ค่ายเพลงแอฟริกัน Sahel Sounds กับหนึ่งทศวรรษที่โลกได้ ‘ฟัง’ ศิลปินพื้นเมือง


ให้คะแนน


แชร์

ข่าวแนะนำ

หากคุณรู้สึกเบื่อหน่ายกับดนตรีป๊อปดาดๆ ที่คาดเดาได้ทั้งจากฝั่งอเมริกา, ยุโรป หรือเอเชีย เราขอแนะนำดนตรีพื้นเมืองอันน่า ‘ตื่นหู’ จากทวีปแอฟริกา ผ่านค่ายเพลงชื่อ Sahel Sounds (ซาเฮล ซาวด์ส) ที่ออกผลงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 60 อัลบั้ม ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ก่อตั้งมา

อันที่จริง ค่ายเพลงอิสระเล็กจ้อยแห่งนี้ไม่ได้มาจากไอเดียของคนในท้องถิ่นที่เป็นชื่อค่าย หากแต่มาจาก คริสโตเฟอร์ เคิร์กลีย์ นักดนตรีหนุ่มชาวอเมริกันที่ตั้งใจสร้างสรรค์ค่ายนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือการค้นหาศิลปินพื้นเมืองเก่งๆ ของที่นั่น, รวบรวมไฟล์เพลงจากการออกเดินทางไปบันทึกเสียงตามสถานที่ต่างๆ และนำมาเผยแพร่ให้ผู้คนทั่วโลกได้ลองเปิดใจรับฟัง ‘เสียง’ ในแบบของคนแอฟริกัน ที่มี ‘มรดกทางดนตรี’ อันเป็นเอกลักษณ์ไม่ต่างจากศิลปินของภูมิภาคอื่นบนโลกใบนี้

ย้อนกลับไปในปี 2008 มันเริ่มจากการที่เคิร์กลีย์-ผู้ประทับใจกับดนตรีของประเทศมาลีจากแผ่นซีดีที่เพื่อนให้-ตัดสินใจออกเดินทางมายังประเทศมอริเตเนียเพื่อควานหาดนตรีท้องถิ่นแท้ๆ มาบันทึก ‘เสียง’ ที่เขาชื่นชอบเอาไว้ด้วยตัวเอง แต่กลายเป็นว่าเขาเทียวอัดเสียงอยู่ในพื้นที่แถบแอฟริกาตะวันตก-ซึ่งก็รวมถึงมาลีและไนเจอร์-อย่างเพลิดเพลินอยู่นานเป็นปีๆ โดยนอกจากจะได้เพื่อนใหม่เป็นนักดนตรีท้องถิ่นมากมายแล้ว เขาก็ยังได้ทักษะการสื่อสารผ่านภาษาฝรั่งเศสและภาษาอื่นๆ เป็นของแถมอีกด้วย ซึ่งระหว่างนั้นเอง ในช่วงเดือนมกราคม 2009 ชายหนุ่มก็เริ่มรวบรวมไฟล์เพลงทั้งหมดเพื่ออัปโหลดให้คนอื่นๆ ได้ฟังผ่านบล็อกส่วนตัวของเขาบนโลกออนไลน์

คริสโตเฟอร์ เคิร์กลีย์ (คนที่สองจากซ้าย) ชายผู้ก่อตั้ง Sahel Sounds คริสโตเฟอร์ เคิร์กลีย์ (คนที่สองจากซ้าย) ชายผู้ก่อตั้ง Sahel Sounds

