อย่ามองข้าม "ผู้สูงอายุ" เงินมี เวลามี นั่งดูทีวีทั้งวัน เจาะไพรม์ไทม์วัยเก๋า


ให้คะแนน


แชร์

กลับมามองที่จอทีวี เชื่อว่าหลายบ้านคงเจอกับเหตุการณ์ผู้สูงวัยที่บ้าน สั่งซื้อสินค้าจากรายการขายสินค้าทางหน้าจอเป็นว่าเล่น ซื้อง่าย ขายคล่อง ยิ่งมีของแถมหรือบอกว่าลดราคา ผู้อาวุโสที่บ้านจะรีบโทรสั่งอย่างสุดแฮปปี้

นี่คือบทพิสูจน์ที่ดีว่าการลงโฆษณาผ่านจอทีวีที่ผู้สูงอายุดู จะมีโอกาสเพิ่มยอดขายได้ง่ายขึ้น และรายการช่องไหนที่ดึงดูดให้ผู้สูงอายุเข้ามาดูได้มาก ย่อมมีโอกาสที่จะขายโฆษณาได้มากเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายช่องผลิตรายการวาไรตี้และข่าวมาให้โดนใจผู้สูงอายุ

Silver Age ชอบดูอะไรแบบไหน กี่โมงนะ?

จากข้อมูลการวิจัยของภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยศึกษาพฤติกรรม Insight รวมถึงประเภทและรูปแบบของเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มผู้สูงอายุ

พบว่า Insight การดูทีวีของผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุจะเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้เป็นเพื่อน ไม่มีการกดเปลี่ยนช่องไปมาเช่นวัยอื่น

โดยช่วงเย็นจะเป็นช่วงที่ผู้สูงอายุใช้เวลาดูโทรทัศน์มากที่สุด เนื้อหาที่โดนใจกลุ่มนี้ อันดับหนึ่งคือสาระประโยชน์ และอันดับสองคือรายการบันเทิง

ขณะที่ข้อมูลจากวารสารนิเทศศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิต ที่ได้เคยทำการศึกษาไว้ระบุว่า ผู้สูงอายุจะใช้เวลาในการดูโทรทัศน์อยู่ที่ 1-3 ชั่วโมง โดยไพรม์ไทม์ของผู้สูงอายุ 17.01-21.00 น. และผู้สูงอายุใน กทม. เปิดรับสื่อโทรทัศน์สูงกว่าต่างจังหวัด

ช่องวัน-เวิร์คพอยท์ ทัชใจวัยเก๋า

เมื่อดูพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้สูงอายุแล้ว เราเลยรีบกางผังรายการวาไรตี้ของช่องทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะ 2 ช่องที่เราสังเกตว่าคนแก่ที่บ้านทำไมจึงปักหลักชอบดูช่องนี้ช่วงเย็นๆ เหลือเกิน

นั่นก็คือ เวิร์คพอยท์ และ ช่องวัน ที่ต้องยอมรับว่า รายการวาไรตี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองช่องถีบตัวเองขึ้นมาแบ่งเรตติ้งจากช่องอนาล็อกเดิมอย่างช่อง 7 และช่อง 3 ได้ และเราก็พบว่าทั้ง เวิร์คพอยท์ และ ช่องวัน จับจุดใช้กลยุทธ์ทัชใจ Silver Age ได้อย่างตรงเป้า

เวิร์คพอยท์

สำหรับช่องเวิร์คพอยท์ จุดแข็งอยู่ที่รายการวาไรตี้ ร้องเพลง ตลก เวิร์คพอยท์ ช่วงเย็นวางรายการยาวจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.00-19.00 น. ขายตระกูลไมค์อย่าง ไมค์หมดหนี้ นักร้องนำโชค และต่อทันทีด้วย ปัญญา ปันสุข ตอน 19.00-20.00 น. ปัญญา ปันสุข เป็นรายการบันเทิงที่เล่นกับดราม่าเรียกน้ำตา ดีกรีเสี่ยตาปัญญาลงมาเป็นพิธีกรเอง

เรียกว่าช่วงไพรม์ไทม์ของผู้สูงอายุ 17.01-21.00 น. เวิร์คพอยท์ดึงคนดูสูงอายุได้อยู่หมัดด้วย ไมค์หมดหนี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สูงอายุแกติดรายการตระกูลไมค์ของเวิร์คพอยท์จริงๆ ทั้งไมค์หมดหนี้ ไมค์ทองคำ นั่งดูกันได้แบบห้ามเปลี่ยนช่อง

ก่อนที่ช่วง 20.15-21.45 น. เวิร์คพอย์ใช้รายการวาไรตี้เนื้อหาหลากหลายที่เน้นดูได้ทุกวัยมาแข่งกับละครและข่าว ทั้ง หัวท้ายตายก่อน, ยืน 1 ถึง 3, ซูเปอร์หม่ำ, ไอ แคน ซี ยัวร์ วอยซ์, ร้องข้ามกำแพง, โต๊ะนี้มีจอง

