จุนจิ อิโต้ นักวาดมังงะสุดพิศวง ในโลกสยองขวัญอันแสนบิดเบี้ยว


ให้คะแนน


แชร์

“ผมตั้งคำถามตลอดว่า ทำไมผู้คนถึงอยากอ่านเรื่องราว หรือดูอะไรที่มันสยดสยอง คุณค่าของงานแบบนี้คืออะไร ทำไมเราต้องอยากเขียนอะไรแบบนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ผมตกผลึกก็คือ ชีวิตของคนเรานั้น ‘ไม่แน่นอน’ ครับ เราไม่มีทางรู้ว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางทีอาจมีเรื่องเลวร้ายรอคอยเราอยู่ก็ได้ ดังนั้น ถ้าเราดูหรืออ่านอะไรที่น่ากลัว มันอาจช่วยเตรียมตัวเตรียมใจให้เราเวลาเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นก็ได้”

Tomie มังงะแจ้งเกิดที่ทำให้เขากลายเป็นนักวาดการ์ตูนไฟแรง เล่าเรื่องของหญิงสาวแสนสวยที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมของผู้ชายจิตใจโหดเหี้ยม ก่อนความจริงจะเผยว่า เธอไม่มีวันตาย หรือพูดให้ถูกคือไม่มีวันโดนฆ่าให้ตายได้ เพราะหากร่างกายของเธอโดนแทง โดนเชือด หรือโดนอะไรก็ตาม เธอไม่เพียงฟื้นตัวหรือคืนชีพได้เท่านั้น แต่ร่างของเธอจะ ‘แตกหน่อ’ งอกออกมาเป็นคนใหม่ได้ด้วย

และทุกครั้งที่เธอกลับมา ก็จะยิ่งทำให้กลุ่มชายฉกรรจ์บ้าอำนาจเหล่านั้นคลุ้มคลั่งมากกว่าเดิม

เอกลักษณ์ที่ดูน่าหลงใหลของตัวละคร โทมิเอะ คาวาคามิ คือใบหน้าและดวงตาที่งดงามคมขำ แต่แฝงไว้ด้วยบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจและยากแท้หยั่งถึง ซึ่งอิโต้ตั้งใจวาดเธอให้สวยเด่นที่สุด เพราะหากคนอ่านไม่อาจ ‘เข้าถึง’ เสน่ห์ชวนหลอนของตัวละครตัวนี้ได้ตั้งแต่แรกเห็น เขาก็คงไม่สามารถสร้างความสะพรึงและกระตุกขวัญคนอ่านได้ในหน้าถัดๆ ไป

ถึงทุกวันนี้ โทมิเอะจึงได้ชื่อว่าเป็นตัวละครที่สวยที่สุดของเขา แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังความสวยสยองจ้องประหารนี้ ต้นแบบของเธอคือ ‘เพื่อนผู้ชาย’ สมัยเรียนมัธยมของอิโต้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่างหาก

“ตอนนั้น ผมรู้สึกประหลาดพิกลครับ ว่าเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนเฮฮา จู่ๆ ก็หายไปจากโลกนี้ ผมเลยคิดว่า มันคงจะประหลาดดีนะ ถ้าจู่ๆ เขากลับมาปรากฏตัวอีกครั้งราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเลยถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ออกมาเป็นมังงะเรื่องนั้น”

การเลือกตัวละครเอกเป็น ‘ผู้หญิง’ ถือเป็นการตัดสินใจที่ทรงอิทธิพลต่อเรื่องราว เพราะอิโต้ใช้เสน่ห์และความเย้ายวนใจของโทมิเอะปั่นหัวตัวละครผู้ชายจำนวนมาก ด้วยการไม่ให้เธอปฏิบัติตัวตามสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง จนถูกตีความว่า เธอเป็นเหมือนสิ่งใดก็ตามที่ผู้ชายใฝ่ฝัน แต่ทำอย่างไรก็ไม่มีวันได้ครอบครอง ซึ่งนั่นยังเป็นสิ่งที่พวกเขา ‘ไม่อยากพบเจอ’ ในชีวิตจริงอีกด้วย

