วงการเพลง-ธุรกิจบันเทิง เรียกร้องภาครัฐเยียวยา โควิดส่งผลกระทบหนัก


ให้คะแนน


แชร์

โอมพูดต่อว่า รู้สึกเห็นใจเพื่อนร่วมอาชีพ ต่อให้เรารอดคนเดียว แต่วงการเพลงสมบูรณ์ได้ด้วยระบบนิเวศ ทุกคนต้องเดินได้ด้วยกัน ไม่ใช่มีแค่วงเดียวที่โดดเด่น เพราะมันไม่น่าดูอะไร วงการดนตรีจะอยู่ได้คือทุกคนจะต้องอยู่รอด เราต้องช่วยกัน

ที่ผ่านมาได้ยินเรื่องราวความเดือดร้อนของคนในวงการเพลงเยอะมาก บางคนก็เลิกเล่นดนตรีไปเลย แต่ที่หนักสุดที่ได้ยินคือมีคนจบชีวิตตัวเองคือยูทูบเบอร์สาวคนหนึ่งซึ่งเป็นคนรู้จัก เขาเป็นแฟนของรุ่นน้องโอมที่เล่นดนตรีมาด้วยกัน ซึ่งทำให้เห็นว่านอกจากส่งผลทางกายภาพ ยังส่งผลกระทบด้านจิตใจด้วย

ด้านธัญญ์นิธิก็เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า “เรียกว่ากระทบเป็นส่วนสุดท้ายดีกว่าครับ เพราะโดยส่วนตัวเราทำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับค้นหาผับบาร์และจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต พอสถานบันเทิงปิด คอนเสิร์ต อีเวนต์ถูกเลื่อน งดจัด เราเป็นโดมิโนตัวสุดท้าย แต่เรามองย้อนไปที่หัวแถว เพราะเรารู้สึกว่าเออ เขายังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน เราเองก็วางแผนการทำงานไม่ถูก มันเลยเป็นที่มาของการทำตรงนี้ครับ”

ที่มาที่ไปการยื่นหนังสือเรียกร้อง

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อช่วยเหลือวงการเพลง ตลอดจนธุรกิจบันเทิง ธุรกิจกลางคืน ธัญญ์นิธิบอกว่า “จริงๆ ในส่วนของโอมไม่ได้อยู่ในช่วงแรก เราเป็นการรวมตัวของศิลปินอิสระ นักร้องกลางคืน จุดเริ่มต้นมาจากการคนที่ประกอบอาชีพกลางคืน ลูกจ้างอิสระ รับรายได้รายวัน ไม่เข้าระบบประกันสังคม พอมีการสั่งปิด 2 ครั้ง จนมาถึงครั้งที่ 3 เรารู้สึกแล้วว่าเอ๊ะ มันไม่มีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนว่าทิศทางจะเป็นยังไงต่อไป

เราเลยเริ่มรวมตัวกันจากกลุ่มอีเวนต์ออร์แกไนซ์เซอร์ ดีเจปาร์ตี้ ค็อกเทลบาร์ ผับบาร์รายย่อย มานั่งคุยกันว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่ถูกปิดก่อน และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้เปิด แต่เรื่องมาตรการต่างๆ ทำไมไม่ได้คัฟเวอร์จริงๆ จังๆ เราเลยคุยกันว่าเราควรต้องทำอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอภาครัฐมั้ย คือเราเข้าใจว่าในแง่การเยียวยาทุกอาชีพมันมีหลายมิติมาก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าภาครัฐอาจจะยังไม่ได้เข้าถึงไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบในการใช้ชีวิตของเรามาก เราก็เลยทำเป็นข้อเสนอขึ้นมา

ทีนี้พอจัดกลุ่มมาได้ประมาณนึง เราก็คิดว่ามีอีกสับเซตนึงที่อยู่ในมิติของงานนี้คือ นักดนตรี นักร้อง อย่างที่เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นศิลปินอิสระหรือมีค่าย เขาก็มีงานกลางคืนค่อนข้างเยอะเหมือนกัน อาจจะเป็นงานจ้างอีเวนต์ต่างๆ ตามร้านเหล้า ก็มีการพูดคุยกัน สรุปแล้วว่าเราเล็งเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าสิ่งที่เราจะเสนอเรื่องข้อเรียกร้องให้พิจารณาร่วมกันหาทางออกว่าอันไหนที่ทางการเห็นด้วย เรามาเจอกันคนละครึ่งทาง ร่วมพูดคุยกัน ก็เป็นในมิตินี้มากกว่าในการพูดคุย”

