Baeksang Art Awards หรือ ‘แพ็กซัง’ รางวัลบันเทิงที่ ‘น่าลุ้น’ ที่สุดของเกาหลีใต้


ให้คะแนน


แชร์
Vincenzo Vincenzo

ข่าวแนะนำ

หากพูดถึงงานประกาศรางวัลสำหรับคนในวงการโทรทัศน์ หลายคนคงนึกถึง Emmy Awards ของสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ราวกับ ‘ออสการ์สายทีวี’ ส่วนทางฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นมีรางวัลสายทีวีที่น่าเลื่อมใสอย่าง Elan d’or Awards และจีนก็มีรางวัลสายทีวีที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลอย่าง China TV Flying Apsaras ขณะที่ในไทย เราคงนึกไปถึงรางวัลอย่าง ‘โทรทัศน์ทองคำ’ และ ‘นาฏราช’

ในฟากฝั่งเกาหลีใต้ คนที่ติดตามวงการบันเทิง ทั้งแฟชั่น, เพลง, หนัง และซีรีส์มานาน อาจยังไม่รู้ว่า Baeksang Art Awards หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘แพ็กซัง’ คืองานประกาศรางวัลของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด โดยจัดกันมาตั้งแต่ปี 1965 เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การมอบรางวัลนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสาย ‘ภาพยนตร์’ และ ‘โทรทัศน์’ (ที่รวมทั้งซีรีส์และวาไรตี้โชว์) ซึ่งหากว่ากันด้วยเวทีรางวัลสัญชาติเกาหลีในสายภาพยนตร์ ก็ยังมีเวทีเฉพาะทางที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอย่าง Grand Bell Awards และ Blue Dragon Film Awards ซึ่งมีการแบ่งสาขาครอบคลุมทุกส่วนการทำงานที่ใกล้เคียงกับรางวัลออสการ์ จึงทำให้สายภาพยนตร์ในแพ็กซังอาจไม่เป็นที่น่าสนใจมากเท่ากับสาย ‘โทรทัศน์’

สำหรับรางวัลในสายโทรทัศน์จะเป็นการคัดเลือก ‘ผู้เข้าชิง’ ที่มีผลงานในรอบปฏิทินแพ็กซังจากทุกช่อง ทั้งฟรีทีวี (อาทิ MBC, SBS, KBS) และเคเบิลทีวี (อาทิ tvN, JTBC, OCN, MBN, Channel A, TV Chosun) รวมถึงปีที่ผ่านมาก็ยังเปิดโอกาสให้สตรีมมิง เซอร์วิสอย่าง Netflix เข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกด้วย โดยรางวัลที่มอบกันในแต่ละปีจะมีจำนวนที่ไม่แน่นอน และวนเวียนอยู่ระหว่าง 15-22 รางวัล เนื่องจากมีการเพิ่มหรือลดสาขาอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น รางวัล ‘ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ ที่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 10 ปีก่อน, รางวัล ‘เพลงประกอบยอดเยี่ยม’ ที่มีเพียงครั้งเดียว และถูกยกเลิกไปในแพ็กซังครั้งที่ 50, รางวัล ‘นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม’ ที่เพิ่งมอบกันมาแค่ 3 ปี เช่นเดียวกับรางวัลด้านเทคนิค ส่วนรางวัลที่ยังคงไว้เสมอมาก็เช่น ‘ซีรีส์ยอดเยี่ยม’, ‘บทยอดเยี่ยม’, ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’, ‘นักแสดงนำชาย/หญิงยอดเยี่ยม’ และ ‘นักแสดงหน้าใหม่ชาย/หญิงยอดเยี่ยม’

โดยมีรางวัลสูงสุดคือ แดซัง (Daesang หรือก็คือ Grand Prize) ที่จะถูกมอบเป็นลำดับสุดท้ายของงาน

