6 เหตุผลที่ทำให้เราหลงรัก Seobok หนังไซ-ไฟเกาหลีสาย ‘โบรแมนซ์’


ให้คะแนน


แชร์

1) เพราะเราจะได้เห็น กงยู ในมาดหล่อเถื่อน

ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘สามีแห่งชาติ’ ตลอดกาลของสาวๆ เอเชียมานาน เพราะโอปป้า กงยู ได้ฝากผลงานสุดประทับใจเอาไว้จากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นบท ฮันคยูล เพลย์บอยรูปหล่อบ้านรวยที่ต้องมาเป็นเจ้าของร้านกาแฟในซีรีส์ที่สร้างชื่อให้กงยูโด่งดังไปทั่วเอเชียอย่าง Coffee Prince (2007), บท ก็อบลิน สุดหล่อผู้โดนคำสาปให้ดาบปักอกเพื่อรอคอยคู่แท้ให้มาแก้คำสาปในซีรีส์ Guardian: The Lonely and Great God หรือที่รู้จักกันในนาม Goblin (2016-2017), บท ซอกวู คุณพ่อที่ต้องพาลูกสาวหนีตายจากฝูงซอมบี้คลั่งบนรถไฟในหนังแอ็กชั่นสยองขวัญอย่าง Train to Busan (2016) รวมถึงบท แดฮยอน สามีแสนดีของภรรยาผู้ทนทุกข์ในหนังดัดแปลงจากนิยายดังอย่าง Kim Ji-young, Born 1982 (2019)

โดยใน Seobok กงยูรับบทเป็น มินกีฮยอน อดีตสายลับผู้กำลังป่วยด้วยโรคร้ายที่ต้องรับภารกิจสุดท้ายในการอารักขา ซอบก มนุษย์โคลนร่างแรกของโลกที่อาจช่วยให้มนุษย์เข้าถึงการมี ‘ชีวิตอมตะ’ ได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการใช้ไขสันหลังของซอบกในการรักษาเขา “สำหรับผมแล้ว กีฮยอนอยากมีชีวิตรอดต่อไปนานๆ ครับ เขาก็เหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ ทั่วไปที่หวาดกลัวความตายนั่นแหละ” หนุ่มวัย 41 พูดถึงตัวละครของเขาที่ท้าทายความสามารถไม่น้อย เพราะนอกจากจะต้องลดน้ำหนักเพื่อให้ดูเป็นคนป่วยแล้ว เขายังต้องแสดงฉากแอ็กชั่นดุเดือดให้สมกับเป็นอดีตสายลับผู้ ‘ไม่อ่อนโยนต่อใจ’ อีกด้วย

2) ไม่ใช่แค่ ‘หล่อใหญ่’ แต่ยังมี ‘หล่อเล็ก’ อย่าง พัคโบกอม ด้วย

สำหรับแฟนซีรีส์เกาหลี พัคโบกอม คือนักแสดงหนุ่มหน้าใสขวัญใจสาวๆ เจ้าของฉายา ‘แฟนหนุ่มแห่งชาติ’ เนื่องด้วยบทบาทต่างๆ ที่เขารับเล่นนั้นมักสร้างเสียงกรี๊ดจากผู้ชมได้เสมอ ทั้งบท ชเวแท็ค เซียนโกะอัจฉริยะแต่จีบสาวไม่เก่งในซีรีส์ Reply 1988 (2015-2016), บท ฮเยจุน นายแบบชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงและต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาในซีรีส์ Record of Youth (2020) ที่เพิ่งผ่านตาผู้ชมชาวไทยไปหมาดๆ หรือแม้แต่การไปโผล่เป็นนักแสดงรับเชิญในบทเชฟหนุ่มสุดหล่อผู้มาสมัครงานที่ร้านอาหารของนางเอกใน Itaewon Class (2020) ก็ยังได้รับกระแสตอบรับจากชาวทวิตเตอร์อย่างล้นหลาม

