ธุรกิจออร์แกไนซ์ใกล้ล้ม เจ็บหนัก ซัดภาครัฐควรเยียวยา อย่าดีแต่เก็บภาษี


ให้คะแนน


แชร์

ออร์แกไนซ์เซอร์อีกอาชีพที่เจ็บหนัก

ออร์แกไนซ์เซอร์เจ้าใหญ่ที่บอกกับเราว่า เพราะอยากบอกความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงไม่ประสงค์ที่จะออกนาม เพราะหากเปิดเผยชื่อบริษัทอาจพูดได้แค่บางส่วน เพราะไม่ต้องการให้บริษัทต้องได้รับผลกระทบอย่างที่รู้ๆ กันอยู่

รอยแผลหลังจากที่เจอเหตุการณ์โควิด-19 เล่นงานจนตอนนี้แทบจะแบกรับภาระไม่ไหวแล้ว ออร์แกไนซ์เซอร์ระบายความอัดอั้นตันใจที่มีมาเกือบ 2 ปีให้ฟังว่า

“เราก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากไม่ต่างจากอาชีพอื่น จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา โดนตั้งแต่ระลอกแรก พอผ่านระลอก 2 เหมือนจะเริ่มดีขึ้น จนมาระลอก 3 และระลอก 4 ซึ่งต้องยอมรับว่าระลอกนี้หนักสุดมากๆ เพราะตอนนี้มันกระจายไปทั่วและเข้ามาในทุกๆ วงการแล้ว

ผลกระทบที่เราเจอมันหนักหนาสาหัสมาก มันทำให้บริษัทออร์แกไนซ์เซอร์เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันของเราต้องปิดตัวลงไปเยอะมาก เพราะแต่ละคนเขาไม่ไหวกันแล้ว เนื่องจากรัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาให้พวกเราเลย ที่มีก็แค่จากประกันสังคม 7,500 บาท ที่ไม่ใช่จะได้ทุกคนด้วย เพราะมันต้องมีวิธีการของการจะได้รับเงินตรงนี้”

ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง

กู้เงินดอกเบี้ยสูงเพื่อความอยู่รอดของบริษัท

เจ้าของออร์แกไนซ์เล่าเรื่องราวความทุกข์ในใจให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่แสนจะเจ็บปวด หลังจากที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก รายรับไม่มี มีแต่รายจ่ายที่ต้องแบกรับภาระทางการเงินที่หนักอึ้งเพื่อดูแลลูกน้อง พร้อมกับตัดพ้อถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่กระจายไปทั่วทุกกลุ่มคนอาชีพว่า 

“ก่อนหน้านี้มีมาตรการให้กู้เงิน แต่ไม่ได้ให้อย่างต่อเนื่อง ได้แค่รอบแรกที่โควิดระบาด หลังจากนั้นไม่มีเลย เพราะตอนนี้ก็มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือ

ตอนแรกมีเงินช่วยพวก SME แต่มันเป็นการช่วยเหลือที่ไม่กระจายไปทั่วทุกกลุ่ม เราพยายามจะกู้เงินของรัฐบาลที่มีออกมาในช่วงแรก แต่กู้ไม่ได้ เพราะสิทธิ์มันเต็มแล้ว ไม่รู้ใครได้สิทธิ์นี้ไปบ้าง

เลยต้องไปกู้กับแบงก์ ดอกเบี้ยสูงกว่าของรัฐบาลที่มีออกมา เพราะแบงก์ไม่อยากให้เราล้มก็ยอมให้กู้ ซึ่งเราก็ต้องเอา และก็ได้มาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็เลียแผลตัวเองมาตลอด

งานมันหาย เงินไม่เข้า จะเอาพนักงานออกก็ทำไม่ลง จะไปกู้แบงก์เพิ่มเพื่อมาช่วยต่อลมหายใจก็ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์แล้ว หลักทรัพย์หมดแล้วตั้งแต่ไปค้ำรอบแรก

คือเอาจริงๆ บริษัทมันต้องแบกรับภาระทั้งๆ ที่งานก็ไม่มี บริษัทจะอยู่ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ปากบอกไม่อยากให้ประชากรตกงาน แต่ไม่เห็นมาช่วยอะไรบริษัทเลย แล้วพวกเราจะอยู่รอดกันได้อย่างไร

ปีครึ่งแล้วที่เราต้องแบกรับเรื่องค่าใช้จ่าย เงินกู้ที่กู้มาในรอบแรกเพื่อเอามาเยียวยาพนักงานก็หมด จะให้ทิ้งพนักงานเราก็ทิ้งไม่ได้ เขามีครอบครัว มันกระทบกันไปยาว เราก็พยายามช่วยอุดรอยรั่วตรงนี้

เอาเงินที่กู้มาในรอบแรกมาจ่ายเงินเดือนเด็ก แต่พอเงินหมดงานก็ยังไม่มี เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลจะมาช่วยเหลือเยียวยาพวกเรา จะช่วยเหลืออย่างไร ไม่เห็นคำตอบ”

อย่าเก็บแต่ภาษี ยื่นมือมาเยียวยาประชาชนบ้าง

และมีอีกเรื่องที่เจ้าของออร์แกไนซ์ขอพูดถึง คือ ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ แต่กลับยังต้องจ่ายภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“พูดตรงๆ เราอยากให้รัฐบาลมีวิธีการต่างๆ มาช่วยเหลือพวกเราบ้าง เพื่อให้สถานการณ์มันดีขึ้นบ้าง ให้พวกเราทุกคนได้อยู่รอดกันในช่วงนี้

อยากขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินเดือนของพนักงานที่ยังอยู่ ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัทไหนไม่ไหว ก็ยอมจ่ายเงินก้อนปิดบริษัทไปเลย

แต่บางบริษัทที่ยังดูแลลูกน้องอยู่ตรงนี้ ควรจะต้องมีมาตรการมาช่วยดูแล เพราะนายจ้างก็พยายามชะลอไม่ปิดบริษัท เพื่อไม่ให้ทุกคนตกงาน ไม่ทิ้งลูกน้อง แต่กลายเป็นว่าบริษัทที่ยังสู้ต่อก็ต้องแบกรับภาระนี้คนเดียว

ในขณะที่เรายังต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐอยู่ รัฐจะมากินทุกบาท แต่ไม่มาช่วยเหลืออะไรพวกเราเลยไม่ได้ ทำไมสมาคมออร์แกไนซ์เซอร์ของพวกเราถึงไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาอะไรจากรัฐบาลเลย

ตอนนี้ไม่มีรายได้เข้ามาในบริษัทสักบาทเดียว แต่ถ้ามีเงินเข้ามานิดๆ หน่อยๆ ก็เก็บภาษีเราอีก แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงดูพนักงาน ถ้าเราไปไม่ไหว ก็ต้องปิดบริษัท หลายคนต้องตกงาน ก็กลายเป็นปัญหากับสังคมอีก

ทำไมรัฐบาลไม่มีการเยียวยาสายอาชีพเราเลย อย่างน้อยลดหย่อนภาษีให้พวกเราบ้าง เพราะเราก็จ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกๆ ปี เวลามีปัญหาอย่างนี้ แต่พวกเราก็ยังต้องจ่าย จ่ายแล้วช่วยเหลือเยียวยาพวกเราบ้างได้มั้ย ไม่อย่างนั้นพวกเราจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะแต่ละบริษัทเขาต้องดูแลพนักงานกันต่ออีกมากมายหลายสิบหลายร้อยชีวิต”

ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง

ความในใจต่างๆ ยังคงพรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอให้เสียงๆ นี้ดังไปถึงคนที่ต้องดูแลรับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชน ยื่นมือเข้ามาช่วยธุรกิจบันเทิงและอีเวนต์

“ช่วง 2 ปีมานี้ พวกเราเป็นหนี้กันเยอะมาก คนที่เปิดบริษัทอยู่คือทู่ซี้เปิดต่อ เพราะต้องดูแลลูกน้องอยู่ ทุกๆ อาชีพเจ็บหนักกับเหตุการณ์นี้ รัฐบาลไม่ช่วยอะไรเลย สนใจแต่เรื่องอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้

ช่วยลดภาษีให้เราหน่อยก็ได้ ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกันหน่อย มีนโยบายออกมาช่วยธุรกิจบันเทิง อีเวนต์บ้างดีมั้ย พวกเราเจ้าของธุรกิจไม่เห็นได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลเลยตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงตอนนี้

รัฐบาลมีมาตรการมาช่วยเหลือดูแลเรื่องเงินเดือนให้พนักงาน เก็บภาษีตลอด แต่ไม่เห็นอะไรเลย เก็บทั้งๆ ที่มีสถานการณ์แบบนี้ งานก็ไม่มีให้เรา มันแย่มากๆ

เราเหนื่อยกับการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง คนรวยก็ยังอยู่ได้ ยังมีเงินเก่าเก็บกินได้ แต่คนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจะตายเอา แย่กันไปหมดแล้ว”

เพราะไม่ได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ พวกเขาจำใจต้องปิดตัวลง หรือลดขนาดของบริษัทลงเพื่อยังให้ลูกน้องอยู่รอดไปด้วยกันจากสถานการณ์ที่ยากแค้นนี้

“หลังจากที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่มีงาน ไม่มีเงินเข้าบริษัท ไม่ได้รับการเยียวยา บริษัทของเราก็ต้องปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง เพื่อให้เรายังอยู่รอดต่อไปได้ เพราะรัฐบาลไม่ช่วยอะไรเราเลย ช่วยมาดูแลบริษัทที่เขายังดูแลซัพพอร์ตพนักงานอยู่ ช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง ลดหย่อนเรื่องภาษีด้วย”

จากใจประชาชนคนหนึ่งถึงรัฐบาล

หลังจากที่ระบายความอัดอั้นในใจออกมาทุกอย่าง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศไทย ก็ขอฝากส่งเสียงเล็กๆ นี้ไปถึงเหล่าบรรดา ส.ส. ที่คนไทยได้เลือกทุกคนเข้าไปนั่งบริหารประเทศว่า 

“รัฐบาลไม่มีมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยา ไม่มีใครออกมาพูดว่าจะเอายังไง เดินหน้าต่อกันยังไง เพื่อให้ทุกอย่างมันรอดไปด้วยกัน มีแต่มานั่งตีกันอยู่ แย่งตำแหน่งกันอยู่ หวงตำแหน่งกันอยู่นั่นแหละ”

ขอให้เสียงนี้ดังไปถึงผู้มีอำนาจ มองเห็นและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกอาชีพได้กลับมามีแรงสู้ต่อไป และเรายังหวังจะได้เห็นภาพการจัดงานอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันบ่งบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี… ยังรอให้มีวันนั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง. 

ผู้เขียน : จันทร์เจ้าขา

กราฟิก : Theerapong.c

ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง ภาพบรรยากาศการจัดงานอีเวนต์ตามห้างใหญ่ๆ ในเมือง

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2138080
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2138080