Navillera ซีรีส์นักเต้นบัลเลต์เกาหลีใต้ที่สะท้อน ‘ความจริง’ ในสังคมสูงวัย


ให้คะแนน


แชร์

มีหลายครั้งที่ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้มักสะท้อนภาพ ‘ความเป็นจริง’ ของสังคมออกมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะปัญหาและความเหลื่อมล้ำที่ผู้คนในประเทศต้องประสบพบเจอโดยปลอดจากการเซนเซอร์ของผู้มีอำนาจทั้งหลาย 

ข่าวแนะนำ

Navillera ถือเป็นหนึ่งในผลงานเหล่านั้น ที่แม้จะถูกบอกเล่าด้วยโทนเรื่องที่เรียบง่ายและอบอุ่นหัวใจ แต่ก็ยังแฝงประเด็นทางสังคมบางอย่างเอาไว้อย่างแนบเนียน

ซีรีส์เรื่องดังกล่าวถ่ายทอดสายสัมพันธ์ที่ไม่น่ามาบรรจบกันได้ของ อีแชรก (รับบทโดย ซงคัง) นักเต้นหนุ่มเปี่ยมพรสวรรค์วัย 23 ที่ต้องจับพลัดจับผลูมาสอน ‘การเต้นบัลเลต์ ให้กับ ชิมด็อกชุล (พัคอินฮวาน) อดีตบุรุษไปรษณีย์วัย 70 ที่อยากใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณ ขอลองเป็นนักเต้นกับเขาดูสักหน

คนทั้งคู่ที่ดูแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว-ทั้งอายุและรูปแบบการใช้ชีวิต-กลับช่วยเติมเต็มชีวิตของกันและกันได้อย่างน่าประหลาด เพราะถึงแม้ว่า แชรกจะมี ‘พรสวรรค์’ ด้านการเต้น แต่เขาก็ยังคงก้าวหน้าไปไหนไม่ได้ไกลนัก เนื่องด้วยจิตใจว่อกแว่กที่คอยวนเวียนอยู่กับอดีตอันพังทลายของครอบครัว กระทั่งเขาได้มาสอน ‘คุณปู่’ นามด็อกชุลที่มีจิตใจมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมบัลเลต์ เพียงเพราะอยากสานฝันจากวัยเด็กก่อนที่ตัวเองจะหมดเรี่ยวแรง (เขาเคยโดนพ่อท้วงติงตอน 9 ขวบว่า “เด็กผู้ชายเขาไม่เต้นบัลเลต์กันหรอก”) ถึงจะถูกคัดค้านอย่างหนักจากคนในครอบครัว ทั้งภรรยาและลูกๆ (“คุณแก่เกินกว่าที่จะเต้นบัลเลต์ได้แล้วนะ!”) แชรกจึงเรียนรู้ว่า ‘ความตั้งมั่นในสิ่งที่รัก’ นั้น มีพลังมหาศาลเพียงใดในการขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวต่อไปข้างหน้า ขณะที่ด็อกชุลเองก็ได้เรียนรู้ที่จะก้าวเข้าสู่โลกของบัลเลต์อย่างถูกต้องผ่านการสอนของ ‘คนที่เด็กกว่า’ อย่างแชรก

นักเขียน ฮอน ผู้เขียนต้นฉบับชื่อดังชื่อเดียวกันนี้จากเว็บตูน (ร่วมกับนักวาด จีมิน) เผยว่า มันเป็นผลงานที่เขียน ‘ยาก’ และรู้สึก ‘หน่วงใจ’ ที่สุดในชีวิตการทำงานตลอด 20 ปีของเขา เพราะมันพูดถึงสองสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกอ่อนไหวได้ง่ายมาก นั่นคือ ‘ครอบครัว’ และ ‘ความฝัน’ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องของหนึ่งในสองตัวละครหลักอย่าง ชิมด็อกชุล ที่เป็นคุณปู่วัย 70 ผู้ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ของครอบครัวและสังคม ขณะพยายาม ‘ทำตามฝัน’ ที่คนในวัยเขาไม่ทำกันอย่างการเต้นบัลเลต์

