Girl From Nowhere ซีซั่น 2 : ‘เด็กใหม่’ คนนี้ยังสำคัญอยู่…หรือเปล่า?


ให้คะแนน


แชร์

ข่าวแนะนำ


‘เด็กใหม่’
(Girl From Nowhere) หรือซีรีส์ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘แนนโน๊ะ’ เดินทางมาถึงซีซั่น 2 ด้วยการเปิดตัวเป็น Original Series ทาง Netflix จำนวน 8 ตอนจบ ซึ่งหลังจากออกฉายไปเมื่อวันศุกร์ (7 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะตัวเนื้อหาที่พยายามเล่าเรื่องท้าทายผู้ชมนั้น ยัง ‘ตามทัน’ กระแสความคิดของคนในสังคมปัจจุบันอยู่ไหม …หรือถึงขั้น ‘ตกขบวน’ ไปเสียแล้ว?

เดิมที แนนโน๊ะในซีซั่นแรกออกฉายทาง GMM25 ก่อนจะมีให้ชมใน Netflix แบบ ‘ไม่เซนเซอร์’ (กล่าวคือมีภาพความรุนแรงและเนื้อหาที่ยาวกว่าเดิมเล็กน้อย) ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือการถูกลดทอนความรุนแรงในเชิงภาพของซีซั่นแรก กลับไม่มีผลต่อความนิยม เมื่อประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรกเป็นเรื่องปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียนที่ผู้ชมจับต้องได้ ขณะที่ในซีซั่น 2 นี้ แม้จะดู ‘จัดเต็ม’ มากขึ้น ทั้งภาพความรุนแรงที่มีให้เห็นในทุกตอน (เช่น ฉากการฆ่าและการเผยให้เห็นเลือดจะๆ แบบเดียวกับในหนังสยองขวัญ) และประเด็นเนื้อหาที่กว้างขึ้นจากแค่ในโรงเรียน ออกไปสู่สังคมแวดล้อม โดยเฉพาะครอบครัวและชีวิตที่บ้านของเด็กๆ อันเป็นโลกอีกใบที่ซ้อนทับกับโลกในโรงเรียนอยู่

ทีท่าที่ชัดเจนมากขึ้นจากซีซั่นแรก คือการพยายามแตะประเด็นการเมืองที่ก้าวพ้นจากรั้วโรงเรียนออกไป และทำให้การเมืองในโรงเรียนกลายเป็นภาพสะท้อนของการเมืองระดับประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเหล่าตัวละครวัยรุ่นในเรื่องจึงถูกผู้ชมแทนค่าเข้ากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มวัยรุ่นไทยในรอบปีที่ผ่านมา

ทว่าใน 2 ตอนแรกของซีซั่นนี้ (‘นักล่าแต้ม’ และ True Love) กลับเปิด ‘แผล’ ที่จะปรากฏให้เห็นตลอดทั้ง 8 ตอนต่อมา นั่นคือความพยายามเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างสองประเด็น คือเรื่อง ‘การเมืองในโรงเรียน’ กับ ‘ปัญหาส่วนตัวของตัวละคร’ ในแต่ละตอน เพราะบางปัญหาก็ดูส่วนตัวเสียจนเกิดคำถามว่า ทำไมแนนโน๊ะถึงต้องเข้าไป ‘วุ่นวาย’ ด้วย ผิดกับคอนเซปต์ในซีซั่นแรกที่ตั้งคำถามตรงไปตรงมาถึงปัญหาสังคมในโรงเรียน กฎระเบียบ รวมไปถึงความเชื่อ ซึ่งไม่ว่าตัวละครผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นต่างก็พึ่งพาระเบียบและกฎของโรงเรียน ฉวยใช้ประโยชน์จากมันเพื่อรังแกกดทับคนอื่นจนตัวเองลอยนวลมาตลอด และเมื่อมีคนตกเป็นเหยื่อที่ไม่อาจร้องขอความเป็นธรรมจากใครได้ จึงต้องมี แนนโน๊ะ (ชิชา อมาตยกุล) มารับบทผู้พิพากษาและลงโทษคนผิดเหล่านั้นแทน

