"ก็อดซิลลา" vs. "คอง" เทียบหลักฟิสิกส์จริงจัง และการอยู่รอดในกฎธรรมชาติ


ให้คะแนน


แชร์

Godzilla มีความสูง 120 เมตร ยาว ? น้ำหนัก ? ในภาพยนตร์ Godzilla vs. Kong ปี 2021

“คุณ” ได้เห็นพัฒนาการทางกายภาพอันสุดเหลือเชื่อนี้แล้วใช่ไหม?

หากแต่…เมื่อ “คุณ” ได้ละเลียดสายตาพิจารณาอินโฟกราฟิกเมื่อสักครู่นี้แล้ว มีเพียงสักเสี้ยววินาทีในใจบ้างสักนิดไหมว่า มันมีทางเป็นไปได้ตามหลักการทางฟิสิกส์ในโลกแห่งความเป็นจริงบ้างหรือไม่?

ก่อนหน้าที่จะเราจะได้ชม Godzilla vs. Kong ฉบับรีบูตปี 2021 นี้ การเผชิญหน้าครั้งล่าสุดระหว่าง God และ Kong เกิดขึ้นเมื่อโน่นเลย ปี 1962 ในภาพยนตร์ King Kong vs. Godzilla ของ โตโฮ สตูดิโอ (Toho Studio) ของประเทศญี่ปุ่น ครั้งนั้น Kong สูงประมาณ 45 เมตร ซึ่งถือว่ามีส่วนสูงไล่เลี่ยกับ God ณ ช่วงเวลานั้น ที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้อยู่ที่ประมาณ 50 เมตร

ขณะที่ การรีบูตใน “MonsterVerse” นั้น แรกเริ่มเดิมที “Kong” ถูกทำให้มีส่วนสูงเพียงประมาณ 31 เมตร และมีน้ำหนักเพียง 158 ตัน ใน Kong Skull Island เมื่อปี 2017 ซึ่งมันแทบจะเทียบกับความมหึมาของราชาแห่งมอนสเตอร์ทั้งมวล อย่าง “God” ที่ถูกกำหนดให้มีส่วนสูงถึงเกือบ 120 เมตร และมีน้ำหนักมากมายถึง 90,000 ตัน ในจักรวาลเดียวกันแทบไม่ได้เลยทีเดียว

แต่เมื่อตัดภาพมาในปี 2021 “เรา” คิดว่า “คุณ” ก็คงเห็นเหมือนที่เราเห็นใช่หรือไม่?

ในซีนบวกตัวต่อตัวระหว่าง God และ Kong บนเรือบรรทุกเครื่องบินในภาพยนตร์ Godzilla vs. Kong ปี 2021 ทั้ง 2 สัตว์ประหลาดยักษ์ยืนตระหง่านในระดับความสูงที่แทบไม่แตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย!

ซึ่งตามข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการของสตูดิ โอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Bros.) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้ ระบุไว้เบื้องต้นว่า Kong มีส่วนสูง 102 เมตร ในขณะที่ God มีความสูง 120 เมตร โดยพัฒนาการทางกายภาพของ Kong จาก ส่วนสูง 31 เมตร เปลี่ยนมาเป็น 102 เมตร เพื่อให้มีขนาดสูสีมากพอที่จะกระโดดต่อย God ได้นั้น ใช้ระยะเวลาตามไทม์ไลน์ในภาพยนตร์ที่ 40 ปีโดยประมาณ ทั้งๆ ที่ใน Kong Skull Island นั้น ดูเหมือนจะมีการระบุเรื่อง “ขีดจำกัดทางสายพันธ์ุ” ของ Kong เอาไว้ว่าจะมีขนาดใหญ่สูงสุดที่ประมาณ 30 เมตรก็ตาม!

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้มั้ง…ที่ต่อมาทางสตูดิโอพยายามออกมาอธิบายว่า ที่เห็นใน Kong Skull Island นั้น Kong ยังเด็กอยู่ ผ่านมาถึง 40 ปี จะไม่ให้มันมีขนาดใหญ่ขึ้นบ้างเลยหรืออย่างไร?

ก็แหงล่ะ! ขืนไม่ยอมให้เจ้าลิงยักษ์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีหวังได้ถูก “ราชาแห่งมอนสเตอร์” ใช้เท้าข้างเดียวเหยียบจนจมธรณี ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ต่อสู้กันเลยก็เป็นได้!

พัฒนาการทางกายภาพจาก 31 เมตร เป็น 102 เมตร ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และเข้ากับหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?

