้กับชาวเกาหลีใต้มาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำอีกกับซีรีส์อิงประวัติศาสตร์อย่าง “Joseon Exorcist” ซึ่งมีบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ชาวเกาหลีใต้จึงรู้สึกว่ามันเกินกว่าที่จะรับได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยแง่มุมนี้ ทางบริษัทผลิตเกาหลีใต้จึงต้องมีการระมัดระวังมากขึ้นในการติดต่อทำธุรกิจกับแบรนด์สัญชาติจีนในอนาคตต่อไป” ฮา แจกึน สรุปความเห็น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ:

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2062243
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2062243