We Married as a Job : เมื่อการเป็น ‘สามี-ภรรยา’ ของเรา …มีค่าเท่ากับ ‘งานประจำ’


ให้คะแนน


แชร์

ดังนั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานด้วยการแต่งงาน!

สิ่งที่พวกเขาทำคือทำการแต่งงานแบบสัญญาจ้าง คิดคำนวณอย่างมีเหตุผล เพราะหน้าที่ของสามี-ภรรยาที่ตัดเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ออกไปนั้น ก็ไม่ต่างจากการทำงานบริษัทที่ฮิรามาสะเป็นนายจ้างและมิคุริเป็นลูกจ้าง มีวันจ่ายเงินเดือน มีวันหยุด ข้อกำหนดคือถ้าชอบคนอื่น สัญญาจ้างก็เป็นอันยุติ หลังจากนั้น มันก็เป็นไปตามเรื่องตามราว ทั้งคู่เริ่มชอบกันเอง

แต่นี่ไม่ใช่ละครแบบเดียวกับละครหลังข่าวของไทยที่ตัวพระเอกจ้างนางเอกมาเป็นเมียปลอมๆ แล้วตกหลุมรักกัน อาจมีเรื่องการปล้ำและการมีลูกเข้ามาเสริมให้คนทั้งคู่จำต้องรักกัน แต่สุดท้ายก็ลงเอยอย่างสุขสมหากซีรีส์ยึดมั่นกับข้อถกเถียงของตัวเองว่า การแต่งงานเป็นเรื่องไม่จำเป็น มันเป็นเพียง ‘เรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์’ คือคนสองคนอยู่ด้วยกันแล้วจะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า การเป็นเมียเป็นงานที่ควรได้เงินเดือน และเป็นงานที่เป็นอาชีพ ไม่ใช่ทำด้วยใจรักในสามี – การแต่งงานโดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ทางกายและใจมันคือธุรกิจดีๆ นี่เอง

นี่คือซีรีส์ที่ดังที่สุดในญี่ปุ่นในปี 2016 ว่ากันว่าในวันที่ตอนจบออกฉายทางโทรทัศน์ ผู้คนถึงกับรีบพากันกลับบ้านไปดู อาจเพราะความน่ารักของ ยูอิ อาราคากิ ที่รับบทเป็นมิคุริ เพราะเรื่องราวที่อบอุ่นหัวใจ หรือแม้แต่เพราะเพลงประกอบตอน End Credit และท่าเต้นที่น่ารักจนฮิตเต้นตามกันทั้งญี่ปุ่น หากปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนสำคัญของหนังคือ การสำรวจข้อถกเถียงของมันเกี่ยวกับคุณค่าดั้งเดิมที่สังคมยึดถืออย่างเช่น ‘การแต่งงาน’

ในแต่ละตอนของซีรีส์ ข้อถกเถียงของมันจึงถูกขยายออกไปเรื่อยๆ เช่น การไปฮันนีมูน (จำเป็น) ที่เป็นเสมือนการไปทริปท่องเที่ยวประจำปีกับบริษัท; การตั้งคำถามว่าหน้าที่เมียนั้นสามารถแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้ไหม เพราะถ้าหุ่นยนต์มาทำงานบ้านแทน การแต่งงานก็ยิ่งไม่จำเป็นใหญ่; การเสนอไอเดียว่าเวลาที่ดีที่สุดที่จะมีลูกคือ ‘วัยมัธยม’ เพราะเราสามารถเอาลูกไปฝากเดย์แคร์ในโรงเรียนและให้นมตอนพักกลางวันได้ ซ้ำพ่อแม่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะได้มีพ่อแม่ของพ่อแม่ช่วยเลี้ยง; ข้อถกเถียงว่าหุ่นยนต์กอดได้ไหม ถ้ากอดได้ การกอดกับมนุษย์จะลดความสำคัญลงไปหรือเปล่า; หรือการที่เราเป็นคนที่รักงานมากๆ จะทำให้เราสูญเสียชีวิตไปไหม แล้วชีวิตมันจำเป็นแค่ไหนกัน

