กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ จากแร็ปเปอร์สู่ผู้บริหารค่ายเพลง และอีกฝันที่อยากทำ


ให้คะแนน


แชร์

ก่อนจะมาเป็นศิลปิน

เราถามถึงวันวานก่อนมาเป็นศิลปินและเบื้องหลังการทำเพลงของกอล์ฟ ว่าเมื่อก่อนชอบเพลงสไตล์ยังไง ฟังเพลงแนวไหน กอล์ฟบอกว่า “จริงๆ ผมฟังเพลงหลากหลายนะครับ พ่อจะฟังจรัล มโนเพ็ชร, นิค นิรนาม แม่ก็ฟังพุ่มพวง ดวงจันทร์, คาราบาว ผมก็ฟังเทปพ่อบ่อยๆ ก็ซึมซับมา เราก็จะฟังมาตั้งแต่แร็พเตอร์, พี่มอส ปฏิภาณ เราชอบฟังเพลงไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เราเคยทำงานนิตยสาร MTV เราเป็นคอลัมนิสต์มา เราจะเข้าใจการเขียน Article เราก็เข้าใจการฟังเพลงแบบโปรดักชั่น เพราะเราโดนฝึกจากการเป็นคอลัมนิสต์

เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เลยปลูกฝังมา เพลงสากลเราก็ฟังมาจาก MTV เราโตมากับเบเกอรี่ มิวสิค เราก็ฟังเพลง ดูนักแต่งเพลง เช่น ตรัย ภูมิรัตน, ปิยะ ศาสตรวาหา (โป้ โยคีเพลย์บอย) ฯลฯ เราเป็นคนฟังโปรดักชั่น เพราะฉะนั้นการฟังเพลงของเราคือหนึ่งฟังเพื่อความบันเทิง สองดูในแง่โปรดักชั่นด้วยว่าแต่ละตำแหน่งคืออะไร มีความสำคัญยังไง มันเลยทำให้เราฝึกในการเป็นโปรดิวซ์ไปด้วย”

และเมื่อถามว่า ตอนเริ่มทำเพลงของตัวเองอายุเท่าไร และเป็นยังไงบ้าง กอล์ฟบอกว่า “ตั้งแต่อายุ 18-19 มั้งครับ เป็นช่วงที่เริ่มเขียนเพลงแรก ตอนนั้นยังเป็นเด็กก๊องแก๊ง แต่งเพลงให้สาว (ยิ้ม) ก็ไม่คิดหรอกว่าวันนี้จะเป็นเจ้าของค่ายเพลง จริงๆ เป็นศิลปินยังว่ายาก เจ้าของค่ายก็ยังงงๆ อยู่เลย แต่ค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ มากกว่า แต่ผมมองว่าถ้าเราจะทำซะอย่าง เราทำได้หมดเลยครับ”

เคล็ดลับการทำเพลง

ถึงแม้ตอนอายุ 18-19 ปี จะเริ่มแต่งเพลงตามความชอบ ชีวิตลำบากหนัก ไม่มีแม้กระทั่งเงินกินข้าว ไม่เคยคิดว่าจะกลายเป็นศิลปินและเจ้าของค่ายเพลง แต่หลังจากนั้นในปี 2545 กอล์ฟมีผลงานเพลงแร็ปกับก้านคอคลับ เครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะศิลปิน “สิงห์เหนือเสือใต้” มีผลงานเพลงออกมามากมาย เพลงประกอบละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ทำงานเพลงเบื้องหลัง ร่วมร้องเพลงกับศิลปินหลายคน ก่อนจะย้ายมาอยู่ค่าย What The Duck และมีผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในนาม F.Hero กับอัลบั้ม INTO THE NEW ERA มีการร่วมร้องกับศิลปินดังมากมาย อาทิ แบมแบม GOT7, ปู พงษ์สิทธิ์, แอ๊ด คาราบาว, แว่นใหญ่, ยังโอม, วันเดอร์เฟรม ฯลฯ

