พิชชี่ วิชญ์วิสิฐ + ‘สี่วันในเดือนกันยา’ ละครเวทีไทยบุกยุโรปของ เบสท์ วิชย


ให้คะแนน


แชร์

ส่วนอันสุดท้ายเป็น 21 กันยาครับผม เป็น ‘วันสันติภาพโลก’ เราก็ลองตั้งคำถามกับอนาคตดู ตั้งคำถามถึงความเป็นไปครับ ประมาณนั้น ก็เลยเป็น ‘สี่วันในเดือนกันยา’


คิดว่าผู้ชมจะได้เห็นอะไรจากละครเรื่องนี้

เบสท์: เห็นความเรื่อยเปื่อย เป็นไป เปลี่ยนแปลง ปุบปับ ของสังคมนี้แบบคร่าวๆ ครับ คงไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้หมดหรอก แต่ก็หวังว่าคนดูจะสัมผัสบางอย่างได้นะ รวมถึงความหวังด้วย

การทำงานของเรื่องนี้ แตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างไร

เบสท์: ด้วยความที่มันจะไปเล่นครั้งแรกที่เมืองนอก เจอคนดูที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ไม่เข้าใจภาษาไทย ก็เป็นความต่างใหญ่ๆ เหมือนกัน เพราะแต่เดิมเวลาเบสท์ทำละคร ก็จะให้นักแสดงอิมโพรไวส์จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งบนเวทีไปเรื่อยๆ แต่พอไปเจอคนดูที่ต้องอ่านซับไตเติ้ล (คำบรรยาย) มันก็จะเล่นแบบนั้นไม่ได้

อย่างตอน ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ ก็เจอปัญหาเดียวกัน ก็เลยถือเป็นแบบฝึกหัดของเบสท์เหมือนกัน ซึ่งพอมาเรื่องนี้ก็เลยเป็นการฝึกต่อจากจุดนั้นอีกทีว่า โอเค เราจะต้องทำละครที่บทคือบท เล่นกันตามบท แต่ยังคงความเหมือนเดิม คือต้องคิดว่ามีพื้นที่ให้นักแสดงค้นหากับปัจจุบันขณะบนเวทีด้วยได้

ชวน: ตอนที่ปรับกันรอบแรก จากการอิมโพรไวส์มาเล่นตามบทเนี่ย ต้องตัดมุกตลกออกเยอะมาก เพราะมุกของเราเป็นมุกเล่นคำทั้งนั้นเลย

ตอย: ตอนนั้นการแสดงก็เลยค่อนข้างออกมาแบบ เอ่อ… (หัวเราะ) ก็ค่อนข้างมีกรอบนั่นแหละ แต่อย่างช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เรากำลังปรับสมดุลกันอยู่ ว่าจะทำยังไงให้มันสบายๆ เหมือนไม่มีซับฯ แม้จะยังมีซับฯ ประกอบอยู่

‘ซับไตเติ้ล’ สำคัญมากกับการแสดงที่ต่างประเทศใช่ไหม

ปูเป้: คือเราไม่เคยรู้เลย ว่าซับไตเติ้ลจะเป็นเรื่องซีเรียสเบอร์นั้น แบบว่าชนะทุกอย่างได้เลยอะ เพราะในเทศกาลแบบนี้ เขารู้ว่าคนดูต้องการสิ่งนี้ ดังนั้นเราก็จะโดนเคี่ยวเข็ญอย่างหนักเรื่องงานซับไตเติ้ล แล้วมันก็จะลามมาถึงนักแสดงตรงที่ว่า บทกับซับไตเติ้ลจะต้องไปด้วยกันให้ได้

ชวน: ซึ่งสวนทางกับงานปกติของวิชยมากๆ (หัวเราะ)

เบสท์: แต่ใช่อย่างที่ปูเป้ว่า เขาเครียดเรื่องซับฯ กันจริงๆ นะ ขนาดว่ามี Dramaturg (ผู้ร่วมพัฒนาบทในแง่การนำเสนอและการตีความบนเวที) สำหรับซับไตเติ้ลโดยเฉพาะของเทศกาลเลย เช่น คนนี้จะมีหน้าที่ในการทำงานเรื่องซับฯ กับทุกโปรดักชั่นที่มีซับฯ แล้วเขาก็จะมานั่งดูตอนโชว์ด้วย จะมีวันที่เขาต้องมานั่งเช็กซับฯ กัน ว่าอันนี้ต้องมีหน้าดำ (คือมีกรอบดำหลังตัวอักษร) อันนี้ไม่ต้องมีหน้าดำ อันนี้เราต้องเคาะภาษาอังกฤษกับภาษาเยอรมันในบรรทัดนี้ให้ตรงกัน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นความรู้สึกแบบว่า พอนักแสดงพูดผิด เราเองก็จะรู้สึกผิดไปด้วย

พิชชี่: คนกดซับฯ นี่ก็เหมือนเป็นนักแสดงอีกคนเลยนะ

ทุกคน: ใช่ๆๆ

ตอย: คือต้องรู้จังหวะ ต้องรู้ว่าคนนี้จะเล่นประมาณนี้ เท่านี้พอ บางอันต้องปล่อยผ่าน บางอันต้องได้ความหมาย อะไรแบบนี้

