Prince เจ้าชายแห่งโลกดนตรี และศิลปินอัจฉริยะหลากสีสัน


ให้คะแนน


แชร์

ข่าวแนะนำ

นับตั้งแต่ ปรินซ์ (Prince) แต่งเพลง เพลงแรกที่มีชื่อว่า Funk Machine ด้วยวัยเพียง 7 ปี …หลังจากนั้น เขาก็ไม่สามารถหยุดแต่งเพลงได้อีกเลย

เพราะขณะที่ จิมี เฮนดริกซ์ -มือกีตาร์ที่ปรินซ์ชื่นชอบมากคนหนึ่ง- มีผลงานเพลงเพียง 3 อัลบั้มเท่านั้น ส่วนวง The Beatles -ที่โด่งดังไปทั่วโลก- ก็มีอายุวงแค่ 8 ปี (โดยมีอัลบั้มออกมา 13 ชุด) แต่ปรินซ์แต่งเพลงทุกวันแทบไม่เคยหยุด จนส่งผลให้เขามีผลงานเพลงที่แต่งให้ตัวเองและแต่งให้ศิลปินคนอื่นรวมกันแล้วเป็นจำนวนหลายร้อยเพลง ซึ่งยังไม่นับรวมเพลงอีกมากที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน

เคอร์รี กอร์ดี อดีตผู้จัดการของปรินซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ศิลปินคนนี้เป็นคนที่ ‘ช่างจินตนาการ’ อยู่แล้ว แถมยังมีบาดแผลภายในจิตใจมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ การเขียนเพลงจึงถือเป็น ‘การเยียวยาบาดแผล’ ที่ดีที่สุด ซึ่งปรินซ์มักผสมทั้งสององค์ประกอบนี้เข้าด้วยกันในการแต่งเพลงเสมอ

จริงอยู่ที่สไตล์ดนตรีหลักๆ ของปรินซ์คือแนว ‘ฟังก์’ แต่งานเพลงของเขาก็มีส่วนผสมของดนตรีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร็อก, นิวเวฟ, โซล, ซินธ์ป๊อป, แจ๊ซ ไปจนถึงฮิปฮอป โดยสิ่งที่น่าทึ่งก็คือแนวเพลงที่หลากหลายเหล่านั้น บางครั้งก็ปรากฏอยู่ในเพลงเดียวกันด้วยซ้ำไป

เรนจ์เสียง (Range – ช่วงโน้ตจากต่ำสุดจนถึงสูงสุดที่สามารถร้องได้ดี) ของปรินซ์ที่กว้างมาก ทำให้เขามีเสียงร้องเฉพาะตัวที่เรียกได้ว่า ‘ฟ้าประทาน’ โดยแท้ เพราะการ ‘ปลอมเสียง’ หรือการร้องเพลงโดยใช้เสียงแบบ Falsetto (เสียงหลบ) ของเขานับว่าเป็น ‘เบอร์หนึ่ง’ ในวงการ เขาจึงสามารถร้องเพลงได้แทบทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงร้องแบบนุ่มนวล, โหยหวน, ดุดัน, ซาบซึ้ง หรือหวนไห้

นอกจากนี้ เขายังเก่งกาจในการใช้อารมณ์ความรู้สึกแฝงลงไปในเสียงร้องด้วย ทั้งความเศร้า, ความสนุกสนาน, ความเย้ายวน, ความกราดเกรี้ยว หรือแม้กระทั่งเสียงแบบไซบอร์ก ทำให้เพลงของเขามีอรรถรสและมีความเป็นมนุษย์อยู่สูง ซึ่งมีศิลปินเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถทำเช่นนี้ได้ (หากจะยกตัวอย่างแบบเร็วๆ ก็คงมี ไมเคิล แจ็กสัน และ เจมส์ บราวน์ รวมอยู่ด้วย)

และด้วยความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด (กีตาร์, กลอง, เปียโน, คีย์บอร์ด, เบส, ฯลฯ) หากมีเวลาว่างมากพอ ปรินซ์ก็จะแต่งเพลงด้วยการเล่นเครื่องดนตรีเองทุกชิ้น ไม่ใช่เพราะต้องการเพลงฮิต แต่เป็นเพราะว่าการแต่งเพลงและเล่นดนตรีคือสิ่งที่เขาต้องทำเป็น ‘กิจวัตร’ อยู่แล้ว