เรียกง่ายๆ ว่านอกจากจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จทั้งในงานเพลงของตัวเองแล้ว กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ยังอยู่เบื้องหลังการทำเพลงของศิลปินดังอีกหลายคน และประสบความสำเร็จหลายเพลงเลยทีเดียว เราก็ยังถามต่อถึงเคล็ดลับในการทำงานของเขา เขาบอกว่า “จริงๆ แล้วการทำตาม reference เป็นเรื่องสำคัญนะครับ แต่จะดัดแปลง reference ให้มันเป็นเรา อันนี้เป็นเรื่องยากกว่า ส่วนมากเวลาทำงานตามโจทย์ของลูกค้า เราดูว่าลูกค้าอยากได้อะไร แต่ในวิธีการทำงานของเรา เราจะเข้าไปดูว่าศิลปินจริงๆ เขามีอะไร ปรับตามโจทย์ของลูกค้ากับโจทย์ของศิลปินให้มาเข้ากัน โดยมีความเป็นลูกค้าด้วย ศิลปินด้วย แต่ถ้าเป็นเพลงของตัวเอง เราก็จะดูว่าเราอยากได้อะไร อันนี้ก็จะสบายครับ

เวลาทำเพลงกับศิลปินรุ่นใหม่ก็กระชุ่มกระชวยดีครับ ทำกับ VYRA (ไวร่า) น้องมีพลังเต็มเปี่ยม ทำกับไอซ์ พาริส ก็กระชุ่มกระชวย Jaylerr (เจเจ กฤษณภูมิ) ก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ถามว่ามีการแลกไอเดียมั้ยมีฮะ อย่าง Jaylerr ผมทำงานกับเขาแล้วรู้สึกว่าเขามีของที่ซ่อนไว้เยอะ รู้สึกว่าสิ่งที่เราค้นเจอมันเหมือนผมกำลังเจอชิ้นงานศิลปะชิ้นนึงที่กำลังรอการขัดเกลา อยากแสดงโชว์ ผมรู้สึกว่า Jaylerr เป็นมาสเตอร์พีซสำหรับผม”

ที่มาค่ายเพลง High Cloud

จากนั้นเราถามถึงที่มาของการทำค่ายเพลง High Cloud Entertainment ที่เกิดจากการรวมตัวของกอล์ฟ, หลุยส์ ธชา รวมถึง พิมรี่พาย กอล์ฟเล่าให้ฟังว่า “High Cloud เกิดจากช่วงที่เราจบอัลบั้มแรก และเรายังรู้สึกว่าอิ่มตัวกับความสำเร็จของอัลบั้มแรกอยู่ เรายังไม่ได้มีไฟที่ทำอัลบั้มต่อไป ก็เลยคิดว่าเอ๊ะ เราอยากทำอะไรดี ก็ไปเจอน้องเทอร์โบ (Txrbo) ที่ทำเพลง “จำเลยรัก” ด้วยกันในยูทูบ แล้วเราก็เลยเฮ้ย อยากทำโปรดิวซ์น้องคนนี้ อยากร่วมงาน อยากทำเพลงให้ด้วย ทีแรกเอาน้องไปเสนอตามค่ายต่างๆ เพื่อนๆ แต่เพื่อนๆ ยังไม่ได้เอา เราก็เลยเฮ้ย อย่างงั้นเราทำค่ายให้เทอร์โบดีกว่า เทอร์โบเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดอยากทำค่ายเพลงครับ

ทีนี้เราก็เริ่มชวนเทอร์โบมา เริ่มชวนเด็กๆ ที่เราสนใจ เพราะเราอยากทำค่าย แล้วชวนคุณหลุยส์เข้ามาบริหารที่ค่ายใหม่ ทำไปทำมาก็เริ่มได้เดโมเป็นรูปเป็นร่างก็เลยคิดถึงนายทุน เราก็เสนอหลายท่านเหมือนกัน ไปคุยหลายเจ้า แต่บังเอิญว่าช่วงนั้นไปทำเพลง “อย่านะคะ” ให้กับพิมรี่พาย ก็ลองเสนอดูว่าอยากทำด้วยรึเปล่า เขาก็สนใจ ก็เลยให้ทุนมาทำ สุดท้ายก็รวมเป็น High Cloud”

