การกลับมาของเทศกาลหนังเมืองคานส์ + หนังที่ชาวโลกต้องจับตาในปี 2021


ให้คะแนน


แชร์


รางวัลปาล์มทอง (Palm d’Or) : Titane

ปาล์มทองในปีนี้ตกเป็นของหนังฝรั่งเศสเรื่อง Titane ซึ่งเป็นผลรางวัลที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับหลายคน เนื่องจากมันเป็นหนังแนวตื่นเต้นสยองขวัญที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบแปลกประหลาด (ส่วนใหญ่หนังแนวนี้มักได้เข้าฉายในคานส์แบบเป็น ‘ไม้ประดับ’ และไม่ได้รางวัลอะไรติดมือกลับบ้าน) อีกทั้งเสียงวิจารณ์จากผู้ชมก็ออกมาในเชิง ‘ไม่รักก็เกลียดไปเลย’ ด้วยซ้ำ

หนังกำกับโดย จูเลีย ดูคูร์โน (ผลงานก่อนหน้านี้ของเธอคือ Raw เมื่อปี 2016 เป็นหนังวัยรุ่นมนุษย์กินคน) ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 2 ที่ได้รางวัลปาล์มทองไปครอง (คนแรกคือ เจน แคมเปียน จาก The Piano ในปี 1993)

Titane เป็นการผสมผสานกันระหว่างหนัง Body Horror (หรือก็คือหนังที่เล่าความสยองอันเกิดจากเรือนร่างมนุษย์), หนังฆาตกรรม, หนังโหดเลือดสาด, หนังอีโรติก กับหนังดราม่าครอบครัว ว่าด้วยหญิงสาวที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนทำให้ร่างกายของเธอเต็มไปด้วยแผลเป็นและศีรษะต้องถูกเย็บติดกับไทเทเนียม เธอจึงเริ่มหลงใหลในสิ่งที่เป็นโลหะ และนั่นทำให้เธอชอบมีเซ็กซ์กับ ‘รถยนต์’ โดยในเวลาต่อมา เธอได้หนีจากครอบครัวตัวเองและได้กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งยังสร้างมิตรภาพกับชายสูงวัยที่เป็นหัวหน้าหน่วยดับเพลิง (ที่เธอแสร้งทำตัวเป็นลูกสาวของเขา) นำมาสู่การที่คนที่มีจิตวิญญาณแตกสลายสองคนได้ค่อยๆ เยียวยาบาดแผลในชีวิตซึ่งกันและกัน

นักวิจารณ์บอกว่า Titane มีประเด็นหลายอย่างที่ชวนให้คิดถึง Crash (1996) ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก ที่เคยได้รางวัล Special Jury Prize จากคานส์ และ Tetsuo: The Iron Man (1989) ของ ชินยะ สึคาโมโตะ ในแง่ของการที่เครื่องจักรเข้ามาแทรกแซงความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งหนังยังมีจุดเด่นอยู่ที่สไตล์อันชวนช็อก ทั้งความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อ, ฉากเซ็กซ์ที่แปลกประหลาด, แสงสีฉูดฉาด, ดนตรีสุดหวือหวา จนทำให้หลายคนบอกว่า “นี่คือหนังที่บ้าคลั่งที่สุดในคานส์ปีนี้” โดยการที่กรรมการมอบรางวัลปาล์มทองให้หนังก็ถือเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ แม้จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์-ทั้งชมและด่า-ตามมามากมาย

Annette Annette

A Hero เป็นผลงานของ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับอิหร่านที่เคยคว้าออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก A Separation (2011) และ The Salesman (2016) (เรื่องหลังเคยฉายในสายประกวดที่คานส์และคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมไปได้) โดยเรื่องนี้ถือเป็นการกลับไปสร้างหนังที่อิหร่านอีกครั้ง หลังจากที่เขาไปทำหนัง Everybody Knows (2018) ที่สเปน

หนังเล่าเรื่องราวของ ราฮิม ชนชั้นล่างที่ถูกตัดสินจำคุก 3 ปีเนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ให้กับพี่ภรรยาที่เป็นหุ้นส่วนธุรกิจของเขาได้เพราะธุรกิจล้มเหลว เขาถูกปล่อยตัวจากคุกมาเป็นเวลา 2 วันเพื่อหาเงินใช้หนี้ โดยเขาได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหนี้ยอมผ่อนผัน แต่ระหว่างหาเงิน เขาเกิดจับพลัดจับผลูได้เป็น ‘ฮีโร่’ ในสายตาของสื่อและโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายและผิดแผนอีกมากมาย

