ดูซีรีส์ The X-Files อย่างไรให้สนุก ในโลกยุค 2021


ให้คะแนน


แชร์

ข่าวแนะนำ

ทันทีที่ได้เห็น The X-Files ปรากฏอยู่ในรายนามของซีรีส์ที่ถูกนำมาฉายผ่านช่องสตรีมมิง Disney+ Hotstar ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในบ้านเราปีนี้ เราก็อดรู้สึกตื่นเต้นและหวนรำลึกถึงความสนุกแต่หนหลังไม่ได้ เพราะนี่คือซีรีส์ดราม่าระทึกขวัญสัญชาติอเมริกัน ที่ถือเป็น ‘ผลงานระดับตำนาน’ จากยุค 90 ภายใต้ประโยคขายอันแสนติดหูว่า “The Truth is out there.” (มีความจริงอยู่ข้างนอกนั่น) อันมาจากเรื่องราวการสืบสวนคดีเหนือธรรมชาติของคู่หูเอฟบีไอที่สร้างความลุ้นระทึกให้แก่ผู้ชมมายาวนานกว่า 11 ซีซั่น (รวม 218 เอพิโสด) พร้อมด้วยเวอร์ชันภาพยนตร์อีก 2 ภาค ซึ่งในยุคหนึ่งเคยสร้างเรตติ้งถล่มทลาย และทำให้นักแสดงนำได้รางวัลกันไปไม่น้อย

The X-Files ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากไอเดียของ คริส คาร์เตอร์ และเริ่มออกอากาศซีซั่นแรก ทางโทรทัศน์ช่อง Fox ของสหรัฐอเมริกา ในปี 1993 เป็นประจำทุกสัปดาห์ (ซึ่งในบ้านเรา ช่อง 7 เคยนำมาฉายแบบถูกลิขสิทธิ์ ในชื่อ ‘แฟ้มลับคดีพิศวง’) โดยเล่าถึงการเข้าคู่กันในแผนกที่คอยดูแล ‘แฟ้มคดีรหัสเอ็กซ์’ ของสองนักสืบเอฟบีไอต่างเพศอย่าง ฟ็อกซ์ มัลเดอร์ (รับบทโดย เดวิด ดูคอฟนี) และ เดนา สกัลลี (จิลเลียน แอนเดอร์สัน) ที่ดูจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เนื่องจากฝ่ายแรกเป็นเจ้าหน้าที่ที่เชื่อในเรื่องมนุษย์ต่างดาวและเรื่องลี้ลับ (หรือก็คือ Believer / ผู้ศรัทธา) ผู้มีประสบการณ์ตรงในวัยเด็กจากเหตุการณ์การหายตัวไปอย่างลึกลับของน้องสาว ขณะที่ฝ่ายหลังเป็นแพทย์นิติวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ที่ยังคลางแคลงสงสัยในความเชื่อเหล่านั้น พร้อมคอยหาทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมาหักล้างเขาอยู่เสมอ (หรือก็คือ Skeptic / ผู้ตั้งคำถาม)

ว่าแต่ซีรีส์ที่ผ่านเวลามาเกือบสามทศวรรษชุดนี้ จะยังทำให้ผู้คนยุค 2021 อย่างเรา สามารถสนุกตื่นเต้นไปกับการรับชมได้อย่างไรบ้างนั้น …เรามี ‘วิธีการดู’ ในแบบของเรามาแนะนำกัน


ดูบริบทของสังคมอเมริกันยุคเก่า …ที่ผู้ใหญ่คิดถึง และเด็กรุ่นหลังต้องตื่นตา

ความสนุกประการต้นๆ ในการรับชมซีรีส์คลาสสิกจากช่วงทศวรรษก่อนๆ คงหนีไม่พ้นการละเลียดชม ‘บริบททางสังคม’ ชองมัน ซึ่งยิ่งเมื่อ The X-Files เป็นซีรีส์ที่ถูกสร้างขึ้นในต้นยุค 90 อันเป็นช่วงที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยีการสื่อสาร, แฟชั่นการแต่งกาย และวิถีชีวิตแบบคนเมืองในสังคมทุนนิยมกำลังเฟื่องฟู รวมถึงมีวิวัฒนาการการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การนั่งดูเรื่องราวของ ‘นักสืบเรื่องต่างดาว’ คู่นี้ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ร่วมยุคสมัยอาจรู้สึกโหยหา และเด็กรุ่นหลังอาจรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปด้วยได้