ส่วนที่มาของชื่อ High Cloud กอล์ฟบอกว่า “ผมเป็นคนตั้งเอง คอนเซปต์คือเราเห็นเมฆ เราไม่สามารถจำกัดรูปทรงเมฆได้ เมฆจะอยู่ข้างบน เวลามองขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองมุมไหน อาจจะเห็นเป็นหมา เป็นรถ มันก็เหมือนศิลปะเพลงที่มันไม่จำกัดรูปทรง ให้มัน High เข้าไว้ เพราะรู้สึกจะได้เหมือนความฝันที่เราจะต้องตะเกียกตะกายขึ้นไปครับ”

ในส่วนแนวทางการทำเพลงของค่าย High Cloud กอล์ฟบอกว่า “เป็นค่ายเพลงแนว T-Pop ซึ่ง T-Pop ของเราคือการที่เพลงทุกประเภทที่เป็น Mass ของ Pop แต่เป็นเพลงที่มีกลิ่นของความเป็นไทย อะไรก็ตามที่มีส่วนผสมอยู่ก็เป็น T-Pop รวมไปถึงฮิปฮอปด้วยครับ เพราะฉะนั้นเราทำทุกแนวที่เป็นเมนสตรีท แต่จะพยายามสอดแทรกอะไรไทยๆ เข้าไป ส่วนศิลปินของค่าย ตอนนี้มีผม พิมรี่พาย หลุยส์ และวงของคุณหลุยส์ Don’t Try This At Home (DTTAH) น้องเทอร์โบ วงแบร์นัคเคิล (Bear Knuckle) และก็วง Boom Boom Cash รวมถึงน้องหว่าหวา (WHA WHA) ซึ่งเป็นศิลปินเดี่ยว จะมาเดือน มิ.ย. อีกวงคือ THB อันนี้เป็นฮิปฮอปกรุ๊ปครับ”

จากนั้นกอล์ฟเผยถึงเพลง “เบิ้ล (Double)” ที่เป็นการร้องร่วมกันกับพิมรี่พาย, Boom Boom Cash และ M-PEE ว่า เป็นการรวมศิลปินของค่ายเซตแรก ซึ่งน้องหมี (M-PEE) เป็นตัวแทนของ Bear Knuckle เป็นการเปิดตัวเซตแรก ส่วนกลางปีจะมีอีกเซตนึง เพลงเบิ้ลเหมือนเป็นการแนะนำก่อนว่าครึ่งปีแรกจะมีใครบ้าง การทำงานเพลงนี้สนุกดี เป็นการดึงศักยภาพของพิมรี่พายในการแร็ปออกมาด้วย ถึงเขาไม่ได้มีฝีมือในการเขียน แต่ด้วยเรื่องราวชีวิตของเขาเหมาะที่จะเล่าเรื่องแบบแร็ป แอดติจูดในการแร็ปของเขามีมาก

นอกจากนี้ กอล์ฟเล่าถึงการทำงานกับพิมรี่พายให้ฟังว่า “พิมเป็นนายทุนที่หนึ่งเป็นคนใจป้ำ ถ้าเขาเห็นการทำงานของเราแล้วเขามั่นใจ เขาก็ถึงไหนถึงกัน สองเขาเป็นนักธุรกิจที่เก่งมากในอายุ 30 ที่เขาประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทุกอย่างไม่มีคำว่าฟลุคเลย พิมผ่านการคิดไตร่ตรอง มีวิสัยทัศน์ในธุรกิจที่เก่งมาก ทีมเขาก็แข็งแรงด้วย สามคือเขาไม่ใช่คนรวยแบบที่คนรวยเป็น เขาจะมีความเป็นนักเลง ความใจถึงอยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเวลาคุยจะคุยกันง่ายๆ ไม่ได้ใช้ศัพท์ภาษาทางธุรกิจ คุยเหมือนพี่น้องมากกว่า แต่ในโหมดทำธุรกิจเขาก็จริงจัง เรารู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานกับพิมครับ”

