เทรนด์ใหม่ "ละครไทย" นางเอกอายุมาก พระเอกเด็ก สะท้อนอะไรสังคม


ให้คะแนน


แชร์

เป็นอะไรที่เป็นปรากฎการณ์การใหม่ทีเดียวกับการได้เห็นละครที่นางเอกอายุมากกว่าพระเอก เรื่องล่าสุดที่กำลงออนแอร์ก็คือ “กะรัตรัก”

ที่เปิดตัวออนแอร์ไปแล้วกับการกลับมาอีกครั้งหลังหายจากแสดงละครไป 5 ปีของ แอน ทองประสม ซึ่งครั้งนี้ประกบพระเอกรุ่นน้อง เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข เป็นครั้งแรกที่ แอน ทองประสม ต้องจับคู่กับพระเอกรุ่นน้อง และในบทก็ชัดเจนว่าอายุน้อยกว่ากัน

กะรัตรัก เป็นเรื่องราวของผู้บริหารหญิงสุดเนี้ยบวัย 30 ปลายๆ ที่ชีวิตคู่และเรื่องหน้าที่การงานกำลังมีปัญหารุมเร้า แต่กลับมีหนุ่มน้อยอย่าง ไอ่ เข้ามาในชีวิต ไอ่ เป็นเด็กฝึกงานผู้ช่วยของกะรัต การมี ไอ่ เข้ามาในชีวิตมันช่างทำให้หัวใจที่แห้งแล้งของกะรัตกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่อีกครั้ง ก็ต้องไปดูกันว่าความรักความแตกต่างระหว่างเจ้านายกับเด็กฝึกงานจะลงเอยอย่างไร

แอน ทองประสม พูดถึงบทในกะรัตรักว่า “เรื่องนี้รับบทเป็น กะรัต เป็นผู้บริหารหญิงวัย 30 ปลายๆ ที่มีนิสัยเนี้ยบๆ หน่อย มีความตั้งใจทำงานสูง ถ้าพูดถึงคาแรกเตอร์ ก็ต้องยอมรับเลยว่ายากและต้องปรับตัวทำการบ้านเยอะเหมือนกัน เรื่องนี้จึงค่อนข้างท้าทาย แต่พอทุกอย่างลงตัวมันก็ลื่นไหล จนเจมส์กับแอนก็รู้สึกได้ว่ามันเกิดพลังงานและเคมีอะไรบางอย่างที่แอนคิดว่ามันใหม่ดีสำหรับคนดู ละมุนกำลังดี”

ละครไทยในอดีตไม่มีที่ยืนให้นางเอกอายุมาก

หากดูจากละครหรือบทประพันธ์ในอดีตเรื่องราวของนางเอกที่มีอายุมากกับพระเอกอายุน้อย ถูกตีกรอบไว้อย่างหลีกหนีไม่ได้ว่ามันคือเรื่องราวของสาวแก่กับเด็กหนุ่มที่สุดท้ายมักลงเอยด้วยความผิดหวัง

ไม่ว่าจะเป็น “ข้างหลังภาพ” ที่สุดท้าย “คุณหญิงกีรติ” ต้องถูก “นพพร” ตีตัวออกห่าง คำพูดของ คุณหญิงกีรติที่ถามกับแม่

“แม่คะ แม่ทราบมั้ยคะว่าลูกอายุ 29 ปีแล้ว แม่ช่วยบอกลูก บอกตรงๆ นะคะว่าลูกสวยหรือเปล่า ทำไมไม่มีผู้ชายคนไหนมารัก ขอแต่งงานกับลูกเลย เพราะอะไรคะแม่” เสมือนการตีตราแปะตรงกลางหน้าผากไปเลยว่าผู้หญิงอายุมากแล้วถ้าไม่คู่ ไม่มีผู้ชายมาขอแต่งงานเท่ากับชีวิตมีอะไรผิดปกติ 

ภาพจาก : sahamongkolfilm.com ภาพจาก : sahamongkolfilm.com

หรือละครหลายเรื่อง ป่ากามเทพ, ความรักครั้งสุดท้าย, ทรายย้อมสี ความรักของผู้หญิงอายุมากกว่ากับผู้ชายอายุน้อยกลับดูผิดแปลก ผิดครรลอง หรือต้องมีเหตุให้ไม่สมหวัง ตัวละครอายุมากไม่มีวันลงเอยสมหวังกับพระเอกอายุน้อย

กลับกันหากเป็นบทพระเอกอายุมากกว่านางเอก เรากลับเห็นแต่เรื่องราวโรแมนติก สมหวัง การช่วยซัพพอร์ตกันด้วยความเอื้ออาทร ไม่ว่าจะเป็นอาเดียวกับสลักจิต, ขมกับอาสยามในดงผู้ดี, เจนจิรากับจ้าวรังสิมันต์ในรักเดียวของเจนจิรา, คุณธิปกับนางในนางอาย หรือแม้กระทั่ง อีเย็นกับพระยาสีหโยธิน แม้จะตกระกำลำบากแค่ไหนแต่สุดท้ายบทสรุปอีเย็นก็ได้กลับมาพึ่งใบบุญคุณกับท่านเจ้าคุณอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ทั้งหมดสะท้อนภาพสังคมชายเป็นใหญ่ของสังคมไทย ผู้ชายคือเสาหลักผู้หญิงต้องพึ่งพิง ที่ส่งภาพมาในละครประโลมโลกของสังคมไทยยุคหนึ่ง

เทรนด์นางเอกอายุมากกว่าพระเอกมายังไง? 