‘นักล่าแต้ม’ ตอนแรกของซีซั่นนี้เล่าเรื่องปัญหาท้องในวัยเรียน ผ่าน นะนาย (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ที่มีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนและรุ่นน้องนักเรียนจนตั้งท้องไปหลายคน นะนายใช้อำนาจเงินและบารมีของพ่อช่วยปกปิดความผิด โยนให้ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจเลือกว่าจะเก็บเด็กไว้เพื่อแบกรับความอับอายเพียงลำพัง หรือเอาเด็กออกแล้วกลายเป็นคนมีมลทิน ซึ่งในตอนแรกนี้ ปัญหาที่ถูกถกเถียงกันในวงกว้าง คือทัศนคติที่มองการ ‘ทำแท้ง’ เป็นเรื่องผิดและเลวร้าย แต่ตัวซีรีส์ก็ฉลาดพอที่จะเบี่ยงไปให้ผู้ชายอย่างนะนายที่เป็น ‘ผู้กระทำ’ มาตลอด กลายเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ โดยแนนโน๊ะ จนต้องตกที่นั่งลำบากเสียเอง แนนโน๊ะเข้ามาลงโทษตามสูตร และผลักให้ตัวนะนายต้องตัดสินใจเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ถูกเขากระทำมาก่อน — แม้ว่าประเด็นนี้อาจไม่ได้ช่วยผลักให้เรื่องราวไปไกลได้เท่าประเด็นครูมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนในตอนเปิดซีซั่น 1 ซึ่งปัญหาก็คงเป็นเพราะความไม่น่าเชื่อในเงื่อนไขการตั้งท้อง และการที่ปัญหาของนะนายไม่ได้กินวงกว้างเท่าปัญหาของครูกับนักเรียนดังกล่าว

อาจเพราะ ‘ความอยุติธรรม’ ที่น่าจะเป็นหัวใจของซีรีส์ชุดนี้ กลับ ‘มาๆ หายๆ’ ในซีซั่น 2 มันจึงไม่ได้กระทบกระเทือนผู้ชม รวมถึงตัวละครแวดล้อมในเรื่องมากเท่าเดิม ความสาแก่ใจที่ซีรีส์โฆษณาไว้นั้นจึงลดลงไปด้วย โดยปัญหาคล้ายๆ กันนี้ เราจะพบได้ในตอน ‘กำเนิดยูริ’, JennyX และ ‘อวสานแนนโน๊ะ’ ซึ่งล้วนพูดถึงปัญหาส่วนตัวของตัวละครประจำ (ชัญญา แม็คคลอรี่ย์, ภัณฑิรา พิพิธยากร, ญารินดา บุนนาค และ พลอย ศรนรินทร์) ทั้งสามตอนไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมของปัญหาสังคม ทั้งในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวละครกลายเป็นข้อกังขาในมุมคนดูว่า ตกลงมันเป็นความอยุติธรรมที่ตัวละคร ‘เลือกเอง’ หรือเปล่า ตัวละครไม่ได้ถูกผลักให้เป็นเหยื่อด้วยกฎระเบียบหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอีกแล้ว แต่ตัวละครเลือกที่จะสมยอมและรับอ้าง บ้างก็ถึงขั้นใช้สถานะการตกเป็นเหยื่อของตัวเองให้เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ ซึ่งในตอนสุดท้ายของซีซั่นนี้อย่าง ‘อวสานแนนโน๊ะ’ ก็ดูจะสรุปไปในทิศทางดังกล่าว

หากซีรีส์เลือกจะเบนออกจากประเด็นความอยุติธรรมเสียแล้ว ตอนอื่นๆ ที่มีความเป็นการเมืองสูงอย่าง True Love, ‘มินนี่ 4 ศพ’, ‘รับน้อง’ และ ‘ห้องสำนึกตน’ จะยังมีความสำคัญอยู่หรือเปล่า?

