อาลัย ทมยันตี ย้อนประวัติ และผลงานสร้างชื่อ ก่อนจากไปตลอดกาล (คลิป)


ให้คะแนน


แชร์

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ขอย้อนประวัติของศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกาทมยันตีอีกครั้งเพื่อเป็นการอาลัยต่อการจากไป

เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และ ไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง

คุณหญิงวิมลจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณหญิงวิมลเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับ สมัคร สุนทรเวช และ ชวน หลีกภัย คุณหญิงวิมลใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง ก่อนตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน

ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สาม เพื่อนได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อมๆ กัน ต่อมาได้เลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

คุณหญิงวิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

นวนิยายหลายเรื่องของคุณหญิงวิมลถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค, ดั่งดวงหฤทัย, ทวิภพ, คำมั่นสัญญา, ดาวเรือง, รอยอินทร์, ร่มฉัตร, เลือดขัตติยา, ในฝัน, พิษสวาท เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง

คุณหญิงวิมลมีนามปากกาทั้งหมด 6 ชื่อด้วยกัน ได้แก่

โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “กุหลาบราชินี” ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย นามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ นามปากกานี้ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง “ในฝัน”

ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า “ลักษณวดี” มีความหมายว่า “นางผู้มีลักษณะดี, นางผู้งามเลิศ” จึงนำชื่อ “ลักษณวดี” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ”

กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า “กนกเรขา” แปลว่า “อักษรอันวิจิตร” จึงนำชื่อ “กนกเรขา” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “กนกนคร” ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา

ทมยันตี แปลว่า “นางผู้มีความอดทนอดกลั้น” เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “พระนลคำหลวง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ เริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง “รอยมลทิน” เป็นเรื่องแรก

มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่างๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ “สนธยากาล” ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ) และได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย”

วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของทมยันตี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่างๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย” โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

ซึ่งคุณหญิงวิมลมีผลงานการเขียนหนังสือทั้งสิ้น 119 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกหลายสิบเรื่องที่คุณหญิงวิมลได้ฝากเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านกัน บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ก็ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ คุณหญิงวิมล หรือ ทมยันตี อีกครั้งนะคะ 

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2192415
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2192415