หนังเกาหลี มีระบบจัดการยังไง ทำไมโตไวแรงระดับโลก


ให้คะแนน


แชร์

ทางบริษัทต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะ 2 ค่ายใหญ่ มงคลซีเนม่า Mongkol Cinema ที่ขยันนำหนังเกาหลี และประเทศอื่นๆ มาให้แฟนหนังได้ดู และนนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ Nontanund Entertainment ก็นำหนังเกาหลีเข้ามาฉายที่ไทยด้วย เคยรุ่งอยู่พักใหญ่ ทำให้ได้มองเห็นโอกาสดี ที่เปิดกว้างแฟนหนังชาวไทยที่พร้อมเปิดรับหนังเกาหลี จึงทยอยนำหนังเกาหลีคุณภาพ มาให้แฟนหนังชาวไทยได้ดูเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันน่าเสียดาย บริษัทปิดไปแล้ว

ทุ่มทุนสร้างดี รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนจริงจัง

ณ๊อบ ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง โปรดิวเซอร์หนังจากเรื่อง และเคยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงาน ส่งเสริมอาหารเกาหลี Korea Agro Fisheries & Food Trade Corporation และการท่องเที่ยวเมืองปูซาน Busan Tourism Organization

“ผมคิดว่า เราต้องมองที่บริบททางสังคมปัจจุบันประกอบ การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ หรือดูซีรีส์ทางทีวี กลายเป็นวัฒนธรรมของคนเกาหลีไปแล้ว จนนับได้ว่าเป็นชาติที่คนดูหนังมากที่สุด ประเทศหนึ่งในโลก แต่คนเกาหลีนิยมดูหนังดูละคร ของชาติตัวเองเป็นหลัก ยิ่งทำให้ผู้สร้างต้องสร้างงานออกมา เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชาติ

“เดิมหนังเกาหลีไปฉายที่ต่างประเทศ ก็ไม่ค่อยมีคนดู โรงหนังหรือผู้จัดจำหน่ายก็ไม่สนใจ รัฐบาลจึงร่วมกับภาคเอกชนอย่าง เช่น ซัมซุง Samsung ฯลฯ ให้เข้าไปซื้อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ หรือทีวีประเทศนั้นๆ เพื่อมีข้อตกลง ว่าต้องมีพื้นที่ฉายหนังเกาหลี จนวันเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง หนังเกาหลีก็ติดตลาด

“อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลี ถือเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลัก ที่ได้การสนับสนุนของรัฐบาล โดยการขับเคลื่อนของ สภาภาพยนตร์เกาหลี เดอะโคเรีย ฟิล์มเคานซิล The Korea Film Council (โคฟิก KOFIC) เอาคนที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมจริงๆ มานั่งเป็นประธานและกรรมการ ซึ่งแตกต่างจากไทยเรามากๆ ที่คนไม่ได้รักหนังจริง ไม่ได้มีความรู้เรื่องหนังจริง แต่ให้มาทำงานกำกับดูแล

เกาหลีใต้ยังมีกรรมาธิการภาพยนตร์ ฟิล์มคอมมิชชัน (Film commission) ของแต่ละเมือง ช่วยกันขับเคลื่อนอีก มันเลยเป็นองคาพยพ โดย 4 สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีเติบโต คือ

1. มีพื้นที่แสดงผลงาน หรือมีโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นของภาครัฐบริหารเอง

2. Incentive Measures มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งภายในประเทศ เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ที่สำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่น เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการดึงผู้สร้างต่างประเทศมาถ่ายที่เกาหลี โดยการให้ทุน หรือมีการคืนเงินบางส่วน

3. จัดตั้งสถานศึกษาด้านภาพยนตร์โดยเฉพาะ ฟิล์มอะคาเดมี (Film Academy) มีทุนการศึกษา และมีคอร์สอบรม เพื่อพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงได้

4. การจัดเทศกาลหนังระดับนานาชาติ เช่น เทศกาลหนังนานาชาติปูซาน Busan International Film Festival เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง

อดีตวางรากฐานเข้มแข็ง ปัจจุบันฉลุย

ค.ศ. 1993 รัฐบาลเกาหลีได้บังคับใช้ Screen Quota เป็นครั้งแรก โดยบังคับให้โรงหนัง ต้องฉายหนังเกาหลีจำนวนขั้นต่ำ 146 วันต่อปี ภายใต้กฎหมายส่งเสริมของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ระบุว่า ต้องมีการฉายภาพยนตร์ท้องถิ่นปีละ 140 วัน หรือประมาณ 40% ของทั้งปี

“เปอร์เซ็นต์ตรงนี้ มันมีขึ้นลงตลอด ปัจจุบันเหลือ 73 วัน โควตาหน้าจอเป็นนโยบายทางกฎหมายที่บังคับใช้ จำนวนวันฉายภาพยนตร์ในประเทศขั้นต่ำในโรงภาพยนตร์ ในแต่ละปี เพื่อปกป้องภาพยนตร์ของประเทศ ระบบโควตาหน้าจอถูกบังคับใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดต่างประเทศ รุกเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ในประเทศเกาหลี”

“ช่วงปี 2540 กระทรวงวัฒนธรรมและกีฬาเกาหลีใต้ ได้เชิญคนเขียนบททั่วโลก ไปร่วมสัมมนา เพื่อหาพล็อตเรื่องที่เป็นสากลและโดนคนทั่วโลก เหมือนมีการวิจัยค้นคว้าและพัฒนา R&D (Research and Development) คือรัฐบาลเขาทำวิจัยจริงจัง และให้เอกชนไปพัฒนา เพื่อสร้างซีรีส์เป็นสินค้าส่งออก และนั่นก็เป็นที่มาของซีรีส์ฮิต แดจังกึม ครับ เป็นละครที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว ก่อนผลิตและส่งออกไป”