ซีรีส์ยังมีซับพล็อตเรื่องสาวห้าสิบที่ขึ้นคานกับหนุ่มรุ่นน้อง หรือเกย์แก่ที่มีปัญหากับการเปิดเผยตัว โดยอาจเชิดชู Status Quo หรือ ‘สถานภาพ’ เดิมๆ เช่น ครอบครัว การเกื้อกูลกัน แต่มันก็มีข้อถกเถียงที่ท้าทายและแทงใจคนรุ่นใหม่ (อย่างน้อยก็ในญี่ปุ่น) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ‘เซ็กซ์’ คือแกนกลางของปัญหาทั้งหมด ทั้งในแง่ของการถูกควบคุมโดยสังคมและตัวเอง เพราะถ้าเราสามารถแก้ไขด้วยการไม่มีเซ็กซ์ หรือไม่แคร์การมีเซ็กซ์ ปัญหาก็จะลดทอนลงไปมาก (แต่แน่นอนว่าหนังไม่ได้แตะปัญหาเชิงอารมณ์ เช่น การหึงหวง การเป็นเจ้าของอะไรมากนัก ราวกับว่าเรื่องราวแบบนั้นก็เป็นอารมณ์ที่ฟุ่มเฟือยของมนุษย์งาน)

We Married as a Job (2016) We Married as a Job (2016)

การที่ปัญหาของคนคู่นี้คือเรื่องความรักและเซ็กซ์ เพราะนี่คือเรื่องของคนรุ่นที่มองความรักและเซ็กซ์ในฐานะสิ่งฟุ่มเฟือย คนเรียบๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะมีคนมารักหรือจะรักใคร ใช้ชีวิตเรียบๆ ของตนไป ความต้องการทางเพศเป็นเพียงส่วนเกินที่ไม่จำเป็น (จนเกือบจะมองได้ว่านี่คือเรื่องของคนไร้แรงปรารถนาทางเพศ – Asexual) ปัญหาของตัวละครจึงเป็นเรื่องของการไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กันหรือรับมือกับความรักได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรักและเซ็กซ์เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือสัญญาธุรกิจของการใช้ชีวิตคู่ มันทำให้ชีวิตที่สุขสบายสูญเสียระเบียบที่เคยเป็น มันท้าทายกิจการของพวกเขาเพราะรักต้องการการเอาใจใส่และการยอมทำเพื่อคนรักซึ่งไม่แฟร์ในเชิงธุรกิจ และจะส่งผลสั่นคลอนต่อการดำเนินการในระดับที่ต้องปรับโครงสร้างจากนายจ้าง-ลูกจ้างเป็นการร่วมทุน เป็น CEO ร่วม

และเราอาจบอกได้ว่า ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ผัวเมียไม่มีทางเป็นธุรกิจไปได้ …แต่เดี๋ยวก่อน

“ในขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมนั้น ระบบทุนนิยมได้สถาปนาระบบกรรมสิทธิ์แบบเอกชน (Private Property) ขึ้นมาโดยทำลายโครงสร้างการถือครองที่ดินในระบบศักดินา พร้อมๆ กับทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชน (Community Land Property) ให้แหลกลาญลงไป เพื่อเปลี่ยนปัจจัยการผลิตทั้งหมดให้กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวให้ได้ (Privatization)”

“ผลก็คือชนชั้นไพร่สูญเสียหลังพิงสำคัญที่เคยเป็นทรัพยากรของการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน นั่นคือ ชุมชน การผลิตซ้ำกำลังแรงงานในชุมชนถูกทำลายล้างลงไป พร้อมๆ กับการผลักภาระการผลิตซ้ำให้อยู่กับระบบครอบครัวขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ที่ผู้หญิงเป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมดในบ้าน ส่วนผู้ชายก็ออกไปทำงานนอกบ้าน และผู้หญิงต้องพึ่งพาค่าแรงที่ผู้ชายหามาได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ผู้หญิงต้องตอบแทนคือการตอบสนองความพึงพอใจของผู้ชายอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ต่างจากทาส” *

จากแนวคิดข้างต้น นักสตรีนิยมสายหนึ่งได้หยิบเอาวิธีของ มาร์กซ์ ในการมองทุนนิยมกลับมาอธิบายถึงการกดขี่ผู้หญิงในระบบแรงงานที่นอกจากจะมีเรื่องการกดขี่ทางชนชั้น ก็ยังมีการกดขี่อีกชั้นหนึ่งของระบบเพศที่พ่วงมาพร้อมกับการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศชายและเพศหญิง (ในสังคมรักต่างเพศ/ครอบครัวเดี่ยว/อนุรักษนิยมที่เป็นมาตรฐานของชีวิตที่ดีในสมัยใหม่) ซึ่งผลักให้ผู้ชายไปเป็นแรงงานแบบมีค่าจ้าง และผลักผู้หญิงเข้าสู่ครัวและบ้านเป็นแรงงานที่ไม่มีค่าจ้าง หนำซ้ำยังถูกกดขี่ด้วยการทำให้เป็นการงานของความรัก เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยปริยาย

