หวนรำลึกถึง Slowdive เมื่อวันวาน วงดนตรีแนว Shoegaze ผู้มาก่อนกาล


ให้คะแนน


แชร์

มันคือแนวดนตรีจากยุค 90 ที่ถูกสื่อสมัยนั้นเรียกขานว่า Shoegaze (ชูเกซ) หรือแนวเพลงที่ทำให้มือกีตาร์ต้องจดจ่อกับอุปกรณ์สร้างเอฟเฟกต์บนพื้นเวทีขณะเล่น จนดูเหมือนกำลังยืน ‘จ้องรองเท้า’ ของตัวเองอยู่

Slowdive ถือเป็นศิลปินวงแรกๆ ที่ร่วมให้กำเนิดดนตรีในแนวทางนี้ — ซึ่งในช่วงเริ่มต้นไม่มีใครรู้เลยว่าควรเรียกมันว่าอะไร เพราะแทบไม่เคยมีวงไหน ‘เล่น’ แบบนี้มาก่อน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขารับอิทธิพลมาจากทั้งงานเพลงแนวโปรเกรสซีฟร็อกแบบวง Pink Floyd, อาร์ตร็อกแบบวง Velvet Underground และ เดวิด โบวี ไปจนถึงดรีมป๊อปแบบวง Cocteau Twins

พวกเขาต่อยอดดนตรีแนว Shoegaze ขึ้นมาได้อย่างไร? แล้วทำไมดนตรีที่พวกเขาเล่นถึงได้เป็นดนตรีที่ ‘มาก่อนกาล’? — เหล่านี้คือที่มาและที่ไปของวง Slowdive ผู้บุกเบิกแนวดนตรีที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินหลายรายมาจนถึงทุกวันนี้


ดนตรีแนว Shoegaze คืออะไร? ทำไมต้อง ‘จ้องรองเท้า’?

ย้อนกลับไปในปี 1991 อันเป็นยุคที่ดนตรีกรันจ์ร็อกจากฝั่งอเมริกา และดนตรีบริตป๊อปจากฝั่งอังกฤษเพิ่งจะเริ่มมีที่ทางในวงการดนตรีร็อกทางเลือก หรือ ‘อัลเทอร์เนทีฟร็อก’ (ซึ่งเป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติโดยนักวิจารณ์ดนตรีสำหรับใช้นิยามถึง ‘ดนตรีร็อกที่มีส่วนผสมของแนวดนตรีอื่นๆ’) ยังมีดนตรีอีกแนวหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน — นั่นคือดนตรีแนว Shoegaze

Shoegaze เป็นแนวเพลงที่ให้ความสำคัญกับเสียงกีตาร์เป็นหลัก โดยเป็นการทดลองผสมเสียงกีตาร์ที่เล่นผ่านเอฟเฟกต์อย่าง Fuzz (เสียงแตกหนาๆ รกๆ) และ Reverb (เสียงสะท้อนก้อง) เข้าไว้ด้วยกัน จนทำให้เกิด ‘กำแพงเสียง’ ของกีตาร์ที่ทั้งหนาและแตกพร่ามากเสียจนต้องใช้สมาธิในการฟังอย่างสูง ทั้งคนเล่นและคนฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเล่นกีตาร์ที่ต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการปรับอุปกรณ์สร้างเอฟเฟกต์ที่วางอยู่บนพื้นมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้มือกีตาร์ที่เล่นดนตรีแนวนี้ต้องทำท่าเหมือนกำลังก้มหน้า ‘จ้องรองเท้า’ (Shoegaze) อยู่ตลอดเวลา