นี่เป็นคำถามที่ชวนคิดทั้งในแง่การจัดลำดับและการให้น้ำหนักกับตอนเหล่านี้ ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นภาพสะท้อนกว้างๆ ของสังคมภายนอก โรงเรียนเป็นดั่งโลกจำลองที่ครูกุมอำนาจเหนือนักเรียน และทดลอง ‘บริหารอำนาจ’ ผ่านการควบคุมนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ประเด็นนี้ปรากฏชัดใน True Love และ ‘ห้องสำนึกตน’ ซึ่งทั้งสองตอนนี้กลับมีท่าทีต่างกันสุดขั้ว ราวยืนอยู่บนตาชั่งคนละฝั่ง กล่าวคือ True Love พาผู้ชมไปพบกับโลกในโรงเรียนสตรีอันเข้มงวด ที่ลงเอยด้วยการประนีประนอมของทั้งครูและนักเรียน ครูผู้เคยเข้มงวดห้ามนักเรียนหญิงมีความรักกับนักเรียนชายเด็ดขาด กลับเลือกทิ้งกฎเกณฑ์ที่ทำลายความเป็นมนุษย์ลง เพื่อจะเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นในตอนท้าย เพราะแม้แต่ครูเองก็มีความรักได้เช่นกัน ขณะที่โลกอีกใบใน ‘ห้องสำนึกตน’ ครูเลือกจะใช้อำนาจทุกวิถีทางเพื่อทำลายความเป็นมนุษย์ของนักเรียน เปลี่ยนให้เป็นเครื่องจักรแบบเดียวกันที่เพียงรอรับคำสั่งเท่านั้น

โลกสีสันสดใส ตึกเรียนที่ซ่อนตัวอยู่ในแนวต้นไม้ครึ้ม และมีเพียงความรักที่เป็นอันตรายใน True Love จึงแตกต่างจากโลกขาวดำไร้ชีวิตชีวาใน ‘ห้องสำนึกตน’ ซึ่งคนแปลกแยกคือคนที่มี ‘สี’ สดออกมา และความ ‘คิดต่าง’ ก็เป็นอันตรายในโรงเรียนนี้ — บทสรุปของทั้งสองตอนที่ต่างกันสุดขั้ว น่าจะช่วยให้ตัวละครแนนโน๊ะได้เรียนรู้มากขึ้น และเขย่าความคิดเรื่องความอยุติธรรมของเธอได้มากว่า เพราะบางครั้งความรุนแรงบางทีก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเสมอไป และอย่างน้อยๆ การได้ไปสำรวจโลกสองใบที่ต่างกันสุดขั้วนี้ ก็ทำให้เธอได้เห็นว่ายังมีผู้ใหญ่ที่ยอมปรับตัวจนนำมาสู่ทางออกที่มีแต่แสงสว่าง ถึงแม้ผู้ใหญ่ในอีกตอนจะยังคงเป็นคนที่ยอมกอดอุดมการณ์ความถือดีตายไปด้วย จนนำมาสู่บทสรุปที่ไร้ทั้งสีสันและความหวังก็ตาม