“แรกๆ ผมคิดว่าเขาชอบซ้อมดนตรี แต่ปรินซ์ไม่เคยซ้อมดนตรี เพราะการเล่นดนตรีคือการใช้ชีวิตของเขา …ดนตรีคือลมหายใจของเขา” ด็อกเตอร์ ฟิงก์ หรือ แม็ตต์ ฟิงก์ มือคีย์บอร์ดแห่งวง The Revolution ซึ่งเป็นวงแบ็กอัพของปรินซ์เคยกล่าวไว้เช่นนั้น

ปรินซ์ผู้มีชื่อจริงว่า ปรินซ์ โรเจอร์ เนลสัน เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1985 ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา

จอห์น เนลสัน พ่อของเขาทำงานในโรงงาน แต่ก็มีวงแจ๊ซที่ชื่อ Prince Roger Trio เป็นของตัวเองด้วย ซึ่งความรักในดนตรีของพ่อนี่เองที่มีส่วนปลูกฝังให้ลูกชายรักการเล่นดนตรีตาม และปรินซ์ก็ดูเหมือนจะแบกรับภาระนั้นเอาไว้กับตัวอยู่ตลอด โดยเนลสันเผยว่า เขาตั้งชื่อลูกชายด้วยคำว่า Prince ก็เพราะ “ลูกชายของผมจะได้ทำทุกอย่างที่ต้องการได้ตามใจปรารถนา” แต่ปรินซ์ไม่ชอบชื่อที่พ่อตั้งให้ จึงตั้งชื่อเล่นให้ตัวเองในวัยเด็กว่า สคิปเปอร์ (Skipper)

ขณะที่ แม็ตตี ชอว์ แม่ของปรินซ์ -ผู้เคยเป็นนักร้องที่ชื่นชอบศิลปินเพลงแจ๊ซอย่าง บิลลี ฮอลิเดย์ มาก่อน- คือคนที่ทำให้เขากล้าปลดปล่อย ‘สัญชาตญาณดิบ’ ของตัวเองออกมา “ผมรักความเป็นอิสระและการทำได้อย่างที่ใจต้องการของแม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็รักความสันโดษของพ่อเหมือนกัน ทั้งชีวิตส่วนตัวและงานเพลงของผมสะท้อนบุคลิกของพ่อแม่มาตลอด มันมีทั้งความโกรธเกรี้ยวและความสงบสุขอยู่ในนั้น”

แม่ของเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Star Tribune สำนักข่าวประจำเมืองมินนีแอโพลิสว่า “สมัยที่ปรินซ์อายุราว 4-5 ขวบ ฉันพาเขาไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า เขาไม่ชอบร้านของเล่น แต่จะเข้าไปในร้านขายเครื่องดนตรีที่มีเสียงเพลงดังออกมา เขาเล่นดนตรีทุกชิ้นในร้านอย่างไม่ประสีประสา แต่เขาชอบออร์แกนและเปียโนมากที่สุด จนสุดท้าย ฉันก็ต้องซื้อเปียโนให้เขา ซึ่งถึงจะมีเปียโนแล้ว พอโตขึ้น เขาก็จะไปขลุกอยู่ที่แผนกขายเครื่องดนตรีที่ห้างสรรพสินค้าอีกเหมือนเดิม เพราะมันมีเครื่องดนตรีทุกชนิดให้ได้เล่น”

จุดเปลี่ยนในชีวิตของปรินซ์เริ่มขึ้นหลังจากที่เขาได้ไปดูคอนเสิร์ตที่พ่อเล่นในโรงละครแห่งหนึ่ง ซึ่งการแสดงบนเวทีและเสียงกรีดร้องของผู้ชมได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่เขาอย่างมาก “นับตั้งแต่นั้นมา ผมคิดว่าสิ่งเดียวที่ผมอยากจะเป็นคือ ‘นักดนตรี’ ” เขากล่าว

