จีนสั่งแบนการถ่ายทอดสดรางวัลออสการ์ ข้อบ่งชี้ ‘ภาพยนตร์’ ไม่อาจแยกขาดจาก ‘การเมือง’


ให้คะแนน


แชร์

สำหรับงานประกาศผลรางวัลด้านภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘ออสการ์’ หรือ Academy Awards 2021 ที่จะถูกจัดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 26 เมษายนนี้ (ตามเวลาของบ้านเรา) นอกจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่กระแสซบเซาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังทรุดๆ ทรงๆ ของโควิด-19 แล้ว จำนวนผู้ชมรายการถ่ายทอดสดก็น่าจะลดลงไม่น้อยเนื่องด้วยผู้ชมชาวจีนที่ ‘หายไป’ จากการที่รัฐบาลจีนออกคำสั่ง ‘แบน’ การถ่ายทอดงานประกาศผลออสการ์ในปีนี้

Bloomberg รายงานว่า ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา หรือหลังจากประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์เพียงหนึ่งวัน ทางการจีนได้ออกคำสั่งให้สื่อมวลชนในประเทศงดการถ่ายทอดสัญญาณพิธีแจกรางวัลออสการ์ รวมถึงลดความสำคัญของงานออสการ์ลงในการนำเสนอข่าว ซึ่งคำสั่งนี้ยังถูกส่งไปถึงที่ฮ่องกงด้วย ทำให้สถานี TVB ต้องงดการถ่ายทอดออสการ์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการจีนประกาศเซนเซอร์สื่อแบบกะทันหันด้วยเหตุผลคลุมเครือ แต่เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีจากกรณีที่มีหนังจำนวนหนึ่งถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’ ในประเทศและในเทศกาลหนังต่างประเทศ รวมถึงกรณีการสั่งแบนเวทีรางวัล ‘ม้าทองคำ’ ที่จัดขึ้นในไต้หวันที่มีความขัดแย้งระหว่างกันตลอดช่วง 3 ปีให้หลัง

สาเหตุของการเซนเซอร์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับหนัง 2 เรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ คือ

1) Do Not Split หนังว่าด้วยการประท้วงในฮ่องกงที่เข้าชิงออสการ์ ‘หนังสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม’

Do Not Split เป็นหนังสารคดีความยาว 36 นาที ผลงานจาก Field of Vision บริษัทของผู้สร้างหนังสารคดีเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง Citizenfour (2014) และกำกับโดยคนทำหนังชาวนอร์เวย์ แอนเดอร์ส แฮมเมอร์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2019 ที่มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมนับล้านคน จนถึงในปี 2020 ที่ม็อบเริ่มอ่อนแรงจากภาวะโรคระบาด, การออกกฎหมายความมั่นคงของชาติของจีน และการที่กลุ่มแอกติวิสต์และนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยถูกจับเข้าคุก ซึ่งบางคนอาจโดนโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

ผู้กำกับอย่างแฮมเมอร์เคยเป็นนักข่าวและคนทำสารคดีในสงครามมาก่อน จุดเด่นของเขาจึงปรากฏชัดในหนังเรื่องนี้จากการพาตัวเองและกล้องเข้าไปถ่ายทอดสถานการณ์ถึงแนวหน้าของม็อบ จนผู้ชมรู้สึกเหมือนได้คลุกวงในร่วมฝ่ากระสุนยางและแก๊สน้ำตาไปกับคนทำหนัง ซึ่งเมื่อหนังที่แสดงให้เห็นถึงภาพ ‘ความโหดร้าย’ ของตำรวจและผู้มีอำนาจในรัฐบาลจีนเรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์ ทางการจีนจึงออกคำสั่งเซนเซอร์การถ่ายทอดออสการ์ – นี่จึงยิ่งเป็นการสนับสนุนประเด็นหลักของหนังที่ว่าจีนใช้อำนาจเผด็จการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนไปโดยปริยาย

แฮมเมอร์ให้สัมภาษณ์กับ IndieWire ว่า “นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่มืดหม่นสำหรับฮ่องกง มีผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคนถูกจับกุมและลงโทษแบบไม่เป็นธรรมซึ่งหลายคนปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ด้วย ผมหวังว่าจากการที่หนังของเรากลายเป็นข่าวพาดหัวในสื่อต่างๆ มันจะช่วยให้สปอตไลต์ส่องไปยังสถานการณ์ของฮ่องกงในขณะนี้ด้วย”

หมายเหตุ: ผู้กำกับปล่อยหนังเรื่องนี้ให้ดูฟรี สามารถรับชมได้ ที่นี่ 

 Nomadland Nomadland

2) Nomadland หนังที่ส่งให้ โคลอี เจา ผู้กำกับเชื้อสายจีนเข้าชิงออสการ์ ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’

