Collective กับพลังของ ‘สื่อมวลชน’ …ในวันที่รัฐไม่รับใช้ประชาชน


ให้คะแนน


แชร์

โศกนาฏกรรมที่ว่าคือ เหตุไฟไหม้ผับโคเล็กตีฟ (Colectiv) ในเมืองบูคาเรสต์เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2015 โดยต้นไฟมาจากพลุที่จุดในการแสดงดนตรีสดภายในอาคาร แต่ตัวโหมกระพือเพลิงมรณะคือความหละหลวมและการจัดการอันย่ำแย่ที่รัฐบาลปล่อยให้ผับดำเนินการโดยไม่มีทั้งทางหนีไฟและอุปกรณ์ดับเพลิงพื้นฐาน

เหตุการณ์อันน่าสลดนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 คนและบาดเจ็บอีก 180 คน นับเป็นเหตุอัคคีภัยที่ร้ายแรงที่สุดของโรมาเนีย ทำให้ประชาชนโกรธแค้นจนต้องลุกออกมาประท้วงและเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล ทว่าฝันร้ายกลับไม่จบลงง่ายๆ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บาดเจ็บอีก 37 รายที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกลับเสียชีวิตตามไปด้วย นำมาสู่การตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ ความขุ่นเคืองของประชาชนยิ่งทวีคูณกระทั่งกดดันให้รัฐบาลทั้งชุดลาออกได้สำเร็จ เกิดการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่ดำรงวาระแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลา 1 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่

เชื้อร้ายที่ชื่อ ‘คอร์รัปชัน’

Collective เปิดเรื่องด้วยกลุ่มพ่อแม่ที่สูญเสียลูกๆ ไป — ไม่ใช่จากเปลวเพลิงโดยตรง แต่จากการทำงานอันล่าช้า, การสื่อสารที่ผิดพลาด และความไร้ประสิทธิภาพของโรงพยาบาลที่ปล่อยให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องตายไปจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เลวร้ายที่สุดในยุโรป …เพราะมันเป็นแบคทีเรียที่มีที่มาจากในโรงพยาบาลเอง! “เป็นไปได้อย่างไรกันที่พวกเขารอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้มาได้แล้ว แต่กลับต้องมาตายที่โรงพยาบาลในอีก 12 วันให้หลัง” พ่อของผู้เสียชีวิตรายหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ความตั้งใจแรกเริ่มของผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ นาเนา คือการบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเหตุเพลิงไหม้ เขาเล่าว่า “ผมต้องการสำรวจติดตามบางสิ่งที่จะช่วยบอกเราได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้” ซึ่งสาธารณสุขอันไร้ประสิทธิภาพของประเทศนี่เองที่กลายมาเป็น ‘บางสิ่ง’ ที่เขาตามหา และเขาได้พบกับมันผ่านการทำงานชนิดกัดไม่ปล่อยของ ‘คนข่าว’ ที่ชื่อกาตาลิน โตลอนตัน

“เขาคือนักข่าวคนดัง มีชื่อมาจากงานข่าวสืบสวน เราเลยคิดได้ว่า วิธีในการสำรวจดูว่าสังคมทำงานอย่างไรนั้น คือการดูว่าสื่อมวลชนทำงานอย่างไรและทำหน้าที่อะไรในความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน” นาเนาบอก

ในตอนนั้น โตลอนตันกำลังเริ่มขุดคุ้ยหาความจริงเบื้องหลังการตายภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล (ที่รัฐรับรองอยู่ซ้ำๆ ว่า “มีมาตรฐานไม่ได้ต่างอะไรจากในเยอรมนีเลย”) จากจุดนี้เองที่การสืบสวนของเขาค่อยๆ ปอกเปลือยให้เราเห็นถึงปัญหาที่พัวพันกันยุ่งเหยิงในแวดวงสาธารณสุขของโรมาเนีย กระทั่งไปเจอกับเบาะแสสำคัญที่อาจเป็นตัวการของการแพร่เชื้อ นั่นคือน้ำยาฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลหลายๆ แห่งใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นไม่ได้มาตรฐาน และถูกนำมาเจือจางเสียจนไม่เพียงฆ่าเชื้อไม่ได้เต็มที่เท่านั้น กลับยิ่งทำให้เชื้อ ‘ดื้อยา’ มากขึ้นไปอีก

แต่เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้จะเล็ดลอดการตรวจสอบจากผู้มีอำนาจไปได้ — นั่นคือคำถามที่โตลอนตันกับทีมงานเองก็มีเช่นกัน หลักฐานต่างๆ ล้วนบ่งชี้ว่าไม่มีทางที่การฉ้อโกงครั้งนี้จะไม่มีผู้รู้เห็นกันเป็นเครือข่าย ตั้งแต่ผู้บริหารโรงพยาบาล, นายทุนเจ้าของบริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ, นายกเทศมนตรีท้องถิ่น ไปจนถึงรัฐบาล การ ‘กินกันเป็นทอดๆ’ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไรโดยไม่สนใจสุขอนามัยหรือชีวิตของคนไข้ที่ต้องถูกสังเวย

