วงการหนังไทยกลุ้มใจ โรงหนังสาหัส ดาราลดค่าตัว “สตรีมมิ่ง” รอดแต่ไม่รวย


ให้คะแนน


แชร์

ว่ากันว่า หนังในบ้านเราส่วนมากมักจะมีหนังผี กับหนังตลก ไร้สาระ แต่ความจริงอีกด้านก็คือ การทำหนังแนวนี้มีการคาดการณ์ว่าจะทำเงินได้ และมันก็เป็นความจริงเสียด้วย

แน่นอนในยุคแบบนี้ ใครจะกล้าเสี่ยงกันล่ะ นายทุนเองก็เช่นเดียวกัน เป็นที่มาของ “ความกลัดกลุ้ม” ที่สองของ “บัณฑิต ทองดี” คือ ในปี 2563 มีการเปิดกล้องถ่ายทำหนังลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยปีที่ผ่านมามีการเปิดกล้องถ่ายหนังราว 20 เรื่อง

จากการพูดคุยกับนายทุน ทำให้ “อ๊อด บัณฑิต” รับรู้ว่า หนังในสต๊อกจากค่ายหนังต่างๆ มีไม่มาก และที่สำคัญคือ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนังตลกแทบทั้งสิ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันได้เงินง่ายน่ะสิ!

“คนที่จะทำหนังก็ไม่กล้าลงทุน หนังที่ใช้ทุนไม่มาก ส่วนมากก็จะเป็นหนังตลก ซึ่งหนังตลกก็มักจะถูกคาดหมายว่าจะ “ได้เงิน” ก็เพราะแบบนี้เราจึงเห็นโปรแกรมหนังในช่วงที่ผ่านมามีแต่หนังตลก ซึ่งมันเป็นผลพวงจากโควิดที่กระทบเป็นลูกโซ่ เมื่อโรงหนังมีปัญหา นายทุนไม่กล้าลงทุน การจ้างคนเพื่อทำงาน หรือแม้แต่ดาราเอง ก็ได้รับผลกระทบ มีงานน้อยลง ดาราบางคนที่ไม่ใช่ซุป’ตาร์ ถึงยอมลดค่าตัว แต่ ซุป’ตาร์ บางคนแจ้งเกิดจากหนัง เป็นคนรักหนังก็ยอมลดให้ เพื่อให้มีงาน ซึ่งผลกระทบสุดท้ายที่เกิดขึ้น คือ “คนดู” จะไม่มีงานดีๆ ให้รับชม”

เบลล่า ราณี นางเอก 200 ล้าน เบลล่า ราณี นางเอก 200 ล้าน

ทางรอดในยุคโควิด ทำหนังป้อน “สตรีมมิ่ง” เพื่ออยู่รอด แต่ไม่รวย?

ตอนนี้ค่ายหนังหลายๆ ค่าย เริ่มหันมาจับมือบริษัทสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix WeTV เนื่องจากต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ โดยทำหนังเพื่อฉายใน 2 ช่องทาง คือ ฉายโรงหนังปกติ และสตรีมมิ่ง เพราะหากว่าทำเผยแพร่ทางเดียว บริษัทอาจจะไม่รอด..

“วงการหนังมีการเปลี่ยนแปลงมากจนน่ากลัว อะไรที่ทำแล้วได้ตังค์ก็ต้องทำ ส่วนสถานการณ์เวลานี้กับการระบาดระลอกใหม่ ทำให้หนังต้องเลื่อนฉายหลายเรื่อง อาทิ “คุณชายใหญ่” และ “บอสฉันขยันเชือด” ส่วนหนังที่ไม่ยอมเลื่อน ก็อยู่ในอาการกังวลว่าจะได้ตังค์ไหม สำหรับการเลื่อนฉายหนังออกไป ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะถ้าหนังเลื่อนฉายไปนานๆ เรียกว่า หนังถูกดอง คนดูก็ไม่ดูอีก!”

คำถามตัวโตที่ผุดขึ้นหลังจากได้คุยประเด็นนี้ สตรีมมิ่ง ก็คือ มันจะคุ้มแค่ไหน!?

