‘สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย’ รุ่นโควิด …เรียกพวกเขาว่า ‘ความหวัง’ ได้หรือยัง?


ให้คะแนน


แชร์

อาจกล่าวได้ว่า คณะทำงานชุดใหม่ของ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของ อนุชา บุญยวรรธนะ กำลังส่องแสงแห่งความหวังดวงเล็กๆ ให้วงการหนังไทย ที่กำลังโซซัดโซเซจากการโดนโรคระบาดฟาดเจียนตายในขณะนี้ ด้วยยุทธวิธีการขับเคลื่อนวงการแบบเชิงรุก ทั้งทางวัฒนธรรมและการอยู่รอดของคนทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นสะท้อนออกมาจากการผลักดันหนังสารคดีอิสระ ‘เอหิปัสสิโก’ ของ ณฐพล บุญประกอบ

ข่าวแนะนำ

‘เอหิปัสสิโก’ เป็นหนังเปิดตัวโครงการ ‘หนังเลือกทาง’ โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากกติกาใหม่ของ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งหารือกับผู้สร้างเมื่อ ธ.ค. 2562 กำหนดให้หนังที่จะสามารถเข้าเกณฑ์การพิจารณารางวัลนั้น ต้องฉายให้ได้อย่างน้อย 5 จังหวัดหัวเมือง ใน 5 ภูมิภาค หรือมีคนดูขั้นต่ำ 50,000 คน ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจะเป็นการตัดสิทธิหนังอิสระจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีศักยภาพมากพอจะผลักดันหนังให้เผยแพร่ได้มากเท่า สมาคมผู้กำกับฯ ในสมัยของ ธนิตย์ จิตนุกูล จึงรวมตัวกันคัดค้านและหารือกับสมาพันธ์ฯ จนต่อยอดสู่โครงการ ‘หนังเลือกทาง’ ขึ้นในสมัยของอนุชา

‘เอหิปัสสิโก’ ‘เอหิปัสสิโก’

แนวคิดของโครงการคือ แทนที่จะปล่อยให้กติกาดังกล่าวมีแนวโน้มปิดกั้นหนังอิสระบนเวทีรางวัล สมาคมฯ ก็จัดการพลิกแพลงให้เป็นข้อต่อรองในการผลักดันหนังอิสระสู่วงกว้างมากขึ้น ตามข้อกำหนดกติกาใหม่ของสุพรรณหงส์ โดยอาศัยอำนาจการต่อรองของสมาพันธ์ฯ ให้เกิดส่วนแบ่งและข้อตกลงที่เป็นธรรมกับผู้สร้างหนังพ่วงมาด้วย กล่าวคือนอกจากสมาคมฯ และสมาพันธ์ฯ จะร่วมกันจัดจำหน่ายหนังให้เป็นไปตามกติกาสุพรรณหงส์แล้ว ยังมาพร้อมการยกเว้นค่า VPF หรือ ‘ค่าธรรมเนียมการฉาย’ ที่โรงหนังจะหักไปจากรายได้หลังหักส่วนแบ่งแล้วตามปกติ

นอกจากนี้ สมาคมผู้กำกับฯ ยังเล็งเห็นด้วยว่า การผลักดันให้หนังเข้าฉายในวงกว้างตามภูมิภาคต่างๆ จะไม่ยังผลอะไรหากหนังจะไม่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่นั้นๆ จึงดำริให้โครงการนี้มาพร้อมการโร้ดโชว์หรือ ‘ตระเวนโปรโมตหนัง’ เพื่อพาผู้กำกับเดินทางไปหาผู้คน นอกจากเพื่อให้หนังเข้าถึงผู้ชมมากขึ้นแล้ว ยังเผยแพร่ประสบการณ์และความรู้ของผู้กำกับอันเป็นการสร้างความเข้าใจในวิชาชีพสำหรับคนที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่แผนการผลักดันสภาภาพยนตร์ที่มีใจความเพื่อเรียกร้องให้เกิดการต่อรองที่เป็นธรรมในวิชาชีพการทำหนังในวงการหนังไทยให้เกิดขึ้นจริงเสียที รวมถึงตระหนักถึงคุณค่าของภาพยนตร์ในมิติทางวัฒนธรรมด้วย

