นับถอยหลัง 2 เดือน โควิดไม่บรรเทา คนเบื้องหลังวงการบันเทิงอยู่ยาก


ให้คะแนน


แชร์

นายบัณฑิต ทองดี หรือ อ๊อด ผู้กำกับชื่อดัง ที่ผลงานทั้งหนัง ละคร มากมาย ยอมรับว่า หลังจากที่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิว” 10 จังหวัด การถ่ายทำนอกสถานที่เกือบทุกประเภทต้องหยุดลงทั้งหมด โดยต้องรอประกาศอีกครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์

“เพราะเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะถ่ายหนัง ละคร หรือแม้แต่โฆษณา หรือ MV โดยใช้คนไม่ถึง 5 คน เวลานี้สิ่งที่ทำได้ คือ การถ่ายรายการบางรายการในพื้นที่ต่างจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงต่ำ ของกลุ่มยูทูบเบอร์ ที่มีทีมงานน้อยอยู่แล้ว ซึ่งก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ งานที่เป็นงานโปรดักชัน มีลูกค้า มันทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครเอาหรือยอมรับ”

สำหรับบางรายการที่เราเห็นว่ามี “ตอนใหม่” ทางสถานีโทรทัศน์จะต้องทำหนังสือไปขออนุญาต กับเจ้าหน้าที่เขต หรือสำนักงานที่เกี่ยวข้อง โดยแต่ละเทปต้องขออนุญาตทุกครั้ง

คำสั่งเปลี่ยนเร็ว “กองถ่าย” ระทม ตั้งรับไม่ทัน

ผู้กำกับชื่อดัง เผยว่า เวลานี้ต้องอดทนกันอย่างเดียว แม้จะทนกันไม่ค่อยไหวก็ตาม ซึ่งปัญหาที่พวกเราคุยกันคือ “เราตั้งตัวกันไม่ทัน” เพราะ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ทางภาครัฐเพิ่งจะอนุญาตให้มีทีมงานในการถ่ายทำได้ 50 คน ไม่กี่วันต่อมา 28 มิ.ย. ก็มีคำสั่งลดเหลือ 20 คน และตอนนี้เหลือ 5 คน ก็คือทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้น…เราเข้าใจว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมีเงื่อนไขภายใต้การแพร่ระบาดของโรค และทุกอาชีพก็เดือดร้อน ไม่ใช่เราเดือดร้อนคนเดียว

“ตอนนี้เราจะแก้ปัญหาด้วยการหาอาชีพเสริม หรือ กินบุญเก่า บางคนพอมีเงินเก็บก็กินไปก่อน แต่…มันก็ต้องคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนี้อีกสัก 2-3 เดือน ก็ต้องขยับแล้วล่ะ ว่าจะเอาไงต่อไปดี”

หนังหยุด ละครรีรันวนไป จำกัดคน จำกัดคุณภาพงาน

นายบัณฑิต บอกว่า ก่อนหน้านี้ ที่มีการจำกัดคนไม่เกิน 20 คน ถ้าเป็นละครใหม่ ที่กำหนดออนแอร์แล้ว จะมีการปรับบท ไม่ใช้สถานที่สาธารณะ แต่ถ้าเป็นละครสต๊อก รอได้ก็จำเป็นต้องรอ หรือ ใช้วิธีการสลับคิว ด้วยการถ่ายโดยมีตัวละครไม่เยอะ

“ส่วนผมมีงานถ่ายมิวสิควิดีโอ ของนักร้องลูกทุ่งคนหนึ่ง ถ้าความเป็นจริงคือ มีทีมแดนซ์เซอร์ และทีมงาน ยังไงก็เกิน 20 คน เราก็ต้องเลือกด้วยปรับ สลับคนมาถ่าย ให้ช่วงเช้าถ่ายชุดหนึ่ง ช่วงบ่ายมาอีกชุดหนึ่ง ส่วนทีมผู้บริหารที่จะมาเช็กภาพรวมก็นัดแนะกันอีกครั้ง”

ส่วนปัญหาที่ผ่านมา ที่พบคือ เมื่อมีการจำกัดทีมงาน จะส่งผลต่อคุณภาพของงานที่ด้อยลง ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ปัญหาเรื่องไฟ เพราะถ้าคนน้อย ใช้รถปั่นไฟไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการมาใช้ไฟดวงเล็กลง ภาพงานที่ออกมาก็จะด้อยลงตามไปด้วย

ปกติการถ่ายทำในสโคปงานเล็กที่สุด ควรมีทีมงานกี่คน นายบัณฑิต เผยว่า เล็กที่สุดอย่าง MV จะใช้อยู่ประมาณ 35 คน การถูกจำกัดคน ทีมงานต้องทำงานหนักขึ้นด้วย เพราะต้องหาแนวทางการแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง การติดต่อดาราบางคน เราจะขอร้องว่า วันถ่ายทำจริง ขอให้มาคนเดียว ไม่ต้องให้ผู้ติดตามมาด้วย เพื่อลดและจำกัดจำนวนคน

