ชมพู ฟรุตตี้ เผยชีวิตวงการเกือบ 40 ปี กับฝันที่อยากทำเพื่ออนาคตเพลงไทย


ให้คะแนน


แชร์

แล้วพอดีพี่ๆ ที่ห้องตรงข้ามที่แฟลตดินแดงเล่นดนตรีแล้วตั้งวง เขาก็เอากีตาร์มานั่งซ้อม มีเบส มีกลอง แล้วเขาก็เล่นเพลงยุคบุปผาชน ยุคฮิปปี้เลย แล้วชอบไลน์เบส มีวันนึงลุกไปดูเขาเพราะเขาซ้อมอยู่หน้าห้องก็เลยไปลองดีดเล่น พี่เปี๊ยก (มือกีตาร์) ก็ถามว่าอยากเล่นเหรอพู ก็บอกว่า ครับ เขาก็เลยบอกว่าจะสอนให้ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นเด็กวง เขาก็ใช้ไปซื้อของ แล้วเขาก็สอนให้

พอเล่นได้ก็มีญาติๆ ลูกพี่ลูกน้องเขาก็เอากีตาร์มาขาย แม่ก็เลยซื้อไว้ราคา 50 บาท ซึ่งไม่แพง แต่ก็ไม่ถูก ที่ซื้อเพราะว่าเห็นว่าเริ่มหัดเล่นกีตาร์แล้ว อีกอย่างแม่ไม่ค่อยอยากให้ออกไปไหน เพราะกลัวว่าเวลาเจอเพื่อนที่แฟลตจะมีเพื่อนที่ดีและมีบางคนที่ติดยา กลัวว่าถ้าไปเจอเพื่อนติดยาก็จะติดยาตาม แต่ถ้าเป็นเพื่อนที่รู้จักก็ไม่เป็นไร ปรากฏว่าได้ผล เพราะเล่นกีตาร์ทั้งวันทั้งคืน เปิดวิทยุฟัง แล้วเปิดหนังสือกีตาร์เล่นเลย

พออายุสัก 10 ขวบ แม่ก็เลยพาไปเรียนที่สยามกลการ และต่อด้วยเวชสวรรค์การดนตรี ตอนนั้นเล่นเป็นเพลงแล้ว เล่นกีตาร์ เล่นเบส เล่นปาป้าแล้ว แล้วได้โอกาสตอนที่วงชาตรีประกวดโฟล์กซองชิงถ้วยพระราชทานก่อนจะออกอัลบั้ม ในงานประกวดนั้นก็ได้รับโอกาสไปเล่นกีตาร์โชว์ ร้องเพลงสากล ตอนนั้น 10-11 ขวบ เลยรู้จักวงชาตรี เขาก็ชวนไปเล่นดนตรี แม่ก็บอกว่าน้องยังเด็ก เป็นห่วง เลยไม่ได้ไปต่อ พอโตมาเจอกันอีกครั้งก็เล่าให้ฟัง เขาก็บอกว่าจำได้

จากนักดนตรีโฟล์กซอง สู่นักร้องนำวงฟรุตตี้

แม้จะไม่ได้ไปต่อกับวงชาตรี แต่ชมพูเล่าว่าก็ยังคงเล่นดนตรีต่อ พออายุ 14 ปี ก็ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนที่โรงเรียนตอนเรียน มศ.3 ซึ่งตอนนั้นเพื่อนๆ ยังเล่นไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ชมพูก็รับหน้าที่สอนเพื่อนด้วย “พี่ก็สอนเขาเล่นเบส ส่วนอีกคนก็หัดคีย์บอร์ด อีกคนก็ตีกลอง เดิมทีตั้งชื่อวง VSOP มีแรงบันดาลใจมาจากวง VIP ที่มีพี่แหลม มอริสัน พี่แป๋ง แล้วชื่อวงมีที่มาคือ V วัฒนจัง S คือสมชาย O คืออุ๋ย P ก็คือประสิทธิ์ ชื่อเพื่อนพี่หมดเลย ปัจจุบันประสิทธิ์ที่เป็นมือกลองเสียชีวิตไปแล้ว พอวง Queen ดังมาก คือเป็นราชาในนามของราชินี เราก็เปลี่ยนชื่อวงเป็น Princess เจ้าชายในนามของเจ้าหญิง (หัวเราะ) แล้วเริ่มรับเล่นตามงานบวช งานแต่ง แกะเพลงซ้อมกันเสียตังค์ แต่เวลาไปเล่นก็เล่นฟรีเพราะอยากเล่น แต่พอจบ มศ.3 ก็แยกย้าย วงนี้ก็เลยหยุดไป”