ขณะที่เสาร์อาทิตย์ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ผู้สูงอายุ เวิร์ทพอยท์ขยี้สุดพลังหวังดึงเรตติ้งจากกลุ่ม Silver Age โดยวันเสาร์ ประกวดร้องเพลงกันยาวตั้งแต่ 18.00-20.00 และยังเป็นรายการตระกูลไมค์ที่แฟนคลับเหนียวแน่นอย่าง ไมค์ทองคำ และ 20.15-21.30 น. เล่นกับเพลงลูกกรุงอดีตฝันวันหวานของผู้สูงอายุ ด้วยรายการเพลงเอกนอกรอบ แต่ต้องยอมรับว่าเพลงเอกนอกรอบ อาจจะมาช้าไปหน่อย The Golden Song ช่องวันจึงครองใจผู้สูงอายุอย่างแรงไปแล้ว เวิร์คพอยท์เลยหลีกทางมาทำวันเสาร์ ขอแบ่งมาร์เก็ตแชร์แบบไม่ชนกันตรงๆ

ส่วนวันอาทิตย์ก็ยังเป็นการประกวดร้องเพลงเหมือนเดิมคือ 18.00-20.00 น. เพชรตัดเพชร ที่เอาผู้ชนะจากไมค์ทองคำมาแข่งกัน และ 20.15-21.45 น. โจ๊กตัดโจ๊ก เอาตลกมาแข่งร้องเพลงกัน

ช่องวัน

แต่หากใครคิดว่าเวิร์คพอยท์ทำได้ดีแล้ว ช่องวัน ก็ดีเช่นกัน เพราะมาแรงกวาดเรตติ้งได้อย่างเหนียวแน่นในช่วงเย็นๆ ค่ำๆ กับ ดวลเพลงชิงทุน ที่เอาทั้งการประกวดร้องเพลงและดราม่ามามิกซ์กัน จนกลายเป็นรายการประกวดร้องเพลงที่มีเรตติ้งสูงสุดของปี 2020

แน่นอนช่องวันไม่พลาด ดวลเพลงชิงทุน ยิงยาวจันทร์-เสาร์ 18.00-19.00 น. ก่อนที่ 19.00-19.55 น. จันทร์-เสาร์กินเรตติ้งกับละครเย็น มีวันศุกร์ที่หย่อนข่าวมาลองเรตติ้ง ดวลเพลงชิงทุนเป็นอีกหนึ่งรายการที่ผู้สูงอายุของหลายบ้านดูได้ดูดี ไม่ยอมให้เปลี่ยนช่อง

ขณะที่วันอาทิตย์ช่องวันให้เวลา 2 ชั่วโมงเต็มกับรายการที่ต้องบอกว่าทัชใจเต็มๆ กับผู้สูงอายุอย่าง The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ที่ช่องวันเห็นช่องวางในตลาดว่ารายการแข่งขันประกวดร้องเพลงมีแต่เพลงลูกทุ่ง ช่องวันเลือกหยิบเพลงลูกกรุงมาประกวด ซึ่งต้องถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องเพราะ The Golden Song เป็นรายการที่ ส.ว.ผู้สูงวัยนั่งดูกันที่บ้านด้วยรอยยิ้มและความเพลิดเพลิน

Silver Age ชอบฟังเพลงยุคตัวเอง
ไม่ชอบดราม่าเคล้าน้ำตา

ไทยรัฐออนไลน์ ลองไปคุยกับผู้สูงอายุช่วงวัยระหว่าง 60-70 ปี กว่า 20 คน ว่าทำไมถึงชอบดูรายการประกวดเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง เกือบครึ่งให้ข้อมูลตรงกันว่า

พวกท่านอายุ 60 ขึ้นแล้ว การได้ฟังเพลงเพราะๆ ที่ท่านฟังรู้เรื่องมันมีความสุข โดยเฉพาะการได้ฟังเพลงที่ดังในรุ่นของตัวเอง ได้ฟังเพลงที่เราเคยชอบตอนหนุ่มสาวมันรู้สึกดี และชอบที่จะดูว่าเด็กรุ่นใหม่ร้องเพลงเก่าๆ ได้ไพเราะแค่ไหน

แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้บอกเราว่า ไม่ชอบดูรายการที่ดราม่ามาก เพราะดูแล้วสงสาร น้ำตาไหลตามเขา เราแก่แล้วไม่อยากดูอะไรที่เศร้า อยากดูอะไรที่มีความสุขและสนุกมากกว่า

แม้จะเพียงแค่ 20 คน ไม่อาจใช้เป็นข้อมูลอะไรที่เชื่อถือได้ตามหลักการ แต่ก็ทำให้น่าเชื่อได้ว่าคนสูงวัยมีความสุขกับการดูรายการอะไรที่ทำให้เพลิดเพลิน มากกว่าการนั่งดูอะไรที่เศร้าเคล้าดราม่า

ตลาดผู้สูงอายุเติบโตมากขึ้น และโทรทัศน์ดูจะไกลตัวคนรุ่นใหม่เรื่อยๆ หลายช่องมุ่งดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมาดูโทรทัศน์ จนอาจลืมกลุ่มคนสำคัญอย่างผู้สูงอายุที่เงินมี เวลามี นั่งดูทีวีได้ทั้งวัน

แต่ก็ยังมีอีกหลายช่องที่คิดหารายการอย่างมีกลยุทธ์ เล่นได้ตรงจุด ทัชใจวัย Silver Age ไม่แน่กลุ่มคนสูงอายุอาจเป็นกลุ่มคนดูสำคัญที่จะช่วยพยุงธุรกิจจอแก้วให้ไปต่อได้อย่างยาวๆ ก็เป็นได้.

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า
ภาพ : Jutaphun Sooksamphun

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2104020
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/news/2104020