ในส่วนผลตอบรับหลังจากที่ยื่นจดหมายไป ธัญญ์นิธิบอกว่า ล่าสุดได้รับฟีดแบ็กจากคณะกรรมการโต๊ะเศรษฐกิจของรัฐสภาให้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนแนวคิดว่าในการแก้ปัญหาระยะสั้นแบบเร่งด่วน และในแผน Long Term ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยจะเป็นไปในลักษณะไหน เพราะการยื่นหนังสือตามกลไกของภาครัฐ เราไปมาทุกที่ ไปตามกลไกต่างๆ จนได้เป็น agenda ขึ้นมา โดยจะมีการพูดคุยกันในสัปดาห์นี้ และน่าจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่างๆ ข้อเรียกร้องที่เรายื่นไป เขามีการรับทราบและมีฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง

อยากกลับมาทำงานให้เร็วที่สุด

เมื่อถามถึงภาพรวมของการยื่นจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ว่าอยากให้มีอะไรบ้าง โอมตอบว่า “ภาพรวมจริงๆ คือเมื่อเราโดนปิดงานก่อน ก็อยากให้รัฐเข้ามาดูแลตรงนั้น ในเมื่อเราเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบอาชีพ ซึ่งเราไม่ได้อยากจะดื้อด้านขอทำเดี๋ยวนี้ แต่ขอให้ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม สอดคล้องกับรูปแบบที่ควรจะเป็น เข้าใจว่าแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ส่วนวิชาชีพของเรา เราก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของเรา ซึ่งเราต้องอธิบายว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีกี่มิติ เกี่ยวข้องกับอาชีพใดบ้าง มันเสียหายเป็นทอดๆ มีคนที่เล่นบนเวที ซาวด์เอ็นจิเนียร์ สเตจ คนสร้างคอนเสิร์ต โบรกเกอร์ คือมันเชื่อมไปเยอะมาก เราอยากให้ปรึกษากับทางรัฐว่าจะทำยังไงเพื่อจะดูแลคนเหล่านี้ให้ได้มากกว่านี้ โดยรวมแน่นอนเราอยากกลับมาทำงาน เราไม่ได้ต้องการเงินบริจาคหรือเงินช่วยเหลือ แต่เราอยากกลับมาทำงานให้เร็วที่สุด

แต่การทำงานเร็วที่สุดบางทีเราต้องดูสถานการณ์ปัจจุบันว่าค่อนข้างล่อแหลม ตามธรรมชาติของงานเราย่อมเปิดไม่ได้ แต่เราอยากให้รัฐกำหนดรูปแบบว่ามันจะต้องเป็นเงื่อนไขใดที่สามารถทำให้อย่างน้อยที่สุดสามารถทำให้คนบางกลุ่มของพวกเราสามารถกลับไปทำงานได้ก่อน เราไม่ได้บอกว่าทั้งหมดต้องเปิดพร้อมกัน แต่ทำยังไงให้คนบางส่วนสามารถทำงานได้บ้างตามปกติ มีอะไรบ้างที่รัฐมองว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็เข้าไปคุยกัน

ในส่วนแพลนระยะยาวเพื่อซัพพอร์ตคนในวงการ ธัญญ์นิธิตอบว่า “จริงๆ เราก็มีคุยไอเดีย คือมันค่อนข้างมีหลายมิติในแง่ของอุตสาหกรรมคนทำงานอย่างเรา มันแตกแขนงไปเยอะ ก็มีพูดคุยในการวางแผนระยะยาว แต่ยังไม่ได้ตกผลึกในทิศทางไหน เราโฟกัสตอนนี้ก่อนว่าคนตกงาน ขาดรายได้ หลายคนประสบปัญหาเริ่มเอาเครื่องดนตรีไปขายบ้าง จำนำบ้าง ตรงนี้เราอยากให้ภาครัฐเห็นว่าถ้าได้กลับมาทำงาน คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้อีกทีได้มั้ย เงินเขาใช้หมดแล้ว เป็นข้อกังวลที่เราอยากโฟกัสมากกว่า”