จากนั้นชมพูเล่าว่า ก่อนหน้านั้นเมื่ออายุ 11-12 ปีจะไปเล่นที่ร้าน Bus Stop ไปเล่นเพลงสากลไม่กี่วัน พอเปิดเทอมก็ไม่ได้ไปเล่น หลังจาก จบ มศ.3 ชมพูก็หันไปเล่นโฟล์กซองอยู่ที่ร้านเฟลเวอร์ ตรงข้ามสวนเบญจสิริ เป็นร้านแรกที่ไปเล่นแบบประจำ “ตอนนั้น จบ มศ.3 แล้วเรียนต่อช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ เรียนอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ก็เลยไปสมัครเล่นที่นั่น ได้เงิน ชม. ละ 80 บาท เดือนนึงได้ 2,400 บาท เยอะมาก ถ้าจบปริญญาตอนนั้นได้เงินเดือน 1,800 บาท แล้วเราเล่นชั่วโมงเดียว ก็รู้สึกว่ามันเป็นอาชีพได้นะ เราเล่นทุกวันก็ไม่เบื่อ ได้ตังค์อีก ก็เลยตั้งเป้าว่าเราจะเล่นดนตรี จากนั้นก็เล่นดนตรีเพิ่มขึ้นหลายที่”

ก่อนจะเล่าถึงที่มาของการได้เป็นนักร้องนำวงฟรุตตี้ว่า “มีร้านนึงที่ไปเล่นอยู่ตรงหน้าบ้านปิง (กัณพล ปรีดามาโนช หรือ ปิง ฟรุตตี้) ที่พระโขนง เราก็เห็นเขาผ่านร้านเราทุกวัน เห็นเขาถือเบส เราก็จำได้ว่าอยู่วงฟรุตตี้เพราะเห็นเขาออกทีวี ตอนหลังนักร้องเขาออก เขาก็เลยมาชวนเราเข้าวง ก็เลยไม่ได้เล่นกีตาร์หลังจากนั้น เก็บกด (หัวเราะ) พอเป็นนักร้องก็ได้เล่นกีตาร์น้อยมาก ไม่ได้พัฒนาต่อเลย

ชีวิตเปลี่ยนมหาศาลเลย ตอนนั้นวงฟรุตตี้ดังในกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้ว เล่นเพลงสากลและร็อกในไนต์คลับ ช่วงแรกปรับตัวยากเพราะเล่นร็อกแต่เสียงเราไม่ร็อก แต่มันได้ประโยชน์ตรงที่พอเราพยายามปรับตัว ก็เลยได้พาวเวอร์มาเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ร็อกอยู่ดี เป็นป๊อปกับป๊อปร็อก ฟรุตตี้ก็ปรับเพลงเหมือนกันให้เข้ากับเรา ตอนที่เล่นโฟล์กซองก็อีกโลกนึง พอเข้ามาในวงต้องฝึกซ้อมหนักมาก มันก็เป็นการยกระดับตัวเราเอง ได้พัฒนาตัวเอง พอเล่นอยู่ไนต์คลับ 1-2 เดือน ก็มี อ.บุญส่ง มาชวนทำอัลบั้ม และให้อาร์เอสจัดจำหน่าย เราก็ไปอยู่อาร์เอส หลังจากนั้นก็เป็นศิลปินเต็มตัวครับ”