เบสท์: แล้วการทำซับฯ แต่ละที่ ก็ไม่เหมือนกันด้วยนะ อย่างที่เวียนนาจะใช้ 2 ภาษา ที่บรัสเซลส์ 3 ภาษา ก็ต้องปรับกันตามพื้นที่ที่ไปแสดง

บรรยากาศการฝึกซ้อม บรรยากาศการฝึกซ้อม


ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

ปูเป้: ก็คือเราต้องไปเล่นในโรงละครสำหรับมืออาชีพที่ยุโรปใช่ไหม แต่เราหาที่ซ้อมแบบนั้นไม่ได้เลย ไม่ได้จริงๆ ค่ะ เราต้องเซตอัพให้ใกล้เคียงของจริง 100% เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปเล่นรอบแรกที่นู่น คือมันมีสเปซแหละ แต่ต้องเสียเงินเท่าไรก็ไม่รู้ แล้วเราก็ไม่พร้อมที่จะเสียเงินมากขนาดนั้นด้วย เราพร้อมเสียได้แค่ประมาณนึง แถมตอนนี้ยังปิดเพราะล็อกดาวน์อีก

เบสท์: คือทางทีมงานเขาจะให้แบบแปลนโรงละครทั้งหมดมาล่วงหน้าอยู่แล้ว พอไปถึงส่วนใหญ่ก็จะเซตอัพตามที่เราวางแผนกันไว้เลย ซึ่งจะได้เข้าโรงละครจริงๆ แค่ประมาณ 3 วัน แล้วจากนั้นก็ต้องเล่นจริงเลย (หัวเราะ)

ชวน: เหมือนเราต้องทำการบ้านไปจากที่นี่ให้ได้มากที่สุด แล้วพอไปถึงที่นั่น ช่วงเวลา 2-3 วันที่เหลือคือการประกอบร่าง

ตอย: แล้วก็ต้องยืดหยุ่นให้เข้ากับสเปซของที่นู่นด้วยนะ

ในฐานะนักแสดง มีความท้าทายอย่างไรบ้างสำหรับเรื่องนี้

พิชชี่: มันอาจจะไม่ได้เป็นการแสดงในลักษณะที่ว่า พอพูดถึงละครเวทีแล้วต้องแอ็กติ้งเยอะๆ เราคิดว่ามันไม่ใช่การแสดงในความหมายนั้น แต่มันคือการแสดงในความหมายที่ว่า เราต้องเป็นอยู่บนพื้นที่นั้น

ชวน: คืองานชิ้นนี้มันไม่ได้มีตัวละครให้ต้องศึกษาปรับเข้าหาใดๆ เหมือนกับเรื่องอื่นๆ เท่าที่ซ้อมมา ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่กับเพื่อนและเหตุการณ์บนเวทีมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับพวกละครแบบ traditional ต่างๆ มันจะต้องมีการทบทวนภูมิหลังว่า ฉันเป็นใคร ฉันทำอะไรมา แต่เรื่องนี้ไม่มีโจทย์นี้เลย

ออร์แกน: มันก็คือการหาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนเวที คือพอบทออกมาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือเล่นกับโมเมนต์ที่เกิดขึ้นบนเวที อันนี้แหละที่เป็นงานเรา

ชวน: จริงๆ เราว่าเป็นเพราะทิศทางการกำกับของวิชยด้วย เพราะทิศทางในการกำกับแต่ละรอบอาจจะเล่นไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ถ้าภาวะนักแสดงเปลี่ยน งานมันก็จะเปลี่ยนได้ ถ้าช่วงนั้นมวลรวมบนฉากเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปได้อีกเหมือนกัน

ดังนั้น คนคุมซับไตเติ้ลต้องเห็นภาวะของนักแสดงทั้งห้าคนบนเวที ว่าวันนี้เขาจะมาทางไหน วันนี้มวลรวมไปทางไหน ต้องกดช้าหรือกดเร็ว หรือว่านักแสดงกำลังจะเล่นแบบนี้หรือเปล่า คือแบบต้องเล่นไปด้วยกัน เหมือนซับฯ เป็นอีกตัวละครนึง


พอต้องไปเล่นที่เมืองนอก มีวิธีนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้อย่างไร

พิชชี่: เรารู้สึกว่าความเป็นการเมืองมันค่อยๆ ซึมออกมาหลังจากที่ซ้อม หรือจากที่เราเล่นกันไปสักพัก คือมันไม่ได้เริ่มตั้งต้นจากการมานั่งคุยกันว่าจะใส่ความเป็นการเมืองลงไปยังไง

ชวน: คิดเหมือนกัน รู้สึกว่าการเมืองมันถูกเล่าผ่านบท การกำกับ และองค์ประกอบอื่นๆ ไปหมดแล้ว ในพาร์ตนักแสดงจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอบนเวทีมากกว่า โดยที่ระหว่างเล่นไปก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะเกี่ยวกับการเมือง