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งการทักษะที่เขาได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ก็คือการค้นหาและแลกเปลี่ยนบทเพลงระหว่างกันผ่านโทรศัพท์มือถือ -อันเป็นอุปกรณ์ดิจิตอลยอดนิยมของชาวแอฟริกันที่ในยุคนั้นยังปราศจากการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต- โดยผู้คนที่นั่นจะ ‘ส่งต่อ’ เพลงที่พวกเขาบรรเลงหรือบันทึกไว้ผ่านการเปิดสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth) แล้วไปยืนอยู่ข้างๆ กันขณะต้องรับ-ส่งไฟล์เพลง ซึ่งเคิร์กลีย์ให้ความเห็นว่า “เครือข่ายของการแชร์ไฟล์ในลักษณะนี้จะไม่ได้ถูกควบคุมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จะถูกกำหนดเส้นทางผ่านผู้คนจริงๆ ที่ออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหากใครได้เพลงสักเพลงมาจากเมืองไหนสักเมือง เขาก็ต้องขึ้นรถบัสไปยังต่างเมืองเพื่อเจอเพื่อนๆ ก่อน เขาจึงจะสามารถแชร์เพลงนั้นออกไปได้” ดังนั้น เขาจึงสามารถวัด ‘ความฮิต’ ของบทเพลงนั้นๆ ได้จากการที่พวกมันถูกเปิดฟังอย่างหนาหูในเมืองที่มีคนพลุกพล่าน เช่น กาโอ, บามาโก ของประเทศมาลี หรือเลกอส ของประเทศไนจีเรีย ซึ่งล้วนมีตลาดไฟล์เพลง MP3 เป็นแหล่งรวมตัวของคนรักเสียงดนตรีอย่างเป็นรูปธรรม

เอ็มดู ม็อกตาร์ (ชุดดำ) และชาวคณะ เอ็มดู ม็อกตาร์ (ชุดดำ) และชาวคณะ Les Filles de Illighadad Les Filles de Illighadad

หลังเดินทางกลับมายังเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เคิร์กลีย์ก็พบว่า ไฟล์เพลงท้องถิ่นที่เขาเผยแพร่ไว้ในโลกออนไลน์ รวมถึงซีดีรวมไฟล์ที่เขาอัดแจกจ่ายคนไปทั่วนั้น ได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ทำให้เขาต้องบินกลับไปตามหา ‘ศิลปินนิรนาม’ ที่สร้างผลงานเหล่านั้นขึ้นมาให้เจอ พร้อมกับตัดสินใจปลุกปั้นค่ายเพลงอิสระอย่าง Sahel Sounds เพื่อหมายจะสร้างเม็ดเงินให้แก่ศิลปินลับแลกลุ่มนี้ ที่ปกติมักมีรายได้แค่จากการเล่นเพลงตามงานแต่งหรือเทศกาลทางศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมือกีตาร์สายบลูส์ เอ็มดู ม็อกตาร์, วงดนตรีหญิงล้วน Les Filles de Illighadad (เลส์ ฟีย์ส เดอ อิลลีกาแดด), มือคีย์บอร์ด ฮามา หรือนักเล่นออร์แกนรุ่นบุกเบิกอย่าง แมมมาน ซานี — โดยมี Music from Saharan Cellphones หรือ ‘ดนตรีจากมือถือในแถบทะเลทรายซาฮารา’ อัลบั้มอย่างเป็นทางการชุดแรกของค่ายในปี 2011 ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายมาจากบรรดาไฟล์เพลงที่เขาเคยปล่อยลงอินเทอร์เน็ต