โดยชีวิตความเป็นอยู่ หรือ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของตัวละครที่ถูกนำเสนอในซีรีส์ตั้งแต่ซีซั่นแรกเป็นต้นมา ล้วนควรค่าแก่การย้อนกลับไปสำรวจเพื่อซึมซับ-ควบคู่ไปกับการสืบสวนคดี-ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ เพจเจอร์ อุปกรณ์สำหรับรับส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์คนกลาง ที่มักต่อพ่วงด้วยภาพการใช้โทรศัพท์สาธารณะ หรือโทรศัพท์สำนักงานของเจ้าของเพื่อติดต่อกลับไปยังฝ่ายที่ส่งข้อความมา; การใช้คอมพิวเตอร์รุ่นบุกเบิกที่ยังมีรูปทรงสี่เหลี่ยมหนาและมีขนาดใหญ่เทอะทะ; แฟชั่นที่เคยดูเท่เก๋-แต่สำหรับปัจจุบันอาจดูเฉิ่มเชยไปแล้ว-อย่างการใส่ชุดสูทหลวมโคร่งของตัวละครชายและการทำผมฟูฟ่อง หรือตีกระบังหน้าท้าลมของตัวละครหญิง; ไล่มาจนถึงร้านอาหารหรูที่เคยถูกตกแต่งด้วยสไตล์คลาสสิก หรืออาหารฟาสต์ฟู้ดที่ยังถูกบรรจุอยู่ในแพ็กเกจยุคแรกเริ่มอย่างน่าเอ็นดู

บริบททางสังคมเหล่านี้ยังได้มาจากการติดตามดูวิวัฒนาการของบรรดานักแสดงในแต่ละซีซั่นด้วย ว่าพวกเขามีรูปลักษณ์และฝีมือการแสดงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยผู้ชมที่ ‘เกิดทัน’ ตอนซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์ อาจร่วมรำลึกถึงเรื่องราวนอกจอได้อย่างมีอรรถรสมากกว่า อาทิ ความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ ของนักแสดงคู่ขวัญอย่างดูคอฟนีและแอนเดอร์สัน ซึ่งดูคอฟนีเผยว่า ในระหว่างการถ่ายทำอันยาวนานที่ผ่านมา พวกเขา ‘ไม่เคยเข้ากันได้เลย’ (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการต่อสู้เรียกร้องเรื่องค่าตัวที่แอนเดอร์สันมักได้น้อยกว่านักแสดงชายอย่างเขา) ก่อนที่ทั้งคู่จะเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น และหันมาเป็น ‘เพื่อนที่ดี’ ระหว่างที่ต้องแยกย้ายกันไปทำการแสดงในเวลาต่อมา — ซึ่งล่าสุด ดูคอฟนีได้หันมาออกอัลบั้มเพลงอย่างจริงจัง โดยชุดล่าสุดคือ Gestureland ในปีนี้ และแอนเดอร์สันก็กลายเป็นนักแสดงรุ่นเก๋าที่ผู้ชมทาง Netflix คงคุ้นหน้ากันดีจากบท ‘คุณแม่นักบำบัดเซ็กซ์’ ในซีรีส์ Sex Education และบท ‘อดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษ’ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ในซีรีส์ The Crown 


ดูวิธีการเล่าเรื่องของซีรีส์ยุคเก่า …ที่แม้จะประดักประเดิด แต่ก็ทรงคุณค่า

นอกจากจะสนุกกับการเก็บเกี่ยวบริบทสังคมต่างๆ ในอดีตที่แปลกตาและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เรายังสามารถสนุกกับ The X-Files ผ่านลักษณะการเล่าเรื่องอัน ‘ซับซ้อน’ และ ‘หม่นมืด’ ของมันที่ต่อยอดมาจากสื่อการเมือง/สืบสวน (หนัง All the President’s Men, The Silence of the Lambs, ซีรีส์ Miami Vice) และสื่อสยองขวัญหลอนประสาท (ซีรีส์ Kolchak: The Night Stalker, Twin Peaks) ในยุคนั้น จนตัวซีรีส์เองก็ส่งอิทธิพลต่อซีรีส์อเมริกันในยุคหลังๆ ได้ด้วยเช่นกัน (เห็นได้ชัดคือ Breaking Bad ซีรีส์คุณครูค้ายาสุดหม่นแต่โคตรมัน อันเป็นผลงานการสร้างของ วินซ์ กิลลิแกน มือเขียนบทในยุคเฟื่องฟูของซีรีส์ชุดนี้) แม้ว่าจะมีรายละเอียดหลายอย่างที่อาจดู ‘ไม่น่าเชื่อ’ หรือกระทั่ง ‘น่าขบขัน’ สำหรับผู้ชมในปัจจุบันแล้วก็ตาม ทั้งจากการแสดงแบบแข็งๆ, สเปเชียลเอฟเฟกต์ทำมือแบบปลอมๆ และเทคนิคการตัดต่อแบบเก่าๆ ที่ชวนสะดุดตาสะดุดใจในบางฉาก