สิ่งที่ต้องเจอเมื่อทำค่ายเพลง

เมื่อเป็นศิลปิน รับผิดชอบแค่หน้าที่ตัวเอง แต่พอทำธุรกิจค่ายเพลง ต้องดูแลหลายๆ อย่าง ต้องปรับตัวเยอะแค่ไหน กอล์ฟบอกทันที “โห ปรับตัวเยอะมาก เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าตอนนี้เหมือนเราต้องรวมทีมอเวนเจอร์ เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าค่ายเพลงคือการทำเพลงแล้วเอาไปปล่อยสตรีมมิง ถ่ายเอ็มวีลงยูทูบแล้วจบ แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ มันต้องมีพีอาร์ เออาร์ดูแลศิลปิน มันต้องมีคิวเซ็นเตอร์ คนขายงาน บัญชี เอกสาร คือเรียนรู้ใหม่หมดเลยครับ ดีลกับศิลปินไม่พอ ต้องดีลกับทีมงานด้วย ดีลกับเวลาด้วย ทีมงานแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกัน ทุกคนจะมีธรรมชาติที่เราต้องดีลแตกต่างกันไป จากที่เคยทำเองและมีค่ายซัพพอร์ตเรา คราวนี้เราเข้าใจค่าย การไว้ใจทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก”

วิธีการเลือกศิลปิน กอล์ฟบอกว่า ชะตาด้วยส่วนหนึ่ง การได้ผ่านงานกับเขาด้วยส่วนหนึ่ง บางคนมีของอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจ บางคนที่เป็นน้องใหม่ยังไม่เปิดเผย เป็นเพราะเพิ่งไปเจอว่าเขามีมุมที่คนไม่รู้ น่าจับมาทำดู “สนุกทุกวัน ช่วงนี้ไปนั่งอยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้าแล้ว จริงๆ เราทำค่ายเพราะเราวางแผนหาทางลงให้ตัวเอง ถอยไปอยู่เบื้องหลัง เพราะเราอยากไปอยู่กับวัฒนธรรมป๊อปให้เข้าใจ ก็เลยลองทำดู เออ…สนุกดี มันเลยเป็นช่วงที่ตื่นเต้นกับชีวิตดีครับ เรามีมุมอะไรที่เราทำโดยที่ไม่รู้ว่าเราทำได้”

ส่วนประสบการณ์งานเพลงตั้งแต่เด็กช่วยอะไรได้ไหมกับการทำค่ายเพลง กอล์ฟบอกว่า “ตอนนั้นยังเด็กค่อนข้างเอาแต่ใจ แต่พอผมมองตัวเองตอนนี้กับตัวเองตอนนั้น เราใช้มุมตรงนั้นมาคิด บางทีก็จะเข้าใจเด็กๆ ค่ายเรา เขามาใหม่ ทำไมเขาคิดแบบนั้น ทำไมพูดไปแล้วไม่ฟังเลย มันก็เหมือนสมัยนั้นที่เราเป็นศิลปินใหม่ เมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนี้ไง เพราะฉะนั้นการที่เราใช้มุมมองของศิลปิน เรามีสายตาแบบนั้นมาก่อน เรามองด้วยสายตาผู้บริหารค่ายก็จะเข้าใจศิลปินมากขึ้น และเราจะรู้ว่าควรจะคุยกับเขายังไงครับ”

ตลอดเกือบปีที่ผ่านมา ได้อะไรจากการทำค่ายเพลงบ้าง กอล์ฟเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เป็นเรื่องการรอมชอมในการอยู่ร่วมกัน เวลาทำงานกลุ่มต้องคิดถึงงานกลุ่มมากกว่างานตัวเอง บางทีอาจต้องยอมถอย ยอมหลีก ยอมขอโทษ ยอมอภัย เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกลุ่ม เป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้เลยถ้าทำงานของตัวเองคนเดียว ฉะนั้นทำยังไงให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ทำให้ทีมชนะเป็นเรื่องสำคัญกว่าชัยชนะตัวเอง