การที่พ่อแม่นับถือคริสต์นิกาย Seventh-day Adventists ทำให้เขาต้องเข้าโบสถ์อยู่บ่อยๆ และทำให้เขาหลงใหลเสียงประสานแบบกอสเพล (Gospel) อันแสนไพเราะจากคณะประสานเสียงของที่นั่น รวมถึงอินไปกับหนังสือวิวรณ์เล่มสุดท้ายในพระคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่ที่เชื่อในการกลับมาอีกครั้งของพระคริสต์หลังวันสิ้นโลก — สิ่งเหล่านี้ทำให้ปรินซ์สร้างสรรค์อัลบั้มชุด 1999 (ที่วางจำหน่ายในปี 1982) ขึ้นมา โดยเป็นผลงานที่เปลี่ยนบรรยากาศโลกยุคดิสโทเปียให้กลายเป็นงานเพลงแห่งการเฉลิมฉลองวันสิ้นโลก ส่วน Sign o’ the Times (1987) ก็ถูกหยิบมาจากชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของคริสต์นิกายดังกล่าวด้วย

อัลบั้มของปรินซ์ที่เป็นผลงานเพลง ‘ขึ้นหิ้ง’ ในแนวฟังก์, ป๊อป และอาร์แอนด์บี มีอยู่หลายชุด ไม่ว่าจะเป็น Dirty Mind (1980), Controversy (1981), 1999, Purple Rain (1984) หรือ Sign o’ the Times ซึ่งยังไม่นับรวมงานคลาสสิกหลายเพลงที่เขาแต่ง อาทิ Nothing Compares 2 U ที่กล่าวถึงความชอกช้ำที่ถูกคนรักทอดทิ้ง โดยเพลงที่เขาแต่งขึ้นสำหรับไซด์โปรเจกต์อย่าง The Family เพลงนี้ กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกในปี 1990 หลังจากที่ ซีเนด โอคอนเนอร์ นำไปร้องคัฟเวอร์และใช้เป็นซิงเกิลที่สองของอัลบั้ม I Do Not Want What I Haven’t Got

แต่สิ่งที่ถือว่าเป็น ‘มรดกตกทอด’ จากปรินซ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับวงการดนตรีโลกก็คือ Minneapolis Sound หรือ ‘สุ้มเสียงแบบมินนีแอโพลิส’ ซึ่งเป็น ‘แนวย่อย’ (Subgenre) ของดนตรีแนวฟังก์อีกทีหนึ่ง

ดนตรีแนวนี้เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีฟังก์ที่เน้น ‘จังหวะ’ เป็นหลัก และดนตรีร็อกที่มีเสียงกีตาร์ในกลิ่นอายของดนตรีบลูส์และไซคีเดลิกเล็กน้อย มาผสมผสานไว้ด้วยกัน โดยมีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ‘เสียงสังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์’ ที่เข้ามาแทนที่เสียงเครื่องเป่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มักใช้กันในดนตรีแนวฟังก์ ส่วนจังหวะจากกลองจะเร็วกว่าดนตรีฟังก์ดั้งเดิม เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีนิวเวฟ (เช่น วง The Blondie, Talking Heads และ The Cars) พร้อมเสียงกีตาร์เน้นจังหวะจากคอร์ดที่หลากหลายและให้เสียงที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เสียงโซโล่กีตาร์อันหนักหน่วง พร้อมกับการลดบทบาทของจังหวะเบสที่ถือเป็นพระเอกของซาวนด์ดนตรีฟังก์ลง และการสร้างจังหวะกลองที่ซับซ้อนมากกว่าดนตรีฟังก์ทั่วๆ ไป โดยศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับปรินซ์ในการสร้างแนวดนตรีที่มีความ ‘เฉพาะตัว’ สูงนี้ขึ้นมาก็เช่น สตีวี วอนเดอร์, ไมล์ส เดวิส, จอร์จ คลินตัน, คาร์ลอส ซาตานา ไปจนถึง โจนี มิตเชลล์

ในช่วงเวลานั้น อาจแทบไม่มีใครเล็งเห็นว่า ปรินซ์เป็นศิลปินในแนว ‘กีตาร์ ฮีโร่’ แต่ในงาน Rock & Roll Hall of Fame เมื่อปี 2004 ที่ จอร์จ แฮร์ริสัน ได้รับการจารึกชื่อบนหอเกียรติยศหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ปรินซ์-ที่ถูกจารึกชื่อในปีเดียวกัน-ได้ขึ้นเวทีเพื่อเล่นเพลง While My Guitar Gently Weeps (เพลงโดยวง The Beatles ของแฮร์ริสัน) ร่วมกับ ทอม เพ็ตตี, สมาชิกวง The Heartbreakers (เจฟฟ์ ลินน์ กับ สตีฟ วินวูด) และ ดานี แฮร์ริสัน (ลูกชายของแฮร์ริสัน) โดยเขาได้โชว์ทักษะการเล่นกีตาร์ที่เหนือชั้น จนหลายคนในงานแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า ปรินซ์จะสามารถโซโล่กีตาร์ได้อย่างยอดเยี่ยมถึงเพียงนั้น