ในช่วงที่วงฟรุตตี้อยู่ในสังกัดอาร์เอส ชมพูบอกว่าบทบาทนักร้องก็เป็นอีกบทบาทที่สนุก แต่ในช่วงแรกปรับตัวกับชื่อเสียงที่เข้ามาไม่ได้ บางครั้งมีหงุดหงิด “ตอนเราเล่นโฟล์กซอง ไม่เคยเจอใครมากระชากเรา แต่พอเป็นนักร้องก็มีคนกระชาก เราก็โมโหเพราะเราเสียหลัก แต่ก็มองเจตนาว่าเขาชอบเรา พอคิดได้แล้ว หลังจากนั้นใครมาอะไร เราก็ควบคุมอารมณ์ให้ได้ เพราะการที่เขาชอบเราถือว่าเป็นการให้เกียรติ เราก็ต้องให้เกียรติเขากลับ”

ชีวิตผู้บริหาร-กรรมการรายการเพลง

เมื่อถามต่อว่าอะไรที่ทำให้ตัดสินใจไปทำงานเบื้องหลัง ชมพูเล่าให้ฟังว่า “เฮีย (เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) ขอครับ จริงๆ พอเข้าวงมาชีวิตพี่ดีขึ้นตลอดจนถึงปัจจุบัน พอออกอัลบั้มที่ 2 ก็เลิกเล่นดนตรีกลางคืนแล้ว ออกทัวร์คอนเสิร์ตอย่างเดียว จากนั้นมีหนังมีละครเข้ามา ก็ทำงานวนไปอยู่อย่างนี้ มีหลายบทบาท พอตอนหลังก็มาแต่งเพลงให้ศิลปิน แต่เบื้องหน้าก็ยังเล่นละคร แต่ก็แต่งเพลงไม่เยอะ เป็นดาราเล่นละครมากกว่า จำได้ว่าตอนนั้นละคร “พ่อปลาไหล” ดังมาก แล้วงานแต่งเพลงเป็นงานรองไปแล้ว

ตอนนั้นพี่มีละครติดต่อมาพร้อมกัน 7 เรื่อง แล้วช่วงนั้นปี 2540 พี่ทำเบื้องหลังอัลบั้ม The Next, โมเม (นภัสสร บุรณศิริ), นุ๊ก สุทธิดา อัลบั้มชุดที่ 2, อัลบั้มหนัง “ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน” พี่กำลังจะตัดสินใจเล่นละครแล้ว แต่ช่วงนั้นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เฮียบอกว่าผู้บริหาร Executive ก็คือพี่เต้งลาออก เฮียเลยแก้ไขด้วยการหาคนทำงานแทน 3 ทีม พี่ก็เลยดูแล 4 อัลบั้มที่บอก ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ แต่พอพี่จะไปสายละคร เฮียก็บอกว่ามาดูงานเพลงให้เฮียเถอะ พี่เลยตัดสินใจหยุดรับงานแสดงแล้วมาทำตรงนี้

จากนั้นก็ทำค่ายเพลงเมโลดิก้า ทำวงไอน้ำ, เกิร์ลลี่เบอร์รี่, ดัง พันกร, ฟิล์ม รัฐภูมิ เป็นผู้บริหารของเมโลดิก้า ต่อมาก็มาทำกามิกาเซ่ขึ้นมา พอทำได้ 2 ปี เฮียก็บอกว่าให้พี่ช่วยดูแลธุรกิจเพลงทั้งหมด ทำได้อยู่ 2 ปี พี่ก็รู้สึกว่าเหนื่อยมาก และช่วงนั้นผลประโยชน์วงการเพลงน้อยลงแล้ว พี่ก็ลาออกมาในปี 2552 คือพี่รู้สึกว่างานเหนื่อยมาก แต่รายได้ไม่สมเหตุสมผลแล้ว ไม่เฟื่องฟูเหมือนยุคก่อน และพี่ใช้เวลากับงานมากจนไม่ได้เจอลูกเลย”