โบกอมหวนคืนจอหนังในรอบ 5 ปีด้วยการรับบทเป็นซอบก มนุษย์โคลนร่างแรกของโลกที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้โตเร็วขึ้นเป็น 2 เท่า โดยมีชีวิตประจำวันวนเวียนอยู่กับการทดลอง, กินอาหารเม็ด, เฝ้ามองท้องฟ้าเทียมจากจอโปรเจกเตอร์ และเดินเล่นบนชายหาดเทียม แถมความเป็น ‘อมตะ’ ของเขาก็ยังเปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่อาจนำไปสู่การช่วยเหลือมนุษยชาติได้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้อาจกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงเช่นกันหากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ซอบกจึงต้องถูกเคลื่อนย้ายจากห้องทดลองไปยังสถานที่ปลอดภัยโดยมินกีฮยอน อันเป็นตัวละครของกงยูนี่เอง

แม้การรับบทเป็นตัวละคร ‘เด็กสิบขวบในร่างของชายหนุ่มวัยยี่สิบ’ จะเป็นเรื่องที่ ‘ยาก’ สำหรับโบกอม เพราะเขาต้องถ่ายทอดอารมณ์สุดขั้วของตัวละครนี้ออกมาให้ได้ ทั้งความไร้เดียงสาแบบเด็กและอารมณ์เกรี้ยวกราดแบบสัตว์ป่า แต่โบกอมก็สามารถ ‘กลาย’ เป็นซอบกได้อย่างน่าทึ่ง จนผู้กำกับ อียองจู ถึงกับต้องเอ่ยปากชมว่า “ภายใต้ดวงตาใสซื่อ แต่มีน้ำตารื้นอยู่ข้างในนั้น เป็นสายตาที่แม้แต่ศัตรูได้เห็นก็ยังยอมวางอาวุธลง – ผมนี่ขนลุกเลยครับ”

3) เพราะ ‘เคมีสุดโบรแมนซ์’ จนอยากจิกเบาะ ระหว่างกงยูกับพัคโบกอม

การเดินทางหลบหนีเอาตัวรอดของชายกร้านโลกที่อยาก ‘มีชีวิต’ กับเด็กหนุ่มไร้เดียงสาที่อยาก ‘ใช้ชีวิต’ ทำให้ตัวละครทั้งสองต้อง ‘ใกล้ชิด’ กันมากขึ้นเรื่อยๆ และต่างคนต่างก็ได้ ‘เรียนรู้ความหมายของชีวิตจากกันและกัน’ ไปด้วย – ซึ่งด้วยเรื่องราวง่ายๆ นี้เองที่ทำให้กงยูต้องเข้าฉากกับพัคโบกอมแทบทั้งเรื่อง

หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า เคมีทางการแสดงของทั้งคู่ออกมา ‘ลงตัวมาก’ เนื่องจากตัวละครซอบกคือเด็กไร้เดียงสาที่ทำให้ตัวละครมินกีฮยอนต้องทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘พี่ชายที่คอยดูแลน้องชาย’ ตลอดเวลา ไม่เพียงต้องปกป้องน้องจากเหล่าศัตรู แต่ยังต้องคอยดูแลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ด้วย เช่น ต้มบะหมี่ให้กิน, ซื้อรองเท้าให้, พาไปเดินตลาด, พาไปดูทะเลจริงๆ ซึ่งนักแสดงทั้งสองก็สวมบทบาทได้อย่างลึกซึ้ง จนเกือบจะเรียกว่าเป็นหนัง ‘โบรแมนซ์’ (Bromance – ที่เน้นความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างผู้ชาย) เพราะแค่เห็นสายตาแห่งความห่วงใยที่มินกีฮยอนมองซอบก ผู้ชมสาย ‘วาย’ (Y หรือ Yaoi – ที่เล่าเรื่องรักชาย-ชาย) ก็ออกมาสารภาพว่าถึงขั้นฟินจิกเบาะกับเขาเหมือนกัน