โอมเสริมว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้สำรวจพี่น้องของเรามากขึ้น คือที่ผ่านมาคนที่อยู่ในแวดวงนี้ไม่ได้สนิทกันทั้งหมด แต่พอมานั่งคุยกันทำให้ได้มองมิติที่กว้างขึ้นอีก ได้มองเห็นถึงภาพรวมปัญหา เราคิดว่าสักวันถ้ามันผ่านไปแล้วเรายังอยู่ด้วยกันตรงนี้ การที่เรารู้จักกันคราวนี้คงเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนและสร้างเวทีร่วมกันในเรื่องวิชาชีพให้ดูชัดเจน เป็นหลักเป็นฐานขึ้นในอนาคต

ความถนัดที่ไม่เหมือนกัน

โอมเผยต่อว่า เมื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกไปแล้ว ก็มีคนที่สนับสนุนและเป็นห่วง แน่นอนพอมีคนจำนวนมากจะมีความเห็นต่างในรายละเอียด อาจมีคนเข้าใจผิดบ้าง ก็ค่อยๆ อธิบายกันไปว่าเราทำแบบนี้ทำไม อย่างบางคนคิดว่าเราจะขอเปิดร้านเดี๋ยวนี้ มันจะมีปัญหาไหม เราก็จะบอกว่า ไม่ได้ขอให้เปิดร้าน เราให้พิจารณาว่าจะเปิดได้ในเงื่อนไขใด อาจจะตอบไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ถามว่าทำไมนักดนตรีขอให้เปิดร้าน เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าเราเล่นเวลานั้น ถ้าเล่นกลางวันก็ไม่มีใครดู เราต้องยอมรับความจริงว่าเราเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนแบบแกะกันไม่ออก ถ้าเขาไม่เปิด เราก็ไม่มีออฟฟิศทำงาน

แต่ถ้าเราดื้อด้านจะเปิด ก็เป็นการไม่รับผิดชอบกับสังคม ถ้าจะเปิดก็ต้องรู้ว่าเงื่อนไขใดที่เหมาะสมปลอดภัยเพียงพอ เรามองไปข้างหน้าว่าเวลาไหนจะเริ่มตั้งตัวได้ เช่น ผู้ติดเชื้อลดลง จังหวัดนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อ ก็ดูว่าจังหวัดนั้นเล่นได้หรือไม่ หรือให้คนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วเข้าดูได้มั้ย คือบางทีไม่ได้มีสภาพเหมือนในกรุงเทพฯ เราก็อยากให้พี่น้องบางส่วนได้ทำงาน ใครมีสภาพที่เหมาะสมพอประกอบอาชีพได้ก็ดูแลเขาหน่อยได้มั้ย

ในส่วนกระแสวิจารณ์ถึงอาชีพศิลปินว่า ถ้าไม่มีงานก็ให้ปรับตัว ไปทำอย่างอื่น โอมบอกว่า “ทุกคนมีสิทธิ์มีความเห็นต่อสิ่งที่เข้ามาสัมผัสใจเขา เขาอาจรู้สึกว่าทำไมไม่ปรับล่ะ แต่ลองมองอีกมุมสิว่าถ้าเขาไม่มีความถนัดอื่นล่ะ จะปรับยังไง ถึงคุณปรับไปทำอย่างอื่น คุณก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดกับคนที่ถนัดอย่างนั้นมากกว่า

คนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน นักดนตรีเลือกเล่นดนตรีเพราะเขาถนัดในสิ่งนี้ เขาเข้าใจและทำได้ดีในสิ่งนี้ ถ้าบอกว่าให้เขาปรับตัวสิ ไปทำอย่างอื่น ผมเองอาจจะไม่รู้สึกเยอะ เพราะผมเป็นอาจารย์ด้วย ทำธุรกิจด้วย บริหารค่ายเพลงด้วย แต่มันมีคนที่เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แล้วทำไมเราต้องลดทอนคุณค่าของเขา สมมติบอกลองขายอาหารสิ เราจะทำอาหารเก่งกว่าคนที่ทำอาหารเป็นอาชีพจริงๆ รึเปล่า แล้วเราต้องไปแย่งงานเขาในตลาดนั้นด้วยรึเปล่า แค่นี้อาชีพอื่นก็ลำบากจะแย่อยู่แล้ว ยังต้องโดนคนเข้าไปแข่งขันแบบนี้อีกเหรอ มันไม่ได้ง่ายเลย