เมื่อลาออกจากอาร์เอส ชมพู เล่าถึงชีวิตเมื่อมาทำงานค่ายโซนี่ มิวสิก รวมถึงการเป็นกรรมการรายการเพลงชื่อดัง “กิ๊กดู๋ สงครามเพลง” ว่า “คือเหมือนเราอยากเรียนรู้ด้วย พื้นที่ที่เราอยู่เป็นตลาดแบบไหน ถ้าลายมือแบบเราไปอยู่โซนี่ เราจะทำงานด้วยได้ไหม เขาก็มาคุย เราก็รู้สึกว่าท้าทายดี ก็เลยไปทำที่โซนี่ ก็ทำวงชูการ์ อายส์, ซิงกูลาร์ ทำได้ 2 ปี ก็มีรายการ “กิ๊กดู๋สงครามเพลง” เข้ามา พอไปทำแล้วสนุกสนาน รายการเรตติ้งดี เป็นทีมเวิร์กที่ลงตัวมาก ประสบความสำเร็จมาก เราเลยได้อานิสงส์ไปด้วย ถือว่าเราโชคดีมาก พอทำกิ๊กดู๋สักพักก็ออกจากโซนี่ และมาอยู่เจเอสแอล จากนั้นก็กลับมาเป็นนักร้องอีก (หัวเราะ) เล่นละครปีละ 1-2 เรื่อง”

เราถามต่อถึงการมาเป็นกรรมการในรายการเพลง “ร้องข้ามรุ่น” ทางช่องไทยรัฐทีวี ชมพูบอกว่า “พี่ชอบรายการนี้มากเลยนะ ยังบอกโปรดิวเซอร์เลยว่าเขาคิดได้ดีจังเลย คือบางทีรายการประกวดร้องเพลงมันมีเยอะไง คุณจะหาทางที่ฉีกออกไปมันยากนะ พอเขาเล่าให้ฟังแล้วเฮ้ย เจ๋งว่ะ คือมันไม่ได้แปลว่าเราต้องมาแข่งด้วยกติกาเดียวกัน กติกาคือคนอายุมากมาร้องเพลงวัยรุ่นมันยากนะ แต่ถ้าร้อง คุณได้แต้มต่อ หรือเด็กถ้าร้องเพลงวัยรุ่นมันก็ไม่แปลกอะไร ถ้าคุณไปร้องเพลง 40-50 ปี มันยากนะ ถ้าจะเอาแต้มต่อแต่ร้องไม่ดี แต้มต่อก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้ เลยรู้สึกว่ามันเจ๋งดี พี่ชอบ

พอถ่ายแล้วสนุกจริงๆ เพราะมันคาดเดาไม่ได้ คนดูอาจจะหงุดหงิด คนนี้ร้องดีกว่า เข้าใจครับ แต่กติกามันบอกแบบนี้ ร้องดีกว่าแต่ร้องเพลงที่อายุเพลงไม่ไกลจากตัวเอง ก็เลยไม่ได้แต้มต่อ แต่น้องร้องเพลงที่แม่เขายังไม่เกิดเลย ลองนึกดูสิถ้าเด็ก 10 ขวบร้องเพลง “เรือนแพ” มันจะได้แต้มต่อเท่าไร (หัวเราะ) ก็อยากให้คนดูกัน คือรายการนี้ไม่ได้มาดูคนเก่งฟาดฟันกัน แต่มาดูสิ่งที่เหนือความคาดหมาย”