หนังยังคงรักษาลายเซ็นของผู้กำกับอย่างการถ่ายทอดเรื่องราวที่เน้นความสมจริงเป็นธรรมชาติ โดยหลีกเลี่ยงเทคนิคหวือหวา ทั้งมุมกล้อง การตัดต่อ และดนตรีประกอบที่เร้าอารมณ์ (ซึ่งถือเป็นลักษณะร่วมหนึ่งของหนังกลุ่ม Iranian New Wave) นอกจากนั้น หนังของเขายังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความย้อนแย้งทางศีลธรรมของสังคม/ตัวละคร, การติดอยู่ในสิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นความจริงหรือความลวง, ตัวละครที่ไม่ได้เป็นสี ‘ขาวจัด’ หรือ ‘ดำจัด’ แต่พวกเขามีเหตุผลในการกระทำของตัวเอง ซึ่งในเรื่องนี้ยังมีการใส่ประเด็นเรื่องโซเชียลมีเดียและการถูกตัดสินจากสื่อมวลชนเพิ่มเข้าไปด้วย

A Hero ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์บางคนว่า เป็นหนังที่ดีที่สุดของฟาร์ฮาดี นับตั้งแต่ A Separation ซึ่งจริงอยู่ที่มันอาจไม่ได้แปลกใหม่หรือทะลุเพดานมาตรฐานไปกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา แต่ก็ยังถือว่าหนังมีดีมากพอที่จะได้รับรางวัลนี้

Compartment No.6 Compartment No.6


รางวัลกรังปรีซ์ (Grand Prix) : Compartment No.6

Compartment No.6 เป็นหนังฟินแลนด์ของ ยูโฮ คูออสมาเนน (ผู้เคยชนะรางวัลใหญ่ในสาย Un Certain Regard ของคานส์ จาก The Happiest Day in the Life of Olli Mäki ปี 2016) ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 2011 ของ ลิซา ลิกซอม

มันเป็นหนังแนวโรแมนติก/ดราม่า ที่มีฉากหลังอยู่ในรถไฟรัสเซียช่วงปลายยุค 90 (อันเป็นช่วงหลังการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมได้ไม่นาน) โดยเล่าถึงนักศึกษาหญิงชาวฟินแลนด์ที่นั่งรถไฟจากมอสโกไปเมืองเมอร์มานส์ค เพื่อไปดูภาพผนังถ้ำโบราณ เธอแชร์ตู้โดยสารกับคนงานชาวรัสเซียที่ดื่มวอดก้าไม่ยั้ง จากตอนแรกที่ทั้งคู่ดูไม่มีอะไรเหมือนกันเลย (ฝ่ายหญิงอ่อนไหวง่าย ส่วนฝ่ายชายหยาบกระด้าง) แต่ด้วยการเดินทางอันยาวนานนี้เองกลับทำให้ทั้งคู่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน จนทำให้พวกเขาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกไปอีกแบบ และทำให้ทั้งคู่พบว่า พวกเขาเหมือนกันกว่าที่คิดไว้ — นั่นคือการเป็นเหมือน ‘คนแปลกหน้า’ ในโลกใบนี้

จุดเด่นของหนังอยู่ที่การเล่าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้อย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้ง หนังจึงกลายเป็นขวัญใจของนักวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะนักวิจารณ์จากฝั่งอเมริกา


รางวัลจูรีไพรซ์ (Jury Prize) : Memoria

Memoria เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวไทยอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (เจ้าของรางวัลปาล์มทองจาก ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ปี 2010) ที่ถือเป็นก้าวย่างที่แตกต่างออกไป เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เขาทำหนังยาวนอกประเทศไทย (หนังมีฉากหลังอยู่ในประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้) และพูดภาษาอังกฤษกับสเปนตลอดทั้งเรื่อง

หนังเล่าเรื่องราวของนักปลูกกล้วยไม้จากสกอตแลนด์ (รับบทโดย ทิลดา สวินตัน) ที่เดินทางมาเยี่ยมน้องของเธอที่เมืองโบโกตา โคลอมเบีย ซึ่งเธอได้ทำความรู้จักกับนักโบราณคดีฝรั่งเศสกับนักดนตรีโคลอมเบีย ที่นั่นเธอเกิดอาการ Exploding Head Syndrome ที่ทำให้ได้ยินเสียงแปลกประหลาดดังก้องในหัวโดยไม่รู้แหล่งกำเนิดเสียง จนทำให้เธอนอนไม่หลับ เธอจึงออกเดินทางตามหาสาเหตุของเสียงนั้น