ตอย: คือตอนสร้างบท มันเป็นช่วงที่ทุกกลุ่มชุมนุมไปสุดในทางการเมือง มีการรวมตัวกันเยอะมาก ช่วงประมาณสิงหาหรือกันยาปีที่แล้วนั่นแหละ ดังนั้น มันก็เลยออกมาโดยธรรมชาติจากชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ไม่ได้ไปผลักมันออกมา หรือไปบังคับว่าต้องพูดเรื่องการเมืองนะ เพราะมันออกมาเป็นปกติอยู่แล้ว

พิชชี่: ตอนที่ได้บทมาอ่านแล้วยังมีแบบ ‘อะไรอะ นี่คืออะไร’ (หัวเราะ) แต่ว่าพอได้เล่นไปสักพัก พอมาเจอวิธีการจัดวาง วิธีการเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ ไอ้สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นสาระ ก็มีความหมายขึ้นมาซะงั้น

เบสท์: อาจเป็นเพราะด้วยบรรยากาศบ้านเมืองเมื่อปลายปีที่แล้วมันเอื้อให้เกิดบทสไตล์นี้ (หัวเราะ) ถ้ามานั่งเขียนบทกันตอนนี้ก็อาจจะเป็นอีกแบบ

ปูเป้: สำหรับเรา สิ่งที่สนุกคือการได้รู้ว่าคนดูเก็ตอะไร เมืองนี้คนเก็ตอะไร เพราะว่าเขาไม่เก็ตเหมือนคนไทยอยู่แล้ว เราก็จะรู้สึกว่า อ๋อ เมืองนี้เก็ตสิ่งนี้ อ๋อ อันนี้ขำสำหรับเขาเหรอ ขำเพราะอะไรวะ อะไรแบบนี้

ชวน: คือบางที ‘สติ’ ในฐานะนักแสดงไม่ได้รู้หรอกว่านี่คือเรื่องการเมือง รู้แค่ว่าอยู่ยังไงบนนั้นให้สนุก แล้วก็จะมารู้เอาทีหลัง อย่าง ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ อะเล่นผ่านไป 5 ปีแล้วนะ ก็เพิ่งจะมีแบบ เอ้า ตรงนี้การเมืองนี่หว่า

พิชชี่: ใช่ๆ บางทีซ้อมมาเป็นสิบๆ รอบแล้ว ก็เพิ่งจะมา อ๋อ ทำไมพี่เบสท์ถึงบอกให้ทำอันนี้

ชวน: นี่ก็ไม่รู้จริงๆ นะ ว่ารีแอ็กของคนดูนานาชาติจะรู้สึกยังไง แต่ว่าสำหรับคนไทยอะ คือสนุกกรุบเลยนะ

ปูเป้: แล้วก็กรี๊ดเลยแหละ (หัวเราะ)

แล้วคนไทยจะมีโอกาสได้ดูกันเมื่อไหร่

เบสท์: อันนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันครับ ต้องดูด้วยว่าตอนนั้นบ้านเมืองเป็นยังไง ก็คงต้องว่ากันอีกทีในเวลานั้น

ปูเป้: ในฐานะโปรดิวเซอร์ เราก็อยากให้ได้เล่นนะ แต่ก็อย่างที่ว่า จะได้เล่นด้วยเงื่อนไขไหน เมื่อไหร่ ยังไง เดี๋ยวคงต้องว่ากันอีกที แต่ว่าเรื่องนี้มันถูกสร้างมาเพื่อประเทศนี้จริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ)

‘สี่วันในเดือนกันยา’ เพิ่งเปิดทำการแสดงครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ งานเทศกาลละครนานาชาติ Wiener Festwochen กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จากนั้นจะบินไปแสดงต่อที่เทศกาล Kunstenfestivaldesarts กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ตามด้วยที่ Festival d’Automne à Paris ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะปิดท้ายที่ Black Box Theater ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

โดยนอกเหนือจากบุคคลที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ละครเรื่องนี้ยังมีทีมงานอีกหลายชีวิตที่คอยขับเคลื่อนทุกอย่างจากเบื้องหลัง ทั้งทีมเทคนิค Duck Unit ผู้สร้างสรรค์ทุกอย่างให้กับโปรดักชั่นได้อย่างมหัศจรรย์, ตามใจ-สุรัตน์ แก้วสีคร้าม Stage Manager ผู้ประสานงานให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และต้องอยู่ซ้อมกับเหล่านักแสดง จนแทบจะเป็นนักแสดงอีกคนอยู่กลายๆ รวมถึง มิสโอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ อีกหนึ่ง Stage Manager ผู้เชี่ยวชาญด้านซับไตเติ้ล

“ละครเรื่องหนึ่งไม่ได้จบที่ผู้กำกับและนักแสดง แต่มันยังมีพลังอีกมากมายจากคนมหาศาลที่อยู่เบื้องหลังด้วยค่ะ” ปูเป้กล่าวถึงทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญและทำให้ละครเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างที่มันควรจะเป็น.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2126727
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2126727