และก็ไม่เพียงแค่ในหนัง แต่นอกจอนั้น นักแสดงสองคนก็สนิทกันจริงๆ และทำงานเข้าขากันได้ดีมากๆ แม้โบกอมจะเป็นนักแสดงอายุน้อย (เกิดปี 1993) แต่ก็มีความสามารถสูงจนกงยูต้องเอ่ยปากชม “โบกอมเก่งมากครับ ผมแทบไม่ต้องสอนเขาเลย” เขาว่า “ผู้ชมอาจคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ผู้ชายแสนดีของเขา แต่พอเขาเล่นเป็นซอบก เขาก็เปลี่ยนไปเป็นอีกคนเลยครับ สายตาของเขาดึงดูดมาก มีเสน่ห์มากครับ”

ส่วนโบกอมเองก็บอกว่ามีกงยูเป็นไอดอล และแอบชื่นชมเขามานานแล้ว “ผมเรียนรู้เยอะมากจากการแสดงของเขาครับ วิธีการแสดงอารมณ์ วิธีการหายใจ รวมถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมคอยสังเกตตอนเข้าฉาก ผมรู้สึกทึ่งมาก จนบางทีผมก็แอบคิดว่า เราจะทำได้อย่างเขาไหมนะ พี่เขาเก่งมากครับ”

4) เพราะความ ‘ถึงเครื่อง’ ของงานสร้างแอ็กชั่น/ไซ-ไฟรสชาติเกาหลี

จากความสำเร็จข้ามทวีปของหนังเกาหลีตีแผ่เรื่องชนชั้นรวย-จนและความเหลื่อมล้ำอย่าง Parasite (2019) ของ บงจุนโฮ ที่ชนะทั้งรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จาก Cannes Film Festival และ 4 รางวัลออสการ์จาก Academy Awards ซึ่งก็รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) -อันเป็นหนังพูดภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ทำสถิตินี้ได้- ก็ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของหนังเกาหลีบนเวทีโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่สามารถเข้าถึงผู้ชมกระแสหลักจากทั่วโลก แต่ก็ยังเปี่ยมทัศนคติและความงดงามในฐานะของผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้ด้วย

ส่งผลให้วงการหนังเกาหลีใต้ได้รับการจับตามองมากขึ้น และเริ่มมีการลงทุนสร้างหนังใหม่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Bogota (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) หนังทริลเลอร์เรื่องใหม่ของพระเอกดัง ซงจุงกิ ที่วางแผนถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งแม้เกาหลีจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ต่างจากประเทศอื่น แต่ตัวเลขของการจัดจำหน่ายหนังเกาหลีในปี 2020 ก็ยังอยู่ในแดนบวก โดยมีรายรับเพิ่มขึ้น 43% คิดเป็นรายได้อยู่ที่ 54.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1.7 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าวงการหนังเกาหลียังคงน่าลงทุนอยู่โดยไม่แคร์โรคระบาด

Seobok เองก็ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จนี้เพื่อเข้าถึงผู้ชมกระแสหลักเช่นกัน ด้วย ‘พลังดารา’ ของซูเปอร์สตาร์อย่าง กงยู และ พัคโบกอม ที่มาพร้อมกับแนวหนังแอ็กชั่นไล่ล่าที่สามารถเร้าอารมณ์คนดูให้เพลิดเพลินไปกับเรื่องได้ไม่ยาก จากสถานการณ์ที่มินกีฮยอนต้องคอยปกป้องซอบก อีกทั้งพล็อตเกี่ยวกับ ‘มนุษย์โคลน’ ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้โตเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงของโลกวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในระดับสากล ก็ทำให้หนังมีความเป็นไซ-ไฟ (Sci-Fi) รวมอยู่ด้วย บวกกับการลงทุนสร้างฉากให้ออกมาตระการตาภายใต้ทุนสร้างที่สูงถึงหนึ่งพันล้านวอน (ประมาณ 250 ล้านบาท) ก็ทำให้มันกลายเป็นหนังฟอร์มยักษ์ของเกาหลีที่สู้กับหนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูดได้สบายๆ