“งานบ้านจึงเป็นกลไกและเทคนิคในการใช้อำนาจของทุนในการปกครองผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงในชนชั้นกรรมาชีพ จุดเริ่มต้นของการปลดแอกผู้หญิงจึงต้องเริ่มจากการปฏิเสธงานบ้านซึ่งเท่ากับปฏิเสธความเป็นผู้หญิงที่ทุนนิยมมอบให้” *

มันจึงน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อเราเอาโครงสร้างของบริษัทมาจับความสัมพันธ์นั้น เพราะมันจะเป็นลักษณะแบบ ‘กลับหัวกลับหาง’ ของบริษัทที่อยากให้ลูกจ้างรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน แต่นี่คือการเปลี่ยนบ้านให้เป็นบริษัท มันคือการเรียกร้องค่าจ้างสำหรับงานบ้านแบบขบวนการสตรีนิยมสาย Wages for Housework ซึ่งสำหรับมิคุริ เธอเชื่อว่า การที่เธอทำงานบ้านได้ดี ไม่ใช่การเป็นแม่บ้านที่ดี แต่คือความภูมิใจของลูกจ้างที่งานออกมามีประสิทธิภาพตามนายจ้างต้องการ การเติมเต็มของเธอจึงไม่ใช่การถูกรักในตอนแรก แต่คือการเป็นลูกจ้างที่ดีสำหรับนายจ้าง สิ่งนี้ขับเคลื่อนเธอมากกว่าอย่างอื่น มันเป็นโลกของคนที่ ‘งาน’ แทรกเข้าไปในชีวิต ไม่ใช่ชีวิตแทรกในงาน

อันที่จริงมันทำให้นึกถึงขนบแบบที่ซีรีส์ญี่ปุ่นชอบทำและคนญี่ปุ่นชอบดู นั่นคือ ‘ซีรีส์สายอาชีพ’ ที่เชิดชูความละเอียดลออ ความประณีต และความทุ่มเทของอาชีพ ตั้งแต่หมอ ทนาย ไปจนถึงแม่ครัวหรือชาวประมง มองทุกอย่างเป็นงาน ทำให้งานมีคุณค่า หากในคราวนี้คืออาชีพการเป็นเมีย เป็นแม่บ้าน การให้คุณค่ากับ ‘แรงงานแม่บ้าน’ อันเป็นงานที่ไม่ถูกนับให้เป็นงาน

ยิ่งมาถึงในช่วงท้ายๆ เมื่อทุกสิ่งเร่ิมลงตัวแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็กลับไม่ลงตัวในทันที เพราะการเปลี่ยนจากงานว่าด้วยการแต่งงานมาเป็นการแต่งงานจริงๆ นั้น ทำให้ชีวิตถูกแยกออกจากงานอีกครั้ง และการต้องใช้ชีวิตร่วมกันก็ทำให้อาชีพ ‘เมีย’ ไม่ใช่อาชีพอีกต่อไป แต่เป็นการกดขี่แรงงานจากผัว เพราะเมียไม่ได้เงินเดือนหรือวันหยุด แต่ทำเพราะต้องทำ มันจึงเป็นการขูดรีดแรงงานด้วยความรัก นั่นทำให้ ความรักหรือชีวิตครอบครัว (แบบญี่ปุ่น) นั้นยืนอยู่บนความเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบผู้หญิงในฐานะเมียที่ต้องอยู่บ้าน