เจมส์ โรซินเดล (James Rosindell) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ทฤษฎีกฎของโค้ป (Cope’s Rule) ของ เอ็ดเวิร์ด ดริงเกอร์ โค้ป (Edward Drinker Cope) นักบรรพชีวินวิทยาชื่อดัง ผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์และประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต น่าจะพอสามารถอธิบายในประเด็นนี้ได้

โดย Cope’s Rule อธิบายว่า วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจะช่วยเพิ่มลักษณะทางกายภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี “ลักษณะทางกายภาพที่ใหญ่โตมากขึ้น” ย่อมทำให้เกิดการบริโภคอาหารจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น อัตราการขยายเผ่าพันธุ์ก็จะเริ่มช้าลง นั่นเป็นเพราะระบบนิเวศที่อยู่รายรอบ ไม่สามารถรองรับการบริโภคในปริมาณมหาศาลขนาดนั้นได้

ซึ่งมันจะเข้ากับสิ่งที่พยายามบอกเล่าในภาพยนตร์ที่ว่า ทั้ง Kong และ God คือ สัตว์ตัวสุดท้ายในสปีชีส์ของตัวเอง และการค่อยๆ ขยายลักษณะทางกายภาพของ Kong ภายในระยะ 40 ปี ตามไทม์ไลน์ในภาพยนตร์ จึงถือเป็นเรื่องที่ “เข้ากันได้กับแง่มุมทางวิทยาศาสตร์”

อย่างไรก็ดีนั่นเป็นเพียง “ความเข้ากันได้ทางวิทยาศาสตร์” เพียงประเด็นเดียวในภาพยนตร์ Godzilla vs. Kong ปี 2021 เพราะสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้เลยของทั้ง God และ Kong คือ หลักฟิสิกส์ โดยเฉพาะกฎแรงดึงดูดโน้มถ่วงและชีวกลศาสตร์

โดย เดวิด ลาบอน (David Labonte) นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมชีวเวศ (Bioengineering) อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า สัตว์ในปัจจุบันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ “วาฬสีน้ำเงิน” ที่พบเห็นได้ในมหาสมุทรต่างๆ มันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะมีลักษณะทางกายภาพที่สัมพันธ์กับการหาอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้ ทำให้วาฬสีน้ำเงินบางตัวมีขนาดใหญ่ได้ถึง 180 ตัน ซึ่งมากกว่าน้ำหนักตัวของ Kong ใน Kong Skull Island ที่มีน้ำหนัก 158 ตันเสียอีก

หากแต่ความแตกต่างระหว่างวาฬสีนำ้เงิน และ Kong คือ วาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ในน้ำ ในขณะที่ Kong อาศัยอยู่บนบก ซึ่งประเด็นนี้นี่เองที่ทำให้ Kong ขัดต่อหลักฟิสิกส์ รวมถึงกฎแรงดึงดูดโน้มถ่วงและชีวกลศาสตร์!

สภาวะแวดล้อมใต้น้ำมีข้อดี คือ แรงยกจากน้ำที่อยู่ใต้ตัววาฬจนกระทั่งถึงก้นทะเลจะสมดุลกับแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่ดึงดูดวาฬให้จมลงเข้าหาใจกลางโลก หรือสมดุลระหว่างน้ำหนักและแรงยก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สัตว์ขนาดใหญ่อย่าง “วาฬสีน้ำเงิน” สามารถดำรงชีวิตและขยายขนาดทางกายภาพให้ขยายใหญ่โตได้ขนาดนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อใดก็ตามที่ “วาฬสีน้ำเงิน” ขึ้นไปเกยตื้นตามชายหาด สาเหตุการตายของมันที่พบบ่อยที่สุด คือ ความเสียหายของกลไกชีวภาพภายในอันเกิดมาจากน้ำหนักตัวของมัน เมื่อต้องพบเข้ากับ “แรงดึงดูดโน้มถ่วง” บนบก

ดังนั้น แรงดึงดูดโน้มถ่วงจึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบกยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ และมันยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ยังคงเป็นเพียง “ช้างแอฟริกัน” ที่มีขนาดน้ำหนักตัวเพียง 6 ตันเท่านั้น

หลักคิดเรื่องขีดจำกัดของกฎแรงดึงดูดโน้มถ่วงแบบง่ายๆ ที่สุด คือ การที่คุณสามารถยืนอยู่บนกระดูกของตัวเองได้โดยที่กระดูกไม่หัก แต่ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ คือ ศักยภาพของกระดูก หรือโครงสร้างในการรับน้ำหนักต่างๆ เพื่อต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงที่มากขึ้นเรื่อยๆ มักจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่า ขนาดของแรงดึงดูดที่จะต้องรองรับ

