มอง ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ที่พัดผ่านออสการ์ 2021 และโลกภาพยนตร์


ให้คะแนน


แชร์

หากจะให้นิยามงานประกาศผลรางวัล ‘ออสการ์’ หรือ Academy Awards 2021 ด้วยคำหนึ่งคำ บางคนอาจเสนอคำว่า New Normal, Diversity, Streaming หรือแม้กระทั่ง Covid-19 แต่ผู้เขียนมองว่าคำที่เหมาะสมที่สุดก็คือ Change หรือ ‘การเปลี่ยนแปลง’

ด้วยความที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตของผู้คนมาเป็นปีๆ จนกลายมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของ ‘ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดได้ในโลกอนาคต’ ให้ปรากฏ ‘เร็วขึ้น’ ในแทบทุกวงการ ซึ่งก็รวมถึงวงการภาพยนตร์และงานมอบรางวัลทั่วโลก

ปรากฏการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านงานออสการ์ 2021 โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ กฎการเข้าชิงออสการ์, รูปแบบพิธีการมอบรางวัล, ความหลากหลายของผู้เข้าชิง และลักษณะการดูหนังออสการ์ของผู้ชม

ข่าวแนะนำ

Mank หนึ่งในหนังจาก Netflix ที่ได้ชิงออสการ์ Mank หนึ่งในหนังจาก Netflix ที่ได้ชิงออสการ์

1) กฎการเข้าชิงออสการ์ : จากความเข้มงวดเน้นหนังฉายโรง สู่การอนุโลมให้หนังสตรีมมิง

หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 หนังหลายเรื่องถูกค่าย ‘เลื่อนฉาย’ หรือเปลี่ยนไป ‘ลงสตรีมมิง เซอร์วิส’ แทน ส่งผลให้ สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences – AMPAS) ผู้จัดงานออสการ์ได้เปลี่ยนแปลง ‘กฎ’ หลายอย่าง เช่น การเลื่อนพิธีมอบรางวัลจากปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็น 26 เมษายน 2021 และการขยายกรอบเวลาให้หนังที่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ จากเดิมที่ต้องฉายก่อน 31 ธันวาคม 2020 มาเป็นก่อน 28 กุมภาพันธ์ 2021

หนึ่งในกฎที่ได้รับการผ่อนปรนและส่งผลต่อรายชื่อผู้เข้าชิงอย่างมากก็คือ “หนังฉายโรงเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์” โดยต้องฉายในโรงหนังที่ลอสแอนเจลิสอย่างน้อย 1 โรง เป็นเวลา 7 วัน (ซึ่งถือเป็นการบังคับกลายๆ ให้ค่ายหนังที่หวังออสการ์ต้องเลือกโมเดลการฉายในโรงหนัง ไม่ใช่ลงแค่สตรีมมิงอย่างเดียว) แต่ในปีนี้ AMPAS ได้ออกประกาศว่า หนังที่เคยมีแผนจะเข้าฉายโรง แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปฉายสตรีมมิงในช่วงเวลาที่โรงหนังปิดทำการนั้น สามารถมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ได้

แม้จะเป็นการผ่อนปรนชั่วคราว แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีเมื่อพิจารณาว่า ที่ผ่านมา AMPAS มักเข้มงวดกับกฎหยุมหยิมและพยายามกีดกันหนังสตรีมมิงออกไป จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของทัศนคติที่ไม่ทันโลก ซึ่งการผ่อนปรนให้หนังสตรีมมิงแบบชั่วคราวครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง ‘ความหวัง’ ที่จะมีการเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนกฎตายตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบการดูหนังของผู้คนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจได้เห็นวิวาทะระหว่าง ‘หนังโรง’ กับ ‘หนังสตรีมมิง’ ที่ยิ่งรุนแรงแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

บรรยากาศงานออสการ์ปีนี้ บรรยากาศงานออสการ์ปีนี้

2) รูปแบบพิธีการมอบรางวัล : จากความยิ่งใหญ่อลังการ หวนคืนสู่ความเรียบง่าย

ก่อนหน้านี้ พิธีการมอบรางวัลออสการ์มักถูกวิจารณ์ว่า มุ่งเน้นความยิ่งใหญ่อลังการและฟุ่มเฟือยจนเกินพอดี (จนบางทีค่าชุดสำหรับเดินพรมแดงยังมากกว่าทุนสร้างของหนังทุนต่ำบางเรื่องที่ได้เข้าชิงเสียอีก) อีกทั้งความยาวของงานที่ลากยาวเกือบ 4 ชั่วโมงจนเรตติ้งผู้ชมลดลงทุกปี (ล่าสุดคือต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์) แต่จะให้ปรับเปลี่ยนพิธีการแบบยกเครื่องใหม่ไปเลยก็ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นพิธีการที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จนผู้ชมคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรซ้ำๆ เดิมๆ