ท้อกี่ครั้งก็ไม่ถอย

แน่นอนการทำค่ายเพลงในปัจจุบันนอกจากจะต้องเจอกับค่ายเพลงอื่นๆ ที่มีมากมาย ยังต้องเผชิญกับภาวะโควิดระบาด ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของวงการเพลงในเวลานี้ เราถามว่ารับมือไหวหรือไม่ กอล์ฟตอบว่า ถ้าจะมองให้เป็นแง่ร้ายก็เป็นแง่ร้าย เพราะช่วงโควิดทำให้รายได้หาย คนส่วนมากก็ไม่ค่อยทำ แต่ถ้ามองในแง่ดี ช่วงโควิดทำให้มีเวลาเยอะที่จะซ่อมแซม เรียนรู้ ค่อยๆ ตั้งไข่กับสิ่งนี้เยอะขึ้น เลยรู้สึกว่าเป็นช่วงพรีเทอมที่ดี เหมือนเป็นการตั้งต้นจากศูนย์เหมือนกัน ทุกอย่างไม่มีอะไรง่ายอยู่แล้ว ถึงไม่ได้ทำธุรกิจค่ายเพลง การเป็นศิลปินก็ยังต้องดิ้นรนแข่งกับตัวเอง แข่งกับคนอื่น

“ถามว่าท้อบ้างหรือเปล่ากับการทำค่ายเพลง ผมได้เรียนรู้ทุกอย่างในอายุ 40 ท้อมั้ยเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่าท้อแล้วถอยมั้ย ไม่ถอย ตอนนี้ผมเหมือนเป็นเด็กปี 1 ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย เข้ามาเรียนวิชาเอก ค่อยๆ หาว่าอะไรคือการจบปริญญาชิ้นนี้ ตอนนี้ยังสนุกอยู่ แต่ไม่รู้ปี 2 3 4 จะเจอวิชาอะไร ถึงมันจะดูยากในการปรับตัว แต่ก็ได้เจอเพื่อนใหม่ ทีมใหม่ มันยังดูตื่นเต้นหวือหวาอยู่ แต่เดี๋ยวเรื่องจริงน่าจะมาตอนปลายปีตอนที่เรามากางรายรับรายจ่ายครับ (หัวเราะ)”

เราถามว่าเมื่อศิลปินทำค่ายเพลง ช่วงแรกคนสนใจ แต่การจะอยู่ตรงนี้ได้นานๆ จะทำยังไง กอล์ฟบอกว่า “เรามีทางไปอีกเยอะเลยครับ ผมเชื่อว่าทุกอย่างไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่จะเป็นวิชาติดตัวเรา ทุกอย่างคือการเรียนรู้ใหม่เสมอ ทุกครั้งที่ผมทำงาน ถ้าไม่ได้คิดว่าทำเพื่อเงิน มันจะเป็นบทเรียน ต่อให้สมมติทำค่ายเพลงไม่สำเร็จ ตอนนี้ผมเข้าใจระบบค่ายเพลงหมดเลยว่าเราต้องมีอะไรบ้าง เราต้องทำยังไงถึงจะไม่เจ็บ ต่อให้ล้มอีกสักกี่ที สิ่งที่ผมได้มันมีค่ากับผมแน่ๆ เพราะฉะนั้นผมสามารถทำอะไรได้อีกเยอะเลย ซึ่งมันสามารถต่อยอดได้เยอะมาก

ชีวิตผมสนุกกับบทเรียนเหล่านี้มาก ถ้าคำถามคือถ้าไปต่อไม่ได้จะทำอะไรต่อ ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้มันคือความสำเร็จที่เราจะอยู่ได้นานแค่ไหน สิ่งที่ผมจะสำเร็จแน่ๆ คือผมจะจบปริญญาเรื่องนี้ แล้วอันนี้ผมทำอะไรต่อก็ได้ ผมมองงานทุกงานเป็นบทเรียน เงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่ชีวิตได้อะไรไปคุ้มกว่า สุดท้ายสิ่งที่ได้ไป เงินเป็นแค่ส่วนเดียว แต่ความเข้าใจชีวิตมันค่อยๆ หล่อหลอมเรา”