หนังเกาหลีฮิตติดใจ จากอดีตถึงปัจจุบัน

ไปเริ่มกันที่หนังซนซึ้ง มายแซสซี่เกิร์ล my sassy girl ขำซึ้งทรวงลงตัวดีจัง หนังแจ้งเกิดให้กับ จวนจีฮุน มาถึงคิวหนังสยองในตำนาน ตู้ซ่อนผี A Tale of Two Sisters ที่เชื่อเลยว่า ใครหลายคนที่เห็นตู้เก่าๆ จะต้องนึกถึงหนังเรื่องนี้ หนังโคตรโรแมนติก ที่กาลเวลามิอาจกั้นรักเรา อิลมาเร il mare ฮิตซึมลึกจนทางฮอลลีวูดซื้อบท ไปรีเมกสร้างใหม่

ส่วนหนังน่ารักสุดละมุน วานี & จูน่า 3 หัวใจ ความหมายหนึ่งเดียว Wanee & Junah แอนิมิชันก่อเกิดรักสุดเนี้ยบ ที่อยู่ต้นเรื่องและปิดท้ายเรื่อง ตราตรึงใจอย่างแรง และหนังสงครามสุดสะเทือนใจ เทกึกกี Tae Guk Gi วอน บิน โอปป้าหล่อแรงในตำนาน ระเบิดฝีมือได้ยอดเยี่ยมไร้เทียมทานทะลุจอจริง

มาถึงหนังแนวชายรักชายย้อนยุค อะฟอสเซิ่นฟาวเวอร์ A Frozen Flower โชอินซอง, จูจินโม 2 พระเอกหล่อเหลาในยุคนั้น ทุ่มเต็มที่เล่นได้เปลืองตัวมาก โอเคๆ สมจริงจนต้องตะลึง! เดอะคลาสสิก The Classic หนังน้ำเน่าเกรดพรีเมียมที่เราหลงรัก เรื่องรักต่างชนชั้นที่รัดทน แต่ก็ชุ่มชื่นหัวใจไปได้ด้วย 

โซจีซบ-ซอนเยจิน หว่านความหวานผสมสุดเศร้าใน Be With You ทำเอาแฟนคลับฟินอย่างแรงๆ ไปแล้ว ใครจะลืมลงกับหนังเรื่องนี้ เทรนทูปูซาน Train To Busan ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง คล้ายหลายจุดอยู่จนน่าขนลุก กับสถานการณ์โควิดระบาดที่ไทยแลนด์ มาถึงเรื่อง อลองวิทเดอะก็อต Along With The Gods ตื่นเต้นระทึกขวัญและกระตุกต่อมคิดเรื่องศีลธรรมได้ดีด้วย ส่งท้ายด้วยประวัติศาสต์หนังเกาหลีใต้ ต้องจดจำไว้ ชนชั้นปรสิต Parasite หนังเสียดสีสังคมคนรวยคนจนได้แสบสุด โกยทั้งเงินและกวาดหลายรางวัลถึงขีดสุดได้ออสการ์

ออกกฎหมายบังคับ จุดสำคัญทำให้หนังเกาหลีโตไว

ต้องรีบไปคุยกันต่อกับ นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับหนัง อนธการ The Blue Hour, มะลิลา Malila The Farewell Flower ล่าสุดร่วมงานผู้กำกับเกาหลีเพื่อร่วมกำกับในซีรีส์สยองแรง 8 ตอนเรื่อง Forbidden 

นุชี่ อนุชา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของหนังเกาหลี ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ธุรกิจโรงหนังเติบโตตามไปด้วย “หลายคนชอบเปรียบเทียบหนังไทยกับหนังเกาหลี อย่างเรื่องสกรีนโควตาของเกาหลี โดยรวมคือ เขาจะบังคับให้โรงฉาย ต้องฉายหนังเกาหลีอย่างน้อย ประมาณ 2/5 หรือ 40% ตลอดการฉายทั้งปี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนังในประเทศค่ะ แต่กฎนี้ยกเลิกไปในปี 2006 โดยลดเหลือ 20% แทนแล้วค่ะ

“กฎนี้มีส่วนช่วยทำให้วงการหนังเกาหลีเข้มแข็งขึ้น จนสามารถแข่งกับหนังฮอลลีวูดได้
เมื่อยกเลิกกฎนี้ไป ก็ไม่มีผลอะไร เพราะสัดส่วนการฉายหนังเกาหลีในเวลานั้นสูงอยู่แล้ว รวมทั้งโรงหนังและค่ายหนัง ก็ร่วมมือกันฉายหนังเกาหลีกันเป็นอย่างดีค่ะ กฎนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1966 ร่วม 40 ปีค่ะ ตอนนี้ก็ยังมีบังคับใช้อยู่ที่สัดส่วน 20% แต่ปกติหนังเกาหลี ก็จะฉายได้มากกว่านั้นอยู่แล้วค่ะ”  

 

การบังคับโรงหนังให้ฉายหนังเกาหลี ในอัตราส่วนที่จะเติบโตต่อได้ นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้หนังเกาหลีโตได้จนถึงทุกวันนี้ ทำให้มีผู้กำกับเก่งออกมาเรื่อยๆ และโรงหนังเกาหลีส่วนใหญ่ พร้อมฉายหนังเกาหลีอย่างเต็มที่ เพราะกฎที่ออกมาคุม และสำนึกในความรักชาติ ที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มเปี่ยมด้วย.

นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun 

 

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2127706
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2127706