แต่เมื่อไม่สามารถจัดงานออสการ์แบบเดิมได้ในยุค New Normal จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการทดลองสิ่งใหม่ๆ โปรดิวเซอร์ของงานในปีนี้ -ซึ่งนำโดยผู้กำกับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์ (Ocean’s Eleven)- ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด โดยการตัดพิธีการใหญ่โตที่ต้องใช้ผู้คนจำนวนมากและอาจนำมาซึ่งความแออัดออกไป

โปรดิวเซอร์ได้เลือกสถานที่มอบรางวัลหลักเป็นสถานีรถไฟเก่า ยูเนียน สเตชัน ซึ่งแม้สถานที่จะเล็กลงกว่าปีก่อนๆ แต่ก็ถูกตกแต่งให้ออกมาคลาสสิกสวยงาม ส่วนสถานที่จัดงานเดิมอย่าง ดอลบี เธียร์เตอร์ ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่จัดแสดงโชว์ในช่วงระหว่างประกาศผล และสำหรับผู้เข้าชิงที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา ทางผู้จัดได้เพิ่มสถานที่จัดงานย่อยในเมืองต่างๆ แล้วถ่ายทอดภาพวิดีโอผ่านทางดาวเทียม

นอกจากนั้น รูปแบบงานยังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นงานสำหรับคนรักหนังมากขึ้น ภายใต้ธีม Stories Matter (เรื่องเล่ามีความสำคัญ) ส่งผลให้งานครั้งนี้มีบรรยากาศที่ดูเรียบเรื่อย เข้าถึงง่าย และมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่การพูดแนะนำผู้เข้าชิงรางวัลก็ถูกปรับเปลี่ยนจากการฉายเนื้อหาบางส่วนของหนังแต่ละเรื่อง มาเป็นการพูดถึงชีวิต, ผลงาน และประสบการณ์ต่างๆ ของผู้เข้าชิง ซึ่งส่งผลให้ผู้ชมได้รู้จักพวกเขาในแง่ของ ‘ความเป็นมนุษย์’ และ ‘ความเป็นคนทำหนัง’ มากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับการออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น ก็ถูกถ่ายทอดในลักษณะใกล้เคียงกับฟอร์แมตของภาพยนตร์มากขึ้น ทั้งการใช้มุมกล้อง, ขนาดภาพแบบจอกว้าง, อัตราความเร็วของเฟรมภาพ และดนตรีประกอบ

แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียหมด โดยมีหลายอย่างที่ยังไม่ลงตัวเท่าไร เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่อยู่ที่ลำดับการมอบรางวัลที่เปลี่ยนจากการปิดท้ายด้วย ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ มาเป็น ‘นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม’ (ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 โน่นเลย) ซึ่งหลายคนคาดว่า รางวัลนี้จะตกเป็นของ แชดวิก โบสแมน จาก Ma Rainey’s Black Bottom (เพราะจะทำให้เป็นการปิดท้ายออสการ์ที่ชวนให้น่าจดจำและเรียกน้ำตาผู้ชม) แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ชนะคือ แอนโธนี ฮอปคินส์ จาก The Father ซึ่งไม่ได้มาปรากฏตัวในงาน (เขาเก็บตัวอยู่ในบ้านพักที่เวลส์ และไม่คิดว่าจะได้รางวัล) จนทำให้งานต้องจบแบบเรียบๆ นิ่งๆ หักมุมไปเสียอย่างนั้น

โคลอี เจา กับออสการ์ของเธอ โคลอี เจา กับออสการ์ของเธอ

3) ความหลากหลายของผู้เข้าชิง : หลากหลาย แต่ยังได้มากกว่านี้

“ทำไมผู้ชนะออสการ์ส่วนใหญ่จึงมีแต่คนผิวขาว” นี่คือเสียงวิจารณ์ที่ออสการ์ได้รับมาตลอด ซึ่งมันดูจะ ‘ดัง’ เป็นพิเศษในช่วงปี 2014 – 2015 ที่ผู้เข้าชิงสาขาหลักเป็น ‘ชาวตะวันตกผิวขาว’ ทั้งหมด จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #OscarsSoWhite ขึ้น