ถึงในแง่การลำดับประเด็นจะชวนสับสนและออกจะสะเปะสะปะ แต่เมื่อตบเกียร์เข้าสู่การพูดถึงความรุนแรงแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังคงไม่เคยพลาด ดังจะเห็นได้จากตอน ‘มินนี่ 4 ศพ’ และ ‘รับน้อง’ ซึ่งทั้งสองตอนวิพากษ์การใช้ความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งตัวแนนโน๊ะที่ต่อให้ใช้ความรุนแรงลงโทษตัวละคร มินนี่ (แพทริเซีย กู๊ด) ใน ‘มินนี่ 4 ศพ’ แต่มันก็แค่เป็นการทำลายชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ให้บทเรียนแก่ใครเลย เป็นสูตรสำเร็จของการลงโทษแบบ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตามสนอง’ เช่นเดียวกับใน ‘รับน้อง’ ที่ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้องที่ต่อยอดมาด้วยความรุนแรง ได้สร้างรุ่นพี่อย่าง เค (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ขึ้นมา จากคนถูกกระทำกลายเป็นผู้กระทำ แล้วหวนกลับไปถูกกระทำอีกครั้ง

จากทั้งสองตอนนี้ คนดูถูกโยนให้นั่งอยู่ในฐานะเดียวกับ ‘เหยื่อ’ ที่แนนโน๊ะกำลังเล่นสนุกด้วย จนเกิดคำถามว่า ผิดหรือไม่ หากเราจะรู้สึก ‘เห็นใจ’ พวกเขาขึ้นมา เนื่องด้วยความกระอักกระอ่วนเมื่อได้เห็นภาพความรุนแรงเหล่านั้นที่เข้าไปสั่นสะเทือนมาตรวัดทางศีลธรรมในใจเรา และก่อเกิดคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า ‘ผู้ร้าย’ จากทั้งสองตอนนี้ พวกเขาเลือกที่จะเป็นเช่นนั้นเอง หรือเพราะถูกสังคมสร้างขึ้นมากันแน่? ทั้งในกรณีของมินนี่ที่ครอบครัวคอยให้ท้ายและบังคับให้เธอต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอด เช่นเดียวกับเคที่ถูกรุ่นพี่กลั่นแกล้งมาก่อน จนพอตัวเองมีอำนาจ เขาก็ส่งมอบความรุนแรงนี้ให้รุ่นน้องอีกทอดหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีประเด็นที่อยากเล่า และยังมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจในบางตอน ทว่าการจับแพะชนแกะ เพื่อหวังจะหลอกล่อให้คนดูสนุกกับการลงโทษตัวละครต่างๆ ของแนนโน๊ะครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่ได้ผล และหมากสุดท้ายของเรื่องที่วางไว้ให้ตัวละครแนนโน๊ะตั้งคำถามต่อการกระทำของตนเป็นครั้งแรก (ซึ่งกินระยะเวลาทั้งสิ้น 20 ตอน เมื่อนับรวมจากซีซั่นแรกที่มีจำนวนถึง 13 ตอน) เพื่อบอกว่า “ความอยุติธรรมที่เราเคยคิดว่าต้องการคนอย่างแนนโน๊ะเข้าไป ‘จัดการ’ อาจเป็นสิ่งที่คนในสังคมส่วนหนึ่งยินดีอยู่ร่วมกับมันอย่างหน้าชื่นตาบานก็ได้” นั้น ก็กลับไม่ได้ส่งผลสะเทือนตัวคนดู เท่ากับการเปิดตัวแนนโน๊ะในแต่ละตอน

อีกข้อพิสูจน์ที่ทำให้แนนโน๊ะในซีซั่น 2 ก้าวไม่พ้นขาตัวเองก็คือ บางประเด็นที่เลือกนำเสนอไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอีกแล้วในสังคมทุกวันนี้ เพราะข้อถกเถียงเหล่านั้นอาจก้าวไปไกลกว่าที่จะต้องการให้คนอย่างแนนโน๊ะมาสำรวจตรวจสอบหรือตั้งคำถาม ในเมื่อ ‘เด็กผู้หญิง’ หลายต่อหลายคนในรอบปีที่ผ่านมาได้กล้าที่จะก้าวออกมาเพื่อเปิดเผยความอยุติธรรมในโรงเรียน ผ่านการพูดและการให้ข้อมูล โดยไม่จำเป็นต้อง ‘นองเลือด’ อย่างที่แนนโน๊ะทำ การใช้ความรุนแรงเข้าต่อกรกับความอยุติธรรมของแนนโน๊ะในวันนี้ จึงกลายเป็นเพียงการส่งเสียงไล่หลังคนดูที่ก้าวนำเธอไปไกลเสียแล้ว

