โยเกิร์ต บีบหัวใจนาทีสูญเสียคุณพ่อเพราะโควิด ตัดสินใจยากไม่ปั๊มหัวใจ


ให้คะแนน


แชร์

ตอนที่ผลพ่อแม่เป็นโควิดรู้สึกยังไง?
โยเกิร์ต : ตอนนั้นยังไม่รู้สึกร้อนรนมากใจยังนิ่งอยู่เพราะอาการเขาน้อยมากจริงๆ โอเคติดแต่มันก็หายได้ คิดว่าพ่อแม่น่าจะเป็นไม่เยอะ รักษาตัวใช้เวลาไม่นานก็คงจะหาย

พีเค : จริงๆ ก็อยู่เคียงข้างโยเกิร์ตมาตลอด แต่พอคุณพ่อคุณแม่เขาติดโควิด ก็คิดว่ารักษาหายแล้วออกมากินข้าวกัน คือคิดแค่นั้นไม่คิดว่าจะมีวันนี้

ขั้นตอนการรักษาของพ่อแม่เป็นอย่างไร?
โยเกิร์ต : ก็ได้คุยกับพี่อุ๊ เพื่อนพี่พีเค พี่อุ๊โทรหาพี่ได๋ พอรู้ผลตรวจก็กักตัวอยู่ที่บ้านเขาบอกให้รอ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาดูอาการเบื้องต้น เช่น วัดค่าออกซิเจน แน่นหน้าอกไหม

และนำคุณพ่อคุณแม่เข้าสู่ระบบต่อไป เช่น อาการไม่หนักมากก็ให้อยู่ hospitel ถ้าอาการหนักก็รีบส่งตัวไปโรงพยาบาล ตอนนั้นอาการเบาเลยได้อยู่ hospitel อยู่ได้ 1 วัน ก็มีแพทย์มาตรวจมาเอกซเรย์ปอด ตรวจค่าต่างๆ ตามความเห็นแพทย์

ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่อายุเยอะ และก็มีประวัติว่าเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน แพทย์เลยมีความเห็นว่าอยากให้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งคู่เคยเป็นมะเร็งและรักษาหายมาแล้วทั้งคู่

รักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นอย่างไร?
โยเกิร์ต : ตอนแรกที่เข้าโรงพยาบาลอาการของคุณแม่น่าเป็นห่วงมากกว่า คุณหมอบอกว่าแม่ค่าไตไม่ค่อยดี เราก็จะเป็นห่วงคุณแม่โฟกัสไปที่คุณแม่มากกว่า

แต่อยู่ๆ ไม่กี่วันต่อมาคุณหมอก็โทรมาบอกว่าจากที่คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ใส่ออกซิเจนต้องให้เป็นเครื่องไฮโฟลว์ เราจะบอกว่าผู้สูงอายุเราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะอาการมันสามารถหนักและทรุดไปภายในพริบตา

ตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเป็นมะเร็งหรือเปล่า ยิ่งตรวจว่าตัวเองเป็นโควิดเร็วเมื่อไหร่ก็ยิ่งดี หรือถ้าพอมีกำลังทรัพย์ซื้อเครื่องออกซิเจนไว้ที่บ้านก็ยิ่งดี

เห็นช่วงนึงแม่บอกไม่ไหว?
โยเกิร์ต : ใช่ค่ะ มันก็รู้สึกเหมือนกัน จากที่วันนึงเราต้องเข้มแข็งเพื่อเขา แต่ใจมันก็ลงไปอยู่ตาตุ่มเหมือนกัน เพราะปกติแม่เป็นคนที่เข้มแข็งมาก ไม่คิดเหมือนกันว่าเขาจะพูดคำนั้นออกมา

คำพูดที่เขาพูดกับโยมันรุนแรงกว่านั้น อยากให้นึกภาพวันแรกที่คุณพ่อคุณแม่ป่วยเป็นโควิดเขารักษาอยู่ด้วยกัน แต่วันนึงที่คุณพ่ออาการแย่ต้องย้ายตัวไปอยู่ที่ไอซียู

และคุณแม่ต้องอยู่ในห้องคนเดียวพยาบาลเข้ามาเช็กอาการแค่ 4 ชั่วโมงครั้ง ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อน ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ ต้องต่อสู้กับโรคนั้นคนเดียว มันทรมาน

มันไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ ปกติใจแม่จะสู้จะเข้มแข็งแต่แม่พูดกับโยว่าแม่ไม่ไหวแล้ว ไม่อยากต่อสู้กับมันแล้ว

พีเค : เราอยู่เคียงข้างเขาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยขาดไปไหน เราไม่ขอออกความเห็นเพราะเราไม่มีความรู้ แต่สิ่งที่ทำได้คือนั่งอยู่ข้างๆ อยากให้ช่วยอะไรบอกขอ 100 จะให้ 150 แค่นั้น