เราอาจแบ่งวิธีการเล่าเรื่องของซีรีส์นี้ออกได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆ ผ่านรูปแบบการนำเสนอของแต่ละเอพิโสด — หนึ่ง, คือ เอพิโสดที่ว่าด้วย ‘การต่อกรกับตัวประหลาด’ และ สอง, คือ เอพิโสดที่ต่อยอดจาก ‘แก่นเรื่องลึกลับ’ (Mytharc) ซึ่งซีรีส์ตั้งธงเอาไว้ โดยในรูปแบบแรกนั้นมักจะเป็นเรื่องเล่าแนว ‘จบในตอน’ ที่พาตัวละครทั้งคู่ไปพบกับ ‘สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ’ ที่โผล่ออกมารบกวนผู้คนในรูปลักษณ์ที่ต่างกันไป (เช่น มนุษย์กลายพันธุ์ที่ฆ่าคนเพื่อบริโภคตับ, มนุษย์ขนรุงรังที่อาศัยอยู่ในป่า หรือแม้แต่พยาธิยักษ์!) ส่วนรูปแบบหลังคือการกลับไปคลี่คลายคำถามที่ตัวละครสงสัยว่า ‘รัฐบาลรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวและกำลังปกปิดความลับอะไรกับประชาชนอยู่กันแน่?’ ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่องของซีรีส์ทั้งชุด (มาถึงตรงนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ‘เอพิโสดแนวตัวประหลาด’ คือการสอดแทรกคั่นกลางเพื่อให้ ‘เอพิโสดแนวแก่นเรื่องลึกลับ’ ยิ่งดูน่ารอคอยและน่าติดตามมากขึ้นในช่วงที่ออกฉายนั่นเอง)

ดังนั้น การตามดูเรื่องราวในสองแนวทางนี้ จึงล้วนมีความเพลิดเพลินในแบบของมัน ทั้งการต่อกรกับตัวประหลาดที่ถูกบอกเล่าอย่างรวดเร็วฉึบฉับแบบจบในตอน รวมถึงการได้เห็นเทคนิคการออกแบบตัวประหลาดที่เน้นยังใช้ ‘การแต่งหน้าและอุปกรณ์ประกอบฉากทำมือ’ เป็นหลัก และการตามคลายปมปริศนาก้อนใหญ่ของเรื่องราวที่หลายครั้งก็ลากยาวไปอีกหลายตอน กว่าที่ปมเหล่านั้นจะถูกคลี่คลายลงได้ (โดยในยุคที่ต้องคอยรับชมไปทีละสัปดาห์นั้น ผู้ชมหลายคนต้องคาดเดารอกันเป็นเดือนๆ เลยก็มี) — ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเล่าเอพิโสดในรูปแบบใด ก็ล้วนแล้วแต่มีจังหวะจะโคนของซีรีส์-ทั้งจากฉากแอ็กชั่นไล่ล่าและการวางจุดหักมุม-ที่ทำให้ผู้ชมลุ้นระทึกและตั้งคำถามไปได้อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะซีซั่นที่ได้รับคำชมหนาหูอย่าง 3, 4 และ 5 (เช่นเดียวกับเพลงและภาพไตเติ้ลเปิดเรื่องความยาวไม่ถึงนาทีที่กลายมาเป็นความทรงจำแสนคลาสสิกของซีรีส์)

ที่สำคัญ การค่อยๆ ติดตามพัฒนาการของตัวละครอย่างมัลเดอร์และสกัลลี-รวมถึงตัวละครแวดล้อมอื่นๆ-ไปทีละนิด ก็ยังเป็นเรื่องน่าสนุกอีกประการสำหรับผู้ชม เริ่มจากความเชื่อ/นิสัยที่ขัดแย้งกันตลอดตั้งแต่ช่วงแรกๆ, ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เน้นการเป็น ‘คู่หู’ มากกว่าจะเป็น ‘คู่รัก’ อย่างซีรีส์เรื่องอื่นๆ, มาจนถึงชีวิตส่วนตัวของตัวละคร (เช่น การออกเดตของสกัลลี-ในชุดสวยร้อนแรงบาดใจ-กับพ่อม่ายลูกติดคนหนึ่ง) — ทั้งหมดนั้นจึงทำให้ The X-Files ถูกขนามนามว่าเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของซีรีส์ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ตัวละคร’

