ต้องจ่ายมากเท่าไร จึงจะได้สิทธิ์ไปทำมิสยูนิเวิร์ส


ให้คะแนน


แชร์

จ่ายเบาๆ เพราะคนในประเทศเมินนางงาม

เริ่มต้น 250,000 บาท ต่อ 1 ปี เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่สนใจนางงาม เช่น กัมพูชา หรือประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ฯลฯ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ดีด้วย หรือเรียกสวยงามให้เกียรติ ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ราคาขายสิทธิ์ไม่แรงไม่แพง เพราะมีแฟนนางงามน้อย สื่อมวลชนไม่ได้เกาะติด และที่สำคัญสินค้าต่างๆ ไม่ได้แคร์นางงาม ได้มงแล้วไง เอาไปต่อยอดยาก จึงดันอย่างไรก็ไม่ขึ้น 

ต้องทุ่มจึงจะได้ ต้องจ่ายหลายล้านบาท

ประเทศรวยๆ พัฒนาแล้วเศรษฐกิจดี มีฐานแฟนคลับมหาศาล จะต้องจ่ายมากกว่า 3,700,000 บาท ต่อ 1 ปี มีหลายประเทศที่คลั่งนางงาม ราคาซื้อขายสิทธิ์จึงพุ่งๆ ตลอด เช่น
– โคลอมเบีย แดนดินนางงาม มีนางงามคว้ามงจักรวาลได้ เช่น ลุซ มารีนา ซูลัวกา เคยได้มงในปี 1958 และในปี 2014 เปาลินา เวกา Paulina Vega ก็คว้ามงมาได้อีกครั้ง และยังมีนางงามโคลอมเบียอีกหลายปี ได้เข้ารอบลึกๆ เยอะอยู่

– ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่มีแฟนนางงามเยอะมากๆ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ค่าลิขสิทธิ์จะพุ่งสูงตามไปด้วย สองนางงามจักรวาลที่เด่นมากๆ ของฟิลิปปินส์คือ เปีย อลอนโซ เวิร์ซแบค Miss Universe 2015 แฟนนางงามทั้งโลกจดจำเธอได้แม่นมาก เพราะมีการประกาศรายชื่อผิด ซึ่งหลายคนก็ฟันธงเลยว่า ไม่เนียน เป็นเกมโชว์เพื่อเรียกเรตติ้ง และ แคท แคทรีโอนา เกรย์ นางงามจักรวาล Miss Universe 2018 ราชินีฟูลเทิร์น สวยสดใสน่ารัก รู้จักพูด ก็ได้ใจแฟนนางงามทั้งจักรวาลไปแล้ว

– เวเนซุเอลา อีกหนึ่งประเทศแห่งความงาม เพราะมีนางงามได้มงจักรวาลเยอะจริง ไล่มาตั้งแต่ปี 1979, 1981, 1986, 1996, 2008, 2009, 2013 ถึงจะได้มงมามากแล้ว ก็ยังไม่พอ นางงามเวเนซุเอลายังกระหายมงกันต่อไป แฟนนางงามกระหายมงยิ่งกว่า จึงทำให้ค่าลิขสิทธิ์พุ่งแรงมากๆ แต่ก็เปลี่ยนมือกันไปแล้ว หลังจากที่ ออสเมล เซาซา Osmel Ricardo Sousa Mansilla เคยส่งนางงามไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส มากถึง 32 ปี

– ฝรั่งเศส เพิ่งมาตื่นตัวได้รับความนิยมมากขึ้นมาหน่อย หลังจากที่ อีริส มิตเตแนร์ Iris Mittenaere ได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส Miss Universe 2016 ฝรั่งเศสประเทศแห่งแฟชั่นโลก แน่นอนว่านางแบบย่อมฮอตฮิต กว่านางงามหลายเท่าตัว

– อีก 2 ประเทศในทวีปเอเซีย ที่มีฐานแฟนนางงามเยอะมาก คือ ไทย , อินโดนีเซีย สื่อชอบขยี้ แฟนนางงามก็หลงใหลแรง ส่วนสินค้าก็เลยพลอยชื่นชอบนางงามตามไปด้วย เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเยอะจริง!  

สัญญาส่วนใหญ่ยาว 3-5 ปี

นักธุรกิจร้อยล้านพันล้าน ที่จะติดต่อซื้อสิทธิ์ ต้องคุยกับทางกองมิสยูนิเวิร์สเยอะอยู่ ส่วนใหญ่มักจะผูกขาดกับเจ้าเดิมๆ ที่ซื้อสิทธิ์กันมายาวนานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะให้เซ็นสัญญายาว 3-5 ปี ถ้าเซ็นยาวๆ จะมีส่วนลดพิเศษให้ และอาจจะเป็นเพราะนักธุรกิจเอง ที่ต้องการซื้อลิขสิทธิ์มายาวๆ หวังจะทำกำไรในช่วง 1-5 ปีที่ได้จัดประกวด เพื่อหาสปอนเซอร์ให้ได้ต่อเนื่อง 

จ่ายเยอะ 400 ล้าน ได้สิทธิ์จัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส

ถ้าอยากจะได้สิทธิ์ มาจัดประกวดที่ประเทศตัวเอง ก็ไม่ได้ยากอะไรนะ ถ้ามีเงินพอ กล้าลงทุน จะต้องจ่ายมากกว่า 400 ล้านบาท เหมือนที่บริษัททีพีเอ็น TPN เคยได้สิทธิ์มาจัด มิสยูนิเวิร์ส Miss Universe 2018 ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี อย่าลืมว่าตัวเลข 400 ล้านบาท ต่อรองขึ้น-ลงได้อยู่แล้ว