ตั้งแต่รู้จักกันมาคุณแม่ของโยเป็นคนเข้มแข็งพอได้ยินแบบนั้น เราก็แบบเฮ้ยมันหนักขนาดนี้แล้วหรอ ในหัวเรายังคิดว่าหมอให้ยา 2-3 วันแล้วกลับ แต่พอโยเล่าให้ฟังว่าเรื่องราวมันเป็นแบบนี้ เราก็คิดแล้วว่าพ่อจะเป็นยังไง

ก่อนที่คุณพ่อใส่ไฮโฟลว์ เห็นว่าคุยกันครั้งสุดท้าย?
โยเกิร์ต : ไฮโฟลว์ยังพอสื่อสารกันได้เพราะมันคือเครื่องช่วยหายใจก่อนที่จะแย่ลง เพราะขั้นตอนการต่อไปคือการใส่ท่อช่วยหายใจ

ตอนนั้นก็ยังพอพูดคุยกันได้บ้าง ตอนที่คุณพ่อใส่เครื่องไฮโฟลว์คุณแม่ก็เริ่มรักษาหายแล้ว อยู่โรงพยาบาล 2 อาทิตย์และสามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ โยก็จะบอกพ่อตลอดว่าแม่กลับบ้านแล้วนะ พ่อก็จะบอกว่าให้ดูแลแม่เถอะ

ทำไมพ่อต้องใส่ไฮโฟลว์?
โยเกิร์ต : คือได้รับยาต่างๆ นานาตามที่คุณหมอให้ แต่ว่าค่าออกซิเจนที่ได้ไม่ดีขึ้น ไม่ถึง 90 ได้แค่ 80 กว่าๆ ผลเอกซเรย์ปอดก็ยังมีฝ้าให้เห็นอยู่

ตอนนั้นอยู่ในไอซียูแล้วเพราะฉะนั้นการสื่อสารก็ค่อนข้างที่จะลำบากนิดนึงเราก็ต้องวิดีโอคอลไปเครื่องพยาบาล และพยาบาลก็จะเอาโทรศัพท์ไปให้พ่อ ตอนนั้นพ่อก็ดูเหนื่อยแม้ว่าจะมีเครื่องไฮโฟลว์พูดได้ไม่เยอะ เป็นฝ่ายเรามากกว่าที่เป็นคนพูดให้กำลังใจ

ตอนที่หมอบอกต้องใส่ท่อ?
โยเกิร์ต : คุณหมอจะเป็นคนคอยอัปเดตอาการของคุณพ่อตลอด คือก่อนหน้าที่จะใส่ท่อ คุณหมอเขาจะโทรมาพูดถึงความเป็นไปได้ในทิศทางบวกและในทิศทางลบ

คุณหมอพูดว่าถ้าสมมติใส่ไฮโฟลว์แล้วไม่ดีขึ้นอาจจะต้องใส่ท่อให้คุณพ่อหายใจสบายขึ้น และเพื่อให้ค่าออกซิเจนดีขึ้น ก่อนที่จะใส่ท่อมีอะไรอยากที่จะสื่อสารกับคุณพ่อไหม

เพราะหลังจากที่ใส่ท่อไปแล้วคนไข้อาจจะไม่สะดวกในการสื่อสาร ตื่นขึ้นมาจะมีอะไรที่อยู่ในปาก อาจจะเกิดการต้านไม่สะดวกไม่สบายตัว ถ้าคุณพ่อต้านคุณหมอจะให้ยานอนหลับ เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องฝืนเครื่องช่วยหายใจ

คุณหมอก็ถามว่าเราอยากจะพูดอะไรกับคุณพ่อก่อนที่จะใส่เครื่องช่วยหายใจไหม โยก็เลยโทรหาแม่ให้แม่เป็นคนคุย เพราะรู้สึกว่าคนที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอดก็คือคุณแม่ คนที่พูดกับคุณพ่อก็ควรที่จะเป็นคุณแม่

ถามว่าแม่คุยอะไรกับพ่อ ณ ตอนนี้โยก็ยังไม่กล้าถามว่าคุยอะไรกันบ้าง โยเองก็ไม่ทันได้คุยกับพ่อเพราะคุณหมอใส่ท่อคุณพ่อไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้คุยกับคุณพ่อ

ครั้งสุดท้ายที่คุยกับพ่อก็คือตอนที่คุณพ่อใส่ไฮโฟลว์คำสุดท้ายที่พ่อพูดกับโยที่อยู่จำได้ก็คือให้กลับไปดูแลแม่นะ