ระยะหลังหากลองไล่ดูจะเห็นว่ามีละครที่นางเอกอายุมากกว่าพระเอกที่เป็นรุ่นน้องออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เมีย2018” บี น้ำทิพย์-ฟิล์ม ธนภัทร “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” แอฟ ทักษอร-ต่อ ธนภพ “เกมรักเอาคืน” นุ่น วรนุช-จอช เวอาร์ “รักติดไซเรน” ใหม่ ดาวิกา-สกาย รณวีร์ “ให้รักพิพากษา” เบลล่า ราณี แคมเปน-กองทัพ พีค “I Need Romance รักใช่ไหมที่หัวใจต้องการ” แพนเค้ก เขมนิจ-นิว ฐิติภูมิ “มัดใจยัยซุปตาร์” เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ-กลัฟ คณาวุฒิ

มันได้กลายเป็นเทรนด์ไปแล้วช่วงนี้กับบทนางเอกอายุมากกว่า ทำไมมันเกิดอะไรขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงนี้?

เชื่อเหลือเกินว่าหนึ่งในเหตุผลที่เทรนด์นางเอกอายุมากกว่าพระเอกเป็นที่นิยม ก็คือการที่แต่ละช่องมีความแม่นยำในกลุ่มเป้าหมายคนดูละครมากขึ้น แม่นยำในระดับที่ผ่านการรีเสิร์ชออกมาอย่างชัดเจน

เพราะในผลวิจัยหลายๆ ทางชี้ชัดว่ากลุ่มคนที่ดูทีวีผ่านจอทีวีคือกลุ่มคนอายุ 30+ ส่วนกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 จะดูคอนเทนส์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ขณะที่การรีเสิร์ชยังชี้ชัดอีกว่ากลุ่มเป้าหมายที่ดูละครหลังข่าวคือผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เมื่อผู้หญิงดูละครเยอะ กลุ่มอายุที่ยังดูละครผ่านจอทีวีคือกลุ่มคนอายุ 30+ ดังนั้นการพยายามหาเนื้อหาที่สอดคล้องกับ Insigth ความต้องการและเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มเป้าหมายหลักละคร (คือผู้หญิงวัย 30+ ขึ้นไป) จึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และนี่แหละคือโจทย์ใหม่ของคนทำละคร

เข้าถึง Insigth กลุ่มเป้าหมาย+ตรงเป้าลูกค้าโฆษณา

งานวิจัยบ่งบอกว่าผู้หญิงไทยมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น จากระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “Marriage strike” ซึ่งในประเทศไทยก็เกิดปรากฏการณ์นี้

ปรากฏการณ์ Marriage strike คือการที่ผู้หญิงมีการศึกษาสูงโดยเฉพาะปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มไม่เร่งรีบเรื่องการแต่งงาน แต่งงานช้าลง ชะลอการแต่งงาน เพราะระดับการศึกษาทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างในตลาดแรงงานดีขึ้น การแต่งงานหรือการมีบุตร ทำให้มีค่าเสียโอกาสในการจ้างงาน รวมถึงความก้าวหน้าในอาชีพ

Insigth ของผู้หญิงยุคใหม่จึงด้อนแคร์ความรัก ทำงานหาเงินให้มั่นคง รักดีๆ มีเข้ามาก็พิจารณา หากไม่มีก็เชิด! การมีคู่ การแต่งงาน ไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิต การมีงาน เงิน ที่มั่นคงสำคัญกว่า

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ละครหลายๆ เรื่องช่วงนี้ แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าหมดยุคแล้วที่ผู้หญิงจะต้องพึ่งพิงผู้ชาย ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในหลายๆ เรื่องของละครและบทประพันธ์ยุคใหม่ พวกเธอคือผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงทำงาน ผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรักเป็นโฟกัสหลักของชีวิต และเมื่อเธอจะลุกขึ้นมาหาความชุ่มชื่นหัวใจก็เป็นสิทธิ์ของพวกเธอเหมือนกันที่จะรักกับผู้ชายดีๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสนใจกรอบเรื่องอายุ จะรักกับหนุ่มวัยไหนก็ได้ จะเด็กกว่าก็เรื่องของฉันจ้ะ

และที่สำคัญนอกจากจะตอบ Insigth ของกลุ่มเป้าหมายหลักแล้ว ละครที่ทำมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงวัย 30+ ยังเป็นอะไรที่ตอบโจทย์กับการขายโฆษณาเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง การงานและรายได้มั่นคง อะไรที่ดีอะไรที่เธอพอใจ=ซื้อ การขายโฆษณาจึงชัดเจน เข้าเป้า เข้าถึง คุยกับเอเจนซีได้เห็นภาพ

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่เราจะเห็นทิชาทนายสาวบ้างานรักกับทนายหนุ่มเด็กฝึกตั๋ว หรือกะรัต CEO ไดมอน พรอพเพอตี้ จะใจสั่นกับเด็กฝึกงาน หรืออรุณาแม่บ้านฟูลไทม์จะลุกขึ้นมาทำงานรักกับบอสหนุ่มรุ่นน้อง ดีกว่าจมปลักกับความสัมพันธ์ Toxic กับสามี

ทำละครในยุคนี้จะมาตามใจ รีเมกนวนิยายที่ประพันธ์มา 30-40 ปี ดูจะหลงยุคซะแล้ว สุดท้ายยังต้องบอกให้เข้าใจกันอยู่เสมอ จะทำละครหรือคอนเทนต์อะไร ไม่ใช่คนทำอยากทำอะไร แต่ต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า ทำให้ใครดู ใครคือกลุ่มเป้าหมาย แล้วกลุ่มเป้าหมายเขาอยากดูอะไร คำตอบใครทัชใจคนดูก่อนก็วิน!

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2246141
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2246141