อัลบั้ม Loveless ในปีนั้นของวง My Bloody Valentine (ที่มีมือกีตาร์อย่าง เควิน ชิลด์ส ผู้ที่ต่อมาได้ทำเพลงเท่ๆ ประกอบหนังเรื่อง Lost in Translation ให้กับ โซเฟีย คอปโปลา เมื่อปี 2003) ถือเป็นต้นกำเนิดของสายธารดนตรีแนว Shoegaze โดยงานเพลงชุดนี้กวาดคำชมเป็นเอกฉันท์จากนักวิจารณ์ ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำวิจารณ์ที่มีต่ออัลบั้ม Just for a Day ในปีเดียวกันของวง Slowdive ที่นักวิจารณ์ดนตรีของนิตยสาร Melody Maker จากฝั่งอังกฤษเขียนถึงงานเพลงชุดนี้ว่า “ถ้าเลือกได้ก็ขออาบน้ำในอ่างที่เต็มไปด้วยโจ๊กเละๆ ดีกว่าจะยอมกลับไปฟังอัลบั้มชุดนี้อีกครั้ง”

กระทั่งในปี 2017 หลังจากที่ Slowdive หวนคืนสู่วงการเพลงเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี กับอัลบั้มชุดใหม่ที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่ออัลบั้ม ดนตรีแนว Shoegaze ก็ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญในการทำดนตรีร็อกร่วมสมัยให้มีบรรยากาศหลอกหลอนและล่องลอยยิ่งขึ้น โดยวงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Tame Impala, DIIV และ The 1975 ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาชื่นชอบอัลบั้มชุดแรกของวง Slowdive มาก และมันก็ส่งอิทธิพลต่อการทำงานเพลงของพวกเขาโดยตรง


Slowdive ในโมงยามที่เพิ่งถือกำเนิด

วง Slowdive ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 5 คน คือ นีล ฮัลสเตด (ร้องนำ-กีตาร์-คีย์บอร์ด), เรเชล กอสเวลล์ (ร้องนำ-กีตาร์-คีย์บอร์ด-แทมโบลีน), นิก แชปลิน (เบสส์), คริสเตียน ซาวิลล์ (กีตาร์) และ ไซมอน สก็อตต์ (กลอง) โดยกอสเวลล์และฮัลสเตดที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ได้ตัดสินใจฟอร์มวงด้วยกันหลังออกจากโรงเรียนในปี 1989

ทั้งคู่ชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักกันในโรงเรียนของเมืองเรดดิง ประเทศอังกฤษ โดยได้แชปลินมาเป็นมือเบสส์ และได้ เอเดรียน เซลล์ มาเป็นมือกลอง (ก่อนที่คนหลังจะออกจากวงไปในอีก 6 เดือนถัดมา และได้สก็อตต์มาเล่นกลองให้แทน) ขณะที่ข้อแม้ในการหามือกีตาร์อีกคนที่ถูกเจาะจงว่าจะต้องเป็น ‘ผู้หญิง’ เท่านั้น ก็ทำให้ซาวิลล์เข้ามาร่วมวงช้าที่สุด เพราะเขาใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานว่าจะมาออดิชั่นดีหรือเปล่า (เพราะตัวเองเป็นผู้ชาย) แต่ด้วยความที่อยากเล่นกีตาร์ให้กับวงนี้มากๆ เขาจึงตัดสินใจเดินเข้ามาบอกว่า “จะให้ผมสวมเดรสเล่นกีตาร์ก็ได้นะ” ซาวิลล์จึงได้เข้ามาเป็นสมาชิกในท้ายที่สุด

ส่วนชื่อวง Slowdive ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อซิงเกิลของวง Siouxsie and the Banshee ซึ่งเป็นเพลงที่กอสเวลล์ชอบมาก รวมถึงคำบอกเล่าที่แชปลินเคยบอกเพื่อนๆ ว่า เขารู้สึก “ค่อยๆ ดิ่งลึกอย่างเชื่องช้า” ในความฝัน — มันจึงเป็นชื่อที่สามารถนิยามดนตรีที่ทั้งล่องลอยและดิ่งลึกของวงได้อย่างเหมาะเจาะไปในคราวเดียว