“เราต้องขอร้องกันจริงๆ เพราะถ้ามีผู้จัดการดารา ผู้ติดตามด้วย เราจะทำงานไม่ได้ และอย่างนักแสดงสมทบบางคน อายุน้อย 13-14 ปี ก็ต้องมีพ่อแม่มาด้วย เราก็ต้องขอร้องพวกเขา ทุกอย่างมันต้องคิดและปรับวิธีการทำงานทั้งหมด”

สำหรับผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่มีทีมงานน้อย เขาอาจจะถ่ายทำได้ บางคนอาจจะเลือกวิธีการลักลอบการถ่ายทำโดยไม่บอกเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หรือใครที่จะทำ แต่สำหรับกองถ่ายใหญ่ๆ หากจำเป็นก็ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาจะถามวิธีการทำงานของเรา ว่าใช้ทีมงานกี่คน มีมาตรการดูแลอย่างไร ขอเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ไหม เราก็ต้องอนุญาตให้เข้ามาดูเพื่อความโปร่งใส แต่นั่นคือมาตรการที่ยังไม่ได้ประกาศคุมเข้ม 10 จังหวัด ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว..

2 เดือน…ไร้งาน คนเบื้องหลังอยู่ยาก

นายบัณฑิต ยอมรับกับทีมข่าวฯ ว่า ที่ผ่านมาเราเจอโควิดมาแล้ว 2 ระลอก ไม่ได้ตั้งตัวกันเลย จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการ “จอดำ” เอาคอนเทนต์เก่ามาวนๆ แต่มาครั้งนี้เราก็พยายามจะปรับตัว ซึ่งงานสต๊อกที่ทำไว้มันก็หมดแล้ว ทุกอย่างมันเจอสถานการณ์วิกฤตินานเกินไปแล้ว

แต่…มาเจอมาตรการเข้มหนักจริงๆ มันอาจจะต้องเข้าลูปเดิม จอดำ หรือ รีรันต่อไป

“งานที่เก็บสต๊อกไว้ เต็มที่ก็ได้ 2-3 เดือน แต่ถ้าจะปิดนานอีก 2-3 เดือน คือ ไม่อยู่ไม่ได้แล้ว ลำบากกันทุกคน ส่วนทีมงาน หลายคนตกงาน เริ่มไม่มีจะกินแล้ว เพราะช่วงปีที่ผ่านมา เงินเก็บก็เอามาใช้กันหมด มันเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอด โดยที่ไม่มีงานทำ 5-6 เดือน เพราะธุรกิจกองถ่ายจะเดินได้ก็ต่อเมื่อต้องเปิดการถ่ายทำ”

อนาคต หนัง ละคร ในห้วงโควิด

ผู้กำกับชื่อดังให้ทัศนะ โอกาสหนังและละครในอนาคต ว่า หากมองในมุมคนทำงานไม่ได้รวมถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับหนัง ไม่มีปัญหาด้านการถ่ายทำ เพราะเขาเลือกจะไม่ถ่าย ถ่ายทำไม่ได้ก็ไม่ฝืน ซึ่งข้อดีของหนัง คือ ไม่มีเงื่อนเวลาเข้าฉายมาเกี่ยวข้อง บวกกับโรงหนังก็ปิด หรือถ้าเปิดคนก็อาจจะไม่มาดู เพราะมันอยู่ในที่แออัด

“แต่สำหรับ ละครนี่สิ เราจะปล่อยให้จอดำ และฉายวนกันต่อไปนานแค่ไหน…การที่เจอโควิด-19 ระบาด ทุกอย่างถูกจำกัด ความสร้างสรรค์ในการทำงาน ก็โดนด้วย มันส่งผลต่อความประณีตของงานโปรดักชัน”

นายบัณฑิต ได้ยกตัวอย่างประกอบว่า งานที่เพิ่งรับมาล่าสุด คือ มิวสิกวิดีโอ หากอยากได้ภาพสวยต้องใช้ไฟใหญ่ๆ แต่การใช้ไฟใหญ่จำเป็นต้องใช้เครื่องปั่นไฟ จำเป็นต้องใช้คนเพิ่มอีก 3-5 คน แต่พอไม่มีภาพก็จะสวยน้อยลง ส่วนงานอื่นๆ อะไรที่่จำเป็นต้องใช้โปรดักชันใหญ่ก็ทำไม่ได้

“ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนออกมา จากการทำงานไม่เต็มทีมก็จะทำให้ผลงานได้คุณภาพน้อยลง”

ทั้งหมดคือภายใต้สถานการณ์ “โควิด-19” ระบาดทั่วโลก ทุกอาชีพล้วนลำบาก ถูกจำกัด จำยอม จำทน

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ

วิกฤติ “เดลตา” เข้ายึดพื้นที่ กทม. อัตราฉีดไม่คืบ วัคซีนกระจาย?

เดลตาแผลงฤทธิ์ อิสราเอลระบาดซ้ำ ประสิทธิภาพไฟเซอร์ยังลด แม้ฉีด 2 โดส

โรงแรมไทยโคม่า ทนได้แค่ 3 เดือน “ล็อกดาวน์” หรือไม่ ไม่ต่าง!

10 นาทีเป็นตาย เบื้องหลังลุยเพลิง 2 พันองศาฯ คุมไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

ถอดรหัสเตียงผู้ป่วย ระดับแดง-เหลือง วิกฤติ กับโจทย์ “ล็อกดาวน์” กทม.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2138715
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2138715