หรือบอกว่าเล่นดนตรีไม่ได้ ปรับไปเล่นออนไลน์สิ ทุกวันนี้ออนไลน์มีเพลงใหม่เข้าระบบวันละ 50-60 เพลง สมมติคนมีเวลาดูมือถือวันละ 3 ชม. ก็มีทั้งข่าว มีทุกเรื่องที่ดึงดูดความสนใจจากเพลงไป ณ ตอนนี้ คิดว่าการปล่อยเพลงออนไลน์จะสร้างเงินพอให้เขามีชีวิตอยู่ได้ทันทีเหรอ ไม่จริง แล้วพฤติกรรมการดูดนตรีจริงๆ มันไม่ใช่ออนไลน์ครับ นักดนตรีทุกคนยอมรับสภาพว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา อาชีพเรามีความเสี่ยง ทุกคนพร้อมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แต่ขอให้กฎเกณฑ์สอดคล้องกับสถานการณ์ บอกเราหน่อยว่าต้องทำยังไง

จริงๆ ผมมองหลักง่ายๆ ว่า ใครเสียหายก็ชดเชยคนนั้น แต่เราจะมีกลไกของรัฐยังไงว่าจะชดเชยและดูแลคนเหล่านั้นที่ได้รับความเสียหาย หลักการนี้มันไม่ได้ใช้แค่กับนักดนตรี แต่ใช้กับทุกคนที่เสียหายเรื่องนี้ แล้วฟรีแลนซ์คือคนที่ตรวจจับได้ยาก และรัฐจะดูแลคนเหล่านี้ยังไงในอนาคต เราจะทำยังไงให้เขาอยู่ในระบบที่ตรวจสอบได้ เราช่วยกันสร้างระบบขึ้นมามั้ย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกครับ”

แม้ในเวลานี้ปัญหาจะยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างชัดเจน แต่พวกเขาก็ยังคงช่วยเหลือคนในแวดวงเดียวกันด้วยการจัดเทศกาลดนตรีออนไลน์ #เปิดหมวกเฟสติวัล ซึ่งธัญญ์นิธิเผยว่า ทางชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมนี้เพื่อให้นักดนตรีที่ตกงานหรือได้รับผลกระทบจากโควิดทั่วประเทศส่งคลิปคนละไม่เกิน 5 นาที จะเป็นการร้องเต้นเล่นดนตรีอะไรก็ได้ จะถ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้

โดยจะเปิดพื้นที่ทางยูทูบแชนแนลออนแอร์ 2 สัปดาห์ วันละ 6 ชม. ทุกวัน ช่วงที่มีการออนแอร์จะแทรกสปอตโฆษณา เป็นการฝากร้านของเพื่อนสมาชิกสมาพันธ์ ที่ตอนนี้ปรับเปลี่ยนอาชีพตัวเองไปทำอย่างอื่น สามารถอัดคลิป 15 วินาทีส่งมาฝากร้านได้ รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ www.mcatthai.com

ความคิดเห็นจากเพื่อนศิลปิน

นอกจากนี้ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์สอบถามศิลปินบางส่วนถึงกรณีตัวแทนศิลปิน นักดนตรี ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจกลางคืน ยื่นจดหมายเปิดผนึกในครั้งนี้ โดยศิลปินรุ่นใหม่ นินจา จารุกิตต์ คำหงษา หรือ นินจา 4MIX ศิลปินค่าย KS Gang ในเครือ Khaosan Entertainment ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกันว่า

“จะบอกว่านินเป็นคนนึงที่ลงรายชื่อไปด้วยครับ ก็รู้สึกดีที่ทุกคนออกมาเรียกร้อง เข้าใจทุกคนเลยครับว่าไม่ได้ทำงาน ศิลปินต้องมีแพชชั่นหรือมีอะไรที่คอยขับเคลื่อนตลอดเวลา พอหายไปนานๆ ทำให้ความสามารถหรือความรู้สึกแพชชั่นต่างๆ มันลดน้อยลง มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาแสดงจุดยืน พยายามทำให้วงการของเราเดินต่อให้ได้ เห็นด้วยครับที่ทุกคนออกมาทำเพื่อสิ่งที่ตัวเองรักครับ”

