5 บทสำคัญต่อวงการหนังไทยของ น้าค่อม ชวนชื่น ที่เราเคารพรัก


ให้คะแนน


แชร์

เมื่อย้อนดูผลงานการแสดงของน้าค่อมทั้งหมด จะพบว่าชื่อของเขาแทบไม่เคยได้รับการจัดวางให้เป็นเบอร์ 1 หรือ ‘พระเอก’ ในหนังไทยนัก เมื่อเทียบกับนักแสดงตลกคนอื่นอย่าง หม่ำ จ๊กมก, เท่ง เถิดเทิง, โหน่ง ชะชะช่า และ แจ๊ส สปุกนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก

แต่แม้จะเป็นอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า ‘ชื่อ’ และ ‘หน้า’ ของน้าค่อม คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในสื่อประชาสัมพันธ์หนังที่เขาเล่น หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า น้าค่อมคือ นักแสดงสมทบเบอร์ 1’ ที่เป็นปัจจัยสำคัญทางการตลาด ซึ่งหากรวบรวมรายได้หนังไทยกว่า 91 เรื่องที่เขาร่วมแสดงแล้ว จะมีรายได้บ็อกซ์ ออฟฟิศ รวมกันไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทอย่างแน่นอน

อาจเรียกได้ว่า วงการหนังไทยโดยเฉพาะในยุคเฟื่องฟูของหนังตลก น้าค่อมมีโอกาสรับใช้ผู้สร้างแทบครบทุกค่าย และสร้างรอยยิ้มให้ผู้ชมทั้งประเทศ ….ในโอกาสนี้ เราจึงขอรวบรวม 5 บทบาทสำคัญต่อวงการหนังไทยที่ไม่ควรเลือนหายไปพร้อมกับตัวเขา


จุก เบี้ยวสกุล ใน ‘7 ประจัญบาน’
(พ.ศ.2545)

เฉลิม วงค์พิมพ์ เป็นคนทำหนังคนแรกที่หยิบยื่นบทสำคัญให้ น้าค่อม ชวนชื่น รับผิดชอบ นั่นคือ จุก เบี้ยวสกุล หนึ่งในเจ็ดนักสู้มหากาฬของ ‘7 ประจัญบาน’

แน่นอนว่า น้าค่อมมีบทบาทเพื่อสร้างสีสันและรอยยิ้มให้ผู้ชม แต่ก็ต้องยอมรับว่าบทนี้มีเลือดเนื้อในตัวของมันเอง จุกและเพื่อนๆ ผ่านสมรภูมิมาด้วยกันอย่างยาวนาน และการรวมตัวในครั้งนี้ก็เพื่อต่อสู้ไม่ให้อเมริกันมารุกรานในช่วงสงครามเวียดนาม มันเป็นการพิสูจน์ความรักชาติของตัวละครไปพร้อมกับการยืนยันในมิตรภาพของพวกเขา

ในแง่หนังเรื่องหนึ่ง ‘7 ประจัญบาน’ เป็นผลงานที่ทะเยอทะยานในแบบที่อาจหาชมไม่ได้ง่ายๆ ในปัจจุบัน เพราะมันคือการปรุงส่วนผสมของหนังตลกผจญภัย และกลิ่นอายคาเฟ่ ให้เข้าไปอยู่ในฉากหลังทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ขณะที่หากพิจารณาในมุมความสำเร็จของน้าค่อม นี่ถือเป็นผลงานเปิดตัวกับผู้ชมชาวไทยว่า ‘ความแพรวพราว’ ทางการแสดงของเขาสามารถลื่นไหลไปกับหนังที่มีส่วนผสมพิเศษเช่นนี้ได้อย่างแนบเนียนเช่นกัน


สิทธิ์ ใน ‘แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า’
(พ.ศ.2549)

“ไอ้สอง…ให้พี่เดินสะดวกเถอะ” กลายเป็นประโยคที่ยังได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ และอดไม่ได้ที่ต้องพูดประโยคนี้ด้วยสำเนียงน้าค่อมจาก ‘แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า’ เสียด้วยซ้ำ

นอกจากหนังร้อยล้านเรื่องนี้จะเป็น ‘หนังขวัญใจผู้ชม’ แล้ว มันยังเป็นขวัญใจของนักวิจารณ์ด้วย เพราะหนังทำงานได้ดี ทั้งการเล่นมุกและเล่าเรื่องของชนชั้นกรรมาชีพที่ร่วมกันดิ้นรนเพื่ออยู่รอดบนสังเวียนชีวิต ‘แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า’ จึงนับเป็นหนังเรื่องสำคัญของวงการหนังไทย อันเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างมูลค่าให้หนังตลกที่ถูกประเมินคุณค่าต่ำมาโดยตลอด ทั้งยังสามารถใช้ศักยภาพของนักแสดงตลกได้อย่างเต็มที่ด้วย

และนี่คือผลงานที่ทำให้ ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร กลายเป็นคนทำหนังที่คนดูและสตูดิโอให้ความไว้ใจมาถึงปัจจุบัน


มงคล ใน ‘โหดหน้าเหี่ยว 966’
(พ.ศ.2552)