Uzumaki Uzumaki

เล่าเรื่องผ่านภาพนิ่ง แต่คิดเป็นภาพเคลื่อนไหว

ผลงานตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมาของอิโต้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การ์ตูนสั้นจบในตอน, มังงะขนาดยาวหลายตอนจบ, นวนิยาย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งด้วยขอบเขตการทำงานอันกว้างขวางนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการเล่าเรื่อง และการใช้เครื่องมือเพื่อเขย่าขวัญผู้อ่านที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดสื่อ

“มันขึ้นอยู่กับความยาวของเรื่องครับ ถ้าเป็นเรื่องสั้น ผมจะชอบเขียนตอนจบให้ทำร้ายจิตใจคนอ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องยาว คนอ่านมักจะมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครที่ติดตามอ่านมา ผมเลยอยากหาบทสรุปแบบแฮปปี้ ให้คนอ่านได้ความรู้สึกดีๆ กลับไป แต่ส่วนตัวแล้ว ผมชอบเรื่องสั้นและการจบแบบโหดร้ายมากกว่า เพราะผมถนัดที่สุดแล้ว”

นอกจากตอนจบที่ทำให้คนอ่านอ้าปากค้าง เสน่ห์ในมังงะของเขาอีกอย่าง คือการสร้างบรรยากาศของเรื่องให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลและความไม่น่าไว้วางใจในทุกอณูของเรื่องราว

“จากประสบการณ์ของผม อารมณ์และสภาวะแวดล้อมสำคัญที่สุดครับ ผมอยากให้คนอ่านสัมผัสถึงบรรยากาศอันแปลกประหลาด ผมอยากให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกนั้นตั้งแต่เห็นภาพครั้งแรก คือเนื้อเรื่องก็สำคัญนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วสื่อแบบมังงะจะขายภาพและขายบรรยากาศเป็นหลักครับ”

และการขายบรรยากาศสยองขวัญ คือสิ่งที่อิโต้ได้เรียนรู้ผ่านการดูหนังและรายการโทรทัศน์สมัยเด็ก ซึ่งไปๆ มาๆ เขายอมรับว่ามันมีอิทธิพลต่อชีวิตเขามากยิ่งกว่าการ์ตูนสยองขวัญเสียอีก

“พวกการ์ตูนสยองขวัญไม่ค่อยน่ากลัวสำหรับผมครับ แต่รายการทีวีที่เล่าเรื่องผีสางนางไม้ พาเข้าบ้านผีสิง หรือทำพิธีเรียกวิญญาณพวกนี้ต่างหากที่ผมว่าน่ากลัว เวลาเห็นภาพของผีในรายการโทรทัศน์ มันเหมือนจริงมากจนผมไม่กล้าเข้าห้องน้ำคนเดียวอีกเลย”

“ส่วนหนัง ในยุคหลังๆ พวกเขามักใช้ฉากผีหลอกตุ้งแช่เพื่อทำให้คนดูตกใจ แต่ผมโตมากับหนังสยองขวัญค่าย Hammer และ Universal ในอดีตที่เน้นการสร้างอารมณ์ตื่นกลัวผ่านบรรยากาศชวนเขย่าขวัญ จริงอยู่ว่าการหลอกตุ้งแช่อาจทำให้ผู้คนตกใจในชั่วขณะนั้นได้ แต่มันก็จะได้ผลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องของรสนิยมด้วยแหละครับ”

และหากจะหาผลงานที่ขายบรรยากาศชวนขนหัวลุกขั้นสุด อิโต้มั่นใจว่า Uzumaki หรือ ‘ก้นหอยมรณะ’ คือเรื่องนั้น