“ไม่คุ้มหรอกครับ..แต่ดีกว่าไม่ได้อะไร” คำตอบตรงๆ สไตล์อ๊อด บัณฑิต พร้อมสาธยายว่า..

การจะไปทำหนังเพื่อฉายในสตรีมมิ่ง หรือยกตัวอย่างการทำหนัง Netflix Originals นั้นก็คุ้ม แต่..ถ้าเขาจ้างนะ ซึ่งความเป็นจริงคือ 3 ปีที่ Netflix ตีตลาดเมืองไทย เขามีหนังและซีรีส์แค่ 2 เรื่อง คือ สาวลับใช้ และ เคว้ง โดยทราบมาว่าเขากำลังทำหนังอีกเรื่องให้ “โขม ก้องเกียรติ โขมศิริ” กำลังทำอีกเรื่อง

ทราบมาว่า เบื้องหลังการทำงานกับ Netflix นั้นยากมาก การที่จะเข้าไปเสนอเนื้อหา และขอทุน Netflix เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเขามีระบบการควบคุมการผลิตที่เข้มข้น มีการตรวจสอบบทหนัง หรือซีรีส์ เขายังสามารถแก้ไขเนื้อหาตามที่เขาคิดว่าดี

ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” ถือเป็นซีรีส์ไทยที่ผ่านการตรวจสอบแก้ไขจาก Netflix ทั้งหมด เขาแก้เนื้อหามาแบบนี้ คนไทยแบบเราๆ อาจจะมองว่า “ไม่เข้ารูปเข้ารอย” แต่สำหรับเขามองในสายตาแบบฝรั่งเขามองว่าแบบนี้คือออกมาดี “มีสิ่งที่น่าสนใจ”

บัณฑิต ทองดี บัณฑิต ทองดี

นอกจากเรื่องบทภาพยนตร์แล้ว สิ่งที่เขาคุมมากๆ คือ เรื่องโปรดักชัน กล้องที่ใช้ในการถ่ายทำต้องระดับ 4K พร้อมระบุตัวเลข Bitrate เลย ระบบเสียงต้องเป็นแบบไหน เขาก็ระบุมา เรียกว่าเขาไม่รับงานแบบ “กระจอกๆ”

ส่วนการขายหนังให้สตรีมมิ่งอีกแบบ ที่คนวงการหนังเวลานี้ใช้กัน คือ การทำไปก่อน ขายทีหลัง ซึ่งอันนี้หากเอาหนังฉายโรงภาพยนตร์แล้ว จะเอามาขายให้สตรีมมิ่ง เขาก็จะซื้อในราคาไม่แพงมาก เท่าที่ได้ยินมาของ Netflix ก็น่าจะประมาณเรื่องละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งราคานี้ก็ไม่ชัวร์ คงขึ้นอยู่กับหนัง ถามว่าคุ้มไหมแบบนี้ ก็คงไม่คุ้ม แต่ดีกว่าปล่อยไว้เฉยๆ แล้วไม่ได้อะไร…

การรุกคืบของสตรีมมิ่ง ส่งผลอย่างไรกับวงการหนังไทย ผู้กำกับชื่อดังที่ได้คลุกคลีกับวงการแผ่นฟิล์มมาหลายสิบปี ยอมรับว่า สตรีมมิ่ง ไม่ส่งผลกับหนังไทยเลย เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เขาไม่รับงานที่ไม่มีคุณภาพ

แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของการทำหนังป้อนสตรีมมิ่ง คือ บทภาพยนตร์ เพราะสังเกตว่าพอมีเงื่อนเวลามาบีบ ถึงแม้จะเป็นผู้กำกับระดับโลกที่มาทำงานให้ Netflix บทก็อาจจะเบาลงไป เช่น ไมเคิล เบย์ เพราะการทำงานตรงนี้เขามีสัญญาชัดเจนว่าต้องส่งงานภายในเมื่อไร ซึ่งแตกต่างจากหนังใหญ่ฉายโรง ที่รู้สึกว่าไม่ดี ก็รื้อใหม่

