ไขการผนึกประตูของ “ซุซุเมะ” กับผู้กำกับดัง “ชินไค มาโกโตะ”


ให้คะแนน


แชร์

ชื่อแอนิเมชัน “ยัวร์ เนม” (Your Name) และ “เวเธอริง วิธ ยู” (Weathering with You) เป็นหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ ชินไค มาโกโตะ หนึ่งในคนทำหนัง ฝีมือเยี่ยมของญี่ปุ่น งานล่าสุดของเขา “ซุซุเมะ” (Suzume) หรือ “การผนึกประตูของซุซุเมะ” ก็ยังได้รับความสำเร็จอย่างมากเช่นกัน

งานของ ชินไค มาโกโตะ ได้รับการกล่าวขานถึงความงดงามของภาพขณะที่เรื่องราวของแต่ละชิ้นงานก็สะท้อน ถึงระดับสากล ในแอนิเมชัน ซุซุเมะ เล่าเรื่องของ ซุซุเมะ เด็กสาววัย 17 ปีอาศัยอยู่กับน้าสาวบนเกาะคิวชู วันหนึ่ง ได้พบ โซตะ ชายแปลกหน้าที่ตามหา “ประตูมหัศจรรย์” ทว่าผลของการเปิดประตูได้ทำให้ซุซุเมะ ต้องออกเดินทางไกลพร้อม “เก้าอี้ 3 ขา” ตามหา ไดจิน แมวตัวแสบเพื่อสะสางภารกิจสุดยิ่งใหญ่

และถือเป็นโอกาสพิเศษที่ ชินไค มาโกโตะ เดินทางมาโปรโมตผลงานถึงเมืองไทย “ไทยรัฐ” ก็ได้รับการชักชวนไปสนทนากับผู้กำกับคนดังที่มาพร้อม “เก้าอี้ 3 ขา” สุดน่ารัก

“ซุซุเมะ” มีจุดเริ่มต้นจากผลึกความคิดของ ชินไค ที่หยิบเอามุมมองที่มีต่อบ้านเกิดในจังหวัดนากาโน เจ้าตัวกลับไปเยี่ยมบ้านปีละ 1-2 ครั้ง หรือบางปีก็ไม่ได้ไป และพบว่าผู้คนน้อยลง ตัวเมืองเล็กลง การที่คนไม่ค่อยมีบุตร ทำให้ประชากรลด “ผมว่าไม่ใช่แค่ปัญหาของญี่ปุ่นเท่านั้น น่าจะเกิดขึ้นในไทยด้วย แต่ญี่ปุ่นคือปัญหาเกิดขึ้นก่อน ค่อนข้างหนักขึ้นเรื่อยๆ พอคนน้อยลง เมืองเล็กลง เกิดสถานที่รกร้างถูกทิ้ง ผมเห็นสถานที่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ก็เกิดความคิดว่าเราจะสร้างเรื่องราว จากสถานที่เหล่านี้ได้ไหมเกิดการผจญภัยจากสถานที่เหล่านี้ได้ไหม”

งานของเขามักอุดมไปด้วยสัญลักษณ์ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าใน “ซุซุเมะ” ก็มีไม่น้อย เราถามไปว่า การเปิดประตูไปสู่โลกอีกมิติหนึ่ง ต้องการสื่ออะไรแก่ผู้ชม เขาตอบว่า “ตอนที่คิดเรื่อง ผมพยายามหาว่าสัญลักษณ์อะไรที่เหมาะกับคนทุกคน เห็นปุ๊บแล้วรู้ปั๊บ นั่นก็คือประตู เวลาเปิดประตูออกไป คนญี่ปุ่นจะพูดว่าอิตเตะคิมัส แปลว่าไปแล้วนะครับ ตอนเย็นกลับมา เปิดประตูก็พูดว่าทะไดมะ กลับมาแล้ว ทำเป็นวัฏจักรซ้ำๆ เปิดประตูออก-เข้าเป็นสิบร้อยหมื่นล้านครั้ง มันคือชีวิตธรรมดาของชีวิตคนคนหนึ่ง แล้วเรื่องภัยพิบัติทำให้รู้สึกว่าการเปิดประตูออกไปครั้งหนึ่ง อาจจะไม่ได้กลับมาก็ได้ ในเรื่องนี้คือทำยังไงที่ซุซุเมะจะเอาชีวิตประจำวันกลับคืนมา”