นอกจากนี้ การใช้ ‘อารมณ์ขัน’ จากการเล่นมุกหน้าตายใส่กัน หรือการเผยให้เห็น ‘วิถีชีวิต’ ในมุมอื่นๆ มาแทรกเป็น ‘จังหวะผ่อน’ ให้ตัวละครได้หายใจหายคอ และให้ผู้ชมได้เห็นมัลเดอร์-สกัลลีมากกว่าแค่การรับบทเป็นนักสืบเอฟบีไอที่วิ่งไล่ตามคดีอย่างเดียว ก็ช่วยให้ซีรีส์มีแง่มุมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนของทั้งคู่ในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ ไปพร้อมกันด้วย


ดูประเด็นและบรรยากาศการเมืองยุคเก่า …ที่ยังคง ‘ร่วมสมัย’ อย่างน่าสะพรึง

แน่นอนว่า The X-Files ได้รับอิทธิพลมาจากบรรยากาศทางสังคมการเมืองในช่วงไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านั้น ที่ ‘เสรีภาพ’ ในการแสดงความคิดเห็นและการสืบค้นข้อมูลทำให้สื่อมวลชนสามารถเปิดโปงความผิดที่ซุกซ่อนไว้ของรัฐบาลออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อยู่บ่อยครั้ง โดยเห็นได้ชัดจากคดีทางการเมืองดังๆ ที่มีลักษณะเป็น ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ (Conspiracy Theory) หรือมีการรู้เห็นเป็นใจกันเองในระบอบการเมืองการปกครอง ยกตัวอย่างเช่น คดี Watergate จากยุค 70 ที่แฉให้เห็นถึงการพยายามปกปิดความผิดอย่างเป็นระบบของรัฐบาล เป็นต้น

แก่นเรื่องของซีรีส์ที่ว่าด้วยการขุดคุ้ยความลับเรื่อง ‘สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่รัฐบาลอาจปกปิดประชาชนเอาไว้’ จึงสะท้อนแนวคิดนี้ออกมาอย่างไม่ต้องสงสัย โดยผนวกเข้ากับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลที่ตัว คาร์เตอร์ ผู้สร้างซีรีส์ มีต่อข่าวลือเรื่องการที่ชาวอเมริกันอาจถูกลักพาตัวโดยมนุษย์ต่างดาวไปเป็นหลักหลายล้านราย และการปกปิดเอกสาร/การทดลองลับต่างๆ -โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก- ของรัฐบาลอเมริกันในช่วงเวลานั้น

การดิ้นรนเพื่อสืบหาความจริงของมัลเดอร์และสกัลลีจึงทำให้พวกเขาต้องพุ่งชนกับ ‘อำนาจรัฐ’ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากตำรวจ, ทหาร และเจ้าหน้าระดับสูงของรัฐบาล โดยที่หลายหน พวกเขาก็ถูกอำนาจมืดเหล่านั้นเข้าควบคุมจัดการ ผ่านทั้งการจับตัวไปข่มขู่, การพาขึ้นศาลทหาร, การจับขังคุก และการสั่งปิดแผนกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งดูๆ ไปก็แทบไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกการเมืองในยุคนี้สักเท่าไร

ฉะนี้แล้ว จึงอาจไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงนัก หากเราจะกล่าวว่า แม้จะตกอยู่ภายใต้บริบทสังคมและการเล่าเรื่องบางอย่างที่อาจดู ‘เชย’ ไปบ้าง แต่ The X-Files ก็ยังเป็นซีรีส์สืบสวนที่มีประเด็นค่อนข้างร่วมสมัยและยังไม่ตกยุค จนอาจนำมาใช้ตั้งคำถามต่อยอดกับบรรยากาศสังคมการเมืองอันไม่ชอบมาพากลของอีกหลายประเทศบนโลกในปัจจุบันได้อย่างน่าสะพรึงและไม่ขัดเขินเลย

สมศักดิ์ศรีของสโลแกนประจำซีรีส์ที่ว่า “The truth is (still) out there.” เสียจริงๆ

อ้างอิง: Wikipedia, TechRadar, BBC, Mentalfloss

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2130772
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2130772