นอกจากสตรีมมิ่งแล้ว มีทางไหนที่ทำให้รอดอีกไหม อ๊อด บัณฑิต บอกกับผู้เขียนว่า “ผมไม่เห็นทางอื่นนะ แต่เท่าที่หลายบริษัทกำลังดิ้น เช่น “พระนครฟิล์ม” เขาก็ทำยูทูบช่องตัวเอง โดยเอาหนังมาลง เรียกยอดดูและยอดติดตาม ได้เงินจากยอดโฆษณา ส่วนเครือโมโนฯ เขาก็ทำช่องเขาเอง ทำหนังออกมาฉายบ้าง แต่เท่าที่สังเกต ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ต้องสู้และเหนื่อยทุกช่องทาง ยุคนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แค่เอาหนังมาทำลง VCD หรือ DVD แล้วจะรอด

อ้าย..คนหล่อลวง หนังไทยที่กำลังฉายในโรงภาพยนตร์เวลานี้ อ้าย..คนหล่อลวง หนังไทยที่กำลังฉายในโรงภาพยนตร์เวลานี้

สิ่งที่ต้องปรับในปี 2564 ผู้กำกับนามระบือชื่อ “อ๊อด” บอกว่า

1. ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน : อย่างผมเป็นผู้กำกับ ใช่ว่าจะทำหนังเพียงอย่างเดียว ซีรีส์ หนังโฆษณา อะไรที่เข้ามารับหมด

2. ปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน : ต้องรู้จักป้องกันตัวเองจากการระบาดของโควิด เพราะหากเกิดการระบาดในกองถ่าย มันคือหายนะ

3. อาชีพเสริมต้องมี : นาทีนี้ เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี ยิ่งโดยงานที่ต้องอาศัยคนหมู่มาก เพราะหากเกิดการระบาด คนในอาชีพเหล่านี้จะได้รับผลกระทบก่อน

สุดท้าย สิ่งที่ บัณฑิต ทองดี อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่า ขอเพียงอย่างเดียว อย่ามีคำสั่งปิดกองถ่าย ปีที่แล้วเราเข้าใจว่าโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ตอนนี้มีดาราเพียงคนเดียวที่ติด (ไม่รวมแมทธิว ลีเดีย ติดจากวงการมวย) ซึ่งหลังจากนั้นพวกเราดูแลกันเองดีมากจนไม่มีใครติด ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงพวกเราว่าจะเป็นจุดแพร่เชื้อ เราเชื่อว่าเราดูแลกันเองได้

กลับกัน รัฐบาลเองควรกวดขันเจ้าหน้าที่ อย่าลืมตาข้างหนึ่ง ปิดตาข้างหนึ่ง ปล่อยให้เจ้าหน้าที่บางคนทำผิดกฎหมายแลกกับเศษเงิน เข้าใจว่าชายแดนไทยยาวกว่า 2 พันกิโลเมตร แต่ถ้าเจ้าหน้าที่กวดขันจริงจังก็เชื่อว่าไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ง่ายๆ แต่ครั้งนี้มันคือความหละหลวมของเจ้าหน้าที่บางคนแน่ๆ

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ควบคุมคนของตัวเองให้ได้ อย่าปล่อยให้คนชั่วเห็นแก่เศษเงิน ทำให้คนในชาติได้รับภัยพิบัติขนาดนี้ ผมพูดตรงนี้ไม่ได้มีอคติกับภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาก็ทำงานกับรัฐบาลมาตลอด ประชาชนไม่ได้การ์ดตก แต่รัฐบาลกลับการ์ดตกเสียเอง”.

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Varanya Phae-araya 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ 

หนีโควิดอยู่ติดบ้าน 10 ที่สุด ซีรีส์เกาหลีชวนจดจำปี 2020

10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต

ชะตาอาณาจักร “อาลีบาบา” เมื่อยักษ์ถูกบีบ ในภาวะ “แจ็ค หม่า” สาบสูญ

แกะรอยอวสาน “ผ่าพิภพไททัน” จุดพีคดำมืด หรือ “เอเรน” คือบทสรุป

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/2010613
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/2010613