ส่วน “เก้าอี้ 3 ขา” ที่พามาด้วยนั้น เจ้าตัวเผยว่า “มีหลายเหตุผลที่มีเก้าอี้ตัวนี้นะ อย่างแรกคือผมไม่ได้อยากทำให้เรื่องนี้เป็นเลิฟโรแมนซ์จ๋าๆ มันมีความรักแหละ แต่ไม่ต้องขนาดนั้น ความท้าทายคือการเอาเรื่องภัยพิบัติมาเล่า ก็ไม่ได้อยากให้เป็นเรื่องเศร้าซีเรียสเกินไป จึงจำเป็นต้องมีตัวคาแรกเตอร์ที่อาจทำให้ทุกอย่างเบาลง แล้วเก้าอี้มี 3 ขา ก็เหมือน ซุซุเมะ ที่มีส่วนหนึ่งขาดหายไปในตัวเอง เรื่องนี้มันไม่ใช่การที่จะทำให้ 3 ขา เป็น 4 ขา แต่มี 3 ขาก็ใช้ชีวิตได้ และก็ใช้ชีวิตให้เต็มที่ แข็งแรงได้ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาอุดให้หรือเติมเต็ม”

เรื่องภัยพิบัติที่ว่าก็คือการหยิบยกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อ 11 มี.ค.2554 ในแบบที่ชัดมากกว่างานที่ผ่านๆมา เมื่อถามไปว่า ทำไมถึงเขียนบทให้มีตัวละครไม่กี่ตัวได้เห็นภัยพิบัติ เขานิ่งคิดก่อนตอบว่า “เวลาเห็นหนังภัยพิบัติในฮอลลีวูด พอมีโศกนาฏกรรม ตัวละครจะเยอะมาก ต่างคนต่างหาวิธีเอาตัวรอด มีสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม มีการเมือง ฯลฯ แต่ผมอยากจะลองมาทำหนังที่ลองโฟกัสการเติบโตของหนึ่งคาแรกเตอร์ ว่าเขาต้องเจออะไรมาบ้าง เขาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงนั้น ผมถึงโฟกัสที่ซุซุเมะสื่อการเติบโตของหนึ่งคาแรกเตอร์ที่น่าจะเป็นตัวแทนของใครอีกหลายคนที่มีความคิดเหล่านั้นอยู่ข้างใน อาจเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงล้อของสังคมที่ยิ่งใหญ่ ถ้าชีวิตของคนคนหนึ่งมันเปลี่ยนไป แล้วคนคนนั้นมันกลับมายิ้มได้ กลับมามีความสุข เขาต้องเจออะไรมาบ้าง เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะให้คนไม่กี่คนมารับผิดชอบถึงโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่แบบนั้น แต่ให้ดูถึงการเติบโตของคนคนหนึ่งที่ได้พบกับภัยพิบัติมากกว่า”

“เหตุผลที่ให้คนไม่กี่คนมีหน้าที่ทำตรงนี้ คือชีวิตและสังคมคนเรา คนจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ถ้าบุคคลที่ควบคุมสังคมหรือประเทศก็มีนักการเมือง ในอดีตก็มีพระราชา ในญี่ปุ่นก็เป็นเท็นโน หรือจักรพรรดิ หน้าที่จักรพรรดิคืออะไร ก็คือไหว้ขอพระเจ้าเพื่อให้บ้านเมืองเป็นสุข คือมีคนไม่กี่คนที่รับผิดชอบความอยู่ดีของสังคม คนเหล่านั้นอาจจะถูกเลือกมา ถูกแต่งตั้ง หรือว่าใครสักคนเอาพวกเขามารับผิดชอบตรงนั้น ผมคิดว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ มันน่าจะเป็นตำแหน่งที่คนไม่กี่คนที่อาจไม่ได้ถูกรับรู้ด้วยซ้ำ แต่พวกเขาพร้อมที่จะทำในสิ่งที่สร้างความสุขให้กับคนอื่น ก็คงจะคล้ายๆกับบุคคลเหล่านั้น เพียงแค่อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่า”

ก่อนยุติบทสนทนาเราถามไปว่า ความสำเร็จของงานที่ผ่านๆมาโดยเฉพาะ “ยัวร์ เนม” มีผลต่อการทำงานหรือชีวิต ของเขาอย่างไรบ้าง ชินไค มาโกโตะ ตอบกลับมาว่า “เหมือนจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น แล้วหน้าที่ผู้กำกับ การสร้างหนัง คือต้องทำเอนเตอร์เทนเมนต์ที่สนุก ให้คนยอมมาโรงหนัง มาดู มาเอนเตอร์เทนตัวเอง ได้ความสนุกกลับไป นั่นเป็นหน้าที่หลักของคนผลิตหนังดีๆ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมจะบวกความรู้สึกบางอย่างให้คนเก็บกลับบ้านได้ในฐานะผู้กำกับ หน้าที่ของผมน่าจะเป็นการโปรยเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้คนเก็บกลับไปคิด อาจจะสร้างโอกาสให้เขาฉุกคิดถึงความคิดบางอย่างขึ้นมา มันอาจไม่ถึงกับเปลี่ยนชีวิตเขานะ แต่ถ้าเกิดมันเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดอะไรที่ใหม่ขึ้น หรือเป็นความทรงจำที่เขาสามารถเอากลับไปคิดได้อีกสักพักหนึ่ง และสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบที่ดีต่อคนคนนั้นได้ ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นการสร้างงานที่ดีครับ”.

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2682078
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2682078