ยิ่งเมื่อมิคุริตัดสินใจออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้เธอยิ่งเข้าใจไอเดียของการถูกขูดรีดแรงงานนี้ เพราะแม้ต้องทำงานนอกบ้าน ก็ยังต้องทำงานบ้านอยู่ดี และการที่ฮิรามาสะทำงานบ้านส่วนของตัวเองไม่เรียบร้อยพอ ในขณะที่มิคุริก็ทำงานบ้านได้น้อยลงเพราะนี่เป็นบ้านไม่ใช่ที่ทำงานอีกต่อไป ก็ยิ่งทำให้เห็นว่ามิคุริในฐานะเมียต้องทำงานทั้งสองทาง โดยหนังยังทำให้ข้อถกเถียงเข้มข้นขึ้นไปอีกด้วยการบอกว่า ถ้านี่เป็นงานบ้านของครอบครัว แปลว่าเธอจะทำหรือไม่ทำตอนไหนก็ได้ เธอสามารถกวาดบ้านไม่สะอาด เพราะเธอกวาดเหมือนบ้านที่เธออยู่ หรือถ้านึกจะไม่ทำกับข้าวก็จะไม่ทำ เพราะนี่ไม่ใช่ ‘งาน’ อีกต่อไป ก่อนที่ทั้งคู่จะค่อยๆ หาจุดลงตัวร่วมกัน และสัญญาจะสร้างครอบครัวแบบใหม่ไปด้วยกัน

แต่เราก็ไม่อาจบอกได้ว่า We Married as a Job คือการมองโลกของครอบครัวเดี่ยวผ่านสายตาของมาร์กซิสต์ที่จะปลดปล่อยหญิง-ชายออกจากทุนนิยม เพราะบางทีมันอาจตรงกันข้ามก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราหันกลับมาพิจารณาภาคต่อของมันที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อต้นปีนี้

We Married as a Job: New Year’s Special (2021) We Married as a Job: New Year’s Special (2021)

ในหนัง We Married as a Job: New Year’s Special ที่เล่าเรื่องต่อจากเรื่องเดิม มิคุริกลับไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทหลังจากได้ทดลองทำงานอิสระพักหนึ่ง ฮิรามาสะออกจากบริษัทเดิมมาทำงานที่ใหม่ แต่ยังคงพบปะเพื่อนๆ กลุ่มเดิมเสมอ น้าสาวของมิคุริที่เป็นหญิงแกร่ง-สาวโสดวัยห้าสิบ-เพิ่งตรวจเจอโรคร้ายและต้องเข้ารับการรักษา ค้นพบความเจ็บปวดโดดเดี่ยวของการแก่เฒ่าลงเพียงลำพัง และมิคุริพบว่าเธอกำลังตั้งท้อง

คู่สามี-ภรรยาที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่คนมาก่อนยังคงยึดมั่นในการจัดการอย่างเป็นระบบผ่านการแบ่งงานกันทำ ช่วงที่มิคุริแพ้ท้องหนัก ภาระทั้งหมดตกอยู่กับฮิรามาสะที่เขาเองก็กำลังวุ่นกับการทำโปรเจกต์ใหม่ของบริษัท ต้องคอยทำงานบ้าน ดูแลภรรยาที่ฉุนเฉียว และเตรียมพร้อมจะเป็นพ่อคน เป็นพ่อแบบใหม่ที่จะไม่เลี้ยงลูกแบบผู้ชายที่ต้องทำตัวห่างเหิน แต่จะใกล้ชิดกับลูกแทน ซึ่งหลังจากผ่านสิ่งต่างๆ กันมาจนคลอด ผัวเมียก็ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการระบาดของ COVID-19 แต่ฮิรามาสะก็ทิ้งงานที่บริษัทไปไม่ได้แม้จะลาล่วงหน้าแล้วก็ตาม เขาจึงตัดสินใจส่งภรรยาและลูกไปอยู่บ้านพ่อแม่ของมิคุริเพราะมันปลอดภัยกว่า ขณะที่เขาต้องอยู่โตเกียวเพียงลำพัง

อย่างที่พูดกันว่า คนเราพอมีครอบครัวก็จะมีความอนุรักษนิยมมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยปริยาย ซึ่งเราอาจบอกได้ว่า ในที่สุด มันได้กลายเป็นซีรีส์ว่าด้วยคู่มือการเป็น ‘อนุรักษนิยมร่วมสมัย’ และการหาทางปรับตัวในสังคมทุนนิยมแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะแม้มันจะเริ่มต้นด้วยคำถามแบบฝ่ายซ้าย ก็ไม่ได้หมายความว่านี่จะเป็นหนังการเมืองเรื่องครอบครัวเพื่อปลดปล่อยหญิง-ชายจากทุนนิยมอะไรแบบนั้น

มิคุริกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน งานของเธอคล้ายๆ กับเสมียนจัดการเอกสาร เธอ (หรืออาจจะคนเขียนบท) หลงลืมเรื่องสำคัญที่ว่างานที่เธอรักคืองานบ้าน เธอกลายเป็นแรงงานแบบเดียวกับสามีของเธอ เสียชีวิตแบบที่ชอบเพื่อประคับประคองความเป็นครอบครัว เธอไม่ได้เป็นตัวเองเหมือนอย่างที่เคยพยายามพูดถึงในช่วงต้นของซีรีส์อีกต่อไป ราวกับว่าข้อกำหนดใดๆ ที่ตัวละครสร้างขึ้นเพื่อท้าทายแนวคิดครอบครัวเดี่ยวในโลกทุนด้วยการมองแบบมาร์กซิสต์ไม่เป็นไปเพื่อปลดปล่อย แต่เป็นไปเพื่อต่อรอง ยอมรับ และกลับเข้าสู่ชีวิตทุนนิยมแบบเดิมที่เคยปฏิเสธ – มีหัวใจขึ้น – เราอาจกล่าวได้อย่างนั้น

แต่นั่นแปลว่าเธอต้องทำงานทั้งนอกและในบ้าน โฟกัสของหนังในช่วงนี้คือการสร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับข้อกำหนดการลาคลอด ที่บริษัทบีบบังคับในทางปฏิบัติ (ไม่ใช่กฎหมาย) ให้ลาคลอดในเวลาที่จำกัด และไม่ยอมรับ (ในเชิงพฤตินัย) ในเรื่องที่ผู้ชายจะใช้สิทธิ์ลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก การต่อรองของมิคุริและฮิรามาสะด้วยการยืนยันสิทธิ์แบบรัฐสวัสดิการที่ขัดแย้งกับความคลั่งการทำงานแบบญี่ปุ่น อาจจะเป็นข้อถกเถียงเดียวของหนังที่มีท่าทีแบบที่ฝ่ายซ้ายต้องการให้รัฐ (องค์กร) จัดหาสวัสดิการให้เพื่อลดทอนการที่ตลาดเสรี โดยเหวี่ยงเรื่องนี้ให้เป็นปัญหาในครอบครัวแทน

ขณะเดียวกัน หนังก็ให้ภาพความกดดันของทั้งคนท้องและคนที่ต้องดูแลคนท้อง อาจจะบอกว่าเป็นโชคดีที่สองคนไม่มีปัญหาในเรื่องของการยกเลิกการแบ่งงานกันทำ ทั้งคู่เลือกแก้ไขด้วยการทำงานบ้านร่วมกัน และคอยดูแลกันและกัน ทำให้ชีวิตครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่น …ราบรื่นเพราะทั้งสองคนถูกอุ้มชูอยู่ในระบบทุน ปราศจากปัญหาทางการเงิน ชนชั้น หรือเรื่องรักๆ ใคร่ๆ

คำถามหลักที่แท้ของหนังจึงไม่ใช่ว่า เราจะปลดแอกออกจากชีวิตครอบครัวแบบทุนนิยมที่กักขังทั้งหญิง-ชายไว้ได้อย่างไร แต่คือเราจะเป็นทุนนิยม/อนุรักษนิยมที่ ‘อัปเดต’ ได้อย่างไรต่างหาก

จริงๆ นี่อาจเป็นคำถามที่เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สุขสบายอยู่ในระบอบนี้ รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง แต่ไม่อาจรื้อทำลายทั้งระบบลงไป เพราะชีวิตที่ได้ดีขึ้นมาจากโชคช่วยครึ่งหนึ่ง และจากการอุปถัมภ์ของระบบทุนครึ่งหนึ่ง ก็จะพังพินาศลงไปด้วย จากครอบครัวแบบพันธสัญญาเพื่อต่อต้านกับระบบคิดครอบครัวแบบเดิม ภาคนี้เราจึงเห็น การเข้าพิธีทางศาสนาเพื่อรับขวัญลูก การจดทะเบียนสมรสเพื่อลดปัญหาการจัดการทรัพย์สิน เสรีพอจะให้ภรรยาเลือกนามสกุลเอง แต่ภรรยายังคงเป็นภรรยาวันยังค่ำ