นนทรีย์ นิมิบุตร ขณะรอผลพิจารณาภาพยนตร์ ‘เอหิปัสสิโก’ (ภาพ: นคร โพธิ์ไพโรจน์) นนทรีย์ นิมิบุตร ขณะรอผลพิจารณาภาพยนตร์ ‘เอหิปัสสิโก’ (ภาพ: นคร โพธิ์ไพโรจน์)

และแม้โครงการ ‘หนังเลือกทาง’ และสภาภาพยนตร์จะเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของสมาคมผู้กำกับฯ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานของสมาคมฯ ยุคนี้น่าจับตา ก็คือความกระตือรือร้นและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยามที่วิชาชีพกำลังเผชิญวิกฤติขั้นสุดยอดจากบททดสอบทุกทิศทาง อันเห็นได้จากกรณีที่มีแนวโน้มแบนหนัง ‘เอหิปัสสิโก’

เพราะทันทีที่ผู้สร้าง ‘เอหิปัสสิโก’ ได้ทราบข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ว่าคณะกรรมการฯ ต้องการให้ผู้สร้างเข้าชี้แจงข้อมูลการสร้างหนังเรื่องนี้ อันเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นปกติและอาจนำไปสู่การเซนเซอร์หรือแบนหนังได้ สมาคมผู้กำกับฯ จึงกระจายข่าวออกสู่สาธารณชนทันที ก่อนที่ผู้สร้างจะเดินทางเข้าพบคณะกรรมการฯ

เมื่อสมาคมผู้กำกับฯ ออกหน้าเฝ้าระวังการเซนเซอร์ด้วยตัวเอง ทำให้คนทำหนังแทบทั้งวงการ พร้อมใจกันออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการเซนเซอร์ เสียงของพวกเขาดังพอที่สื่อมวลชนกระแสหลักจะให้ความสนใจ นี่คือเหตุผลให้ประชาชนต้องหันมามองตัวหนัง เย้ายวนให้เกิดการพิสูจน์มันด้วยตัวเอง ออกผลเป็นความสำเร็จด้านรายได้ตั้งแต่วันแรกที่หนังเข้าฉาย

นนทรีย์ นิมิบุตร ขณะรอผลพิจารณาภาพยนตร์ ‘เอหิปัสสิโก’ (ภาพ: นคร โพธิ์ไพโรจน์) นนทรีย์ นิมิบุตร ขณะรอผลพิจารณาภาพยนตร์ ‘เอหิปัสสิโก’ (ภาพ: นคร โพธิ์ไพโรจน์)

นนทรีย์ นิมิบุตร ตัวแทนสมาคมฯ เดินทางมาร่วมเฝ้าสังเกตการณ์การทำงานของคณะกรรมการฯ ด้วยตัวเองถึงหน้าห้องพิจารณาร่วมกับผู้สร้าง พร้อมกล่าวไว้ระหว่างรอผลการพิจารณาว่า “ที่เรามาในวันนี้เพราะมันทำให้นึกถึงวันที่เราทำ ‘จันดารา’ ตอนนั้นการเซนเซอร์หนังยังอยู่ในมือของตำรวจ เราก็มารอชี้แจงแบบวันนี้เลย แต่ตอนนั้น หนังเราไม่รอดจนต้องโดนตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกไป และเราก็ไม่คิดจะดูหนังเวอร์ชั่นที่ฉายในเมืองไทยอีกเลย มันสะท้อนว่าการเซนเซอร์หนังในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทำหนังไทยในครั้งนี้ ย่อมมีผลไม่มากก็น้อยที่ทำให้ตัวแทนของภาครัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ ‘เซนเซอร์’ ต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ในการทำงานของตัวเองอย่างระมัดระวัง จนทำให้หนังสามารถผ่านการเซนเซอร์โดยไม่ต้องตัดทอนเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดออกไป ที่สำคัญคือผลการพิจารณานั้นได้ข้อสรุปก่อนจะมีการเรียกผู้สร้างเข้าไปชี้แจงเสียด้วยซ้ำ