ฝันที่อยากทำต่อไป

เมื่อถามถึงชีวิต 20 ปีในวงการเพลงของกอล์ฟ ถ้าประเมินตัวเองตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง กอล์ฟตอบว่า “สนุกดีครับ ได้ลองทำอะไรเรื่อยๆ แต่รู้สึกว่าตัวเองจะเด็กลงเรื่อยๆ หมายถึงว่ายิ่งอายุเยอะยิ่งรู้สึกว่าเราอยากทำงานกับเด็ก สิ่งที่เรารู้มันไม่พอแล้วสำหรับยุคสมัยนี้ เด็กยุคนี้คือครูครับ สิ่งที่เขารู้เราไม่สามารถทำได้ครับ เพราะฉะนั้นเวลาผมทำงาน ผมจะมีโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ อยู่ใกล้ๆ ตลอดเพื่อคอยชี้แนะ ยิ่งเราแก่ตัวในวงการ เราต้องยิ่งยอมรับคลื่นลูกใหม่ที่มาสูงกว่าเสมอ เราต้องพร้อมเปิดรับอะไรตลอดเวลาครับ”

กอล์ฟเล่าถึงอีกหนึ่งความฝันที่อยากทำ คือการทำอะคาเดมี เพื่อสร้างเด็กเป็นศิลปิน สร้างทีม สร้างบุคลากร รวมถึงโปรดิวเซอร์เพลง นักดนตรี ให้แข็งแกร็ง เป็นกองทัพของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เพลง T-Pop ไปถึงระดับโลก “ผมอยากทำเพราะว่า ณ ตอนนี้ยังขาดอะคาเดมีที่เข้าใจ รวมคนที่เข้าใจ เรายังไม่เจอตรงนั้น ก็เลยอยากทำอะคาเดมีที่สามารถรวบรวมเด็ก ให้ความรู้ความสามารถเด็กเพื่อต่อยอด ปลูกให้โตในอนาคตครับ แต่หนึ่งทุนมันสูงมาก สองกำไรอยู่ไหนก็ยังไม่เห็น มีเงินให้ยืมมั้ยครับ” ก่อนจะหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

นอกจากนี้ กอล์ฟยังเผยอีกว่า อยากทำค่ายเพลงอีกค่ายเพื่อยังคงทำตามความชอบของตัวเอง “นอกจากค่าย High Cloud แล้ว ผมจะไปทำ Sonic Ground ด้วยนะ Sonic Ground คือค่ายเพลงฮิปฮอป ฝันเยอะครับ ว่างแหละ (หัวเราะ) High Cloud คือฟ้า Sonic Ground จะเป็นดิน คอนเซปต์เราจะทำฟ้ากับดิน ยังไงก็ตามเราก็ยังเป็นฮิปฮอปอยู่ เรายังอยากผลักดันน้องๆ ในวงการฮิปฮอปให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่สนับสนุนแต่ป๊อปแล้วสิ่งที่เป็นเรา…เราลืม

พูดง่ายๆ เลยว่าเรารอเงินจากฟ้าเป็นฝนตกลงมาให้ความชุ่มชื้นกับดิน เพราะฉะนั้นเราทำเงินก่อน จิตวิญญาณเดี๋ยวเราค่อยทำ เรายังไม่ทิ้งความฝัน พอทำค่ายแล้วทำอะคาเดมีครับ ถามว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็รอกำไรจาก High Cloud ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักครับ หุ้นส่วนยังไม่รู้ ชวนหลุยส์ก็ยังไม่ทำ หลุยส์บอกว่าเหนื่อยครับ แต่ผมตะล่อมพิมอยู่ครับ แต่พิมก็ยังไม่เคลิ้ม บอกเอาค่ายเราให้รอดก่อน แต่เดี๋ยวค่อยตะล่อมมันไปเรื่อยๆ ครับ (ยิ้ม) ถ้าได้ทำก็ทำควบคู่กันไปครับ”.

ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
กราฟิก : 

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2078096
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2078096