ตัวมังงะเล่าเรื่องของเมืองอันเงียบสงบแห่งหนึ่งที่จู่ๆ ก็พบเจอกับคำสาปก้นหอยมรณะ จนเกิดเรื่องเฮี้ยนๆ ไปทั่วทุกตารางนิ้ว โดยร่างกายของผู้คนจะเกิด ‘วงกลมปริศนา’ ขึ้นบนใบหน้า เนื้อตัว และทรงผม แถมบางคนยังค่อยๆ กลายร่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าขยะแขยง และไม่ว่าจะพยายามหลบหนีอย่างไร พวกเขาก็ออกไปจากเขตแดนของเมืองไม่พ้น

อิโต้ยกให้ Uzumaki เป็นงานเชิงทดลองที่สมบูรณ์แบบในเชิงศิลปะ เขาเชื่อว่าตอนสร้างสรรค์ผลงาน ความสามารถของเขากำลังอยู่ในช่วงสุกงอมพอดี และจินตนาการของเขาไม่เคยบรรเจิดเท่านี้มาก่อน การันตีได้จากภาพม้วนกลมของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในทุกหน้ากระดาษ จนกลายมาเป็น ‘ภาพจำ’ เปี่ยมเอกลักษณ์ที่ผู้คนจะนึกถึงทันทีเมื่อพูดถึงลายเส้นสไตล์ จุนจิ อิโต้

Gyo Gyo

‘ความกลัว’ ในส่วนลึกของยอดปรมาจารย์

มนุษย์ทุกคนย่อม ‘กลัว’ อะไรสักอย่าง แม้กระทั่งอิโต้เองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น และหนึ่งในคำถามที่เขามักเจออยู่บ่อยๆ คือ “เจ้าพ่อการ์ตูนสยองขวัญอย่างเขากลัวอะไรมากที่สุด?” — ซึ่งคำตอบของเขาก็คือ “สงคราม”

“พ่อแม่ผมเป็นคนจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยผมยังเด็ก ท่านจะเล่าถึงโศกนาฏกรรมและเรื่องน่ากลัวจากสงครามให้ฟังเสมอ ผมเลยเอามาพัฒนาต่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสงครามนั้นน่ากลัวแค่ไหน อีกอย่าง ผมเคยกลัวว่าพอโตขึ้นจะโดนเกณฑ์ทหาร ความกลัวเหล่านั้นเลยพัฒนาเป็นความรู้สึกต่อต้านสงครามไปด้วยครับ”

ผลงานของเขาที่สะท้อนถึงด้านมืดของสงครามมากที่สุด คงเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Gyo หรือ ‘ปลามรณะ’ อีกหนึ่งผลงานชิ้นเอก -ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Jaws (1975) หนังฉลามอาละวาดของ สตีเวน สปีลเบิร์ก– ว่าด้วยปลามีขาเหล็กที่ออกมา ‘วิ่ง’ ไล่ล่าผู้คนบนบกอย่างสะดวกโยธิน จนสุดท้ายถึงได้พบว่าพวกมันมีต้นตอมาจากการวิจัยทดลองอาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

อิโต้ใช้ Gyo เพื่อสื่อถึงผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ที่ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก แต่สารแปลกปลอมจากระเบิดปรมาณูยังส่งผลทางชีวภาพต่อผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย มันจึงถือเป็นงานที่แฝงถึงพิษภัยของสงครามโลกได้อย่างดีในระดับเดียวกับ Gojira (1954) หนังสัตว์ประหลาดจากค่าย Toho ที่ซ่อนใจความสำคัญว่าด้วยผลลัพธ์อันเลวร้ายของสงคราม ภายใต้การเปรียบเปรยผ่านเจ้าแห่งอสุรกายอย่าง ก็อดซิลลา