สำหรับรางวัลแดซังของแพ็กซังจะมีเกณฑ์ในการเลือกผู้ชนะที่พิเศษกว่าหลายๆ เวที ทั้ง Seoul International Drama Awards ที่มอบให้เฉพาะตัวซีรีส์, APAN Star Awards ที่มอบให้เฉพาะนักแสดง หรือรางวัลประจำปีของช่อง SBS, KBS และ MBC ที่จะมอบให้เฉพาะนักแสดงเช่นกัน แต่รางวัลนี้ของแพ็กซังจะให้สิทธิ์ครอบคลุม ‘ทุกภาคส่วน’ ในสายงานโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์, นักแสดง, ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท, โปรดิวเซอร์ หรือทีมงานเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ที่ไม่ว่าจะมาจากฝั่งซีรีส์ หรือวาไรตี้ ทุกคนต่างก็มีโอกาสได้รับรางวัลนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

Descendants of the Sun Descendants of the Sun

ในอดีต มีซีรีส์ที่เคยพิชิตรางวัลนี้ไป ได้แก่ Deep Rooted Tree (SBS/2011), Descendants of the Sun (KBS/2016) และ Stranger (tvN/2017) ที่ไม่เพียงได้รับการยอมรับแค่ในประเทศเท่านั้น แต่บางเรื่องยังโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่แพ็กซังครั้งที่ 57 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดนี้ ก็มีผลงานระดับปรากฏการณ์อย่าง It’s Okay to Not Be Okay (tvN/2020) ซีรีส์ที่ใช้เอกลักษณ์ของความโรแมนติก/ดราม่าสไตล์เกาหลี ผนวกเข้ากับแง่มุมด้านจิตเวช เจาะลึกตัวตนของผู้ป่วยแต่ละประเภท พร้อมงานเทคนิคและโปรดักชั่นชั้นเลิศ จนไปเตะตานักวิจารณ์ของ The New York Times และถูกจับเข้าทำเนียบซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งปี

นับเป็นครั้งที่ 2 ของซีรีส์เกาหลีที่ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์นี้ ถัดจาก Stranger ในปี 2017 อีกทั้งยังเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องที่ 2 ต่อจาก Crash Landing on You (tvN/2019) ที่สามารถติดอันดับใน 250 ซีรีส์ยอดเยี่ยมบนเว็บ IMDb ได้ (ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 183) และในปีที่ผ่านมาก็ยังถูกบันทึกว่าเป็นซีรีส์เกาหลีที่มีผู้ชมทั่วโลกรับชมผ่าน Netflix มากที่สุดด้วย ซึ่งก็คงต้องมาดูกันว่าการส่งต่อทางวัฒนธรรมครั้งนี้ จะยิ่งใหญ่พอที่จะคว้ารางวัลสูงสุดของแพ็กซังไปหรือไม่

ขณะที่ ซีรีส์ยอดเยี่ยม (Best Drama) อันเป็นรางวัลที่ใหญ่รองลงมาจากแดซังนั้น จะมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าชิงทั้ง 5 เรื่อง จากผลงานที่ถูกเผยแพร่ในรอบปฏิทินแพ็กซังเช่นกัน (ซึ่งจะตัดรายชื่อผู้เข้าชิงในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี) โดยเกณฑ์การคัดเลือกจะแตกต่างไปในแต่ละยุค อย่างเช่น ช่วงศตวรรษที่ 20 จะแข่งกันเฉพาะ 3 ช่องฟรีทีวียักษ์ใหญ่ KBS, MBC และ SBS จนกระทั่งในแพ็กซังครั้งที่ 49 ที่มีผลงานจากช่องเคเบิล How Long I’ve Kissed (JTBC/2012) หลุดเข้ามาชิงเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น แพ็กซังจึงกลายมาเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างสำหรับผลงานทั้งในฟรีทีวีและเคเบิลทีวี เพียงแต่ยังมีความพยายามในการจำกัดโควตาให้เข้าชิงสาขานี้ได้ไม่เกินช่องละ 2 เรื่อง