“ไอ้เรื่องนี้มันเหลือเชื่อเสียจนฉันกลัวว่าผู้คนเขาจะหาว่าพวกเราเป็นบ้ากันไปหมด” หนึ่งในนักข่าวที่สืบสวนเรื่องนี้กล่าว แต่เรื่องเหลือเชื่อที่ว่าก็เกิดขึ้นจริงๆ การสืบสวนของนักข่าวได้เปิดประตูให้คนในแวดวงการแพทย์กล้าออกมาเปิดเผยถึงการฉ้อฉลในแง่มุมอื่นมากขึ้น ทั้งการยักยอกเงินสนับสนุนโรงพยาบาลของผู้บริหารไปใช้จ่ายส่วนตัว และ ‘ระเบียบปฏิบัติ’ อันเป็นปกติของการติดสินบนในโรงพยาบาล ที่คนไข้จะได้รักษาเร็วหรือช้าก็อยู่ที่ว่ายัดเงินใต้โต๊ะมากเท่าไร หรือแพทย์จะได้ก้าวหน้าในอาชีพการงานแค่ไหนก็อยู่ที่เงินที่พวกเขายื่นให้หัวหน้าแผนกเช่นกัน

หนังติดตามโตลอนตันและทีมงานแค่ในช่วงครึ่งแรก ก่อนจะสลับไปตามรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ไฟแรงอย่าง วลาด วอยกูเลสกู ผู้ที่ต้องเข้ามาสะสางปัญหาหลังจากรัฐมนตรีคนก่อนขอวางมือ ซึ่งวอยกูเลสกูก็ยอมให้นาเนาไปตามถ่ายเขาทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการยกมือขึ้นห้ามถ่ายหรือการทักท้วงใดๆ “ผมว่าเขามาตระหนักได้ว่าทางเดียวที่เขาจะไม่กลายไปเป็นพวกชั่วอีกคนก็คือ ยอมทำยังไงก็ได้ให้การทำงานของเขามีสิ่งที่ทุกๆ สถาบันในทุกๆ ประเทศควรต้องมี นั่นคือ ‘ความโปร่งใส’” นาเนาเล่า

ในสังคมที่คอร์รัปชันฝังรากลึกอย่างโรมาเนีย สถาบันหลักๆ ของสังคมกลายมาเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ทุกคนต้องเล่นตามน้ำ (หรือ ‘อยู่เป็น’) แทนที่จะเป็นหลักประกันถึงสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน มิหนำซ้ำ มันยังรีดเค้นเอาศีลธรรมออกไปจากใจคน จนแทนที่จะมองเห็นเพื่อนร่วมชาติในฐานะมนุษย์ด้วยกัน แต่กลับไปให้คุณค่ากับเงินและการอยู่รอดมากกว่า

ในการทำความเข้าใจว่าปัญหาคอร์รัปชันนั้นจริงจังแค่ไหนในโรมาเนีย เราอาจจะพอมองมันผ่านภาพยนตร์ของประเทศนี้ได้เช่นกัน มีหนังโรมาเนียชื่อดังจำนวนไม่น้อยที่ต่างสำรวจผลกระทบของการฉ้อฉล ความไร้ประสิทธิภาพของระบบ และการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็น Police, Adjective (2009) ของ คอร์เนลิยู โปรุมโบยู, Graduation (2016) ของ คริสเตียน มุนจิว หรือ The Death of Mr. Lazarescu (2005) ของ คริสติ ปุยอู โดยเรื่องหลังนี้อาจถือว่าเป็นหนังที่เหมาะกับการดูคู่กับ Collective เป็นอย่างยิ่ง เมื่อมันเล่าเรื่องชายชราที่ต้องเผชิญกับความฟอนเฟะของโรงพยาบาลในช่วงโมงยามสุดท้ายของชีวิต

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเชื้อร้ายที่ทำให้สังคมโรมาเนีย ‘ป่วยเรื้อรัง’ มานาน โดยออกอาการมาเป็นความสูญเสียที่ประชาชนต้องเป็นฝ่ายแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นไฟที่ลามไหม้จากการบังคับใช้กฎหมายอันเหลาะแหละ และน้ำยาฆ่าเชื้อที่เจือจางเกินกว่าจะฆ่าเชื้อโรคได้