แม้จะเปลี่ยนประเทศที่เป็นฉากหลัง แต่ประเด็นใน Memoria ยังคงเป็นเรื่องของความฝัน, ความทรงจำ และอิทธิพลของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ในหนังของเขาอย่าง ‘แสงศตวรรษ’ (Syndromes and a Century) หรือ ‘รักที่ขอนแก่น’ (Cemetery of Splendour) รวมถึงลายเซ็นในหนังของเขาอย่างการเป็น Slow Cinema ที่เล่าเรื่องอย่างเนิบช้า เต็มไปด้วยการใช้ภาพและเสียงเพี่อสื่อความหมายลึกซึ้ง ซึ่งด้วยคุณภาพของผลงานที่ดีเยี่ยมคงเส้นคงวา บวกกับการได้นักแสดงระดับอินเตอร์กับผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาอย่าง Neon ที่กำลังมาแรง ก็ทำให้ Memoria มีโอกาสเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น จากแต่เดิมที่แฟนหนังของอภิชาติพงศ์มักถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มคอหนังอาร์ตเฮาส์

Ahed’s Knees Ahed’s Knees


รางวัลรีไพรซ์ (Jury Prize) : Ahed’s Knees

Ahed’s Knees เป็นหนังอิสราเอลของผู้กำกับ นาดาฟ ลาพิด (ผู้กำกับ Synonyms หนังเจ้าของรางวัลใหญ่อย่าง ‘หมีทองคำ’ จากเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 2019) โดยตัวเอกของเรื่องคือคนทำหนังที่มีแผนจะสร้างผลงานเรื่องใหม่ (เป็นตัวละครสมมติที่สะท้อนถึงตัวเขาเอง) และการเดินทางของเขาในทะเลทรายอาราบาห์อันห่างไกล โดยแสดงให้เห็นถึงมุมมองความคิดของเขา ทั้งความไม่พอใจต่อการเมืองและกองทัพของอิสราเอล, ความไม่พอใจต่อการเซนเซอร์ภาพยนตร์ รวมถึงความเศร้าจากการสูญเสียคนในครอบครัว (ลาพิดเขียนบทหนังเรื่องนี้หลังแม่ของเขาเสียได้เพียงหนึ่งเดือน)

หนังมีสไตล์การเล่าเรื่องที่กระจัดกระจาย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของคนทำงานศิลปะ แต่โดยภาพรวมแล้ว หนังยังสะท้อนถึงตัวตนของความเป็นคนอิสราเอล และพูดถึงปัญหาการเมืองในภาพกว้างด้วย มันจึงทำให้หนังเรื่องนี้มีทั้งความเป็นส่วนตัวและเป็นสากลในเวลาเดียวกัน

 Nitram Nitram


นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม : เคเลบ แลนดรี โจนส์ จาก Nitram

หลายคนคงคุ้นเคย เคเลบ แลนดรี โจนส์ ในฐานะนักแสดงอเมริกันหน้าหล่อจาก X-Men: First Class (2011) และ Get Out (2017) ซึ่งบทบาทในหนัง Nitram เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถมากขึ้น จากการรับบทตัวละครชั่วร้ายที่มีความซับซ้อน โดยเขายังต้องเพิ่มน้ำหนักเพื่อบทนี้ด้วย

Nitram เป็นหนังออสเตรเลียของผู้กำกับ จัสติน เคอร์เซล (จาก The Snowtown Murders ปี 2011 และ Macbeth ปี 2015 – ซึ่งเรื่องหลังเคยฉายในสายประกวดที่คานส์) โดยดัดแปลงจากเรื่องจริงอย่างเหตุการณ์สังหารหมู่ 35 ศพที่พอร์ตอาร์เทอร์ รัฐแทสเมเนีย ในปี 1996 ซึ่งเกิดจากมือปืนเพียงคนเดียว หนังเน้นไปที่จิตวิทยาของผู้ก่อเหตุมากกว่าภาพความโหดร้าย โดยแสดงให้เห็นถึงตัวตนของฆาตกรที่มีบุคลิกแปลกแยกและหมกมุ่นกับความรุนแรง เมื่อความหวังในการเข้าสังคมและการสร้างมิตรภาพถูกทำลาย จนทำให้เขาสะสมปืนเป็นจำนวนมาก และก่อเหตุสะเทือนขวัญในเวลาต่อมา

จุดเด่นของหนังอยู่ที่การแสดงให้เห็นถึงมิติที่ซับซ้อนและสมจริงของฆาตกรผู้ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของออสเตรเลีย (เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการผลักดันกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในเวลาต่อมา) ซึ่งแลนดรี โจนส์สามารถถ่ายทอดบทดังกล่าวออกมาได้อย่างมีพลัง

The Worst Person in the World The Worst Person in the World


นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม : เรนาเทอ เรนสเวอ จาก The Worst Person in the World

เรนาเทอ เรนสเวอ เป็นนักแสดงดาวรุ่งฝีมือดีจากนอร์เวย์ และบทบาทใน The Worst Person in the World ก็ทำให้หลายคนมองเธอเป็นตัวเต็งสำหรับรางวัลนี้ตั้งแต่ช่วงแรกของเทศกาล (ซึ่งเธอก็ได้รางวัลไปแบบไม่พลิกโผ) โดยหนังเรื่องนี้เป็นผลงานของ โจอาคิม เทรียร์ ที่ตั้งใจให้เป็นหนังปิดไตรภาคเมืองออสโลของเขา (สองเรื่องก่อนคือ Reprise กับ Oslo, August 31st)