เดวิด ลาบอน อธิบายเรื่องนี้โดยอาศัยทฤษฎีการขยาย (Scaling problem) ในทางชีววิทยา เปรียบเทียบได้ว่า ความแข็งแรงของวัสดุขึ้นอยู่กับขนาดพื้นผิวบนภาคตัดกรวย (cross-sectional area) ขณะที่มวลของวัตถุจะขึ้นอยู่กับปริมาตร ฉะนั้น ถ้าขยายวัตถุอะไรบางอย่าง (เช่น สิ่งของหรือสิ่งมีชีวิต) ให้ใหญ่ขึ้น 100 เท่า พื้นที่ของวัตถุจะใหญ่ขึ้น 100*100 เท่า และปริมาตรในตัวก็จะใหญ่ขึ้น 100*100*100 เท่า

ยกตัวอย่างเช่น หากมนุษย์ปกติมีส่วนสูง 6 ฟุต แล้วจู่ๆ เกิดขยายสูงขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า คือ 6*10 = 60 ฟุต แต่มันไม่ได้หมายความว่า สูงขึ้นแค่ 10 เท่าเพียงอย่างเดียว แต่ร่างกายของเขาจะหนาขึ้น 10 เท่า และกว้างขึ้น 10 เท่าด้วย กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อขนาดตัวใหญ่ 100 เท่า (กว้าง*ยาว) น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 1,000 เท่าด้วย ฉะนั้น หากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ มนุษย์ยักษ์จะไม่สามารถยืนหรือเดินได้อย่างแน่นอน เพราะหากทำเช่นนั้น กระดูกขาจะหักทันทีที่ก้าวเท้าออกมา ฉะนั้น ทั้ง Kong และ God ไม่มีทางใช้เท้าเหยียบตึกราบจนเป็นหน้ากลองได้เหมือนในภาพยนตร์อย่างแน่นอน!

แล้วมีโอกาสมากน้อยแค่เพียงใด ที่โลกของเราจะมีโอกาสได้พบเห็น God หรือ Kong ออกมาสักตัว?

เดวิด ลาบอน ให้ทัศนะว่า โดยปกติแล้ว สัตว์เลือดอุ่นหรือสัตว์ที่มีอุณหภูมิคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แม้อุณหภูมิภายนอกจะร้อนหรือหนาว อย่าง Kong มักจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศได้ดีกว่าสัตว์เลือดเย็นหรือสัตว์ที่มีอุณหภูมิแปรผันไปตามสภาวะแวดล้อมภายนอก อย่าง God

อย่างไรก็ดี สัมราฏ ปาวาร์ (Samraat Pawar) ผู้เชี่ยวชาญจาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เช่นกัน ได้กล่าวเสริมว่า ความเป็นไปได้ที่สัตว์เลือดเย็นจะสามารถวิวัฒนาการตัวเองให้มีขนาดใหญ่โตถึงขนาด God ได้นั้น มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำมาก เนื่องจากไดโนเสาร์ได้พิสูจน์ความจริงในประเด็นนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

“ในความเป็นจริง คงเป็นไปไม่ได้ที่ Godzilla ซึ่งน่าจะเป็นสัตว์เลือดเย็น จะมีขนาดใหญ่โตได้แบบนั้น เพราะสัตว์เลือดเย็นที่มีร่างกายใหญ่โตได้ขนาดนั้น ย่อมไม่สามารถสร้างพลังงานความร้อนภายในร่างกายได้เพียงพอ จากการใช้ภาวะแวดล้อมภายนอกได้แน่นอน และนี่เองคือเหตุผลที่ว่าเพราะอะไร ไดโนเสาร์ที่มีขนาดมหึมาเกือบทุกตัวจึงเป็นสัตว์เลือดอุ่น”

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว บางทีทั้ง Kong และ God อาจไม่ใช่ภัยคุกคามของกันและกันก็เป็นได้ เพราะการที่มีขนาดทางกายภาพใหญ่โตได้ขนาดนั้น สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุด คือ ความเสี่ยงที่จะเป็น “โรคมะเร็ง”

โดย เจมส์ โรซินเดล อธิบายประเด็นนี้เอาไว้ว่า “ยิ่งร่างกายมีขนาดใหญ่โตมากเท่าไหร่ นั่นก็แปลว่า มีปริมาณเซลล์จำนวนมหาศาลมากเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่จะมีเซลล์ที่ทำงานผิดปกติจนกระทั่งก่อให้เกิดโรคมะเร็งย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การที่ทั้งวาฬสีน้ำเงินและช้างแอฟริกัน สามารถหลบเลี่ยงภัยคุกคามจากโรคมะเร็งได้ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะมันมีวิวัฒนาการทางพันธุกรรมที่สามารถป้องกันโรคร้ายนี้ก็เป็นได้”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Pradit Phulsarikij

ข่าวน่าสนใจ:

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2065823
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2065823