จนมาถึงแพ็กซังครั้งที่ 56 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Kingdom 2 ผลงานจาก Netflix ติดโผเข้าชิงด้วยเป็นครั้งแรก รวมถึงปีล่าสุด แพ็กซังครั้งที่ 57 ที่ช่องเคเบิล tvN ได้สร้างสถิติใหม่ โดยเป็นครั้งแรกที่มีผลงานจากช่องเคเบิลเดียวกันติดโผเข้าชิงถึง 3 เรื่อง ซึ่งหากนับรวมฟรีทีวี ก็คงต้องย้อนกลับไปอย่างน้อย 16 ปี ที่มีผลงานจากช่องเดียวกันสามารถเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมได้ถึง 3 เรื่อง

Stranger Stranger

ส่วนเกณฑ์ชี้วัดหรือแนวทางการคัดเลือกว่าซีรีส์เรื่องไหนจะได้เข้าชิงนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ คุณภาพ, เนื้อหา, เรตติ้ง โดยเฉพาะช่วงจังหวะการปล่อยผลงาน ที่สะท้อนเป็นนัยออกมาผ่านข้อมูลเชิงสถิติ ว่าการตัดรายชื่อผู้เข้าชิงในช่วงเดือนเมษายนนั้น มักทำให้กลุ่มซีรีส์ที่ออนแอร์ช่วงมกราคมถึงเมษายนมีความได้เปรียบพอสมควร เพราะกรรมการจะรู้สึกถึงความสดใหม่และอินมากกว่าเรื่องที่ดูจบไปนานแล้ว คล้ายกับที่บรรดา ‘หนังอยากชิงออสการ์’ ที่มีเนื้อหาและบริบทที่กรรมการชื่นชอบทั้งหลาย มักจงใจเข้าฉายในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม เพื่อให้เป็นที่เพ่งเล็งและผ่านคุณสมบัติการเข้าชิงออสการ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งในแพ็กซัง 5 ปีหลังมานี้ มีซีรีส์ที่ออนแอร์ในช่วงเวลาดังกล่าวและผ่านเข้าชิงได้ถึง 16 เรื่อง หรือคิดเป็น 64% ที่สำคัญมีถึง 3 เรื่อง ที่เข้าป้ายผู้ชนะซีรีส์ยอดเยี่ยมในช่วง 5 ปีหลังสุด ได้แก่ Signal (tvN/2016), Mother (tvN/2018) และ Hot Stove League (SBS/2019)

เรตติ้งโทรทัศน์ หรือ ‘ตัวบ่งชี้ความนิยม’ ของผู้ชมในเกาหลี ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ซีรีส์เข้าชิงสาขานี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเด่นชัดเกิดในแพ็กซังครั้งที่ 54 ที่โดยปกติผลงานที่ได้เข้าชิงควบคู่ทั้งสาขาบทและกำกับ แทบจะการันตีการเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม ยกเว้นกรณีของซีรีส์อย่าง Prison Playbook (tvN/2017) ที่ทำเรตติ้งสูงสุด 11.19% และเฉลี่ยอยู่ที่ 7.56% กับ The Lady in Dignity (JTBC/2017) ที่ทำเรตติ้งสูงสุด 12.06% และเฉลี่ยที่ 6.59% ซึ่งการทำเรตติ้งด้วยเลข 2 หลักถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากสำหรับช่องเคเบิล

ทั้งคู่ต่างเข้าชิงสาขาบทและกำกับ แต่กลับพลาดโควตาสุดท้ายในสาขาซีรีส์ยอดเยี่ยมให้กับ My Golden Life (KBS/2017) ผลงานทางฟรีทีวีที่โกยเรตติ้งถล่มทลายประจำปี ทำเรตติ้งสูงสุดที่ 45.1% และเฉลี่ย 34.8% ซึ่งแม้จะพลาดการเข้าชิงทั้งบทและกำกับ แต่ความเป็นซีรีส์ขวัญใจมหาชน พร้อมพลังขับเคลื่อนของทีมนักแสดงนำ ก็เพียงพอที่จะส่งให้เรื่องนี้เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ เช่นเดียวกับในแพ็กซังครั้งที่ 53 ระหว่างคู่ของ Another Miss Oh (tvN/2016) และ Love in the Moonlight (KBS/2016) ที่ก็มีบริบทที่คล้ายคลึงกัน