การสร้างกำแพงเสียงด้วยซาวด์กีตาร์ที่ทั้งหนาทึบและบิดเบี้ยว บวกกับการแสดงสดบนเวทีที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ชม (เพราะสมาชิกวงทุกคนต่างก็ก้มหน้ามองแต่พื้นเวทีขณะเล่นดนตรีเกือบตลอดเวลา) ก็ทำให้ Shoegaze กลายเป็นชื่อที่นักวิจารณ์ดนตรีใช้เรียกแนวเพลงที่พวกเขาเล่นในเชิงเยาะเย้ยถากถาง ซึ่งครั้งหนึ่ง ริชชีย์ เอ็ดเวิร์ดส์ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงแห่งวง Manic Street Preachers ถึงขนาดเคยสบถว่า “ผมเกลียด Slowdive ยิ่งกว่าเกลียด ฮิตเลอร์ ซะอีก”

หลังจากนั้น ทั้งนักวิจารณ์และแฟนเพลงบริตป๊อปต่างก็ก่นด่าวง Slowdive ตามๆ กันไปหมด ซึ่งก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คำวิจารณ์ของสื่อและศิลปินชื่อดังมีอิทธิพลต่ออนาคตของวงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ในช่วงเวลานั้นมากแค่ไหน

Souvlaki (1993) อัลบั้มชุดสองที่ถูกผู้ฟังยกให้เป็นงานคลาสสิกในแนว Shoegaze Souvlaki (1993) อัลบั้มชุดสองที่ถูกผู้ฟังยกให้เป็นงานคลาสสิกในแนว Shoegaze


ไม่เด่นไม่ดัง …ก็เพราะพลังของสื่อมวลชน

“อิทธิพลของสื่อในตอนนั้นแทบจะบดบังความสำคัญทางจิตวิญญาณที่จริงแท้ของดนตรีไปเลย” แชปลินเผยกับ The Guardian ในปี 2017 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1995 ที่ทางวงได้ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อ “เราแค่พยายามจะปล่อยผลงานเพลงออกมา เราทำเพลงกันอย่างจริงจังมากๆ แต่ทุกสัปดาห์ สื่อก็จะล้อเลียนงานเพลงของเราตลอด แฟนเพลงของเราที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็เลยไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเลย”

ซาวิลล์เล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของวง Slowdive จวนมาถึงอยู่แล้วเมื่อตอนที่เขามองลงไปยังกลุ่มผู้ชมในคอนเสิร์ตที่เมืองโคเวนทรี “ผมมองไปยังพื้นที่ด้านหลังเพราะคนดูมีอยู่น้อยมากๆ และพบว่าสิ่งเดียวที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ตรงนั้นก็คือผู้หญิงที่กำลังถูพื้นอยู่ ซึ่งทำให้ผมถึงกับคิดในใจว่า หรือเราต้องหางานจริงๆ ทำแล้ววะเนี่ย”

ส่วนกอสเวลล์ก็พูดในทำนองน้อยใจว่า “สื่อในยุคนั้นเขียนข่าวว่า ‘Slowdive คือวงดนตรีลูกคนรวย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่เข้าใจมาตลอด เราเนี่ยนะลูกคนรวย? ไร้สาระมากๆ ฉันไม่รู้ว่าทำไมสื่อถึงคิดว่าเรารวย ไม่มีสมาชิกคนไหนในวงที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง ไม่มีใครในวงเคยเรียนโรงเรียนเอกชนด้วยซ้ำ” ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้ผู้คนมองวง Slowdive ในแง่ลบมากขึ้นไปอีก ว่าเป็นเพียงวงลูกหลานของชนชั้นสูงที่อยาก ‘ทำเพลงเอาเท่’ เท่านั้น ทั้งที่งานเพลงของวงนั้นก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยแทบไม่เคยมีใครทำเพลงแนวนี้มาก่อนด้วยซ้ำ

จึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่วงดนตรีดีๆ เช่นนี้ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสื่อมาอย่างยาวนาน เพราะหาก Slowdive ถือกำเนิดในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อเก่าคร่ำครึอย่างในปัจจุบันแล้วล่ะก็ รับรองได้ว่าศิลปินวงนี้จะต้องแจ้งเกิดได้ตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกอย่างแน่นอน

ชื่อเสียงอันโด่งดังของวง Oasis, Blur และ Suede ในช่วงเวลานั้น เป็นเสมือนกับ ‘หมัดฮุก’ ที่ยิงเข้าสู่ปลายคางของวง Slowdive และก็ทำให้แนวดนตรี Shoegaze ที่มีพื้นที่น้อยอยู่แล้ว ยิ่งหดเล็กลงไปอีก แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในค่าย Creation Records ซึ่งเป็นสังกัดเดียวกับวง Oasis ก็ตาม

งานเพลงที่แทบจะขายไม่ได้เลยของวง Slowdive ทำให้ อลัน แม็กกี ผู้ก่อตั้งค่ายเรียกสมาชิกวงเข้าไปคุย เพื่อบอกว่าอัลบั้มชุดหน้าของพวกเขาจะต้องเป็นแนว ‘ป๊อป’ ที่มีจุดขายชัดเจนเท่านั้น “สำหรับเรา นั่นแหละคือฟางเส้นสุดท้ายจริงๆ และเราก็ไม่ได้ทำตามคำสั่งของแม็กกี เพราะ Pygmalion (1995) อัลบั้มชุดสุดท้ายที่เราทำกับค่าย Creation ก็ไม่ได้เป็นอัลบั้มเพลงป๊อป แต่เป็นงานเพลงแนวแอมเบียนต์ กึ่งๆ จะเป็นดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว มันห่างไกลจากความเป็นอัลบั้มเพลงป๊อปเลยล่ะ” โดยหลังจากที่อัลบั้มชุดนี้วางจำหน่ายได้เพียงสัปดาห์เดียว (ราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 1995) Creation Records ก็ไม่ขอต่อสัญญากับ Slowdive อีก

และไม่นานนัก พวกเขาก็ประกาศยุบวง


การหวนคืนเวทีอีกครั้งในอีก 22 ปีถัดมา

นับจากปี 1995 เป็นต้นมา สมาชิกวง Slowdive ก็แทบไม่ได้พบเจอกันอีกเลย ถึงแม้สมาชิกแต่ละคนจะรับรู้ได้ว่า มีวงดนตรีรุ่นหลังๆ ได้รับอิทธิพลในการทำงานเพลงมาจากพวกเขาก็ตาม

ที่สำคัญ สมาชิกวงไม่เชื่อว่า Slowdive จะมีฐานแฟนเพลงที่แข็งแรงมากพอ เพราะแฟนเพลงจากอดีตเหลืออยู่น้อยมาก ส่วนแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ ทั้งนักฟังเพลงและนักดนตรีที่ชื่นชอบเพลงแนว Shoegaze ที่ทางวงเป็นผู้แผ้วถางทาง จะพอมีเพิ่มเติมมาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะการันตีได้เลยว่า หากทางวงกลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งแล้ว จะยังมีแฟนเพลงมาดูกันอยู่หรือเปล่า เหมือนที่กอสเวลล์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “มีแต่คนมาบอกฉันว่า มีคนรอดูวง Slowdive เล่นสดเยอะมากแน่ๆ เพราะแนวเพลงที่เราเล่นเพิ่งมีนักดนตรีรุ่นหลังมามองเห็นคุณค่าเอาก็เมื่อตอนที่สื่อแทบจะหมดบทบาทในวงการดนตรีไปแล้ว”