หลังจากนั้น ทาง AMPAS จึงพยายามปรับปรุงด้วยการเพิ่มเติมสมาชิกที่มี Diversity หรือ ‘ความหลากหลาย’ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้เข้าชิงและผู้ชนะรางวัลออสการ์ในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติมากขึ้น โดยปีนี้มีการสร้างสถิติใหม่คือ ผู้หญิง 70 คนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ (จากทั้งหมด 23 สาขา) และคนผิวดำ 9 คนได้เข้าชิงออสการ์สาขาการแสดง (จากทั้งหมด 20 คน)

เรายังได้เห็นการทำลายสถิติต่างๆ จากผู้ชนะอีกมากมาย เช่น โคลอี เจา เป็นผู้หญิงคนที่สอง (คนแรกคือ แคธรีน บิเกโลว์ จาก The Hurt Locker) และเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ จาก Nomadland, ยุนยอจอง เป็นนักแสดงเกาหลีคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม’ จาก Minari, มีอา นีล กับ จามิกา วิลสัน เป็นคนผิวดำสองคนแรกที่ได้รางวัล ‘การแต่งหน้า-ทำผมยอดเยี่ยม’ จาก Ma Rainey’s Black Bottom และ จอห์น แบติสต์ เป็นคนผิวดำคนที่สองที่ได้รางวัล ‘ดนตรีประกอบออริจินอลยอดเยี่ยม’ จาก Soul (คนแรกคือ เฮอร์บี แฮนค็อก จาก Round Midnight)

นอกเหนือจากตัวของผู้เข้าชิงและผู้ชนะแล้ว ความหลากหลายยังรวมไปถึงประเด็นและเรื่องราวในหนังที่ได้เข้าชิงด้วย โดยมันไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่กับเรื่องราวของ ‘คนผิวขาวชนชั้นกลาง’ อีกต่อไป เช่น Minari ที่เล่าเรื่องของครอบครัวคนเกาหลีที่มาตั้งรกรากในอเมริกา; Ma Rainey’s Black Bottom, Judas and the Black Messiah หรือ One Night in Miami… ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์อันทุกข์ยากของคนผิวดำ และ Nomadland ที่ว่าด้วยคนร่อนเร่ไร้บ้านหลากเชื้อชาติที่ถูกสังคมทอดทิ้ง-ตัดสิน

แต่เอาเข้าจริง การที่ออสการ์มีอายุมากถึง 93 ปี แต่เพิ่งมีผู้หญิงชนะรางวัล ‘ผู้กำกับ’ แค่ 2 คน จะถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าชื่นชมก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก (ถ้าบอกว่า ‘ล้าหลังน้อยลง’ น่าจะถูกต้องกว่า) แถมการที่ตัวเก็งที่เป็นคนผิวดำกลับพลาดรางวัลไป ก็สร้างความผิดหวังให้กับหลายคนเช่นกัน ทั้ง แชดวิค โบสแมน ที่กล่าวไป และ วิโอลา เดวิส ในสาขานักแสดงนำชาย และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Ma Rainey’s Black Bottom

Variety ได้พูดถึงประเด็นนี้โดยอ้างอิงกับสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลของ แดเนียล คาลูยา (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Judas and the Black Messiah) ว่า “ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องทำ” ซึ่งก็รวมถึงการต่อสู้เพื่อความหลากหลายของออสการ์ที่ต้องมีให้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

Another Round หนังนานาชาติยอดเยี่ยมปีนี้จากเดนมาร์ก Another Round หนังนานาชาติยอดเยี่ยมปีนี้จากเดนมาร์ก

4) ลักษณะการดูหนังออสการ์ของผู้ชม : จากการดูในโรง มาเป็นดูที่บ้าน

‘ภาพจำ’ สำหรับช่วงเวลาของการประกาศผลออสการ์ที่ผ่านๆ มา คือการที่โรงหนังจะนำหนังออสการ์หลายเรื่องมาฉาย รวมถึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การดูหนังออสการ์ในโรงพร้อมพูดคุย หรือการทายผลออสการ์ ส่วนคอหนังก็มีหน้าที่ตามดูหนังออสการ์ในโรงให้ได้มากที่สุด