My Mister My Mister Extracurricular Extracurricular

ส่วนแพ็กซังครั้งที่ 57 นี้มาพร้อมการประกาศศักดาของช่องเคเบิล เมื่อ tvN กลายเป็นเคเบิลช่องแรกที่ติดโผเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมในปีเดียวกันถึง 3 เรื่อง ได้แก่ It’s Okay to Not Be Okay (tvN/2020), Flower of Evil (tvN/2020) และ My Unfamiliar Family (tvN/2020) อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่ไม่มีผลงานจากช่องฟรีทีวีติดโผเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมแม้แต่เรื่องเดียว ที่เหลือเป็นผลงานจากเคเบิลอย่าง Beyond Evil (JTBC/2021) และผลงานจากสตรีมมิง Netflix ที่เข้าชิงเป็นปีที่สองติดต่อกันอย่าง Extracurricular (Netflix/2020) ซึ่งเมื่อเทียบเคียงผู้เข้าชิงทั้ง 5 เรื่อง กับสถิติผู้ชนะในระยะหลังอย่าง My Mister (ปี 2019), Mother (ปี 2018), Dear My Friends (ปี 2017) ที่เป็นกลุ่มซีรีส์น้ำดี พร้อมสารจรรโลงสังคม เหมาะกับผู้ชมทุกวัย ตัวเลือกผู้ชนะที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็น My Unfamiliar Family

อย่างไรก็ดี ทุกเรื่องยังมีความเป็นไปได้ที่จะชนะ เพราะผู้เข้าชิงที่เหลือก็ต่างมีคุณภาพและมีเอกลักษณ์โดดเด่นในแบบของตัวเอง

Beyond Evil Beyond Evil My Unfamiliar Family My Unfamiliar Family

มาดูที่สาขา บทยอดเยี่ยม (Best Screenplay) และ ผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) อันเป็น 2 หัวใจหลัก ที่ต้องทำงานสอดประสานและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการชี้วัดคุณภาพของผลงาน ซึ่งในเวทีระดับโลกมักให้ความสำคัญกับ 2 สาขานี้มากเป็นพิเศษ อย่างในออสการ์ ผลงานที่จะคว้าหนังยอดเยี่ยมต้องชนะอย่างน้อย 1 สาขา ไม่จากบท (บทดั้งเดิม/บทดัดแปลง) ก็การกำกับ ส่วนแพ็กซังนั้น ตลอด 10 ปีหลังสุด มีผู้เข้าชิงสาขาบทหรือกำกับ ที่มาจากผลงานที่ได้เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมในสัดส่วนที่เท่ากัน 38 เรื่อง หรือสูงถึง 76% แถมผู้ชนะสาขาบทก็มาจากซีรีส์ที่คว้าแดซัง หรือซีรีส์ยอดเยี่ยม จำนวน 8 เรื่อง เรียกว่าถ้าเรื่องไหนเป็นผู้ชนะสาขาบท ก็มีโอกาสสูงมากที่จะคว้า 1 ใน 2 รางวัลใหญ่ที่จะถูกประกาศในลำดับถัดไป แต่สำหรับสาขาผู้กำกับจะมีเกณฑ์การให้รางวัลที่ต่างออกไป เน้นกระจายรางวัลให้ครอบคลุม เพราะตั้งแต่แพ็กซังครั้งที่ 36 ที่ซีรีส์ Kuk-hee คว้าแดซังควบคู่กับสาขากำกับ จนปัจจุบันผ่านมา 20 ปี ก็ยังไม่เคยมีผลงานที่คว้าแดซัง หรือซีรีส์ยอดเยี่ยม ที่ชนะสาขากำกับอีกเลย คงต้องมาดูกันว่าในแพ็กซังครั้งที่ 57 สถิติดังกล่าวจะยังอยู่หรือไม่