นินจา 4MIX นินจา 4MIX

ด้านศิลปินหนุ่มมากฝีมือ อะตอม ชนกันต์ รัตนอุดม ศิลปินค่าย White Music ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แสดงความคิดเห็นว่า “ผมว่าเป็นอะไรที่ต้องทำครับ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมาย แต่รอบนี้มีผลกระทบหนักขึ้นเรื่อยๆ วิธีการจัดการของรัฐบาลก็เริ่มเห็นชัดแล้วว่ามันไม่ได้ผลจริงๆ ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไปมันจะแย่ไปกว่านี้ กลุ่มศิลปินนักดนตรีเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องหยุดงาน 100% ไม่เหลืออะไรให้ทำเลยในอาชีพของตัวเอง จริงๆ ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ลำบากหมดครับ เพราะฉะนั้นการออกมาส่งเสียงตรงนี้ผมว่าก็สำคัญ

ส่วนตัวผมก็โชคดีตรงที่ก่อนที่จะปิดยังมีโปรเจกต์ที่ค้างกันมาอยู่ ไม่ว่าจะโปรเจกต์เพลงโฆษณา เขียนเพลง มันก็ยังพอทำต่อ ยังพอมีรายได้ให้ทีม ให้ตัวเองบ้างครับ เรื่องความโหดร้ายของผลกระทบ ผมกับทีมงานก็โดนแหละ แต่ว่ามันไม่หนักหน่วงเท่าพี่น้องนักดนตรีท่านอื่นที่ทำมาหากินด้วยการเล่นดนตรีจริงๆ เราก็ติดตามข่าวมาตลอด เฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง เหมือนมันจะมีแต่หนักขึ้น

มีพี่นักดนตรีที่อัดเสียงด้วยกันบ่อยๆ ต้องขายคอนโด ขายบ้านกันแล้ว บางท่านก็ขายเครื่องดนตรีในบอร์ดประกาศขายตามเฟซบุ๊ก คือเขายอมตัดใจเอาเครื่องดนตรีทำมาหากินมาขายกันแล้ว น่าปวดใจมากๆ ล่าสุดที่หนักจริงๆ ก็มีพี่ท่านนึงที่กระโดดตึกลงมาเสียชีวิต ผมว่ามันเป็นจุดที่ทำให้นักร้องนักดนตรีหลายคนเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว รัฐไม่ได้ดูแลอะไรเลยครับ ไม่มีทางออก ไม่มีจุดจบ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนให้ประชาชนเลย

อะตอม ชนกันต์ อะตอม ชนกันต์

ผมว่าถ้าจะให้มันดี ผมว่ามันไม่ใช่ปลายเหตุตรงนี้ ทุกคนลำบากหมดแล้ว ถ้าเราจะแก้ ต้องแก้จากบนสุดครับ จากคนที่บริหาร ในเรื่องวัคซีน หรือกำหนดเวลาต่างๆ ที่ชัดเจน ผมว่าสำคัญมาก ผมว่าทุกคนยอมเจ็บแต่จบตั้งนานแล้ว แต่นโยบายที่ออกมา วิธีการที่เขาทำตอนนี้มันทำให้เราเจ็บไปเรื่อยๆ มีแต่คำถามว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น มีเหตุผลอะไรรองรับ ผมว่าเป็นคำถามที่คนทั้งประเทศก็ถามอยู่ในใจมา 3 เดือนแล้วครับ

ผมว่าบรรยากาศบ้านเราค่อนข้างหดหู่ โดยเฉพาะสายบันเทิง สายเพลง ค่อนข้างอึมครึมมากๆ ยังมองไม่เห็นทางออก ยังคุยกันเล่นๆ ว่าเราคงได้เล่นดนตรีสดอีกทีน่าจะปีหน้าเลย ถ้าดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ด้วยการจัดการระดับนี้ของรัฐ มันดูไม่มีความหวังเอาซะเลย

ถ้าในเรื่องจิตใจก็ดูวันต่อวัน ต้องพยายามใจแข็ง คือด้วยความที่แก้อะไรปุบปับไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือดูแลตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองดาวน์นานครับ ผมว่าการเตรียมตัวไว้ก่อนยิ่งเร็วยิ่งดี เราไม่รู้จริงๆ ว่าทางข้างหน้าจะเป็นยังไง ที่เราทำได้คือเตรียมตัวเองให้ดี ทั้งเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต ถ้ามีแผนสำรองไว้ก่อนก็เป็นเรื่องที่ดีครับ”.

ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : นสพ.ไทยรัฐ, Khaosan Entertainment, อินสตาแกรม @atomoatom
กราฟิก : Varanya Phae-araya

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2137420
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2137420