แต่ในปีนี้กลับกลายเป็นว่า ผู้ชมสามารถตามดูหนังออสการ์ส่วนใหญ่ได้จากช่องทางออนไลน์ ด้วยสาเหตุหลักๆ 2 ข้อคือ หนึ่ง, การพุ่งแรงของหนังสตรีมมิงบนเวทีรางวัล และ สอง, การที่โรงหนังซบเซาจากโรคระบาด

สาเหตุข้อแรกเกิดขึ้นจากการที่นโยบายของ Netflix ที่หวังพุ่งเป้าสู่การเป็นช่องหนังรางวัลเริ่มเห็นผล (จากความพยายามในการเข้าไปร่วมงานกับผู้กำกับและทีมงานฝีมือดี) จึงทำให้ปีนี้ Netflix กลายเป็นสตูดิโอที่เป็น ‘แชมป์ออสการ์’ ทั้งทางด้านจำนวนรางวัลที่เข้าชิง (36 รางวัล) และจำนวนรางวัลที่ได้รับ (7 รางวัล) โดยสิ่งที่ Netflix ยังทำไม่ได้คือการเป็นเจ้าของรางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ นั่นเอง (แต่หลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้) ซึ่งหากออสการ์ไม่ได้เปลี่ยนกฎการเข้าฉายสำหรับหนังที่เข้าชิง มาเป็นอนุโลมให้หนังสตรีมมิง Netflix ก็คงไม่มีโอกาสกวาดรางวัลเหล่านี้มาได้ เพราะหนังส่วนใหญ่จะถูกฉายในช่องทางของตัวเอง (ยกเว้น Roma ที่เคยเข้าฉายในโรงหนังควบด้วย)

ส่วนสาเหตุถัดมาเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้โรงหนังต้องปิดทำการ หรือแม้จะเปิด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ ส่งผลให้ค่ายหนังในอเมริกาต้องเปลี่ยนโมเดลการฉาย จากการฉายในโรงอย่างเดียว มาเป็นการฉายในโรงควบคู่กับสตรีมมิง หรือ VOD (Video on Demand) ที่ให้เช่าหรือซื้อดูเป็นรายเรื่อง โดยหนังออสการ์ที่ใช้โมเดลนี้ ได้แก่ Nomadland, Judas and the Black Messiah, Minari, Promising Young Woman และ Another Round เป็นต้น

สำหรับในไทย หนังออสการ์หลายเรื่องยังคงมีโมเดลแบบฉายโรงอย่างเดียวอยู่ แต่ด้วยความที่หนังเข้าฉายแบบจำกัดรอบจำกัดโรง หรือหนังบางเรื่องก็ไม่ประกาศวันฉายเสียที จนผู้ชมไม่รู้ว่าจะเข้าฉายหรือไม่ (ปีนี้ Nomadland ก็มีแนวโน้มว่าจะสร้างสถิติเป็นหนังยอดเยี่ยมออสการ์ที่ไม่ได้ฉายโรงบ้านเราในรอบ 31 ปี นับตั้งแต่ Driving Miss Daisy เมื่อ 1989) และโรงหนังก็ดันมาปิดทำการในวันที่ออสการ์ประกาศผลพอดี บวกกับการที่หนังส่วนใหญ่มีให้ดูแบบออนไลน์แล้วด้วย (ส่วนใหญ่เป็นแบบผิดลิขสิทธิ์ที่หลุดมาจากช่องทางออนไลน์ในต่างประเทศ) ซึ่งสะดวกสบายมากกว่าและไม่เสี่ยงต่อโรคระบาด ก็ส่งผลให้ผู้ชมหลายคนเลือกที่จะดูหนังออสการ์แบบออนไลน์ที่บ้านมากกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ทาง AMPAS จะประกาศว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหลังโรคระบาดสิ้นสุดลง แต่ความเปลี่ยนแปลงคงเหมือนกับ ‘สายลม’ ที่พัดผ่านไปแล้วก็ยากที่จะหวนคืนกลับมาอีก ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า วงการภาพยนตร์และงานมอบรางวัลทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีกบ้างหลังจากนี้.

อ้างอิง: Variety (1, 2, 3), IndieWire (1, 2, 3)

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2078975
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2078975