“แต่เราก็ตัดสินใจที่จะกลับมาครับ” สก็อตต์เสริม “โชว์แรกของเราที่เทศกาลดนตรี Primavera Sound Festival ที่สเปนมีคนดูเราประมาณ 25,000 คน ซึ่งถือว่าเยอะสุดเท่าที่เราเคยเปิดคอนเสิร์ตมา (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องบ้ามากๆ ที่แฟนเพลงที่มาดูคอนเสิร์ตของเราเกือบทั้งหมด เป็นแฟนเพลงที่ไม่เคยดูวงเราเล่นสดมาก่อนเลย พวกเขาอยากจะดูเราแสดงคอนเสิร์ตมากๆ หลังจากที่ฟังแต่ซีดี แผ่นเสียง หรือจากยูทูบมาตลอด”

ขณะที่ฮัลสเตดก็ย้อนพูดถึงภาพจำฝังใจในอดีตอีกครั้ง “ผมได้แต่สงสัยว่าผู้หญิงที่กำลังถูพื้นอยู่หลังกลุ่มผู้ชมในวันนั้น เธอจะได้มาดูโชว์ของเราบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ ผมก็อยากจะบอกเธอมากๆ เลยว่า พวกเรากลับมาแล้วนะครับ” เขาหัวเราะร่วน

Slowdive อัลบั้มชุดที่ 4 ของวง ในปี 2017 ที่ทิ้งห่างจากอัลบั้มชุดที่ 3 ของวงถึง 22 ปี เป็นงานเพลงที่ไพเราะมากๆ จนแฟนเพลงหลายคนบอกว่า มันเป็นอัลบั้มที่มี ‘เมโลดี้จากสรวงสวรรค์’ เลยด้วยซ้ำ ส่วนการซ้อนทับของซาวด์กีตาร์ที่หนาทึบ รวมถึงการใช้เอฟเฟกต์กีตาร์ที่ให้เสียงแตกพร่าอย่าง Fuzz และ Reverb ของวงก็มีความประณีตและฟังง่ายขึ้นมาก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า Slowdive ไม่ได้เป็นวง Shoegaze วัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว แต่มันคืองานเพลงในแนว Shoegaze อันทรงคุณค่าที่ ‘ตกผลึก’ เรียบร้อยแล้ว ทั้งในแง่ของไอเดียสร้างสรรค์และการนำเสนอสุนทรียะของดนตรีแนวนี้ออกมาได้อย่างถึงแก่น จนทำให้ในตอนนี้ไม่มีใครเอาวง Slowdive ไปเทียบเคียงกับวงรุ่นเดียวกันอย่าง My Bloody Valentine อีกแล้ว

“ในตอนนี้ เราไม่ได้วางเป้าหมายอะไรเลย เพราะฉันคิดว่าเราโชคดีมากๆ แล้วที่หวนคืนสู่วงการได้โดย ‘ไม่เจ็บตัว’ แถมยังได้เห็นกับตาจริงๆ ว่ามีคนเห็นคุณค่าในงานเพลงที่เราเคยทำเอาไว้จริงๆ ถึงแม้ว่ามันจะช้าไปมากก็ตาม” กอสเวลล์กล่าว ซึ่งฮัลสเตดก็เห็นด้วยในข้อนี้ “ลูกๆ ของผมก็เพิ่งจะมาฟังงานเพลงเก่าๆ ของวง Slowdive ซึ่งพวกเขาชอบกันมาก เราไม่ได้เป็นวงดนตรีลับแลเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว ลูกผมเล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนๆ ที่โรงเรียนฟังเพลงวงเรา พอลูกผมบอกไปว่า ‘พ่อของฉันเล่นกีตาร์อยู่ในวงนี้นะ’ เพื่อนๆ ของเขาก็เลยถามว่า ‘วงพ่อเธอจะมาเล่นที่ผับแถวบ้านพวกเราบ้างหรือเปล่าล่ะ?’”

“เราอยากจะกลับไปเล่นในผับเล็กๆ อยู่เหมือนกัน …ถ้าทำได้น่ะนะ” กอสเวลล์กล่าวด้วยรอยยิ้มอบอุ่น.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2121532
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2121532