แม้แต่ Nomadland ก็ไม่อาจฝืนให้ "ศิลปะ" อยู่เหนือ "การเมือง" ได้


ให้คะแนน


แชร์

“And The Oscar Goes to…Nomadland” มันช่างเป็นวาทะอันหอมหวานแสนอภิรมย์ หากแต่วาทะ…

“A place where there are lies everywhere”
“เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องโกหกทุกหนแห่ง”

ซึ่ง “เธอ” กล่าวพาดพิงประเทศบ้านเกิดในปี 2013 กลับทำให้ความสำเร็จในค่ำคืนแห่งเกียรติยศ ได้รับเสียงตอบรับที่สุดแสนจะเย็นชา ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นบนดินแดนมาตุภูมิของตัวเอง

ไม่มีแฮชแท็กที่ควรถูกกระหน่ำจนติดเทรนด์ในโลกโชเชียลมีเดีย หรือเสียงชื่นชมยินดีในฐานะฮีโร่ของประเทศจากรัฐบาล เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ บอง จุน โฮ (Bong Joon-ho) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ที่รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากภาพยนตร์ “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) บนเวทีเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

หรือหากเทียบเคียงกับสิ่งที่ จาง อี้โหม่ว (Zhang Yimou) ผู้กำกับระดับบรมครูของจีนเคยได้รับในฐานะผู้กำกับจากแดนมังกรคนแรก ที่พาภาพยนตร์เรื่อง “จูโด (Ju Dou) เธอผิดหรือไม่ผิด” เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อปี 1990 มันก็ยิ่งแตกต่างกันชนิดสุดกู่

จาง อี้โหม่ว กลายเป็นฮีโร่ในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจีนภาพยนตร์หลายเรื่องต่อมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล รวมทั้งยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้กำกับพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ที่ว่ากันว่าใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2008

ในขณะที่ “เจาทิง” ไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงแบบนั้นเลยสักนิด ไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งการรายงานข่าวเพื่อสรรเสริญความสำเร็จที่เกิดขึ้น รวมไปจนกระทั่งถึง “ใครก็ตาม” ที่พยายามจะแสดงความยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ “ข้อความเหล่านั้น” ก็มักจะหายสาบสูญไปจากโลกโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว

และนั่นคือ มุมมองจากสื่อในโลกตะวันตกแทบทุกสื่อที่เรียงหน้าตั้งคำถามตัวโตๆ กับรัฐบาลปักกิ่งว่า เหตุใดจึงเลือกใช้ “การเมือง” ปิดกั้น “ศิลปะ

แล้วในมุมของรัฐบาลปักกิ่งล่ะ พวกเขาตอบโต้คำถามที่ว่านั้นจากสื่อตะวันตกในรูปแบบใด?

หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา Nomadland คือ ภาพยนตร์ที่มีวิถีความเป็นอเมริกันแบบสุดโต่ง และยังห่างไกลจากชีวิตจริงของชาวจีน อีกทั้งการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลออสการ์น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่า มันต้องจริตสำหรับสังคมอเมริกัน

เอาละ แม้จะมีบางครั้งที่ความสนใจในภาพยนตร์ สำหรับชาวจีนและชาวอเมริกันจะทับซ้อนกันอยู่ในที แต่ในบางครั้ง มันก็มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับ Nomadland น่าจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า!

บทบรรณาธิการของ Global Times สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน “หยิกกลับ” สื่อตะวันตกที่เรียงหน้าพร้อมอกพร้อมใจกันตั้งคำถามที่ว่านั้น

แต่เดี๋ยวก่อน การตอบโต้ของ Global Times มิได้จบลงเพียงเท่านั้น เราไปฟังการ “หยิกคืน” ของปักกิ่งกันต่อดีกว่า

เมื่อครั้งที่ภาพยนตร์ Nomadland คว้ารางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe) ชาวจีนต่างให้กำลังใจ “เจาทิง” กันอย่างล้นหลาม แต่ในเวลาต่อมาเมื่อทราบว่า เธอเคยกล่าวถึงประเทศบ้านเกิดอย่างไม่เหมาะสม มุมมองของชาวจีนที่มีต่อเธอก็เปลี่ยนไป

ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะในยามที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังตึงเครียด ประเด็นนี้ย่อมทำให้ทั้งชาวจีนและชาวอเมริกันเกิดความอ่อนไหวได้

หากชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศจีนเวลานี้ ก็คงเกิดความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ และเช่นเดียวกัน หากชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐฯ เวลานี้ก็คงเกิดความรู้สึกที่แทบไม่แตกต่างกัน

ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เลวร้ายลงทุกขณะ กำลังบีบช่องว่างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนจากทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะผู้คนที่พยายามค้นหาโอกาสจาก “ศิลปะ” แขนงนี้ ที่กำลังจะมีโอกาสได้พบกับปัญหาและความวุ่นวายที่มองไม่เห็นอันเกิดขึ้นในอดีต จนกระทั่งทำให้พวกเขาพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความพึงพอใจ

อย่างไรก็ดี การที่ “เจาทิง” ได้รับออสการ์ถือเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดแล้วว่า “เธอ” ประสบความสำเร็จบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา “เรา” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “เธอ” จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นต่อไป

และในยุคที่การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางทีทั้ง “เจาทิง” และ “ฮอลลีวูด” ควรก้าวเข้ามามีบทบาทในการลดแรงเสียดทาน และผสานความเข้าใจระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะ “เจาทิง” ที่ได้รับรางวัลที่สุดแสนพิเศษอย่างรางวัลออสการ์ไปแล้ว “เธอ” จึงควรใช้มันในการขับเคลื่อนในประเด็นนี้อย่างจริงจังต่อไป

ที่ผ่านมา ตลาดภาพยนตร์ในประเทศจีน ทั้งเปิดกว้างและให้การต้อนรับภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ฮอลลีวูดจึงควรกลายเป็นอีกหนึ่งความผูกพันระหว่างสังคมอเมริกันและสังคมจีน เพราะนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับฮอลลีวูดเองแล้ว มันยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศได้อีกด้วย

ในสุนทรพจน์ที่ “เจาทิง” กล่าวหลังพิชิตออสการ์ “เธอ” ซึ่งเกิดและเติบโตในประเทศจีน ได้อ้างอิงสำนวนที่มาจากตำราคลาสสิกของจีน ที่ชื่อว่า “ซันจื้อจิง” หรือ Three Character Classic (三字经) โดยสำนวนนั้นมีความหมายว่า “มนุษย์กำเนิดมาเป็นคนดีโดยธรรมชาติ”

ซึ่ง “เจาทิง” ได้ยึดหลักสำนวนนี้ เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเวลาที่เผชิญกับความยากลำบาก

“สำนวนนี้ไม่ใช่เพียงแค่ “เธอ” แต่ยังรวมถึงทุกคนที่มีศรัทธาและกล้าหาญในการรักษาความดีงามกับตนเองและกับผู้อื่น เพราะไม่มีอะไรที่ยากเกินกว่าที่จะทำ”

“เรา” เห็นด้วยกับ “เธอ” เพราะการจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เหนียวแน่นได้ ก็ต้องใช้ผู้ที่มีศรัทธาและกล้าหาญในการรักษาความดีงามกับตนเองและกับผู้อื่นเช่นกัน

และนั่นคือ เสียงสะท้อนของรัฐบาลจีนที่มีต่อทั้ง “Nomadland” และ “เจาทิง” หลังประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์ รวมถึงสื่อตะวันตกที่พร้อมใจกันตั้งคำถามเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงราวกับนัดกันไว้

ในเวลาที่ การเล่นสงครามเย็นเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งของโลกกำลังเขม็งเกลียวขึ้นทุกขณะในทุกมิติ รวมถึงพร้อมที่จะหยิบฉวยทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่นงานอีกฝ่ายให้เพลี่ยงพล้ำ และนั่นคือ ความจริงอย่างที่สุดว่า การเมืองมันสามารถแทรกตัวลงไปได้กับทุกๆ เรื่องไม่เว้นแม้แต่ “วงการศิลปะ” ซึ่งควรจะปราศจากการถูก “แทรกแซง” ในทุกรูปแบบ หรือมันอาจเป็นเพราะ…

“ผลประโยชน์ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวน่าสนใจ:

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2078700
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2078700