ในวันที่ ‘สื่อมวลชน’ ไม่ (ควร) สยบยอมต่ออำนาจอยุติธรรม

การเริ่มต้นขุดคุ้ยและออกมาตีแผ่ความจริงของโตลอนตันสร้างบทสนทนาและกระแสตื่นตัวในหมู่ประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชนด้วยกันเอง จนมีส่วนให้รัฐมนตรีสาธารณสุขต้องลาออกเพราะไม่อาจแก้ปัญหาภายในอันแสนยุ่งเหยิงได้ ในแง่นี้ Collective จึงนับเป็นสารคดีเรื่องสำคัญที่ไม่เพียงสาวไส้ความเน่าหนอนของรัฐได้อย่างถึงพริกถึงขิง แต่ยังบันทึกพลังของ ‘สื่อมวลชน’ ที่กล้าลุกขึ้นมาคัดง้างกับคำโกหกของรัฐและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ อีกด้วย

หากลองมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา จริงอยู่ที่ว่าการทำข่าวเชิงลึกนั้นยังมีให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการตามคดี ‘เสือดำ’, การถูกอุ้มหายของนักสิทธิมนุษยชนหลายราย ไปจนถึงบทความเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสังคมการเมืองมากมายตามเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ กระนั้น กระแสความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อสื่อก็ยังมีให้เห็นชัดเจน -โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังมานี้- ด้วยข้อจำกัดบางประการที่ทำให้เกิด ‘เพดาน’ ของการรายงานข่าว เมื่อลองเทียบกับโรมาเนียที่สื่อเดินหน้ารายงานความจริงโดยไม่หวั่นเกรง (แม้จะถึงขั้นถูกขู่ทำร้ายครอบครัวก็ตาม) เราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ ‘สื่อ’ นี่เอง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายครั้งสิ่งที่สื่อรายงานนั้นมีส่วนเป็นอย่างมากในการประกอบสร้างหรือยืนยันว่าอะไรคือ ‘ความจริง’ ของสังคมนั้นๆ แต่หากการรายงานข่าวมี ‘เพดาน’ ที่กีดกันบางอย่างออกไปจนกลายเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ สังคมนั้นย่อมอยู่กับความเป็นจริงที่ขาดพร่อง บิดเบี้ยว และหลอกลวง

ในสังคมที่นักข่าวภาคสนามต้องโดนลูกหลงจากการเดินเกมรุกของรัฐเพื่อปราบปรามม็อบ คนที่น่าเห็นใจก็เห็นจะเป็นบรรดานักข่าวตัวเล็กๆ ที่พยายามทำตามหน้าที่อย่างถึงที่สุด แม้จะตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะ ‘เพดาน’ ที่ค้ำหัวพวกเขาไว้ก็ตาม ซึ่งเราคงไม่สามารถเรียกร้องหรือกดดันให้นักข่าวเหล่านี้เสียสละตัวเองแล้วออกมา ‘พุ่งชน’ ความจริงอย่างไม่ยั้งมือแบบเดียวกับโตลอนตัน

เราก็ทำได้แค่คาดหวังว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนจะหมั่นสำรวจจุดยืนของตัวเองอยู่เสมอ ว่ากำลังยืนหยัดเพื่อประชาชนที่ทุกข์ทน หรือกำลังเป็นแขนขาให้กับระบบระบอบที่ใช้ ‘อำนาจ’ อย่างไม่ชอบธรรมกันแน่?

ตามถ้อยแถลงที่ใช้ขึ้นต้นบทความนี้ — เมื่อสื่อมวลชนสยบยอมต่ออำนาจของระบบที่ดูจะมีอำนาจเหนือกว่า (เช่น ภาครัฐ) หรือแม้เพียงแค่หยุดตั้งคำถามกับมัน ระบบเหล่านั้นก็อาจได้โอกาสที่จะฉวยใช้อำนาจของตนในทางที่ไม่ชอบธรรม นี่เป็นเหตุผลที่สื่อควรมีเสรีภาพในการรายงานและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐหรือระบบอื่นใดแบบใน Collective ซึ่งในช่วงหนึ่งของหนัง โตลอนตันถึงกับเอ่ยขอโทษที่เขาหลับหูหลับตารายงานแถลงการณ์ของรัฐบาลโดยไม่ตั้งคำถามเสียตั้งแต่ตอนนั้น

เขาเพิ่งตระหนักว่าตัวเองในฐานะสื่อมีส่วนไม่น้อยที่ปล่อยให้รัฐบาลลอยนวลไปกับคำโป้ปดมดเท็จได้ง่ายๆ เพราะหากแม้กระทั่งสื่อที่เป็นเสมือน ‘ปากเสียง’ ให้กับภาคประชาชนยังไม่ตั้งคำถามและยอมปิดปากเงียบ ผู้มีอำนาจก็จะไม่ได้รับการตรวจสอบ

และคงเป็นไปได้ยากที่จะมีใครได้ยิน ‘เสียง’ ของประชาชน ผู้ต้องจ่ายค่างวดแพงลิบให้กับรัฐที่ควรจะต้องรับใช้ตน มากกว่าจะรับใช้ ‘อำนาจมืด’ ของใครบางคนในระบบนั้น

อ้างอิง: Reverse Shot, The Guardian, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2075591
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2075591