นักธุรกิจตอนนี้ ต้องคิดแล้วคิดอีกให้เยอะๆ เพราะการประกวดนางงามในบางประเทศ อาจจะไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้เยอะแยะ เหมือนยุคทองของ โดนัลด์ ทรัมป์

เทียบกันง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดเจน ระหว่างนักร้องเคป๊อป K-POP กับ Miss Universe นางงามจักรวาล พลังดึงดูดจูงใจคนในวงกว้าง มันต่างกันเยอะเลย สินค้าต่างๆ พร้อมจ่ายไม่อั้น เพื่อดึงนักร้องเกาหลีดังๆ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ตรงกันข้ามสินค้าดังหลายชนิด ที่ไม่เกี่ยวกับความงาม ก็มองเมินนางงามจักรวาลไป เพราะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญไม่มีพลังมากพอ ในการที่จะจูงใจผู้บริโภคให้มาซื้อสินค้าได้  

ซื้อพ่วงกัน 2 สิทธิ์ ราคาจะถูกลง

ตัวเลขข้างต้น ที่เรานำมาบอกนั้น เป็นตัวเลขเงินบาทโดยประมาณ ราคาขึ้น-ลงได้อยู่แล้ว ตามแต่ต่อรอง! โดยเราใช้เรต 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 31 บาท เพื่อให้แฟนนางงามชาวไทยได้เข้าใจง่ายๆ

ถ้าซื้อสิทธิ์พร้อมกันสองอย่างคือ จัดประกวดในประเทศตัวเอง และจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สด้วย ราคาก็จะลดลงมาหน่อย เช่นบริษัททีพีเอ็น TPN ของไทย เคยได้ 2 สิทธิ์มาจัด คือ จัดประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ Miss Universe Thailand ตั้งแต่ 2562-2566 และได้จัดมิสยูนิเวิร์ส Miss Universe 2018 ที่อิมแพคอารีนา ช่วงโควิดพ่นพิษร้าย การจะหาประเทศที่จัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส ก็ยากมากๆ เพราะต้องทุ่มเงินเยอะ ปีนี้จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ จะจัดประกวดเองอีกครั้ง  

ราคาซื้อขายสิทธิ์จะผันผวนไปในแต่ละประเทศ ไม่ได้เป๊ะๆ ตายตัว ต้องดีลกันไป มีการปั่นราคา ตามความสนใจของนักธุรกิจประเทศนั้นๆ ด้วย ถ้าแข่งขันสูง สิทธิ์ก็ต้องแพงขึ้นไปด้วย ตามความต้องการที่เยอะ

มิสยูนิเวิร์สเวทีเพื่อสังคมที่ดีขึ้น?

ทุกเวทีนางงามล้วนมีประโยชน์ ถ้านางงามใช้ให้เป็นประโยชน์ เวทีมิสยูนิเวิร์สมีฐานนางงามอยู่เยอะจริง เพราะจัดประกวดมายาวนาน อย่างล่าสุด เห็นชัดไปแล้วในรอบโชว์ชุดประจำชาติ National Costume Competition นางงามพม่า Miss Universe Myanmar 2020 – Candy Thuzar โชว์ป้าย Pray For Myanmar เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าถึงสถานการณ์ในประเทศที่ประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หรือ นางงามสิงคโปร์ Miss Universe Singapore 2020 – Bernadette Belle ผ้าคลุมมีข้อความใหญ่ๆ STOP ASIAN HATE ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อหยุดยั้งการทำร้ายคนเอเชีย

นางงามอุรุกวัย Miss Universe Uruguay 2020 – Lola De los Santos ตั้งใจออกแบบชุดสีรุ้ง สื่อสะท้อนไปถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQ (L = Lesbian เลสเบี้ยน ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน G = Gay เกย์ ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย B = Bisexual คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง T = Transgender คนข้ามเพศ คือผู้หญิงที่มีจิตใจเป็นผู้ชาย ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง เรียกสั้นๆ ว่าทรานส์ Q = Queer เรียกกว้างๆ กลุ่มคนที่ไม่ได้มีเพศตามขนบสังคมทั่วไป ไม่จำกัดกรอบ) Lola De los Santos พร้อมสนับสนุนกลุ่มหลายหลากทางเพศ แน่นอนว่าเธอได้ใจคนกลุ่มนี้ไปเยอะ พร้อมเชียร์ให้เข้ารอบลึกๆ ไปแล้ว!

ธุรกิจนางงาม เงินคือคำตอบสุดท้าย!

อย่าลืม!!! ว่าไอเอ็มจี IMG บริษัทที่จัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส Miss Universe ไม่ใช่องค์กรการกุศล ดังนั้นการประกวดนางงามจักรวาล คือธุรกิจเต็มๆ ที่หวังกำไรสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ต้องบอกตรงๆ ว่าเงินคือคำตอบสุดท้าย!

ส่วนเรื่องเบื้องหน้า ที่จะให้นางงามเป็นตัวแทนอะไรบางอย่าง เช่น เป็นนักพูด spokesperson สร้างแรงบันดาลใจ หรือให้เป็นไอดอล idol ไอคอน icon หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้โลกเราดีขึ้นทันตาเห็นนั้น อาจจะไกลเกินจริงไปหน่อย ย้อนไปดูได้ช่วง 3-4 ปีที่ไอเอ็มจี IMG ดันนางงามจักรวาลออกมา เราเห็นความเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ส่งผลต่อคนหมู่มาก ที่เด่นชัดอะไรได้บ้าง?   

นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2089930
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2089930