เทคนิคกีตาร์ที่เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงทว่าเป็นธรรมชาติของเขาในวันนั้น ทำให้มือกีตาร์ฮีโร่ในแนวร็อกตัวจริงยังต้องคารวะ ซึ่ง อีริก แคลปตัน น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เห็นถึงพรสวรรค์ด้านกีตาร์ที่ไม่ธรรมดาของปรินซ์มานานแล้ว เพราะครั้งหนึ่งเมื่อปี 1980 นักข่าวเคยถามแคลปตันว่า “รู้สึกอย่างไรที่เป็นมือกีตาร์ที่เก่งที่สุดในโลก?” แต่เขากลับตอบนักข่าวไปว่า “ไม่รู้สิ คุณต้องไปถามปรินซ์ดูเอาเอง”

แต่ชีวิตของมนุษย์ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม เพราะปรินซ์ยังเสพติดการใช้ยาแก้ปวดมานานหลายปี เนื่องจากเขามีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่สะโพกจากการทัวร์คอนเสิร์ตติดต่อกันเป็นเวลานานจนร่างกายรับไม่ไหว ด้วยรูปร่างที่ค่อนข้างเล็ก แถมยังต้องสะพายกีตาร์บนเวทีอยู่ตลอด ทำให้เอวและสะโพกของเขาบอบช้ำมากขึ้นทุกที ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์อย่าง เฟนทานิล ที่ออกฤทธิ์กดประสาทอย่างรุนแรงไม่ต่างจากมอร์ฟีนของปรินซ์ ทำให้เขาเสพติดมัน

และในที่สุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 ปรินซ์ก็เสียชีวิตในวัย 57 ปีที่เพรสลีย์พาร์ก -ซึ่งเป็นบ้านและสตูดิโอส่วนตัวของเขาในเมืองมินนีแอโพลิส- จากการใช้ยาเฟนทานิลเกินขนาด เหลือไว้เพียงผลงานเพลงชั้นยอดให้นักดนตรีรุ่นหลังๆ ได้ศึกษาและดำเนินรอยตาม

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เป็นวันปล่อย Welcome 2 America อัลบั้มชุดล่าสุดของปรินซ์ผู้ล่วงลับ โดยทุกเพลงถูกบันทึกเสียงเก็บไว้ในปี 2010 แต่ไม่เคยถูกนำออกมาจากห้องอัดให้ใครได้ฟังเลย ซึ่ง อเล็กซิส เพทริดิส นักวิจารณ์เพลงจาก The Guardian ที่มีโอกาสฟังเพลงทั้งอัลบั้มแล้ว ได้แสดงความเห็นว่า นี่คืองานเพลงที่ดีที่สุดของปรินซ์ในช่วงสองทศวรรษให้หลัง เพราะมันยังคงไว้ซึ่งดนตรีในแนวทาง Minneapolis Sound ที่อบอวลไปด้วยดนตรีฟังก์/โซลจากยุค 70 และกลิ่นอายของดนตรีป๊อป/นิวเวฟจากยุค 80 โดยมีเซอร์ไพรส์ที่น่าตื่นเต้นก็คือ การนำเพลง Stand Up and Be Strong ของวงอเมริกันร็อกยุค 90 อย่าง Soul Asylum มาคัฟเวอร์ด้วยดนตรีตามแบบฉบับของปรินซ์เองด้วย

เชื่อได้เลยว่าแฟนเพลงของ ‘เจ้าชาย’ แห่งโลกดนตรีคนนี้ จะได้สัมผัสกับจิตวิญญาณและอัจฉริยภาพหลากสีสันที่ไม่มีวันตายของเขาอีกครั้ง — ถึงแม้ร่างกายของเขาจะคืนสู่ธรรมชาติมานานถึงกว่าครึ่งทศวรรษแล้วก็ตาม

อ้างอิง: Rolling Stone (1, 2), WSJ, The Guardian

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2153198
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2153198