ขณะที่สาขาทางการแสดง โดยเฉพาะ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor) และ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนซีรีส์ เพียงแต่การแสดงที่ดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในซีรีส์ที่ยอดเยี่ยมเสมอไป เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าชิงจึงแยกเป็นเอกเทศ ซึ่งในแพ็กซังตลอด 10 ปีหลังสุด มีผู้เข้าชิงสาขานำชายและนำหญิงที่มาจากผลงานที่เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมคิดเป็น 66% และ 56% ตามลำดับ ขณะเดียวกันเมื่อมวลรวมของซีรีส์ออกมายอดเยี่ยม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟันเฟืองชิ้นต่างๆ จะถูกให้ความสำคัญและถูกยกย่องด้วยตัวรางวัล

Flower of Evil Flower of Evil

แน่นอนว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ผู้ชนะนำชายและนำหญิงที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม จึงเป็นที่ประจักษ์ในสัดส่วน 90% และ 70% ตามลำดับ ซึ่งแพ็กซังครั้งที่ 57 นำชายที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม มีด้วยกันถึง 3 คน คือ อีจุนกิ (Flower of Evil), ชินฮาคยุน (Beyond Evil) และ คิมซูฮยอน (It’s Okay to Not Be Okay) ส่วนอีก 2 คนที่เหลือ คือ ซงจุงกิ (Vincenzo) และ ออมกีจุน (The Penthouse: War in Life) เรียกว่าอัดแน่นด้วยคุณภาพทุกตำแหน่ง ยากต่อการคาดเดาผู้ชนะ เพียงแต่ อีจุนกิ และ ชินฮาคยุน อาจถูกจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยทักษะการแสดงที่ต้องถ่ายทอดมิติอันซับซ้อนทางอารมณ์ออกมามากกว่าคู่แข่งอีกสามคน

Mr. Queen Mr. Queen

ขณะที่นำหญิงก็เข้มข้นไม่แพ้กัน แม้จะมีนักแสดงที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมเพียงคนเดียวคือ ซอเยจี (It’s Okay to Not Be Okay) แต่อีก 4 คนที่เหลือก็มีความโดดเด่นในบทบาทของตัวเอง และมีโอกาสชนะได้เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ชินฮเยซอน (Mr. Queen), คิมโซฮยอน (River Where the Moon Rises), คิมโซยอน (The Penthouse: War in Life) และ ออมจีวอน (Birthcare Center)

โอจองเซใน It's Okay to Not Be Okay โอจองเซใน It’s Okay to Not Be Okay

ส่วนสาขาอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ที่ โอจองเซ กำลังลุ้นทำสถิติคว้ารางวัลนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากบทพี่ชายออทิสติกใน It’s Okay to Not Be Okay โดยปีที่แล้วเขาชนะรางวัลนี้จากบทช่างทำแว่นตาหน่ายเมียใน When the Camellia Blooms (KBS/2019) ขณะที่สาขานักแสดงยอดนิยมที่เปิดให้ผู้ชมโหวตผ่านแอป TikTok ก็ยังเปิดกว้างสำหรับตำแหน่งผู้ชนะด้วยเช่นกัน

งานแพ็กซังปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 57 จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 21.00 น. (เวลาเกาหลี) หรือ 19.00 น. (เวลาไทย) ถ่ายทอดสดผ่านช่อง JTBC …ใครที่ชื่นชอบผลงาน หรือนักแสดงคนไหน ก็ไปตามลุ้นและให้กำลังใจกันได้.

คิมซอนโฮ จาก Start-Up หนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คู่แข่งของโอจองเซ คิมซอนโฮ จาก Start-Up หนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คู่แข่งของโอจองเซ

อ้างอิง: Wikipedia, IMDb, baeksangawards.co.kr 

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2088650
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2088650