12 บุคคลศิลปินแห่งชาติ นพพล โกมารชุน ครูสลาไทยลูกทุ่ง ธรรมนิตย์-โนรา


ให้คะแนน


แชร์

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

28 เม.ย. 2565 04:58 น.

เผยชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติปี 64 ใน 3 สาขา รวม 12 คน มีทั้ง บุคคลในวงการศิลปะ วงการถ่ายภาพ วงการ บันเทิง และนักเขียน อาทิ ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ นันทพร ศานติเกษม นักแสดง คนดัง นพพล โกมารชุน และครูเพลง-สลา คุณวุฒิ ได้รับยกย่องด้วย ขณะที่มีชัย แต้สุจริยา ที่ได้รับคัดเลือก เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) เผยสุดตื้นตันใจและเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ปวารณาตัวขอทำ เพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่ตลอดไป

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 และมีมติเห็นชอบคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2564 ใน 3 สาขารวม 12 คน ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ 1.นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) 2.ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์) 3.ศ.เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) 4.นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า) สาขาวรรณศิลป์ 2 คน ได้แก่ 1.นางนันทพร ศานติเกษม (นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม) 2.นายวิชชา ลุนาชัย (นามปากกา ประชาคม ลุนาชัย) สาขาศิลปะการแสดง 6 คน ได้แก่ 1.ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) 2.นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) 3.นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร) 4.ศ.ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) 5.นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) 6.นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)

นางวรรณี ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ถ่ายภาพ) กล่าวว่า ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในชีวิต ที่พยายามทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาตลอด 40 ปี ที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ ได้ทำงานถวายในหลวง ร.9 ด้วยการถ่ายภาพประกอบการจัดทำหนังสือพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ รางวัลนี้ขอเทิดทูนถวายแด่ในหลวง ร.9 และขอตอบแทนด้วยการเดินหน้าทำประโยชน์เผยแพร่ ความรู้ความสามารถในการถ่ายภาพสู่เด็ก เยาวชน ประชาชน เพื่อสังคมต่อไป

ด้าน ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) กล่าวว่า ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานมาตลอด 40 ปี รางวัลนี้มีคุณค่า และเป็นกำลังใจในการทำงาน ตลอดเวลาที่อยู่ในวงการศิลปะได้ถ่ายทอดการเรียนการสอน นำผลงาน ภาพพิมพ์ไปเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้ กำลังสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จะเน้นเรื่องวิชาการการลำดับศิลปะเพื่อเข้าสู่เวทีโลก พยายามสอนให้เรียนรู้ในศิลปะที่มีคุณค่า บริบทศิลปะ ของโลกและการใช้นวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้งานศิลปะของไทยไปเผยแพร่ในระดับโลกได้อย่างงดงาม

ขณะที่นางนันทพร ศานติเกษม ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า ดีใจที่คณะกรรมการเห็น คุณค่าของผลงาน ได้ทำงานมาตั้งแต่ปี 2522 ลงตีพิมพ์ เรื่องแรกในนิตยสารสกุลไทย ที่สำคัญที่สุดคือผู้อ่านที่ยังสนับสนุนผลงานต่อเนื่อง ทุกผลงานตั้งใจถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ แง่คิดในการดำรงชีวิต การได้ เป็นศิลปินแห่งชาติถือเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป เชื่อว่าแม้มีการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่การอ่านนวนิยายของคนไทยยังได้รับความสนใจ เพียงแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปสู่ระบบออนไลน์ โดยเฉพาะการอ่านนวนิยายที่มียอดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนนายนพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) กล่าวว่า เมื่อทราบว่าได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติรู้สึกคิดถึงแม่ คือป้าจุ๊-นางจุรี โอสิริ มาก เพราะแม่ได้รับ ยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเช่นเดียวกัน นอกจากคิดถึง แม่แล้ว ยังคิดถึงพ่อ ครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางการแสดงให้ จะตั้งใจทำหน้าที่นักแสดง กำกับการแสดงต่อไป ที่จะเพิ่มเข้ามาคือเรื่องการสอน งานแสดงและกำกับการแสดงให้นักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานศิลปะการแสดงให้ยั่งยืนต่อไป สำหรับผลงานที่ประทับใจนั้น ประทับใจทุกเรื่องที่กำกับและ แสดงมา เพราะตั้งใจทำทุกผลงานให้ดีที่สุด โดยมีหลัก ในการทำงานคือ ตั้งใจและรับผิดชอบในงานที่ทำ

นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) กล่าวว่า ซึมซับและเรียนรู้ประสบ การณ์การทอผ้าจากคุณยายและคุณแม่คือ นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ฝึกฝน พัฒนาต่อยอดงานทอผ้ามากว่า 40 ปี การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติรู้สึกตื้นตัน เป็นเกียรติสูงสุด บ้านคำปุนเป็นโรงงานทอผ้าและเปิดบ้าน ถ่ายทอดความรู้การทอผ้ากาบบัว สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนใน จ.อุบลราชธานีและทั่วภาคอีสาน เป็นความสุขที่ได้ทำงานกับชุมชน สุขที่ได้แบ่งปันความรู้งานผ้า รักษาอาชีพ รักษาผ้ากาบบัวไม่ให้สูญหาย บ้านคำปุนยังเป็นโรงงานผ้าที่ได้รับใช้สมเด็จ พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 ผ่านการทำเสื้อผ้าให้ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเรื่องสุริโยไท ได้รับใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา การได้มีโอกาส ถวายงานเป็นความปีติในชีวิต ตั้งมั่นจะทำเพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาทอผ้าให้คงอยู่ตลอดไป

อ่านเพิ่มเติม…

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2379030
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2379030