Army of One Army of One

ผลงานของอิโต้อีกเรื่องที่สอดแทรกความน่ากลัวของสงคราม และความกลัวการต้องเป็นทหารได้ค่อนข้างน่าสนใจ คือ Army of One หรือ ‘บ้านที่อยู่ของทหารหนีทัพ’ เรื่องสั้นระดับท็อปฟอร์มที่อุปมาอุปไมยถึงความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเชื่อมโยงเข้ากับ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ของกองทัพในการเกณฑ์คนมาร่วมทำสงคราม ซึ่งบทสรุปของเรื่องนี้ก็ทำเอาผู้อ่านถึงกับเสียวสันหลังวาบ

อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ ‘ชวนคลื่นเหียนที่สุด’ คือ Glyceride หรือ ‘ไขมัน’ การ์ตูนสั้นว่าด้วยพี่ชายร่างอ้วนที่ชอบใช้กลั่นแกล้งน้องสาวผ่านการ ‘บีบสิว’ จำนวนมหาศาลใส่หน้าเธอ เป็นงานชวนอ้วกขนาดที่อิโต้ยอมรับว่า แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังรู้สึกสะอิดสะเอียนเวลาวาดเหมือนกัน

อีกด้านอันอ่อนโยนของนักวาดสุดโหด

เห็นเขาเป็นยอดนักวาดการ์ตูนสยองขวัญแบบนี้ คนทั่วไปอาจไม่คาดคิดว่า ตัวจริงของอิโต้จะเป็นชายหนุ่มที่อ่อนโยน พูดน้อย สะอาดสะอ้าน และที่สำคัญยังเป็น ‘ทาสแมว’ กับเขาด้วย

อันที่จริงแล้ว ตั้งแต่เด็กจนโต เขาไม่เคยเลี้ยงสัตว์ชนิดไหนมาก่อน จนกระทั่งเขาแต่งงานกับ อายาโกะ อิชิกุโร่ ศิลปินผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ พออยู่ใต้ชายคาเดียวกัน เขาจึงค่อยๆ ผูกมิตรกับ ยง และ มู สองแมวตัวป่วนของภรรยา จนกลายเป็นทาสชนิดถอนตัวไม่ขึ้น

อิโต้ยอมรับว่า เมื่อก่อนเขาไม่ถนัดวาดรูปสัตว์เท่าไร แต่การเลี้ยงแมวทำให้เขาตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างจากงานอื่นๆ โดยสิ้นเชิงนั่นคือ Junji Ito‘s Cat Diary: Yon & Mu หรือมังงะอัตชีวประวัติตัวเขาเอง โดยมีโฟกัสหลักอยู่ที่การเลี้ยงเจ้าแมวจอมยุ่งทั้งสอง

“ผมไม่เคยใช้ชีวิตร่วมกับแมวแบบนี้มาก่อน บอกตามตรงว่าพวกมันดูน่ากลัวหน่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมก็เกิดความคิดว่า ถ้าแต่งมังงะว่าด้วยการพบเจอสถานการณ์แปลกใหม่ มันก็คงน่าสนใจดีเหมือนกันนะ ซึ่งพอบรรณาธิการของผมรู้ว่าผมเลี้ยงแมวแล้ว เขาก็เลยเสนอไอเดียนี้ขึ้นมาครับ”

Junji Ito’s Cat Diary: Yon & Mu อาจไม่ใช่มังงะสยองขวัญตามขนบของอิโต้ เพราะเป้าหมายหลักไม่ได้ต้องการเขย่าขวัญหรือทำให้ผู้อ่านรู้สึกกลัว แม้บางช่วงบางตอนจะยังแฝงลายเซ็นความหลอนอันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ก็ตาม และเมื่อผลงานตีพิมพ์ออกไป มันก็ได้เสียงตอบรับที่ดี แถมยอดขายยังพุ่งเป็นประวัติการณ์ยิ่งกว่างานสยองขวัญขึ้นหิ้งของเขาเสียอีก