อนาคตวงการเพลงไทย

เมื่อถามว่าคนที่มาแข่งขันในรายการเพลงจะสามารถไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน ชมพูบอกว่ามีหลายคนที่ดูแล้วรู้สึกว่าอยากทำเพลงให้ด้วยซ้ำ แต่เด็กวันนี้โชคไม่ดีเพราะพอโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ธุรกิจจึงเปลี่ยน เมื่อก่อนธุรกิจเพลงมีเม็ดเงินมหาศาล อยู่ที่การขายเทปและซีดี ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นกลายเป็นการลงทุนของค่ายเพลง เพราะปลายทางเย้ายวน

แต่พอวันหนึ่งธุรกิจเปลี่ยน ปลายทางไม่มี มันไม่คุ้มกับการลงทุน เขาก็เลยเลิกทำ พอเลิกทำระบบที่ถูกสร้างไว้เมื่อก่อนที่ประกอบไปด้วย Recruit & Develop ที่ค่ายเพลงเป็นผู้ลงทุนก็หายไป ซึ่งระบบการฝึกฝนศิลปินแบบเกาหลี ค่ายเพลงเมืองไทยอย่างอาร์เอส แกรมมี่ ทำมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้เด็กที่ได้รับการปลูกฝัง หรือปลุกปั้นจากการลงทุนของค่ายเพลงแบบเมื่อก่อนก็ไม่มี การ Grooming ไม่มี การพัฒนาศิลปินก็ไม่มี มีแต่ทำรายการร้องเพลงแล้วยังไงต่อ ทำแล้วก็ต้องรอเขามาชวนไปทำ

อย่างในรายการกิ๊กดู๋สงครามเพลง เช่น แซ็ค ชุมแพ ก็ไม่ได้เป็นนักร้องมาก่อน หรือลำไย ไหทองคำ เป็นศิลปินอินดี้เพลงร้อยล้านวิว แต่มาออกรายการก็แจ้งเกิด เป็กกี้ ศรีธัญญา ก็แจ้งเกิดจากรายการนี้ ซึ่งรายการเหมือนเป็นสปริงบอร์ดให้ นั่นก็คือโอกาส แต่ลองมองว่าในยุคที่มีค่ายเพลง ธุรกิจตลกคาเฟ่เฟื่องฟู เราจะเห็นโชว์ที่เก่งๆ และสนุกเกิดขึ้นมากมาย เพราะมันเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจแบบนั้น

สมัยอาร์เอส-แกรมมี่ ศิลปินที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ในวงการต่อปีมีเยอะกว่าทุกวันนี้ และวันนี้ยังเป็นดาวค้างฟ้า แต่เด็กที่อยู่ในโซเชียลแล้วดัง เขาดังแล้วมีเงิน หางานได้ แต่ไม่มีการ Grooming หรือ Artist Management บางทีดังเพลงเดียวปี 2 ปีแล้วหายไป ซึ่งมีเยอะ ก็น่าเสียดายเพราะเด็กมีศักยภาพ การที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ เป็นเพราะได้รับโอกาสและต่อเนื่อง เราได้ฝึกฝนและมีคนลงทุนกับเรา เราถึงอยู่นาน หลังๆ เราเลยเอาตัวรอดได้เอง นี่แหละคือระบบนิเวศที่มันล่มสลาย