และแม้เคิร์กลีย์จะเป็นคนอเมริกัน แต่เขากลับตั้งใจที่จะสร้างให้ผลงานของศิลปินในค่ายมีศักดิ์ศรีของ ‘ความเป็นศิลปะ’ ทัดเทียมกับงานดนตรีจากโลกกระแสหลัก เพื่อให้ผู้ฟังเลิกมองว่ามันเป็น ‘ของแปลก’ แต่เป็นเพียงศิลปะดนตรีในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไพเราะและสามารถเป็นที่นิยมบนโลกได้เช่นกัน “ผมอยากให้ค่ายนี้เป็นหนทางในการขจัด ‘ความรู้สึกผิดแปลก’ เหล่านี้ออกไป ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยเสียงดนตรี” เจ้าของ Sahel Sounds กล่าว “ผมอยากให้งานเพลงของค่ายเป็นเหมือนกับ ‘คำเชิญชวน’ ให้ผู้คนได้ลองเข้ามาเปิดใจเรียนรู้อะไรบางอย่าง” โดยวิธีการบันทึกเสียงของค่ายยังคงเน้นที่การเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ของแอฟริกาตะวันตก แล้วใช้ไมโครโฟนอัดเสียงการขับร้องเพลง-บรรเลงดนตรีของผู้คนเอาไว้ ก่อนจะนำมาปรับแต่งคุณภาพไฟล์อีกเล็กน้อยในโปรแกรมทำเพลงอย่าง Fruity Loops ซึ่งถือเป็นแนวคิดของเคิร์กลีย์ที่อยากจะเก็บ ‘สุ้มเสียงสดๆ อันเปี่ยมชีวิตชีวา’ ของศิลปินแต่ละรายโดยพยายามหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งให้มากที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ เขายังผลักดันค่ายไปไกลกว่านั้นด้วยการสร้าง ‘ภาพยนตร์’ เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักศิลปินของตัวเองมากขึ้น โดยมี Rain the Color of Blue with a Little Red in It (2015) เป็นหัวหอกนำขบวน ซึ่งตัวหนังก็ว่าด้วยเส้นทางอันยากลำบากของนักดนตรีชาวไนเจอร์ (แสดงนำ-และแต่งเพลงประกอบ-โดย เอ็มดู ม็อกตาร์ มือกีตาร์บลูส์คนดังของค่าย ที่เคยมีชีวิตอีกด้านหนึ่งเป็นคนขับแท็กซี่) โดยมันถือเป็นหนังฟิกชั่นภาษาทวาเร็กเรื่องแรก และยังได้แรงบันดาลใจมาจาก Purple Rain หนังนักดนตรีชีวิตบัดซบที่ศิลปินคนดังอย่าง ปรินซ์ เคยแสดงไว้เมื่อปี 1984 — ซึ่งในปัจจุบัน ม็อกตาร์ออกอัลบั้มมาแล้วถึง 6 ชุด แถมยังเคยออกทัวร์ในสหรัฐอเมริกา โดยมี Afrique Victime ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ เป็นผลงานชุดล่าสุด

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีมือถือในแอฟริกามีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงในหลายพื้นที่ และแอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp ที่กลายมาเป็นที่นิยมแพร่หลาย จนทำให้คนที่นั่นสามารถแลกเปลี่ยนไฟล์เพลงกันผ่านมือถือได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งบลูทูธ และทำให้เคิร์กลีย์สามารถรวมเพลงทำอัลบั้มรายเดือนที่มีชื่อว่า Music from Saharan WhatsApp เมื่อปีที่แล้วได้มากถึง 11 ชุด โดยเป็นการหารายได้ช่วยเหลือศิลปินท้องถิ่นในช่วงโควิด-19 ผ่านการอัปโหลดขึ้น Bandcamp ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถสมทบทุนสนับสนุนศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบได้

“มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเล่าเรื่องราวอะไรของพวกเขาให้โลกภายนอกได้รับรู้บ้าง — โลกที่ไม่ใช่แค่โลกตะวันตกเท่านั้น” ชายหนุ่มกล่าวถึงการดูแล ‘ศิลปินพื้นเมือง’ ที่กลายมาเป็น ‘เพื่อน’ ของเขาเหล่านี้ ผ่านการกระจายผลงานเพลงไปยังเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สเปน, ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ

“เพราะในวันหนึ่งมันอาจกลายเป็นคลังข้อมูลสำคัญ (ทางด้านศิลปะดนตรี ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์) ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้น่ะครับ”.

อ้างอิง: DailyMaverick, Sahel Sounds (1, 2), Impose, Portland MercuryThe Vinyl Factory

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2104152
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2104152