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (ภาพ: เพจสมาคมฯ) อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (ภาพ: เพจสมาคมฯ)

ในช่วงปีที่ผ่านมา สมาคมผู้กำกับฯ ยังเข้าไปทำงานร่วมกับโรงหนัง ลิโด้ คอนเน็คต์ หลังจากโรงหนังประสบภาวะวิกฤติจากสถานการณ์โควิด จนต้องลดบทบาทการฉายหนังลงเหลือแค่เฉพาะวันหยุด ด้วยการจัดฉายหนังรอบพิเศษพร้อมเสวนาในมิติต่างๆ คือ From Bangkok to Mandalay กับ The Only Mom ของผู้กำกับไทยที่ทำหนังเมียนมา ชาติชาย เกษนัส เพื่อย้อนดูสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาปัจจุบัน อันเปิดพื้นที่ให้ ดาง์ว นักแสดงนำ The Only Mom ได้เปิดใจถึงความเจ็บช้ำจากการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างโหดร้าย รวมถึงการฉายหนังสั้นของสองผู้กำกับไทยที่กำลังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศขณะนี้ ทั้ง ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ (‘พญาโศก พิโยคค่ำ’) และ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (One for the Road) เพื่อแชร์ประสบการณ์การทำหนังสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจ ซึ่งทั้งสองกิจกรรมล้วนได้รับการตอบรับที่ดี

วงการหนังไทยอาการสาหัสมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดมาสักระยะแล้ว จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่การหายไปของตลาดดีวีดีส่งผลให้รายได้ที่หนังไทยเคยมีหายไปจำนวนไม่น้อย ผู้สร้างจึงจำเป็นต้องตัดงบลดต้นทุน และเหลือหนังเพียงไม่กี่ประเภทป้อนตลาด ความกล้าหาญที่จะทดลองทำหนังทางเลือกแบบในยุคเฟื่องฟูจึงหายไป

เมื่อผู้สร้างเลือกแนวทางเช่นนี้ มันจึงสั่นคลอนแรงศรัทธาต่อหนังไทยของผู้ชมโดยไม่อาจเลี่ยง ยิ่งเมื่อมันต้องลงแข่งในสนามที่เรียกว่า ‘มัลติเพล็กซ์’ ซึ่งเป็นระบบการจัดจำหน่ายหนังโรงที่กวาดหนังทุกประเภทเข้ามาอยู่ในสนามเดียวกัน เกิดเป็นข้อเปรียบเทียบความ ‘คุ้มทุน’ ที่ผู้ชมจะจ่ายค่าตั๋วในราคาสูงลิบในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการผูกขาดตลาดของผู้ประกอบการโรงหนังเพียงไม่กี่เจ้า และเมื่อหันมองความหวังอย่างภาครัฐ ก็ไม่พักที่ต้องพูดถึงการเซนเซอร์ที่ยังคงแผลงฤทธิ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2473

การทำงานที่น่าจับตาของสมาคมผู้กำกับฯ รุ่นใหม่นี้ คือการขับเคลื่อนด้วยคนทำหนังรุ่นใหม่ ที่พร้อมต่อรอง เรียกร้อง และทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานสร้างคุณค่าให้ภาพยนตร์ เพื่อหาจุดตรงกลางระหว่างความต้องการของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ถือครองพื้นที่ในวงการหนังไทยมาอย่างยาวนาน จนอาจรวมไปถึงการหาทางทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานของคนในวงการให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกบนฐานความเป็นจริงให้มากที่สุด

การทำงานของสมาคมผู้กำกับฯ ในวันนี้ จึงอาจเป็น ‘ความหวังเดียว’ ที่จะกอบกู้วงการหนังไทยที่กำลังโคม่า อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073253
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073253