ก่อนจะพูดถึงการสนับสนุนด้านบันเทิงของรัฐบาลว่า “พี่พูดไปหลายทีแล้วว่ารัฐบาลควรดูแล ซึ่งทุกรัฐบาลก็ไม่เคยมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้แม้แต่รัฐบาลเดียว แต่ในรัฐบาลเกาหลีเขาก็ทำแบบเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ทำแบบเดียวกับรัฐบาลยุโรป อเมริกา อย่างวันที่เกาหลีมา ตอนนั้นพี่ทำค่ายกามิกาเซ่ พี่รู้ว่ามันน็อกรอบเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่น คือญี่ปุ่นมา 40-50 ปีที่แล้วด้วยซีรีส์ การ์ตูนแอนิเมชั่น หลังจากนั้นเพลงก็มา เพียงแต่ว่ามันนานกว่าจะแจ้งเกิดเพราะโลกไม่ได้เร็วขนาดนี้ แต่พอเกาหลีมีแดจังกึม ปีต่อมาเรนมาเลย พี่นั่งมองพวกนี้ตลอด พอเห็นเกาหลีมา พี่ก็โอเค น็อกรอบญี่ปุ่นแล้ว พี่ก็ไปพูดกับเฮียว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดคือสิ่งนี้ ทำเลย ยังไงตลาดนี้มาแน่นอน เราก็เลยทำกามิกาเซ่ และครีเอทมีเดียเพราะเด็กเล่นเน็ต ไม่ดูทีวีแล้วในช่วงนั้น”

ชมพูบอกว่าเวลาเห็นคนมาร้องเพลงในรายการแล้วเสียดาย มีคน Recruit แล้ว แต่ไม่มี Develop ไม่มี Artist Management เพราะระบบตรงนี้ในวงการเพลงมันหายไป ถ้ามีใครเข้ามาทำบอกเลยว่าจะรวยมากๆ เหมือนเกาหลี เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าจะมีคนมาทำ ชมพูตอบว่า “ไม่รู้ แต่พี่จะทำ ถ้าใครอยากทำเดี๋ยวพี่ทำให้ ไม่ดังพี่ไม่เอาตังค์ เรื่องตังค์เป็นเรื่องหลังแล้ว ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าไม่มีการลงทุนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รับประกัน เพราะเป็นแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว 

เด็กๆ เขามีความสามารถ แต่การจะอยู่ในระยะยาว เขาต้องมีคนสนับสนุนช่วยเหลือ ให้โอกาสเรียนรู้เพิ่ม อย่างคนเกาหลีเขารู้ว่ารัฐบาลลงทุน ทุกคนเดินไปหาค่ายเพลง พอค่ายคัดเลือก ค่ายมีเงินสนับสนุนจากรัฐในช่วงแรก แต่ตอนนี้เขามีเงินเต็มไปหมด รัฐบาลไม่ต้องสนับสนุนแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ลง เอกชนไทยก็ทำสิ แต่ต้องมีเงินระดับร้อยล้าน แต่วันนึงคุณจะได้พันล้าน เขาไม่ได้ขายเทปซีดี แล้วเกาหลีได้เงินจากไหนล่ะ คำตอบก็มีอยู่แล้ว”

คอนเสิร์ตเติมเต็มสุข

สิ่งที่เป็นความสุขของชมพู ฟรุตตี้ คือการกลับมาเล่นกีตาร์อีกครั้ง และรวมตัวทำวงอีกครั้งในนาม The Billboard ซึ่งคอนเสิร์ต The Billboard Soundtrack Soundtheque ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลา 14.00 น. ณ เอ็ม เธียเตอร์ คือสิ่งที่เขาตั้งใจจะเติมเต็มความสุขทั้งคนร้องเพลงเล่นดนตรีและแฟนเพลง

ชมพูเล่าถึงที่มาคอนเสิร์ตนี้ให้ฟังว่า “พี่กับพี่ป้อม (ป้อม ออโตบาห์น) ร้องเพลงเล่นดนตรีมาด้วยกันช่วงหลังๆ หลายปีแล้ว ก็เลยชวนเล่นเพลงยุค 80 และไปชวนคุณแป๊ะ (แป๊ะ สเตทเอ็กซ์เพรส) มาเล่นเบส พี่ป้อมเล่นเปียโน พี่พูก็เล่นกีตาร์และร้องด้วย ตอนเป็นฟรุตตี้โอกาสเล่นกีตาร์น้อย เก็บกด (หัวเราะ) จากนั้นก็ไปชวนคนอื่นๆ อีก 5 คน (แอ๊นท์ เดอะกลาส, อัฐ ก็อตทาเลนต์, บอย บิ๊กบอย, หนุ่ม มิวสิคกูรู, นิต้า ชูก้าอายส์) รวมกันเป็นวง The Billboard จริงๆ คอนเสิร์ตนี้เป็นเครื่องมือในการโปรโมตวงเรา เป็นคอนเสิร์ตเล็กๆ พี่เริ่มรับงานแรกตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ก็มีงานเคาต์ดาวน์ งานช่วงต้นปีด้วย แต่งานก็หายหมด