หนังเป็นแนวคอมเมดี้ผสมดราม่า ซึ่งเล่าเรื่องของหญิงสาววัย 30 ที่วุ่นวายกับความรัก หน้าที่การงาน และตัวตนในโลกที่หมุนเร็ว ซึ่งแม้หนังจะถูกมองว่าเป็นการเล่า First World Problems (ปัญหาของคนในโลกที่เจริญแล้ว) ซึ่งต่างจากหนังในคานส์เรื่องอื่นๆ ที่มักนำเสนอปัญหาสังคมการเมืองของโลกทุกวันนี้ แต่ด้วยพลังของการแสดงและการถ่ายทอดที่มีลูกเล่น (หนังใช้เสียงบรรยายบอกเล่าชีวิตและความคิดของตัวเอก) ก็ทำให้หนังออกมาน่าสนใจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการแสดงของเธอที่มีทั้งพลังและเปี่ยมสีสัน

Drive My Car Drive My Car


บทยอดเยี่ยม : ริวสุเกะ ฮามากูชิ กับ ทาคามาสะ โอเอะ จาก Drive My Car

Drive My Car เป็นหนังญี่ปุ่นแนวดราม่าของ ริวสุเกะ ฮามากูชิ (จาก Happy Hour ปี 2015, Asako I & II ปี 2018 และ Wheel of Fortune and Fantasy ปี 2021 – โดยเรื่องหลังสุดเพิ่งคว้า Grand Jury Prize ที่เทศกาลหนังเบอร์ลินไปเมื่อช่วงต้นปี) ซึ่งเขาดัดแปลงบทร่วมกับ ทาคามาสะ โอเอะ จากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของนักเขียนดัง ฮารูกิ มุราคามิ ในเล่ม Men Without Women (หนังสือมีแปลไทยในชื่อ ‘ชายที่คนรักจากไป’ โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่) ซึ่งเรื่องสั้นในเล่มนี้ทุกเรื่องมีธีมเกี่ยวกับชายที่ถูกคนรักทอดทิ้งในรูปแบบต่างๆ กัน

หนังเล่าถึง ยูซูเกะ นักแสดงและผู้กำกับละครเวทีชื่อดังที่พยายามก้าวข้ามความเสียใจจากการสูญเสียภรรยาผู้เป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญไปเมื่อ 2 ปีก่อน ระหว่างการทำละครเวทีเรื่องใหม่อย่าง Uncle Vanya (สร้างจากบทประพันธ์คลาสสิกของ แอนตอน เชคอฟ) เขาได้ทำความรู้จักกับ มิซากิ คนขับรถของเขาที่กำลังเจ็บปวดจากความสูญเสียในอดีตเช่นกัน และมิตรภาพของพวกเขาก็ส่งผลให้เกิดการไถ่ถอนความรู้สึกผิดและการยอมรับในความสูญเสียในเวลาต่อมา

แม้เรื่องสั้นต้นฉบับจะมีความยาวไม่มากนัก อ่านไม่กี่นาทีก็จบ แต่หนังที่ออกมากลับยาวเกือบ 3 ชั่วโมง (แต่ก็ถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อนของเขาอย่าง Happy Hour ที่ยาวถึง 5 ชั่วโมงกว่า) ทำให้หนังเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกับหนังเกาหลีอย่าง Burning (2018) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นของมูราคามิและมีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงเช่นกัน โดย Drive My Car ได้ขยายเหตุการณ์จากในเรื่องสั้น และใส่รายละเอียดของเหตุการณ์กับตัวละครเพิ่มเข้าไปด้วย หนังจึงมีลายเซ็นของทั้งฮามากูชิและมูราคามิผสมกัน ทั้งประเด็นเรื่อง ความสัมพันธ์, การนอกใจ, ความตาย, ความหลังที่หลอกหลอน ฯลฯ โดยถ่ายทอดผ่านสไตล์ที่เรียบนิ่ง ไม่โฉ่งฉ่าง เน้นบทสนทนา

หนังเป็นขวัญใจนักวิจารณ์อย่างมาก เห็นได้จากการที่มันมีคะแนนรวมจากนักวิจารณ์เป็นอันดับ 1 จากการโหวตของนักวิจารณ์ใน Ioncinema และ Screen ซึ่งก็ทำให้คานส์ในปีนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายสดใหม่อีกครั้งอย่างที่เราไม่ได้เห็นกันมานานเป็นปี.

อ้างอิง: Cannes, IndieWire, The Guardian

ดูข่าวต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2144292
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2144292