พัคอินฮวาน นักแสดงวัย 76 ปีกล่าวถึงตัวละครนี้ของเขาว่า “ด็อกชุลเป็นคนวัยเดียวกันกับผม และผมก็ปลื้มใจมากๆ ที่เห็นเขาพยายามทำตามความฝันที่เขามีมาตั้งแต่เด็กให้สำเร็จลุล่วง ในช่วงวัยที่คนแก่ๆ อย่างเรามักเลือกที่จะปิดกั้นการใช้ชีวิตของตัวเอง” เขาเปิดใจ “ผมเชื่อว่าจุดเด่นของความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ เราก็ยังสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เพราะผมคิดว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขที่ได้มาจากการที่คนคนหนึ่งใช้ชีวิตมานานหลายปีก็เท่านั้น …คือแทนที่จะใช้อายุที่มากขึ้นมาเป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการทำตัวดื้อด้าน แต่ด็อกชุลกลับยอมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นที่เด็กกว่านะครับ” ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง

จุดเด่นของซีรีส์ที่อินฮวานกล่าวนั้น สอดคล้องกับไอเดียของนักเขียน ฮอน เพราะการที่เขาออกแบบเรื่องราวของสองหนุ่มที่มีอายุห่างกันถึง 47 ปีออกมาเป็นการ์ตูนต้นฉบับ ก็เพราะต้องการให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคนทั้งคู่มีลักษณะที่ ‘แม้จะดูแตกต่างห่างไกลกันที่สุด แต่ก็กลับใกล้ชิดกันที่สุด’ เพื่อสะท้อนว่า ไม่ว่าคนเราจะ ‘ต่าง’ กันแค่ไหน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถเชื่อมต่อถึงใจของกันและกันได้ ความสัมพันธ์นั้นก็จะงอกงามและมั่นคง — ซึ่งด้วยฝีมือการกำกับของ ฮันดงฮวา ที่เล่าเรื่องอย่างไม่ฟูมฟายมากนัก, การเขียนบทดัดแปลงของ อีอึนมี ที่เก็บรายละเอียดจากต้นฉบับได้ครบถ้วน และการแสดงอันเข้าถึงบทบาทของซงคังและพัคอินฮวานที่ลงทุนไปฝึกบัลเลต์กันอยู่นานหลายเดือน ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวการเรียนรู้กันระหว่างคนสองวัยดู ‘น่าติดตาม’ มากขึ้น

Navillera เวอร์ชั่นเว็บตูน Navillera เวอร์ชั่นเว็บตูน

Navillera จึงเป็นซีรีส์น้ำดีที่สามารถสะท้อนภาพของสังคมเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบันออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานเชิงสถิติว่า ในปี 2020 ถือเป็นครั้งแรกที่อัตราการเกิดของประชากรในเกาหลีใต้ต่ำกว่าอัตราการตาย (โดยมีจำนวนการเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพียงเล็กน้อย แม้บางแหล่งจะประเมินว่าวิกฤตินี้อาจทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากแต่งงานและ/หรือไม่อยากมีลูกในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยก็ตาม) ซึ่งก็ยิ่งทำให้ประเทศถลำลึกกับการเป็น ‘สังคมสูงวัย’ ที่คงสถานะมาตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากคนสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี จนส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และจัดสรรงานบริการสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากขึ้น รวมถึงต้องรับมือกับปัญหาสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมวลรวมในอนาคต โดยในปีล่าสุดนี้ ถือเป็นตัวเลขอัตราการเกิดที่ ‘ต่ำที่สุดของโลก’ จากทั้งหมด 198 ประเทศ (หากเทียบกับสัดส่วนประชากรของใครของมัน)

แน่นอนว่า บรรดาตัวละครต่างๆ ของ Navillera ล้วนสื่อถึงประชากรในทุกช่วงวัยที่กำลังพยายามปรับตัวเข้าหากันภายใต้สังคมเกาหลีรูปแบบใหม่นี้ โดยเฉพาะตัวละครของ ชิมด็อกชุล ที่เป็นตัวแทนของประชากรสูงวัยยุคใหม่ผู้ไม่ยอมจำนนต่อสังขารที่ร่วงโรยเหมือนใครคนอื่น