มีเหตุการณ์ต้องตัดสินใจปั๊มหัวใจ?
โยเกิร์ต : คุณหมอถามว่าถ้าเกิดมีเหตุการณ์อะไร คุณอยากให้แพทย์ปั๊มหัวใจหรือไม่ปั๊ม โยก็ปรึกษากับคุณแม่ทั้งสองก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ขอเป็นไม่ปั๊ม มันเป็นการตัดสินใจที่ยาก

พีเค : ไม่ได้ให้คำตัดสินใจอะไร เพราะหนึ่งคือพ่อเขา เขาเป็นผู้หญิงเข้มแข็งอะไรที่เขาตัดสินใจแล้วแปลว่าเขาได้ไตร่ตรองแล้ว หน้าที่เราคือนั่งอยู่ข้างๆ คอยให้กำลังใจ

ลังเลไหมตอนตัดสินใจ?
โยเกิร์ต : ไม่ลังเลเพราะว่าโยรู้ว่าพ่อทรมาน แม่ผ่านจุดที่ทรมานและยากลำบากมาแล้ว แม่รู้ว่ามันทรมานมาก เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ปั๊มหัวใจแล้วกัน ให้พ่อได้หลุดพ้นจากตรงนี้

คุณพ่ออยู่โรงพยาบาลนาน 1 เดือนอยู่ไอซียูประมาณ 3 อาทิตย์ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าพ่อจะเข้าไอซียูเอาจริงๆ นะทำใจ 50:50 ไม่อยากคาดหวังจะเสียใจมาก

เห็นว่าช่วงนั้นระแวงโทรศัพท์?
พีเค : ช่วงนั้นเขาหวาดระแวงโทรศัพท์ สายเข้าก็จะเดินไปที่อื่น คิดในแง่ดีว่ามันต้องดีขึ้น

โยเกิร์ต : ช่วงนั้นถ้าไม่มีเสียงโทรศัพท์เลยใจเราจะสงบมากกว่า ไม่รู้ว่าจะเป็นข่าวอะไร สุดท้ายพี่สาวโทรมาบอก โรงพยาบาลโทรไปบอกคุณแม่ และแม่อยู่กับพี่สาวพอดี ตอนนั้นแม่เข้มแข็งมากกว่า 100 เท่า เราต้องก้าวต่อและไปต่อ

พีเค : เข้าใจความรู้สึก เพราะเราเคยสัมภาษณ์ไอซ์แบงค์ คิดเสมอลึกๆ อีกแป๊บนึงท่านก็หาย ก็เป็นกำลังใจให้โย เห็นโยเกิร์ตร้องไห้ก็สงสาร โยเป็นคนเข้มแข็งแต่น้ำตาเขาก็ไหล

วันสุดท้ายที่ทำให้ครอบครัว?
โยเกิร์ต : ความน่าเศร้า จากกันที่ไม่ร่ำลา ไม่มีโอกาสเห็นหน้าพ่อ ได้กอดพ่อ ไม่มีโอกาสได้บอกลา ตอนไปรับศพก็ไปยืนห่างๆ การกระทำเหมือนเป็นสิ่งของไม่ใช่พ่อเรา อยากกอด อยากกราบก็ทำไม่ได้ ได้แต่ยืนดูห่างๆ 

เรื่องนี้สอนอะไรบ้าง?
โยเกิร์ต : สอนหลายอย่าง ถ้าพูดถึงพ่อแม่โย ตลอดเวลาที่ผ่าน นึกถึงคำว่าคู่ชีวิต ไปไหนด้วยกันตลอด กินข้าวนอนพร้อมกัน

เจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้เข้าใจคำว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข พ่อแม่ติดโควิดด้วยกัน รักษาด้วยกัน พ่อจะพูดเสมอให้ดูแลแม่ โยสัมผัสได้ถึงความรักที่เขามีให้กัน

ฝากบอกอะไรถึงพ่อ?
โยเกิร์ต : เชื่อว่าพ่อยังไม่ไปไหน ยังอยู่กับแม่ที่บ้าน ภาวนาให้โควิดหายไป อยากให้ทุกครอบครัวได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ไม่อยากให้ครอบครัวไหนประสบความสูญเสียอีก

อยากให้โยเกิร์ตให้คำแนะนำการขนส่งร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19?
โยเกิร์ต : ตอนนั้นก็โทรหาพี่อุ๊ เพื่อปรึกษาว่าควรทำยังไง พี่อุ๊ก็แนะนำให้โทรหาสายด่วนศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด 1669 หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หรือประสานงานเรื่องการนำร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตไปเผา ให้โทรไปที่เบอร์ 02-270-5685 ของกองทัพบก เขาจะมีบริการช่วยประสานงาน ไม่มีค่าใช้จ่าย.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2138612
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2138612