พี่ก็คิดว่าถ้าเราแค่ทำวงและรับงาน มันเหมือนเล่นเกมรับ เหมือนต้องรอใครติดต่อมา มันจะช้าและไม่เกิดด้วยซ้ำ ก็คิดว่าจะทำยังไงให้เราเหมือนโปรโมตตัวเองให้คนรู้จักเร็วขึ้นมากขึ้น มันไม่จำเป็นต้องรอให้ดังก่อนแล้วคนจ้าง พี่ก็มาคุยกับพี่ตุ๊ก เจ้าของเอ็ม เธียเตอร์ ว่าไม่ได้จัดคอนเสิร์ตเพื่อหาเงิน แต่จัดเพื่อเป็นพีอาร์ของวง ทำให้ที่นี่มีบรรยากาศสนุกๆ อยากลองสนุกด้วยกันไหม พี่ตุ๊กก็บอกว่าเอาเป็นว่ายังไม่ต้องคุยเรื่องเงิน จัดแล้วมีกำไรเมื่อไรค่อยมาจ่ายพี่ เราก็สอบถามทางเขตแล้ว เขาบอกว่าถ้าจัดไม่เกิน 300 คนสามารถจัดได้เลย แต่ต้องเว้นระยะห่าง”

ส่วนเพลงที่จะโชว์ในคอนเสิร์ตเป็นเพลงที่จะเล่นเป็นเพลงที่ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดในยุค 80-90 เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง อาทิ Talking in Your Sleep, Somebody’s Watching Me, Y.M.C.A, She, Howzat, Flash Dance ฯลฯ ชมพูบอกว่า “คอนเสิร์ตนี้จะจำลองฟีลตอนเที่ยวดิสโก้เธค ไนต์คลับ นั่งสองคนและสวีตกัน (หัวเราะ) รำลึกได้ว่าจีบกันตั้งแต่เมื่อไร พี่ว่าเป็นความสุขที่ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีใครปลุกมันขึ้นมา แต่จริงๆ ประสบการณ์แห่งความสุขและความทรงจำมันอยู่กับเราตลอด”

ก่อนที่จะจบการสนทนา ชมพูฝากถึงแฟนๆ ไว้ว่า “เจตนาที่เรารวมตัวกันครั้งนี้คือเราอยากมีความสุข ตอนที่เรามาซ้อมก็มีความสุขแล้ว แล้วเราก็เชื่อว่าคนที่เกิดมาในรุ่นเดียวกัน เวลาฟังเพลงเหล่านี้มันมีความสุขทุกครั้ง ถ้ามีอีเวนต์สนุกๆ ให้เรามีฟีลเก่าๆ บ่อยๆ ก็น่าจะเป็นความสุข ก็จะจัดคอนเสิร์ต 5 ครั้ง เริ่มจากครั้งแรก 1 พ.ค. เป็นคอนเสิร์ตซาวนด์แทร็กเพราะๆ มาเล่นให้ฟัง ส่วนซีรีส์ต่อไปก็จะเป็นคอนเซปต์อื่นๆ ที่ต่างไป ก็ฝากคอนเสิร์ตนี้ด้วยครับ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คอนเสิร์ตครั้งที่ 2 3 4 5 ก็มีแน่นอนครับ”.

ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ
กราฟิก : Sathit Chuephanngam

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2063529
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2063529