หากใน ‘แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า’ น้าค่อมคือหนึ่งในทีมนักแสดงที่กอดคอกันสร้างรอยยิ้มให้ผู้ชมจนเป็นที่รัก ใน ‘โหดหน้าเหี่ยว 966’ ก็คือผลงานพิสูจน์ฝีมือการแสดงของเขาอย่างเต็มตัว

น้าค่อมรับบท มงคล เจ้าของร้านเช่าวิดีโอในวันที่โลกเข้าสู่ยุคดีวีดีไปแล้ว ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ที่เหมือนติดอยู่ในกับดักของกาลเวลา ยังรื่นรมย์กับหนังไทยเก่าๆ จนราวกับว่าผู้กำกับฤกษ์ชัยเขียนบทให้น้าค่อมเป็นตัวแทนของความรักที่มีต่อหนังไทยคลาสสิก ขณะที่ในอีกมิติหนึ่ง มงคลก็เหมือนเป็นคนแปลกแยกของสังคมที่รุดหน้าไปไกลเกินกว่าเขาจะวิ่งตามทัน บทมงคลจึงเปิดโอกาสให้น้าค่อมแสดงทักษะดราม่าและตลกอันแพรวพราวที่พิสูจน์ว่า เขาก็เป็น ‘คนรักหนัง’ คนหนึ่งเช่นกัน

ยืนยันด้วยฉากแสดงคนเดียวฉากหนึ่ง เมื่อมงคลคุยโทรศัพท์เพื่อพากย์หนังสดๆ ให้ปลายสายฟังยาวเหยียด ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น น้าค่อม ‘อ่านหนังสือไม่ออก’ — นอกจากนี้ ยังมีฉากสำคัญที่ไม่ได้อยู่ในหนังด้วย เพราะ ‘โหดหน้าเหี่ยว 966’ จะต้องเป็นการขึ้นจอครั้งสุดท้ายของนางเอกอมตะ ภาวนา ชนะจิต ที่เดิมทีเธอจะมาปรากฏตัวเซอร์ไพรส์มงคลที่ร้านวิดีโอ แต่เนื่องจากไม่สามารถหาที่ลงให้ฉากนี้ได้ มันจึงถูกตัดออกไปอย่างน่าเสียดาย


ลุงปรีชา ใน ‘ไบค์แมน 2’
(พ.ศ.2562)

ผลงานในระยะหลังๆ ของน้าค่อมที่สามารถดึงศักยภาพทางการแสดงมาได้เต็มที่ คือหนังชุด ‘ไบค์แมน’ ในบท ลุงปรีชา ซึ่งอันที่จริงในภาคแรก ‘ไบค์แมน ศักรินทร์ ตูดหมึก’ น้าค่อมก็สามารถสร้างความประทับใจได้มาแล้ว ทว่าในภาค 2 ลุงปรีชาได้รับการยกระดับจนแทบจะเทียบเท่ากับ ‘พระเอก’ อีกคน

ความแพรวพราวของตัวละครลุงปรีชา คือการที่เขาเป็นคนยึดมั่นในความถูกต้อง และใช้ตัวเองพิสูจน์ความจริงที่ถูกปิดบังไว้ ลุงปรีชาจึงเป็นทั้งตัวละครขั้วตรงข้ามกับ ศักรินทร์ (พชร จิราธิวัฒน์) แต่ขณะเดียวกัน น้าค่อมก็สามารถเก็บเกี่ยวรายละเอียดของผู้ใหญ่ชนชั้นกลางค่อนล่างของสังคมไทยแล้วนำมาหยอกเย้า จนทำให้ลุงปรีชากลายเป็นตัวละครที่คนดูรักอีกตัวหนึ่ง


ตัวละครนิรนามใน Die Tomorrow
(พ.ศ.2560)

เราไม่รู้ว่าตัวละครของน้าค่อมชื่ออะไร และเราก็ไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าจะเจอน้าค่อมในหนังเรื่องนี้

เขาปรากฏตัวโดยนอนหลับตาให้ลูกสาวนวดศีรษะ กับบทพูดเพียงไม่กี่ประโยค ที่ฉีกแนวทางการแสดงของน้าค่อมไปโดยสิ้นเชิง เสียงของเขาทุ้มต่ำ คลอเคลียไปกับเสียงของธรรมชาติแวดล้อม ก่อนที่เขาจะค่อยๆ นิ่งสงบลงชวนใจหาย ซึ่งนี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของหนังเพื่อให้คนดูได้มีเวลาทบทวนถึง ‘ความตาย’ อันอยู่ใกล้แค่เอื้อม

นอกจากบทน้าค่อมจะส่งคนดูออกจากโรงอย่างเงียบสงบแล้ว มันยังกลายเป็นฉากอันทรงพลังเมื่อการตายอย่างฉับพลันดันเกิดขึ้นกับตัวของนักแสดงในอีกไม่กี่ปีถัดมา

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในหนังเรื่องนี้ของน้าค่อมจึงกลายมาเป็น ‘ความทรงจำ’ ที่ประทับแน่นในใจของคนดูหนังอย่างมิอาจลืมเลือนได้

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2081466
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2081466