ฉะนั้น อีกหนึ่งอุปสรรคในการใช้ชีวิตของด็อกชุล จึงหนีไม่พ้นภาวะอันเสื่อมถอยของร่างกายที่มาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งในกรณีของเขาคือ ‘โรคอัลไซเมอร์’ ที่ค่อยๆ ทำให้เจ้าตัวหลงลืมสิ่งต่างๆ ที่สำคัญในชีวิตไปทีละนิด ด็อกชุลจึงตัดสินใจต่อสู้กับมันผ่านการลงมือทำสิ่งที่รักนี้ เพื่อให้สมองได้คิดและร่างกายได้เคลื่อนไหว และยังแอบจองห้องในสถานพยาบาลเอาไว้โดยไม่บอกคนในครอบครัว เพราะเขาคิดเผื่อไว้ตามประสาพ่อที่เกรงใจลูกหลานว่า หากอาการทรุดหนักลง เขาก็จะย้ายตัวเองไปอยู่ที่นั่นคนเดียวโดยไม่ต้องรบกวนใคร – เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นของเขาที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้า ณ สถานพยาบาลแห่งนั้น

อย่างไรก็ดี ด็อกชุลยังถือว่าโชคดีกว่าคนสูงอายุรายอื่นๆ ในสังคมอยู่มาก เพราะสุดท้ายแล้ว เขาก็ยังมี ‘ครอบครัวขยาย’ ซึ่งมีสมาชิกมากหน้าหลายตาที่พร้อมจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลเขาได้ ขณะที่คนสูงวัยจำนวนมากในเกาหลีใต้กลับขาดไร้ซึ่งคนในครอบครัวคอยดูแล สืบเนื่องจากแนวคิดยุคใหม่ของคนรุ่นหลังๆ อย่างการปรารถนาที่จะมี ‘ครอบครัวเดี่ยว’ ซึ่งมีสมาชิกเพียงไม่กี่คน (กล่าวคือมีเพียงสามี-ภรรยา หรือถ้ามีลูก ก็จะขอมีแค่คนเดียวพอ) ทำให้มี ‘กำลัง’ ในการดูแลผู้ใหญ่ในบ้านลดน้อยลงตามไปด้วย (จากสถิติปี 2015 ชี้ว่ามีครอบครัวที่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ด้วยตัวเองเพียง 5.3% เท่านั้น)

ดังนั้น ‘บ้าน’ จึงไม่ใช่สถานที่ในการดูแลคนสูงวัยเหล่านี้อีกต่อไป และหน้าที่ก็ตกเป็นของสถานสงเคราะห์ หรือสถานพยาบาลแทน (จากสถิติปี 2018 ระบุว่ามีศูนย์สำหรับดูแลผู้สูงวัยมากกว่า 6 หมื่นแห่งทั่วประเทศแล้ว)

แต่หากไม่นับข้อเท็จจริงในแง่ลบที่ว่า สภาพสังคมกำลังบีบบังคับให้คนสูงวัยต้องหันมารู้จักดูแลตัวเองกันมากขึ้น Navillera ก็ยังสะท้อนถึงมุมมองในแง่บวกของผู้คนด้วยเช่นกัน เพราะนักวิจารณ์ละคร กงฮีจอง กล่าวว่า ทุกวันนี้ การมีคนสูงวัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้กลายมาเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสายตาของคนหนุ่มสาวเกาหลีไปเสียแล้ว เพราะพวกเขาไม่ได้มองเห็นหรือปฏิบัติต่อคนวัยนี้ด้วยทัศนคติที่ทำให้คุณปู่คุณย่าต้องรู้สึก ‘สมเพชเวทนาตัวเอง’ อีกต่อไป

“ด็อกชุลทำให้เราเห็นว่า เขาพยายามจะต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์ของตัวเอง และใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งดีกว่าการถูกนำเสนอแค่ในฐานะของตัวละคร ‘คนแก่ที่ป่วยไข้’ เฉยๆ เสียอีก และหลังจากนี้ ผลงานที่เล่าเรื่องคนอายุ 50-60 ในวัยเกษียณที่เรี่ยวแรงยังดี น่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

Navillera เพิ่งออกอากาศจบไปทางช่อง tvN ที่เกาหลีใต้ โดยในบ้านเรา สามารถรับชมย้อนหลังได้ทั้ง 12 ตอนทาง Netflix ภายใต้ชื่อไทยที่แสนงดงามว่า ‘ดั่งผีเสื้อร่ายระบำ’

อ้างอิง: Motto Korea, VOI, PinkVilla, Korea JoongAng Daily, The New York Times, Mercatornet, AGMR

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2080361
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2080361