Nomadland เป็นหนังดราม่าที่เล่าถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนในอเมริกาซึ่งมีมากขึ้นเป็นพิเศษหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ได้อย่างลุ่มลึก จนได้รับคำชมและกวาดรางวัลจากเวทีต่างๆ มามากมาย ถือเป็นตัวเก็งสำหรับรางวัลใหญ่ๆ บนเวทีออสการ์ปีนี้ ซึ่งถ้าหนังสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองได้ (กล่าวกันว่ามีโอกาสสูงมาก) ก็จะทำให้ โคลอี เจา หรือ เจาถิง สร้างสถิติเป็น ‘ผู้หญิงคนที่สอง’ ที่คว้ารางวัลนี้ (คนแรกคือ แคธรีน บิเกโลว์ จาก The Hurt Locker ในปี 2010) รวมถึงเป็น ‘ผู้หญิงเอเชียคนแรก’ ที่สามารถทำได้อีกด้วย

จากชัยชนะบนเวทีรางวัลต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงการเป็นตัวเก็งออสการ์ ทำให้สื่อจีนประกาศว่าเธอคือความภาคภูมิใจของจีน โดยมองว่าเจาเป็นคนจีนที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ แม้ว่าประชาชนบางส่วนจะคัดค้านและมองเธอเป็นเพียงผู้กำกับอเมริกันที่มีเชื้อสายจีนเท่านั้น เพราะเธออพยพไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่เรียนไฮสกูล อีกทั้งประเด็นในหนังของเธอล้วนเกี่ยวข้องกับสังคมอเมริกัน โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจีนเลย ซึ่งนั่นก็ทำให้เธอมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้กำกับอเมริกันอินดี้รุ่นใหม่ แทนที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้กำกับจีนเสมอ

แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อบทสัมภาษณ์จากอดีตของเธอในนิตยสาร Filmmaker Magazine เมื่อปี 2013 ได้ถูกค้นพบทางออนไลน์และเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว โดยบทความส่วนที่มีปัญหาคือตอนที่เธอบอกว่า “ตอนฉันเป็นวัยรุ่นอยู่ที่จีน มันมีแต่ความหลอกลวงอยู่ทุกแห่งหน” ซึ่งถึงแม้ทางนิตยสารจะลบบทสัมภาษณ์ออก แต่ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว

โคลอี เจา (ซ้าย) กับนักแสดงนำของเธอ ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ โคลอี เจา (ซ้าย) กับนักแสดงนำของเธอ ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์

เจาถูกประณามอย่างหนักจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีน โดยต่อมา เนื้อหาในโลกออนไลน์ของจีนที่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้หรือเจาก็ถูกเซนเซอร์, พอกดค้นหาเทรนด์ #Nomadland ใน Weibo ก็มีประกาศเตือนขึ้นมาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย, หนัง Nomadland ซึ่งมีโปรแกรมเข้าฉายในเดือนเมษายนถูกถอดโปรแกรมไปอย่างเงียบๆ และยังมีผู้วิเคราะห์หลายคนมองว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทางการจีนเซนเซอร์งานประกาศผลออสการ์ปีนี้ โดย Variety ได้อ้างถึงคอมเมนต์ใน Weibo เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ว่า “ในจีน เธอก็ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นคนจีน ในอเมริกา เธอก็ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นคนอเมริกัน เธออยู่ใน Nomadland (ดินแดนคนไร้ถิ่น) อย่างแท้จริง”

เหตุการณ์นี้อาจส่งผลต่อผลงานกำกับเรื่องต่อไปของเธออย่าง Eternals หนังซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์จากมาร์เวลที่จะเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งหากหนังเรื่องนี้ถูกจีนแบนไปด้วย ก็จะทำให้ค่ายหนังสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ บทความใน DW ของผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ สกอตต์ ร็อกซ์โบโรห์ ยังวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามันแสดงถึงการเซนเซอร์ในจีนที่เข้มงวดมากขึ้นในทุกมิติ และแสดงถึงท่าทีที่ทางการจีนพยายามกดดันฮอลลีวูดให้วางตัวเข้าข้าง รวมถึงบอยคอตคนทำหนังหรือนักแสดงที่ต่อต้านจีน โดยใช้การเซนเซอร์สื่อเป็นเครื่องมือ ทำให้ทางฮอลลีวูดต้องยอม ‘ตามน้ำ’ เพราะไม่อยากสูญเสียรายได้มหาศาลไป

ปรากฏการณ์นี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า ภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อที่รับใช้ศิลปะหรือธุรกิจได้เท่านั้น หากแต่มันยังเกี่ยวพันกับ ‘การเมือง’ อย่างแน่นแฟ้นเสมอมาอีกด้วย

อ้างอิง: Bloomberg, IndieWire, Variety, DW

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2075901
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2075901