Space Sweepers Space Sweepers

โดยนอกจาก Seobok แล้ว ก็ยังมีหนังเกาหลีใต้ที่สร้างขึ้นเพื่อหวังเข้าถึงเพื่อผู้ชมกระแสหลักอีกไม่น้อย เช่น Space Sweepers (2021) หนังที่ว่ากันว่าเป็น ‘หนังไซ-ไฟอวกาศ’ เรื่องแรกของเกาหลีที่ซงจุงกิ (อีกแล้ว) เล่นเป็นหนึ่งในนักเก็บขยะอวกาศที่ต้องปกป้อง ‘เด็กหญิงพิเศษ’ ผู้มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งตัวหนังก็ถือว่ามีคุณภาพของงานสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิกในระดับที่ทัดเทียมกับฮอลลีวูด, ซีรีส์ Kairos (2020) ที่เล่าเรื่องลุ้นระทึกแบบ ‘เหลื่อมมิติเวลา’ ระหว่างสองตัวละครเอก-ซึ่งคนหนึ่งโทรศัพท์มาจากเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว-ที่พยายามช่วยกันสืบหาคนในครอบครัวของพวกเขาที่หายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ หรือซีรีส์ My Holo Love (2020) ที่นำเอาองค์ประกอบแบบไซ-ไฟอย่างเทคโนโลยีโฮโลแกรมมาเล่าเรื่องราวโรแมนติกระหว่างผู้พัฒนากับตัวโฮโลแกรมเอง

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สไตล์การเล่าเรื่องในแนวทางไซ-ไฟที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหนัง/ซีรีส์เกาหลี อาจทำให้ K Sci-Fi กลายมาเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถตีตลาดต่างประเทศได้แบบ K-Drama และ K-Zombie ก็เป็นได้

ผู้กำกับ อียองจู (ซ้าย) และกงยู ผู้กำกับ อียองจู (ซ้าย) และกงยู

5) เพราะเป็นการกลับมาของผู้กำกับแสนละเอียดอ่อน อียองจู

ความน่าสนใจในข้อนี้อยู่ตรงที่ อียองจู แห่ง Seobok เป็นผู้กำกับที่พัฒนาตัวเองมาจากสาย ‘คนเขียนบท’ เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยยอนเซ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเกาหลี โดยเริ่มต้นงานในวงการภาพยนตร์จากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ ‘หนังทริลเลอร์ในตำนาน’ อย่าง Memories of Murder (2003) ของผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่างบงจุนโฮ ก่อนจะได้กำกับหนังเรื่องแรกของตัวเองคือ Possessed ในปี 2009

Possessed Possessed

แม้จะทำหนังมาเพียงไม่กี่เรื่อง แต่หนังของอียองจูก็ทั้งโดดเด่นและหลากหลาย เพราะเขามักจะเขียนบทเอง อย่างเช่น Possessed ที่เป็นหนังสยองขวัญแนวจิตวิทยาว่าด้วยพี่สาวที่พบว่าน้องสาวหายตัวไป พร้อมกับที่ผู้คนใกล้ตัวของน้องได้เสียชีวิตไปทีละคน โดยที่แม่ผู้เคร่งศาสนาของเธอไม่ทำอะไรเลยนอกจากสวดมนต์ หนังได้รับคำชมในแง่ของการเล่าเรื่องที่หลอกล่อให้ผู้ชมรู้สึกสับสนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานความจริงหรือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติกันแน่ แถมตัวหนังยังขับเคลื่อนด้วยบรรยากาศหลอกหลอนจนน่าขนลุก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา ‘ฉากตุ้งแช่’ เพื่อทำให้คนดูตกใจแต่อย่างใด จนหนังคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมและผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมมาจากหลายเวที

Architecture 101 Architecture 101

ขณะที่ Architecture 101 (2012) อียองจุนก็เปลี่ยนแนวมาทำหนังรัก พูดถึงคนสองคนที่ต้องมาพานพบกันเพื่อ ‘สร้างบ้าน’ หลังหนึ่ง โดยเขาเลือกใช้การเล่าแบบตัดสลับเหตุการณ์อดีตกับปัจจุบันเพื่อค่อยๆ เผยปูมหลังของตัวละครว่า แท้จริงแล้ว คนทั้งคู่เคยรู้จักกันและเป็น ‘รักแรก’ ของกันมาก่อน ซึ่งด้วยการเล่าเรื่องที่ละมุนละไมและการเปรียบเปรยถึง ‘การทำความเข้าใจความรักกับการทำความเข้าใจแบบแปลนบ้านของสถาปนิก’ อย่างคมคาย ก็ทำให้หนังได้รับรางวัลบทยอดเยี่ยมจาก Buil Film Awards และตัวหนังเองก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งยังช่วยแจ้งเกิดให้ แพซูจี ที่ผันตัวจากการเป็นนักร้องไอดอลวง Miss A มารับงานแสดงเป็นครั้งแรก จนกลายเป็น ‘รักแรกแห่งชาติ’ ของเกาหลีใต้

สำหรับ Seobok อียองจุนลงมือเขียนบทเองเหมือนเคย โดยครั้งนี้ ถึงเขาจะหันมาเล่นใหญ่จับหนังแนวแอ็กชั่น/ไซ-ไฟ แต่ก็ยังแฝงประเด็นดราม่าที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความตาย’ และ ‘การมีชีวิตอยู่’ ผ่านตัวละคร 2 ตัวที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน คือ มินกีฮยอนที่รอวันตาย กับซอบกที่มีชีวิตอมตะ “ผมเลือกที่จะพูดถึงมนุษย์โคลน เพราะมันน่าจะสื่อถึงแก่นเรื่องที่พูดถึงการมีชีวิตและความตายได้ดีครับ” ซึ่งประเด็นการหวาดกลัวต่อความตายและการพยายามไขว่คว้าความเป็นอมตะของมนุษย์ น่าจะเป็นสิ่งที่เขาอยากตั้งคำถามกับผู้ชมผ่านหนังเรื่องนี้

มันยังถือเป็นครั้งแรกที่อียองจูได้ร่วมงานกับนักแสดงชื่อดังอย่าง กงยู และ พัคโบกอม ด้วย “ผมเขียนบทเรื่องนี้โดยมีภาพของ กงยู กับ พัคโบกอม อยู่ในหัวเลยครับ” โดยอียองจูยังบอกอีกว่า เขาพัฒนาบทของ Seobok มาจากการพูดคุยกันอย่างเปิดใจและใกล้ชิดกับนักแสดงทั้งสอง ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่เขายึดถือมาตลอด

6) เพราะเป็นการตีความ ‘ตำนานโบราณ’ ผ่านมุมมองล้ำยุคได้อย่างน่าตื่นตา

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า ‘ซอบก’ เป็นชื่อในภาษาเกาหลีของ สวีฝู นักเล่นแร่แปรธาตุชาวจีน ที่ตามตำนานจีนโบราณ เชื่อกันว่าเขามีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฉิน และพยายามออกเดินทางตามหายาอายุวัฒนะที่ทำให้เป็นอมตะเพื่อนำมาถวายจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นตำนานที่สอดคล้องกับแนวคิดตั้งต้นของผู้กำกับอียองจูที่สนใจในประเด็นเรื่องความตายที่มนุษย์กลัวเกรงและความเป็นอมตะที่มนุษย์ฝันถึงอยู่แล้ว จนเขาต่อยอดมันออกมาเป็นการเดินทางของมนุษย์กับมนุษย์โคลนที่ได้เรียนรู้ถึงชีวิตและความตายไปพร้อมกันนี่เอง

ฉะนั้น คำวิจารณ์ที่กล่าวกันว่า Seobok คือหนังไซ-ไฟเกาหลีที่ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึง ‘ความหมายของการมีชีวิต’ ได้มากขึ้นนั้น ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ ‘เกินจริง’ ไปสักเท่าไร

อ้างอิง: Korea Herald, YouTube (1, 2, 3), Forbes (1, 2), Wikipedia (1, 2), Hankyoreh, Soompi, Naver (1, 2, 3), ScreenAnarchy, Asian Movie Web

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073938
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073938