น่าเสียดายที่ปัจจุบันเจ้ายงและเจ้ามูได้ลาโลกนี้ไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ครอบครัวอิโต้ก็ยังอุตส่าห์หาแมวมาอุปการะอีกสองตัว ชื่อว่า เทนมารุ และ โทนิจิ ซึ่งต่างก็เป็นแมวขี้อายที่ไม่ได้ก่อวีรกรรมกวนใจทาสอย่างเขาเยอะเท่ากับเจ้าแมวสองตัวที่จากไป

อย่างไรก็ตาม อิโต้รับประกันว่า ถ้าวันใดวันหนึ่ง พวกมันก่อเรื่องแสบๆ ละก็ เขาจะเก็บเอาเรื่องราวของพวกมันมาเขียนเป็นภาคต่ออย่างแน่นอน

วัยใกล้เกษียณ …แต่ไกลจากภาวะโรยราทางความคิด

34 ปีแห่งความสยองขวัญล่วงผ่านไป จุนจิ อิโต้ อาจไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อล่ารางวัลหรือสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองอีกแล้ว …แต่บางทีความสำเร็จก็พร้อมจะพุ่งมาหาเขาเองโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ

เพราะเมื่อวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาจารย์อิโต้ได้รับข่าวดีว่า ผลงานชิ้นโบแดงอย่าง Remina หรือ ‘เรมิน่า ดาวมรณะ’ การ์ตูนนิยายวิทยาศาสตร์ระทึกขวัญของเขา -ที่เล่าถึงการค้นพบอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่กำลังพุ่งเข้าชนโลก ซึ่งส่งผลให้ผู้คนหวาดกลัว สิ้นหวัง จนเผยธาตุแท้อันดำมืดออกมา และพยายามเฮือกสุดท้ายเพื่อเอาชีวิตรอด- สามารถคว้ารางวัล Best U.S. Edition of International Material จากเวที Will Eisner Comic Industry Awards อันทรงเกียรติมาครอง

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังได้รางวัล Best Writer/Artist จากเวทีเดียวกันจากงาน Venus in the Blind Spot หรือ ‘วีนัสที่มองไม่เห็น’ เรื่องสั้นแนวไซ-ไฟที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมฮิต Best of Best ว่าด้วยหญิงสาวที่เชื่อในเรื่องยูเอฟโอและสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว ก่อนจะเกิดปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติบางอย่างที่ทำให้ผู้คนยิ่งปักใจว่าต้องเป็นฝีมือของ ‘เอเลี่ยน’ อย่างแน่นอน

มังงะทั้งสองเรื่องนี้เพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยสำนักพิมพ์ Viz Media ซึ่งแม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่อิโต้ได้รับรางวัลจากสถาบันนี้ แต่เขาก็ออกแถลงการณ์ว่ายินดีมากๆ ที่ผลงานทั้งสองได้รับการประเมินคุณค่าอย่างดีในอเมริกา ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่มีผลต่อจิตใจของเขาอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้ แม้นักวาดการ์ตูนระดับ จุนจิ อิโต้ จะไม่ต้องการรางวัลใดๆ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองอีกแล้ว แต่ก็เป็นข้อยืนยันชั้นดีว่า ไม่ว่าผลงานของเขาจะถูกหยิบมา ‘อ่าน’ ในยุคใด มันก็จะยังคงเข้าสมัยเสมอ — ถึงหากนับอายุแล้ว อิโต้จะอยู่ในวัยใกล้เกษียณเข้าไปทุกขณะก็ตาม

และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเขาถึงยังเป็นนักวาดการ์ตูนสยองขวัญมือวางอันดับต้นๆ ของโลกใบนี้

อ้างอิง: Wikipedia, Grapee.jp, Anime Sweet, Newsweek, Anime News Network, Gizmodo, Japan Times, Viz Media, Crunchyroll Extras

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2153605
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2153605