ผู้ชมซีรีส์ชาวไทยหลายคนอาจเพิ่งค้นพบว่า การชมซีรีส์แบบ 8 ตอนรวดบน Netflix เป็นรสชาติแปลกใหม่ที่สนใจ โดยเฉพาะ ‘เด็กใหม่’ ซีซั่น 2 ที่มาพร้อมกับภาพความรุนแรงแบบสุดขั้ว, โปรดักชั่นดีไซน์ที่หวือหวาหลุดจากกรอบซีรีส์ไทยเดิมๆ ไปจนถึงงานภาพที่ผลักประเด็นและเรื่องราวไปมากกว่าแค่การใช้บทพูด จนมีคุณภาพโดยรวมที่ดีขึ้นกว่าซีซั่นก่อนอย่างผิดหูผิดตา แม้ว่าสิ่งที่สูญเสียไปอย่าง ‘ความลงตัว’ ทั้งในแง่ประเด็นและการลำดับตอนจะส่งผลเสียต่อซีซั่นนี้ไม่น้อย เพราะยิ่งจำนวนตัวเลขตอนมากขึ้น แนนโน๊ะก็ยิ่งอ่อนแรงลง และไม่ได้ชวนติดตามเท่าตอนแรกๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าความรุนแรงล้นเกินก็อาจมีส่วนทำให้ผู้ชมหลายคนเลือกที่จะหยุดดูไปกลางคัน ขณะที่ตัวละครแนนโน๊ะ กว่าจะคลำหาจุดหมายของตัวเองเจอจริงๆ ก็ปาเข้าไปช่วงท้ายแล้ว เลยทำให้ภาระของเรื่องตกอยู่กับประเด็นและตัวละครในแต่ละตอนว่าจะ ‘แข็งแรง’ พอหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าทุกตอนจะทำได้เท่ากัน

แม้จะไม่ถึงขั้น ‘น่าผิดหวัง’ แต่คำว่า ‘น่าเสียดาย’ อาจเป็นคำที่ใกล้เคียงความรู้สึกมากกว่า ซึ่งหากจุดจบของแนนโน๊ะในซีซั่นนี้ได้เปิดประเด็นเป็นดั่งหมุดหมายใหม่ตามที่ว่าไว้ Girl From Nowhere ในซีซั่น 3 ก็อาจไม่ได้หมายถึงแนนโน๊ะอีกแล้ว แต่หมายถึง ‘เด็กผู้หญิงคนใดก็ได้’ ที่พร้อมจะลุกฮือ ลงมือล้างบาง ต่อต้าน และทำลายบางสิ่งบางอย่างเพื่อความถูกต้อง ทิศทางใหม่นี้อาจช่วยดึงความสนใจของผู้ชมวัยรุ่น อันเป็นกลุ่มหลักที่เคยตั้งความหวังว่า ซีรีส์เรื่องนี้จะ ‘พูดแทนใจ’ พวกเขาในหลายๆ เรื่อง

และกลับมาช่วยเป็นปากเสียงบอกเล่าเรื่องราวและปัญหาของวัยรุ่นยุคนี้ได้อย่างแท้จริงเสียที

(เด็กใหม่ – Girl From Nowhere ซีซั่น 2 | ซีรีส์ | ไทย | 2021 | กำกับ : ไพรัช คุ้มวัน, สิทธิศิริ มงคลศิริ, คมกฤษ ตรีวิมล และ ปวีณ ภูริจิตปัญญา | รับชมได้ทาง Netflix)

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2088408
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2088408