ในทางหนึ่ง มันน่าสนุกที่เราจะนึกเปรียบเทียบโครงเรื่องเดียวกันนี้เข้ากับละครไทยที่นางเอกที่เป็น ‘เมียจำเป็น’ มักมาจากต่างชนชั้น ใช้ความดีซื้อใจพระเอกที่เป็นคนชนชั้นสูงกว่า อาจจะมีอดีตปิดบังว่าเป็นเลือดผู้ดีเช่นเดียวกัน หรืออาจจะได้ข้ามชนชั้นขึ้นมาจริงๆ ซึ่งถ้าพวกเขาหมางใจกัน เช็กซ์ หรือการข่มขืนจะเป็น ‘ยาวิเศษ’ ที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านการมีลูก ดังนั้น ในขณะที่ละครญี่ปุ่นหมกมุ่นกับการเป็นอนุรักษนิยมสร้างครอบครัวและทุนนิยมในการจัดการปัจจัยการผลิต ละครไทยก็กลับยังคงสนุกอยู่กับประเด็นทางชนชั้นและกฎแห่งกรรมอันแสนทื่อซื่อตรง

อย่างไรก็ดี หนังก็พาเราไปพบสิ่งใหม่จริงๆ จนได้ หากการเปลี่ยนผ่านในภาคแรกของเรื่องคือการพยายามรื้อทำลายมายาคติของการแต่งงานแบบเดิมลง การเปลี่ยนผ่านของภาคนี้คือการต้องเผชิญกับโรคระบาด และการสร้างครอบครัวใหม่ที่อาจสัมผัสจับต้องกันไม่ได้ ตรงนี้เอง เราจึงเห็นโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของรัฐเวชกรรมที่ตัวละครทำตามข้อกำหนดทุกประการของรัฐ โดยมีเหตุผลทางสาธารณสุขมากำกับควบคุม (นอกเหนือไปจากทุนนิยม) จนถึงขนาดแยกบ้านกันอยู่ และเมื่อติดต่อกันไม่ได้ ก็ถึงขนาดจัดหาอุปกรณ์ให้เดินทางไกลมาส่งโดยไม่ยอมพบหน้ากัน

กลายเป็นว่าถึงที่สุด มิคุริและฮิรามาสะที่เคยเป็นพวกหัวแข็งต่อต้านการเป็นอยู่ของสังคมแบบเดิม ได้กลายเป็นเด็กดีของรัฐ ทั้งการมีลูกไว้เป็นแรงงานรุ่นหน้า ไปจนถึงการยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดกักกันโรคของรัฐ และถึงที่สุด ชาย-หญิงแปลกประหลาดในตอนเริ่มคู่นี้ ได้กลายเป็นครอบครัวตัวอย่างที่เอามาใช้เป็นสื่อการสอนผู้คนให้ยอมทำตามอำนาจ แล้วทุกอย่างจะดีเอง เราจะผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายนี้และได้พบกันอีกครั้ง …กล่าวถึงที่สุด พวกเขาอาจเริ่มต้นจากการทำการแต่งงานให้เป็นงาน แต่พวกเขาลงเอยในฐานะพลเมืองที่ การแต่งงานคืองานที่สำคัญ และเป็นหน้าที่พลเมืองที่สำคัญที่สุด

ไม่ใช่เรื่องผิดที่มันจะเป็นแบบนั้น หนังภาคพิเศษนี้ถูกออกแบบมาเป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้ชาวญี่ปุ่น ซึ่งสานต่อจากความป๊อปปูลาร์ในตัวมันเอง และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐญี่ปุ่นในการให้กำลังใจ โอบอุ้ม แต่ขณะเดียวกัน ก็เทศนาสั่งสอนและขู่ให้กลัวอย่างประสบความสำเร็จยิ่ง และนี่อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเสียยิ่งกว่ากฎหมายในการควบคุมผู้คน แม้ว่าเฟมินิสต์ผู้เรียกร้องค่าแรงจากงานบ้านหรือการปฏิเสธงานเพื่อปลดปล่อยผู้หญิง อาจได้แต่ส่ายหัวอยู่ที่ไหนสักแห่งก็ตาม

* บางส่วนของบท จาก ‘มดลูกก็เป็นปัจจัยการผลิต’ ถึงกำเนิดภาคบริการในระบบทุนนิยม : การผลิตซ้ำ งานบ้าน และผู้หญิงในทฤษฎีมาร์กซิสต์ออโตโนเมีย จากหนังสือ Autonomia : ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

(We Married as a Job | ซีรีส์/หนัง | ญี่ปุ่น | 2016/2021 | กำกับ : ฟูมิโนริ คาเนโกะ)

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073046
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2073046